"ตามติด.. ครูเกษตรท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช" (๑/๓)


เด็กคนนี้ไปคุยด้วยแล้ว “ทึ่งในความคิด” ของเขา ที่จะเรียนต่อเกษตรที่ใสใหญ่ (ราชมงคล ทุ่งสง) เพราะจะได้ไม่ทิ้งบ้าน ก่อนกลับน้องเขายังขอเบอร์ท่านคณบดีไว้ด้วย

"ตามติด.. ครูเกษตรท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช" (๑/๓)

โดย สมโภชน์ นาคกล่อม

              ขอถือโอกาสเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง วันที่ ๑๑-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ที่เพิ่งผ่านมา

“ตามไปดู แหล่งเรียนรู้ที่พระพรหม”
            เริ่มจากวันแรก มาท่าเรือกับท่านคณบดี แวะดูกลุ่มปุ๋ยชีวภาพที่น่าจะเด่นที่สุดในนครศรีธรรมราช คือ กลุ่มลุงอำนวย มาศเมฆ อ.พระพรม ใกล้ๆตัวเมืองนครศรีธรรมราช  แต่ไปไม่เจอ ลุงอำนวย เจอน้องชาย และ ลูกชาย เรียนอยู่ ม.๔
 

            กลุ่มปุ๋ยของที่นี่ มีการทำจริง ใช้จริง ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ได้รับการสนับสนุนจากโครงการเมืองเกษตรอินทรีย์ของผู้ว่า  แต่ปัจจุบันที่ทำจริงๆ จังๆ กันไม่กี่หมู่บ้าน

           น้องชายลุงอำนวย ปลูกแค่ ๔ ไร่ ข้างในมีหมากที่พันธุ์ดี ขายเปียก (หมากสด) ได้ราคา ต่ำลงมาเป็นไม้ผล เช่น มังคุดซึ่งพุ่มยังเล็ก และเงาะซึ่งต้นใหญ่ อายุหลายปี มีกล้วยปลูกแซม ส่วนพืชพุ่มเตี้ยที่สำคัญคือมะนาว ล่างลงไปติดพื้นดิน ก็เห็นสับปะรดกำลังออกลูก แค่ ๔ ไร่ เขาทำได้คุ้มจริงๆ

          แปลงข้างหน้าเป็นพืชผักที่ น้องอรเชษฐ์ มาศเมฆ ลูกชายลุงอำนวยเป็นคนลงแปลง ปลูกเอง ดูแลเอง  เด็กคนนี้ไปคุยด้วยแล้ว “ทึ่งในความคิด” ของเขา ที่จะเรียนต่อเกษตรที่ใสใหญ่ (ราชมงคล ทุ่งสง) เพราะจะได้ไม่ทิ้งบ้าน  ก่อนกลับน้องเขายังขอเบอร์ท่านคณบดีไว้ด้วย

            ที่พระพรหมนี้ สภาพพื้นที่เอื้อในการปลูกพืชผัก และไม้ผล มีระบบชลประทานดี ผิดกับที่ชะอวด สังเกตดูเงาะของที่นี่ลูกใหญ่ รสชาติดี มีราคามากกว่า แถมสภาพพื้นที่ทำให้เงาะที่นี่ออกผิดฤดู ราคาเมื่อตอนแรกๆ ได้กิโลละเกือบร้อย เพราะมีความชื้นจากดินมาก

           ระยะทางจากที่นี่ไม่ไกลจากท่าเรือเผื่อ ลุงยวง (สมาชิกกลุ่มเลี้ยงสัตว์ท่านหนึ่ง) ซึ่งสนใจจะทำปุ๋ยใช้เอง จะรวมสมัครพรรคพวกมาเรียนรู้ดูงานก่อนจะกลับไปทำกันที่ท่าเรือ

            ความจริงเช้านี้คิดว่าจะแวะคุยกับศิษย์เก่าที่พระพรหมอีกคนหนึ่ง ซึ่งเปิดร้านเกษตรอยู่ที่เมืองใหม่ แต่เป็นวันอาทิตย์ร้านปิด พวกเราเลยตรงไปที่ท่าเรือกันเลย

 

“โรงเรียนเกษตรท่าเรือ หัวเชื้อดีที่เริ่มต้น”
              ไปถึงก็ตรงไปที่โรงโคขุนเก่าของน้องชาย พี่พงศ์ศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันรกร้างว่างเปล่า พี่ศักดิ์พาไปดูครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว บอกว่าจะใช้ที่นี่แหละเป็น “โรงเรียนเกษตรท่าเรือ” และจะพาสมาชิกกลุ่มเลี้ยงสัตว์ท่าเรือมา “หักร้างถางพง” กันในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ นี้

                เราไปถึงประมาณ ๑๑ โมงเช้า เขาทำกันเกือบเสร็จแล้ว หญ้า วัชพืช พืชคลุมดิน คลุมหลังคา ถูกถางออกไปหมดแล้ว สมาชิกมากันประมาณ ๒๐ คน พี่ศักดิ์บอกว่าตอนแรกนึกว่าจะมากันน้อยกว่านี้ เพราะมีงานอื่นตรงกันพอดี ทั้งที่วัดและในชุมชน

               เห็นความร่วมไม้ร่วมมือแล้วเราก็ “อุ่นใจ” ว่าโรงเรียนเกษตรท่าเรือ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เรียนกันเป็นเรื่องเป็นราว แค่การมาร่วมกันเตรียมสถานที่ ก็มีคุณค่าและความหมาย ที่ไม่ควรมองข้าม
ตอนแรกกะว่าจะให้สมาชิกผู้หญิงมาหุงหาอาหารกันที่นี่ พอดีลูกชายคนเล็กของสมาชิกกลุ่มคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุรถเครื่องเสียชีวิตหน้าวัดหมน จึงชวนกันไปทำอาหารช่วยที่งานศพ และให้พวกเราไปกินข้าวเที่ยงกันที่นั่นด้วย

              เที่ยงเราไปบ้านงานศพ ทานข้าวด้วยกัน คุยกันไปก็วางแผนงานโรงเรียนเกษตรกันไปด้วย ก็เลยเป็นที่มาของการนัดวันจัด “ตลาดนัดความรู้ ครูเกษตรท่าเรือ” ในวันที่ ๕ มีนาคม ซึ่งเป็นวันประชุมกลุ่มเลี้ยงสัตว์ท่าเรือประจำทุกเดือนด้วย

             ในระหว่างวงข้าว ก็ได้ทราบว่า พี่ศักดิ์ เอาหนังครูใหญ่เกาหลี และ วีรสตรีแม่บ้าน มาฉายที่งานศพ ๒ เรื่องซ้อน บางคนดูร้องไห้ก็มี ครูใหญ่โรงเรียนวัดหมนหรือเปล่าไม่แน่ใจ ขอ copy ไปฉายให้ครูดูที่โรงเรียนด้วย  นึกไม่ถึงว่าพี่ศักดิ์จะเอามาฉายงานศพ เพราะเดือนที่แล้วยุว่าน่าจะเอาไปฉายในกลุ่มเลี้ยงวัว เพื่อกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจดู

             วันนี้เราเลยไม่ได้อยู่จนถึงเย็น เพราะท่านอาจารย์มีงานรออยู่เยอะ ประกอบกับเกรงใจคนขับรถเพราะเป็นวันหยุดด้วย เป็นวันเดียวในรอบปีที่เรากลับจากท่าเรือตั้งแต่ยังวัน

หมายเลขบันทึก: 78096เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท