คนพันธ์ S :ลุยสวนป่า ..วันที่สาม..AAR


“การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ พัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ ต้องพัฒนาที่ ใจ ก่อนครับ”

      จากตอนเช้าที่เราวางแผนทำงานกัน  ซึ่งทุกงานเราตกลงกันว่า จะให้เสร็จตอนบ่ายสามโมง..แต่พอทำจริงๆด้วยความมุ่งมั่นของทุกคน  งานเราเสร็จก่อนเวลานิดหน่อย  จึงมานั่ง AAR กัน...บรรยากาศการAAR วันนี้เป็นอย่างเรียบง่าย เรานั่งล้อมวงกันใต้กอไผ่ แล้วแต่ละคนก็สะท้อนความรู้สึกจากเรียนรู้ในครั้งนี้ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ครับ

1.     รู้สึกดีต่อการเรียนรู้ที่เป็นอิสระ ไม่มีความกดดัน ชอบมากกว่าให้ไปนั่งเรียนในห้อง

2.     ดี ได้เรียนรู้เป็นทีม ได้ร่วมกันคิด และที่สำคัญคิดแล้วได้ลงมือทำ

3.     ภูมิใจ ที่ทำได้  ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ เพราะไม่เคยสร้างบ้านมาก่อน ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสร้างบ้านเลย แต่พอได้ลงมือทำ แล้วทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น  พึ่งรู้เหมือนกันว่าตนเองก็สามารถทำงานอย่างอื่นได้ นอกเหนือจากการซ่อมเครืองจักร

4.     ทำให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการเรียนรู้มากขึ้น การเรียนรู้ สามารถทำให้เราทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ และก็เชื่อว่างานอื่นๆก็จะสามารถทำได้..

5.     รู้จักการประเมินตนเอง รู้ว่าการยอมรับผิดไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่กลับเป็นประตูสู่การแก้ไขหรือการพัฒนาตนเอง ต่างหาก

6.     การเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว และมีพลังในการเรียนรู้

7.     เมื่อมีเป้าหมาย ถ้าเรามีใจเป็นหนึ่ง ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะไกลแค่ไหน เชื่อว่าด้วยพลังของคนหลายๆคน สามารถทำได้อย่างแน่นอน

8.     การเรียนรู้ ก่อให้เกิดพลังศรัทธา และต้องเริ่มที่การศรัทธาตนเองก่อน  

      ก็เป็นข้อสรุปส่วนหนึ่งจากวง AAR ครับ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจพลังของการเรียนรู้ สำหรับผมเองเมื่อได้ฟังจนครบทุกคนทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์  พัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์  ต้องพัฒนาที่ ใจ ก่อนครับ  อาจมีคำถามต่อว่า แล้วจะทำอย่างไรล่ะ  ผมพอตกผลึกจากสิ่งที่ทำได้ดังนี้ครับ

1.     สร้างกระบวนการที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการทุกขั้นตอน ให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของหลักสูตร หรือโครงการนั้น

2.     ความเป็นอิสระในการเรียนรู้ ค่อยๆทำไปเรื่อย พยายามให้เขาค้นหาตัวเองให้เจอก่อน

3.     อย่าพึ่งเน้นวิชาการ แต่พยายามใส่วิชาการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใกล้ตัวในช่วงนั้นๆ

 4.     ตั้งคำถาม ให้ได้คิด ได้ค้นหาคำตอบกันเอง

5.     ความต่อเนื่องของกระบวนการ  การพัฒนามนุษย์ต้องใช้เวลาครับ ไม่ใช้อบรมครั้งเดียวแล้วก็พอ และหวังจะให้เปลี่ยนเป็นคนล่ะคนในชั่งพริบตาคงยาก ถ้าทำได้ก็คงเป็นพ่อมด แม่มดไปแล้ว  ต้องใจเย็นและวิเคราะห์หรือประเมินความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อประเมินแล้วต้องหาเครื่องมือ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น

6.     อย่าประเมินเป็นตัวเลข ครับ แต่ขอให้ประเมินด้วยการณ์สังเกตการณ์ การพบปะพูดคุย ซึ่งต้องใช้เวลา แต่จะได้ความจริง ผมชอบใช้คำว่า จับอุณหภูมิ ครับว่ามีระดับความร้อนแรงในเรื่องใด วัดซ้ำๆ จนมั่นใจแล้วค่อยลงมือพัฒนา โดยใช้เครื่องมือหรือวิธัการที่เหมาะสม

7.     การพัฒนาต้องทำควบคู่กันไปครับ ทั้งด้านพฤติกรรม และ ด้านการสร้างหรือพัฒนาระบบรองรับ

8.     มีระบบรองรับหรือมีเวทีให้ได้ทำจริง ผมหมายถึงเมื่อพัฒนาเขาแล้ว ตอนกลับเข้าไปทำงาน ต้องให้เขาได้ใช้ความรู้ หรือสิ่งที่เรียนรู้มา ไม่ใช่ว่า ให้เขาได้ฝึกพัฒนาแนวคิด หรือกระบวนการคิดมาแล้วแต่พอกลับเข้าไปทำงานจริงกลับ ไม่มีโอกาสได้คิด ต้องกลับไปทำงานตามที่สั่งเหมือนเดิม ถ้าอย่างนี้ คงไม่มีใครจะมามีกำลังใจคิดอะไรเป็นแน่  

       วันนี้ก็ตกผลึกได้เท่านี้ครับ หากท่านใดมีความเห็นเพิ่มเติมก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ..        

คำสำคัญ (Tags): #lifelearn
หมายเลขบันทึก: 75853เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอบพระคุณค่ะคุณ ภูคา  
  • ครูบากลับถึง มหาชีวาลัยอีสาน สวนป่าบ้านสนามชัยแล้วใช่ไหมคะ  อยากให้ท่านพักผ่อนมากๆหน่อยค่ะ

ดีจังเลยครับ

ขอบคุณมากครับ

   ตั้งคำถาม ให้ได้คิด ได้ค้นหาคำตอบกันเอง คุณอำนวยต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้างคะจึงจะตั้งได้อย่างเข้าถึงใจผู้เรียน มีเบื้องหลังกระบวนการคิดและจัดการตรงนี้อย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ ได้เรียนรู้มากๆ

เรียน คุณภูคา

           อยากทราบคำตอบเหมือนคุณพัชรา ค่ะ

          พักผ่อนมาก ๆ นะคะ

วันนี้นักเรียนมาสายค่ะ..คุณครู...ดิฉันเป็นนักเรียนเรียนวิชา...คุณอำนวยกับคุณครูภูคา...ทุกวัน...

ขอบคุณทุกท่านที่ร่วม  ลปรร.ครับ..

  • คุณหนิงครับ..ท่านครูบาเดินทางกลับสู่สวนป่าแต่เมื่อวานและพวกเรา "คนพันธ์ S" ก็คืนสวนป่าให้ท่านแล้วครับ ..
  • ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม..เสียดายครับที่ไม่ได้ไปด้วยกัน ครั้งนี้มันส์ไม่น้อยไปกว่ารุ่นอื่นเลยครับ..
  • คุณพัชรา ครับ..ไม่ทราบว่าจะสอนจรเข้ว่ายน้ำรึเปล่านะครับ เอาเป็นว่าสิ่งที่ผมฝึก มีหลักก็คือ..ดูวัตถุประสงค์   สังเกตพฤติกรรม แล้ว

            ..การฝึกตั้งคำถาม...ตั้งคำถามให้ตรงประเด็น โดยใช้หลัก AI

           ...ฝึกเชื่อมโยงจาก เหตุการณ์ที่เราพบ..ไปสู่การตั้งคำถาม..แล้วชวนคิด..

           ...ฝึกการทำใจ..อดใจรอ..หมายถึงไม่ใจอ่อน ไปบอกคำตอบก่อน เพราะวางทีผู้เรียน..จะเล่นทางลัด เล่นลูกย้อนศร..ถามกลับคุณอำนวยเพ่อหวังคำตอบ หากเราตอบไป เขาก็ไม่ได้คิด  ปล่อยเวลาให้เขาได้คิด  และลงมือทำ..แล้วเราก็จัดเวที ให้เขาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ชวนถอดบทเรียน ..ครับ

  • คุณรัตติยา..ครับบางทีก็พูดยากเหมือนกันเพราะเป้นทักษะหรือเทคนิคที่ไม่มีในตำรา แต่ที่ผมให้ความสำคัญอีกอย่างก็คือ..การดูจริตผู้เรียนเป็นสำคัญ..แล้จัดกระบวนการให้ตรงตามจริต..ครับ
  • คุณเมตตาครับ..อย่าลืมจ่ายค่าวิชานะครับ..อิๆๆ ผมหมายถึงการ ลปรร. นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท