ภรรยา


ภรรยา

 

                 ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง มหาเศรษฐีผู้หนึ่งมีความเป็นอยู่ที่ฟุ้งเฟ้อหรูหรามากไม่ชอบทำบุญทำกุศลใดๆ มีแต่ความตระหนี่และไม่เคยเข้าใจในสัจจะธรรมของชีวิตว่าเป็นอย่างไร ไม่สนใจว่าตนเกิดมาจากอะไรตายแล้วต้องไปไหน มหาเศรษฐีผู้นี้มีภรรยาถึง 3 คน คนที่เขารักที่สุดคือภรรยาคนที่ 3 เพราะเธอชอบแต่งตัวสวยงามอยู่ใกล้ชิดท่านเศรษฐีตลอดทั้งวันไม่เคยห่าง คนที่เขารักรองลงมาคือภรรยาคนที่ 2 ภรรยาคนนี้มีบุญวาสนามากตามร่างกายมักจะสวมใส่เพชรนิลจินดาแพรวพราวไปทั้งตัว  ท่านเศรษฐีก็รักเธอมากยามใดที่อยู่ใกล้ชิดกับเธอก็จะรู้สึกมีความสุขมากยามใดพรากจากเธอก็จะรู้สึกเศร้าเสียใจ คนที่ไม่รักที่สุดคือภรรยาหลวงซึ่งจะถูกท่านเศรษฐีเรียกใช้เขาก็ช่วยทำงานตลอดทั้งวัน   แต่ท่านเศรษฐีกลับไม่สนใจเธอหรือห่วงใยในสุขภาพของเธอเลย    วันหนึ่งท่านเศรษฐีล้มป่วยอาการอยู่ในขั้นหนักมาก ก่อนตายได้กุมมือภรรยาคนที่ 3 ไว้แน่นแล้วกล่าวว่า เธอเป็นคนที่ฉันรักที่สุดฉันไม่เคยห่างจากเธอเลยปกติเรารักกันเหมือนคนๆเดียวกันอย่างแยกไม่ออก บัดนี้อาการเจ็บป่วยทำให้ฉันอยู่ได้ไม่นานเมื่อมาคิดดูว่าฉันต้องจากโลกนี้ไปอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายเช่นนี้ทำให้รู้สึกว้าเหว่มากฉันจึงอยากขอร้องให้เธอตายพร้อมกับฉันได้ไหม ?”  ภรรยาคนที่ 3 ได้ฟังเช่นนั้นก็ตกใจจนหน้าถอดสีรีบบอกไปว่า ดิฉันรู้ว่าท่านรักดิฉันมากแต่ที่ท่านบอกให้ตายพร้อมกับท่านเป็นไปได้อย่างไรจ๊ะ? ท่านก็ดีกับคุณผู้หญิงคนที่ 2 มากด้วยไม่ใช่หรือ ! ท่านให้เขาตายไปพร้อมกับท่านก็แล้วกันนะ  เศรษฐีรู้สึกอ่อนใจบ่นพึมพำว่า เสียแรงที่ฉันดีกับเธอมากแต่เธอก็ไม่รักฉันจริงและเรียกภรรยาคนที่ 2 มาพบแล้วก็บอกความประสงค์ของท่านเหมือนกับบอกภรรยาคนที่ 3  ภรรยาคนที่ 2 ฟังแล้วก็ตกใจจนตัวสั่นรีบบอกว่าตามปกติท่านรักดิฉันมาก ก็ขอขอบคุณแต่ว่าจะให้ดิฉันตายพร้อมกับท่านยังคงทำไม่ได้เพราะดิฉันยังสาวอยู่เมื่อท่านตายแล้วดิฉันยังสามารถแต่งงานใหม่ได้ ท่านเศรษฐีรู้สึกเศร้าเสียใจยิ่งขึ้น เพราะปกติรักเธออย่างล้นเหลือไม่เพียงแต่เธอไม่ยอมตายด้วยกันเธอยังจะไปเป็นของคนอื่นอีกท่านเศรษฐีจนปัญญาได้เรียกหาภรรยาหลวงมาพบ ตามปกติไม่เคยสนใจเธอเลย และกล่าวขอโทษเธอว่า ที่ผ่านมาฉันเย็นชากับเธอจนเกินไปตอนนี้ฉันกำลังจะตายแล้วแต่ว่าฉันจะไปปรโลกคนเดียว รู้สึกอ้างว้างเดียวดายมากขอให้เธอสงสารฉันมาตายพร้อมกับฉันได้ไหม ?” เธอกล่าวว่า โบราณบอกแต่งกับไก่ต้องตามไก่ แต่งกับหมาต้องติดตามหมา บัดนี้ท่านจะตายแล้วดิฉันก็ไม่ขอจะอยู่ต่อไปยินดีที่จะตายตามท่านไปด้วย  ท่านเศรษฐีคิดไม่ถึงว่าภรรยาหลวงจะยอมตายพร้อมกับเขาเมื่อได้ฟังรู้สึกเหลือเชื่อและละอายใจแก่ตนได้กล่าวว่า เธอซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อฉันเช่นนี้แต่ฉันกลับละเลยไม่เคยสนใจเธอเลยจนเกือบจะลืมเธอเสียแล้วในทางกลับกันฉันเห็นภรรยาคนที่ 2 คนที่ 3 สำคัญยิ่งกว่าชีวิตของตนเองแต่พวกเขากลับเนรคุณใจจืดใจดำทอดทิ้งฉันไม่ยอมตายเป็นเพื่อนฉันฉันรู้สึกเสียใจและละอายใจตนที่แต่ก่อนมาทำไมฉันไม่รักไม่ดูแลเธอไม่สนใจเธอไม่ดีกับเธอถึงเพียงนี้

 

                      เมื่อพระพุทธองค์เล่านิทานจบทรงตรัสว่า ท่านทั้งหลายเข้าใจในความหมายที่แอบแฝงในนิทานเรื่องนี้ไหม   ภรรยาคนที่ 3 หมายถึงร่างกายของเราโดยทั่วไปมักเอาใจใส่ร่างกายของตนเองมากเวลาอากาศหนาวก็ใส่เสื้อผ้าที่หนาห่มผ้าให้อุ่น พออากาศร้อนก็ใส่เสื้อผ้าบาง หาพัดลมมาพัด  เมื่อป่วยเป็นหวัดเล็กน้อยก็รีบหาหมอมารักษานอกจากนี้ยังแต่งตัวให้สวยงามน่าดู อย่างไรก็ตามกายเนื้อนี้เป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกจะตกแต่งบำรุงรักษาอย่างไรก็ไม่เกิดประโยชน์ พอหมดลมหายใจก็เป็นเพียงซากศพต้องเน่าเปื่อยผุพังไป   ภรรยาคนที่ 2 หมายถึง ทรัพย์สินเงินทองเพชรนิลจินดาและลาภยศชื่อเสียงปกติคนทั่วไปมักจะแสวงหาสิ่งเหล่านี้มั่งมีแล้วก็อยากมีขึ้นอีกมีตำแหน่งสูงแล้วก็ยังอยากสูงขึ้นไปอีกไม่เคยรู้จักพอเอาสติปัญญาที่มีอยู่ทุ่มเทให้กับสิ่งเหล่านี้บางคนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายถึงกับทำผิดศีลธรรมผิดกฎหมาย แท้ที่จริงลาภยศสรรเสริญเงินทองเป็นของนอกกายตอนเกิดไม่ได้พามาตอนตายก็ไม่ได้นำไปการแสวงหาและทุ่มเทในสิ่งเหล่านี้ท้ายที่สุดก็เหลือแต่ความว่างเปล่านำพาไปไม่ได้แม้แต่น้อย         ส่วนภรรยาหลวงหมายถึง จิตใจของเรา ซึ่งเดิม                     จิตที่แท้จริงประภัสสรบริสุทธิ์สะอาด  แต่หากกิเลสคือไฟสามกองได้แก่โลภะ โทสะ โมหะมาสะสมกันนอนเนื่องอยู่ในจิต   ทำให้จิตมีความขุ่นมัว โดยทั่วไปเราไม่เคยสนใจในการขัดเกลาเอาไฟสามกองนี้ออก ยามใดมีเชื้อมาล่ออย่างเหมาะสมการทำอกุศลต่างๆนานาก็บังเกิดประทุขึ้นตามเหตุและปัจจัย ขณะเรามีชีวิตอยู่ควรรีบแสวงหาการทำจิตให้บริสุทธิ์    ซึ่งการทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ต้องขัดเกลากิเลสออกด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเอาสติกำหนดตั้งไว้ในกาย  เวทนา  จิต และธรรมเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของรูป นามหรือขันธ์ 5 ประการโดยการทำงานประสานกันระหว่างอายตนะภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  และธรรมารมณ์   อายตนะภายในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยกตัวอย่างเช่นตาเห็นรูปครั้งหนึ่งขันธ์ห้าก็เกิดขึ้น คือนัยน์ตากับรูปภายนอกกระทบกับเป็นรูปขันธ์  เกิดความรู้สึกสบายไม่สบายเป็นเวทนาขันธ์ จำได้ในรูปนั้นเป็นสัญญาขันธ์  อยากได้ ชอบใจไม่ชอบใจเป็นสังขารขันธ์ ตัวที่เข้าไปรู้ เป็นวิญญาณขันธ์  เบญจขันธ์เกิดตรงอายตนะสัมผัสกันความเกิดและความดับก็อยู่ตรงนี้กิเลสก็เกิดตรงนี้ถ้าเกิดความชอบใจก็เป็นโลภะ ไม่ชอบใจก็เป็นโทสะ ไม่ได้กำหนดก็เป็นโมหะฉะนั้นต้องเอาสติกำหนดรู้กิเลสไม่สามารถเกิดได้ความบริสุทธิ์ของจิตใจก็บังเกิดขึ้นเจริญขึ้นเป็นลำดับ

                อย่างไรก็ตามจิตใจถ้าไม่หมั่นฝึกฝนก็จะเศร้าหมองมีทุคติเป็นไปแต่จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำไปสู่สุคติ การฝึกจิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นของพวกเราทุกคนเพื่อเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันและในอนาคต     จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลายผู้ไม่ประมาทในชีวิตมาฝึกจิตให้เข้มแข็งนำไปสู่จิตเดิมอันบริสุทธิ์ผ่องใสเพราะจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ 
คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 75258เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2007 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท