สรุปไตรภาคีฯ 1 ปีที่ผ่านมา (พื้นที่ กิ่ง อ.ศรีนครินทร์)


ที่นี่(กิ่ง อ.ศรีนครินทร์)ใช้การเริ่มต้นเดินเรื่องจากระดับชุมชน ขยายไปสู่ชุมชน ก่อนที่จะขยายขึ้นไปยัง ระดับตำบล และอำเภอ ต่อไป

     การดำเนินงานไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน 1 ปี ที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่ กิ่งอำเภอศรีนครินทร์โดยเริ่มตั้งแต่ได้กำหนดวางกรอบคิดเป็น”วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” ได้ใช้ฐานสถานีอนามัยบ้านลำกะ เป็นตัวเดินเรื่อง เน้นการขายความคิดเป็นหลัก เพราะผมไม่ค่อยได้รับการนัดแนะให้เข้าไปร่วมกิจกรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก อาศัยการเดินเรื่องจาก “โครงการ PCU ในฝัน” ซึ่งเป็นโครงการที่ดีที่เริ่มต้นจากตัวสถานีอนามัยเอง ที่นี่ยังมีเห็นร่องรอยของราชการนำชาวบ้านอยู่ แม้จะพยายามสลัด แต่วัฒนาธรรมองค์กรก็ยังทำให้หลุดไม่พ้นในทันที โดยเฉพาะก่อนการเปลี่ยนแปลงสาธารณสุขอำเภอ ภาพนี้ชัดเจนมาก ดูได้จากการวิพากษ์ก่อนนำเสนอโครงการในการจัดประชุมวิชาการประจำปีของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุงด้วยถ้อยคำที่ว่า “โครงการ PCU ในฝัน (เน้นการพึงตนเองของชุมชน) ไม่ค่อยเป็นวิชาการ” อันนี้มองแบบ Etic จากผม ถือว่ายังคิดแบบราชการนำชุมชนอยู่มาก

     เนื่องจากที่นี่เป็นอำเภอที่ยังไม่มีโรงพยาบาล เป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลจังหวัด (รพ.พัทลุง) การเชื่อมส่วนนี้ก็น้อย แต่โดยส่วนตัวเจ้าหน้าที่เชื่อมถึงกับชุมชน และผู้นำฯ โดยเฉพาะ อบต.ได้ดีมาก การเชื่อมประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขกิ่งอำเภอมีการพูดถึงน้อย หรือเกือบไม่ได้พูดถึงเลย อันนี้ตรวจสอบจากการทดลองถามถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขกิ่งอำเภอ และเชื่อว่าน่าจะมีเหตุผลบางประการที่ทำให้ไม่สามารถเชื่อมประสานไปถึงได้ ซึ่งจะได้พูดคุยกันในลำดับขั้นต่อไป

     สิ่งหนึ่งที่ผู้ประสานไม่ได้ทำ (โดยได้มีการพูดคุยซักถามกันต่อหน้าแล้ว เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2548) ก็คือ “การใช้แนวคิดในการจัดการชุมนุม (Community Organization)” โดยพี่เขาควรจะได้ดำเนินการ ซึ่งจะประกอบด้วย การพยายามนำนักวิจัยให้เข้าถึงชุมชนไปพร้อม ๆ กันเขา การสร้างโอกาสให้ผม (ในฐานะนักวิจัย) ได้คุ้นเคยกับชุมชน ได้ขายแนวคิดแก่ชุมชน จนสามารถสร้างพลัง (Empowerment) แก่ชุมชน ก่อนที่จะขยายไปสู่ประเด็นปัญหาอื่น ๆ ในภาพรวม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในขั้นตอนนี้ที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาผมกลับไม่ได้รับการนัดหมายเลย แม้พยายามจะถามถึง ซึ่งอาจจะต้องมีการพูดคุยกันเพื่อปรับกระบวนท่าใหม่อีกเช่นกัน เพราะยังไงแล้วเป้าหมายก็คือการ”วิจัยและพัฒนา” ไม่ใช่การ “พัฒนา” อย่างเดียว ตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่เริ่มต้น

     ส่วนโครงการ “เอื้ออาทรคนพิการเข้าถึงสิทธิฯ” ของอำเภอเมืองและกิ่งอำเภอศรีนครินทร์ นับว่ายังด้อยอยู่มาก ติดที่ CUP ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร แม้จะอนุมัติวงเงินงบประมาณไปให้แล้วพร้อม ๆ กับที่อื่น ๆ ทำให้ใช้เป็น “น้ำประสานทอง” ไม่ได้ จึงคิดประบวนการใหม่โดยหันไปจับจาก อบต.ก่อน เช่น อบต.ร่มเมือง หรือ อบต.อื่น ๆ อีกหลายแห่ง หรือจากเทศบาลเมืองพัทลุง แต่ยังไม่ได้เริ่มพูดคุย ขณะนี้อยู่ในขั้นหาข้อมูลความพร้อมและความสนใจจากองค์กรเหล่านี้

     จุดเด่นของที่นี่ในวันนี้ คือการขยาย "ไตรภาคีฯ" ไปในแนวราบ ซึ่งพี่ผู้ประสานทำได้ดีมาก และก็ได้เริ่มขึ้นที่ สอ.ลำสินธ์ โดยผมมีนัดไปสังเกตการณ์ การทำประชาคมตำบลในวันที่ 21 พ.ย.2548 นี้ ส่วนการพูดถึงเพื่อบูรณาการแผนพัฒนาสุขภาพชุมชนนั้น แทบจะไม่ได้พูดถึงเลย มีบ้างก็เป็นการวางแผนเพื่อพัฒนาหน่วยบริการ และแผนการใช้เงินสาธารณสุขมูลฐาน (เดิม) หมู่บ้านละ 10,000 บาท หาใช่เป็นแผนพัฒนาสุขภาพชุมชนตามแนวทางของ “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” ซึ่งจะไม่ระบุกรอบความหมาย “สุขภาพ” โดยเรา แต่จะเป็นการกหนดความโดย “เขา” หรือชุมชนเอง

     กล่าวโดยสรุป พื้นที่กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ยังอยู่ระยะที่ 1 คือ ระยะการใช้แนวคิดในการจัดการชุมนุม (Community Organization) ระยะเริ่มต้น ตามที่บันทึกไว้ที่ 3 ขั้นตอนของไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ซึ่งจะต้องมีการระดมขายแนวคิดของ PAR ตามแนวทาง ไตรภาคีฯ อีกครั้ง

     หมายเหตุ: ที่นี่ใช้การเริ่มต้นเดินเรื่องจากระดับชุมชน ขยายไปสู่ชุมชน ก่อนที่จะขยายขึ้นไปยัง ระดับตำบล และอำเภอ ต่อไป ซึ่งก็จะแตกต่างกันกับที่อำเภอตะโหมด และกิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ที่จะได้กล่าวถึงมาแล้ว

หมายเลขบันทึก: 7606เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2005 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท