"ตามติด.. ครูเกษตรท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช" (๒/๓)


ตบท้ายด้วยตัวอย่างความรู้จากการปฏิบัติจริงของพี่สมชาย คือการเก็บผลมะนาว ที่ตอนแรกเก็บแต่ลูก ทิ้งขั้วไว้ที่ต้น แต่ถ้าลูกอยู่สูงก็ใช้ไม้กรรไกรยาวๆ ตัดทั้งขั้วติดใบลงมาด้วย ปรากฏว่าที่ปล่อยขั้วไว้ ส้มนาวไม่ยอมแตกยอดใหม่ แต่ที่ใช้กรรไกรตัด กลับลัดยอด ออกดอกดีกว่าภายในต้นเดียวกันแท้ๆ ก็เลยรู้ธรรมชาติของพืชชนิดนี้ ใช้วิธีเก็บให้ติดขั้วมาด้วยตลอด

"ตามติด.. ครูเกษตรท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช" (๒/๓)

โดย สมโภชน์ นาคกล่อม

“ความรู้ชาวบ้าน ประสบการณ์จริงทั้งชีวิต”


               วันนี้วันที่ ๑๒ ก.พ. ๕๐ พี่สมเกียรติ คงเดช จะมารับไปดูสวนส้มนาว (มะนาว) ของพี่ชาย (ชื่อสมชาย) ซึ่งปลูกตั้งเกือบ ๒๐ ไร่ ประทับใจในการจัดการความรู้ของชาวบ้าน ที่ได้แรงบันดาลใจตั้งแต่สมัยเด็กๆ ที่ไปพลอย (อาศัย) ส้มนาวของบ้านเพื่อนเวลาแม่จะแกงส้ม ตำน้ำพริก 

                 เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว พี่สมชายพบว่าสวนของเพื่อนบ้านที่ทิ้งร้างผ่านไปหลายปี มะนาวยังมีชีวิตอยู่ เออ ส้มนาวนี้มันทนจริงๆ ก็ยิ่งกระตุ้นให้สนใจ ลงมือปลูก
             

               ช่วงปลูกใหม่ๆ ไปปรึกษาเกษตรอำเภอเรื่องโรคกระที่ผล คำตอบที่ได้ไม่ประทับใจ เพราะเกษตรให้คำปรามาสว่า “ต่อไปคงตายเกลี้ยงฉาด เหมือนที่บ้านเสาธง ตำบลบางจาก อ.พระพรหม” ที่แก้โรคนี้ไม่ได้

              พี่สมชายจึงศึกษาด้วยตัวเอง ไปอ่านหนังสือจนรู้จักโรคนี้ เอาวิธีการจากหนังสือมาลองทำดูแล้วได้ผล ประกอบกับเป็นคนทำไรแล้วก็ทำจริง ทำให้มะนาวได้ผลผลิตขายสัปดาห์ละ ๒ วัน เรื่องราวของพี่สมชายนี้ทำเองแบบครบวงจร โดยสามีเป็นคนปลูก พี่ละออ ภรรยาเป็นคนเก็บและขาย จาก ๒-๓ ไร่ ขยายใหญ่เป็นหลายแปลง ปัจจุบันมีเงินส่งลูกเรียน และใช้จ่ายในบ้านได้สบายไม่เดือดร้อน

                พอเราลงไปดูถึงแปลง ยิ่งตะลึง เพราะนึกไม่ถึงว่าแปลงเล็กๆ ที่ทอดยาวไปตามถนนแค่นิดเดียว ปลูกได้ตั้ง ๕๐ ต้น ลูกก็ดก ผิวก็บาง พี่แกมีที่หลายแห่ง ก็ปลูกส้มนาวหมดเลย ต้นที่ดกมีลูกเป็นร้อยขายได้ประมาณ ๒,๐๐๐ บาทเชียวนะ

             ตบท้ายด้วยตัวอย่างความรู้จากการปฏิบัติจริงของพี่สมชาย คือการเก็บผลมะนาว ที่ตอนแรกเก็บแต่ลูก ทิ้งขั้วไว้ที่ต้น แต่ถ้าลูกอยู่สูงก็ใช้ไม้กรรไกรยาวๆ ตัดทั้งขั้วติดใบลงมาด้วย ปรากฏว่าที่ปล่อยขั้วไว้ ส้มนาวไม่ยอมแตกยอดใหม่ แต่ที่ใช้กรรไกรตัด กลับลัดยอด ออกดอกดีกว่าภายในต้นเดียวกันแท้ๆ ก็เลยรู้ธรรมชาติของพืชชนิดนี้ ใช้วิธีเก็บให้ติดขั้วมาด้วยตลอด

                บ่ายนี้แดดเปรี้ยงมาก พวกเราไปคุย ไปลงแปลงปลูกผักของหมู่ ๑๓ ที่นี่ทำกันเป็นกลุ่มประมาณ ๔ ครัวเรือน อาศัยที่ของพวกพ้องที่เพิ่งยกร่องปลูกยางพารา ในระหว่างที่ยางต้นเล็ก เจ้าของก็ให้มาใช้ดินปลูกผัก เพราะหญ้าในแปลงยางจะได้เตียนด้วย

              จุดเด่นของกลุ่มที่นี่คือ การเรียนรู้ระหว่างกันเอง การปลูกผักสลับหมุนเวียนเพื่อลดการรบกวนของแมลง ในรอบ ๑ ปีบอกได้หมดว่าควรปลูกอะไร ช่วงไหน เพราะอะไร

              ตัวอย่างความรู้จากประสบการณ์ของกลุ่มปลูกผัก เช่น การปลูกคะน้าแบบใช้เมล็ดหว่าน ต้นมันจะขึ้นแน่น ก็ขายต้นอ่อนก่อนรอบหนึ่ง (ชาวบ้านที่นี่เรียกว่าแยกลูกคะน้าออกมา) พอต้นมันห่างกันหน่อย ก็เจริญเติบโตได้ดี ทีนี่ก็เลี้ยงบำรุงให้โต ขายคะน้าใหญ่อีกรอบหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธี

              พืชอีกตัวหนึ่งที่ลงทุนน้อย (แม้เมล็ดจะแพง) โดยเฉพาะเรื่องแรงงาน ได้แก่บวบ ปลูกแล้วเก็บขายได้หลายสิบครั้ง ไม่เหมือนพริกที่เวลาเก็บจะต้อง “รวมคน” มาลงแปลงเยอะมาก เหนื่อยก็เหนื่อย เออ ได้ความรู้ว่าถ้าอยู่กันคนสองคน ก็ปลูกบวบดีกว่า

หมายเลขบันทึก: 78098เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท