ชีวิตที่พอเพียง : 218. เรียนรู้จากการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ


         วันที่ ๑ - ๒ ก.พ. ๕๐ ผมเข้าร่วมประชุม Prince Mahidol Award Conference 2007     เรื่อง "Improving Access to Essential Health Technologies : Focusing on Neglected Diseases, Reaching Neglected Populations"     หรือชื่อในภาคไทยว่า "การเข้าถึงเทคโนโลยีทางสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชากรกลุ่มที่ถูกทอดทิ้ง ที่เป็นโรคที่ถูกละเลย"     จัดที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส ปาร์ก     มีผู้เข้าร่วมประชุมโดยการเชิญประมาณ ๒๕๐ คน     เป็นคนต่างประเทศ ๑๕๐ คน    คนไทย ๑๐๐ คน     ผมจะไม่สรุปสาระของการประชุม     เพราะค้นได้จาก เว็บไซต์ www.pmaconference.org     แต่ผมจะเล่าความรู้สึกของผมในระหว่างเข้าร่วมประชุมนี้  

        เวทีของการประชุม เป็นของผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศที่เข้าถึงเทคโนโลยี ประมาณ ๗๐ - ๘๐%     ดังนั้นผมจึงสงสัยว่า เวลาปฏิบัติจริง จะเป็นกิจกรรมที่ก่อผลประโยชน์ต่อประชากรกลุ่มที่ถูกทอดทิ้ง ที่เป็นโรคที่ถูกละเลย สักแค่ไหน     หรือว่าที่พูดๆ กันนั้นเป็นแค่การเสแสร้ง เพื่อให้ดูดี     ผมคิดว่าไม่เป็นเช่นนั้น    ผมเชื่อว่าคนที่มาร่วมประชุม มีเจตนาบริสุทธิ์เป็นส่วนใหญ่     แต่เจตนาบริสุทธิ์ไม่พอ     ต้องมีการกระทำที่จะเกิดผลต่อประชากรกลุ่มที่ถูกทอดทิ้ง ที่เป็นโรคที่ถูกละเลย อย่างแท้จริง            

         ที่จริงเรื่องที่เรานำมาจัดเวทีประชุมนี้     มองจากมุมหนึ่งเป็นเรื่องร้อน  เรื่องผลประโยชน์ขัดแย้ง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับบริษัทยา     ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการบังคับใช้สิทธิบัตร     ที่ภาษาวิชาการเรียกว่า compulsory licensing     เพื่อดำเนินการเชิงระบบให้ราคายาถูกลง เพื่อประโยชน์ของคนเป็น HIV/AIDS     การดำเนินการนี้ถูกกฎหมายระหว่างประเทศทุกประการ  แต่บริษัทยาก็ไม่ชอบ

         ตอนแถลงข่าว เย็นวันที่ ๒ ก.พ. มีนักข่าวถามความเห็นเรื่องนี้     ผมตอบความเห็นส่วนตัวว่า การบังคับใช้สิทธิบัตรนี้รัฐบาลควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ เพื่อช่วยเหลือคนจนที่เป็นโรคที่เข้าไม่ถึงยาเพราะยาราคาแพงเกินไปเท่านั้น     ต้องไม่ใช้พร่ำเพรื่อ  ไม่ใช้เพราะต้องการแสดงอำนาจ     แต่ใช้เพราะทนดูคนยากจนตายไปต่อหน้าต่อตาเพราะขาดยาไม่ได้     และต้องใช้ไป เจรจาไป กับบริษัทยา เพื่อหาทางช่วยเหลือคนป่วยที่จนร่วมกัน     คือบังคับใช้แบบเพื่อน ยังเป็นเพื่อนกัน  ยังเจรจาหาทางร่วมกันช่วยเหลือคนป่วยที่ยากจน    ยังดำรงความสัมพันธ์แบบที่หาทางร่วมกันทำประโยชน์ให้แก่สังคม     โดยที่ตอนนี้บริษัทยามีภาพเป็นผู้ร้ายในสังคม  ที่มุ่งกำไรจนเกินไป ไม่คิดถึงชีวิตคนยากคนจน     การดำรงมิตรภาพกับกระทรวงสาธารณสุข และหาทางทำประโยชน์แก่สังคมร่วมกัน จะช่วยลดภาพผู้ร้ายของบริษัทยาได้       

         การประชุมนี้ช่วยให้ผมได้เรียนรู้ กระบวนทัศน์ใหม่ที่กำลังก่อตัวในโลก     ว่าเรามีด้านบวกของโลกาภิวัตน์เกิดขึ้น     คือวงการสาธารณสุขกำลังมีมุมมองใหม่เรื่องการมีสุขภาพดี     ว่าการมีสุขภาพดีเป็น "สิทธิ" ของทุกคน    แม้คนจนก็ควรมีสิทธิเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี และบริการ ที่ทำให้เขามีสุขภาพดี     คนเราไม่ควรต้องไม่ได้รับยารักษาโรค หรือวัคซีนป้องกันโรค เพราะเขาเป็นคนจน     สังคมมนุษย์ควรมีวิธีการใหม่ๆ วิธีการที่เป็นนวัตกรรม ที่ทำให้คนจน ในประเทศยากจน เข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพได้ เราต้องไม่คิดว่า ก็เมื่อยามันมีราคาแพง     คุณไม่มีเงิน คุณก็ต้องไม่มียาใช้     เราต้องเปลี่ยนมาคิดใหม่ว่า สังคมมนุษย์ต้องช่วยกันหาวิธีการเชิงระบบให้คนจน คนในประเทศยากจน ก็เข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นได้ แม้จะมีราคาแพง

        พูดใหม่ว่า เราต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นกับราคาแพงของยา     ต้องไม่เชื่อว่ายาใหม่ ยาดี ต้องราคาแพง    ต้องเชื่อใหม่ว่า ถ้าจำเป็น ก็ทำให้ยาราคาไม่แพงได้     การยอมรับว่ายาใหม่มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนายาสูงมาก ดังนั้นต้องราคาแพง     เป็นการยอมรับที่ผิด หรือเป็นการยอมรับแบบยอมแพ้     ไม่ขวนขวายหาทางแก้อย่างเป็นระบบ     และอย่าง win - win ระหว่างคนจนที่ต้องการยา (โดยมีรัฐบาลเป็นตัวแทน) กับบริษัทยา    

         ผมรีบมาพิมพ์บันทึกนี้ เพราะเกรงว่าความรู้สึกนี้จะระเหยไปเสีย - - - ความรู้สึกที่ว่า เราต้องไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาใดๆ     ต้องเชื่อว่าปัญหาย่อมมีทางแก้เสมอ    ปัญหายาที่จำเป็นมีราคาแพงก็ย่อมมีทางแก้ 

         ที่จริงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเหนื่อยมาก     เพราะมีหลายงาน     ไม่มีเวลาพัก ไม่มีเวลาอยู่เงียบๆ     จบจากงานนี้ก็ดีใจที่ชีวิตจะได้กลับสู่ภาวะปกติเสียที

วิจารณ์ พานิช
๒ ก.พ. ๕๐
โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส ปาร์ก

หมายเลขบันทึก: 78100เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ   ที่สถาบันเวลาเซ็นซื้อยาที่ผลิตจากต่างประเทศก็สงสารผู้ป่วยค่ะที่ยายังแพงมาก

รพ บำราศ ก็เป็นผู้นำ การวิจัยสมุนไพรไทยกับ โรคเอดส์ เสียสิครับ   ยอมจำนนทำไม

เพราะยิ่งช้า มียามาตรฐานมากขึ้น เราก็ไม่รู้ว่า จะอ้าง ขอวิจัยอย่างไร

เช่น ยาเอดส์แพง เราใช้กัน เพียง สามพันล้าน  แต่พอยาถูกลง  เราจึงใช้กันมาก หมื่นล้านบาท ต่อปี

ผมว่า สมุนไพร แก้ปัญหาเอดส์ได้ ลอง systemic review ดู     

ประเทศ สวิส  เอาสมุนไพร มาต่อยอดวิจัย สารพัดโรค   ไม่เห็นเขาเสียหน้าอะไร    ผู้ป่วยก็มีน้อย กว่าประเทศเรา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท