เมตตาภาวนา


เมตตาภาวนา

นายพิเชฐ     คำถาเครือ

      กลุ่มงานการพยาบาลโรงพยาบาลแม่สรวย

อำเภอแม่สรวย    จังหวัดเชียงราย

 

                 ผมได้นำเสนอเกี่ยวกับเมตตามาหลายเรื่องด้วยกันตั้งแต่เมตตามหานิยมมนต์เสน่ห์แห่งการผูกมัดใจ กรณียเมตตาสูตร     ครั้งนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการเจริญเมตตาภาวนา

                 จริงๆแล้วเมตตาภาวนาเป็นสมถกรรมฐานชนิดหนึ่งที่เป็นพื้นฐานทำให้เกิดสมาธิและความสงบเยือกเย็นผ่องใสปิติสุข      เมตตาแปลว่าความรักด้วยความปรารถนาดีซึ่งเป็นความรักอันบริสุทธิ์ไม่มีตัณหามาเกี่ยวข้องโดยปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายมีความสงบสุขปราศจากทุกข์ทั้งปวงเป็นความรักที่ไม่หน่วงเหนี่ยวยึดติดกับสิ่งที่เราเมตตา ต่างจากความรักอื่นที่มักจะเจือปนด้วยกิเลสตัณหาหน่วงเหนี่ยวยึดติด ผู้ที่เจริญเมตตาได้ผลจะรู้สึกเป็นสุขสงบในจิตใจ สำรวม ใบหน้าแจ่มใสผิวพรรณผุดผ่องและได้รับอานิสงส์  11 ประการคือ

1.      หลับเป็นสุข

2.      ตื่นขึ้นมาเป็นสุข

3.      ไม่ฝันร้าย

4.      เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

5.      เป็นที่รักของเทวดา พรหม สัตว์ทั้งหลาย

6.      เทวดาคุ้มครองปกป้องรักษาให้พ้นจากอันตราย

7.      ยาพิษ อาวุธ อัคคีภัยไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ที่เจริญเมตตาได้

8.      เป็นผู้มีใบหน้าอ่อนโยน มีราศี

9.      มีสมาธิอย่างง่ายดายจิตใจไม่วอกแวก

10.  เวลาตายก็ตายอย่างสงบ

11.  เมื่อสมาธิแก่กล้าสามารถยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ง่าย

                การเจริญเมตตาภาวนาแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ การแผ่เมตตาโดยเฉพาะเจาะจงตัวบุคคล และการแผ่ออกไปโดยไม่มีประมาณทั่วจักรวาล  หลักในการเจริญเมตตาภาวนาต้องไม่เคร่งเครียด ไม่ใช้ความพยายามบุกบั่น เพียงแต่ตั้งความปรารถนาหรือกำหนดขอให้สัตว์ทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุขมีความเจริญ ปราศจากศัตรูผู้เบียดเบียน ไม่มีความเศร้าโศก มีแต่สันติสุขอย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย วิธีการปฏิบัติจริงในการกำหนดเมตตาภาวนา  เริ่มต้นควรนั่งในท่าที่สบาย อาจจะนั่งท่าทำสมาธิหรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ เริ่มจากการแผ่เมตตาให้ตัวเราเองว่าขอให้ข้าพเจ้ามีความสุขไม่มีเวรไม่ถูกเบียดเบียน รักษาตนให้พ้นจากทุกข์เถิดพร้อมกับแผ่เมตตาจิตให้กับตนเอง จากนั้นแผ่เมตตาให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เลือกสรรได้แก่บุคคลอันเป็นที่รักเคารพของชนส่วนมาก เช่น    ผู้ที่ทรงคุณธรรมที่สูงส่ง  ว่าขอให้ท่านจงมีความสุขเช่นเดียวกับข้าพเจ้ากำหนดเช่นนี้ประมาณ 2 นาทีแล้วจึงกำหนดต่อไปว่า ขอให้ท่านมีแต่ความสุขพ้นจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด หลังจากจิตมีความสงบสุขในขอบข่ายของบุคคลเป้าหมายดีเพียงพอแล้วก็ให้เคลื่อนเป้าหมายไปสู่บุคคลต่อไปจะทำให้สมาธิของเรากระจายเป็นวงกว้างออกไปจากเดิม หลังจากนั้นแผ่เมตตาออกไปสู่มารดาบิดาพี่น้องญาติสนิทมิตรสหายบุคคลใกล้ชิด เมื่อจิตเป็นสมาธิดีให้แผ่เมตตาไปยังบุคคลที่รู้จักเป็นกลางๆไม่ใช่ศัตรูและไม่ใช่เพื่อนรัก  เมื่อจิตเป็นสมาธิดีมากแล้วให้แผ่ไปยังกลุ่มปรปักษ์หรือศัตรูคู่แข่ง ในการแผ่เมตตาศัตรูมี 2 กลุ่มคือศัตรูใกล้และศัตรูไกล    ศัตรูไกลคือความโกรธ ความเกลียด อาฆาตพยาบาท ในขณะแผ่เมตตาให้ศัตรูถ้าจิตใจไม่เป็นสมาธิไม่สามารถแผ่ออกไปได้ให้เปลี่ยนเป็นกลุ่มแรก และกลุ่มสองตามลำดับจนสมาธิดิ่งลึกลงแล้วแผ่เมตตาให้กับศัตรู  สำหรับศัตรูใกล้คือกามคุณอารมณ์ถ้าหากเริ่มแผ่ให้เพศตรงข้ามทันทีจิตจะดื่มด่ำแนบแน่นในทางกามคุณจึงไม่ใช่การแผ่เมตตาที่แท้จริง เมื่อเราสามารถแผ่เมตตาให้ศัตรูได้สำเร็จเราก็ยังมีเมตตาให้ตัวเราเองมากขึ้นเป็นทวีคูณ              อย่างไรก็ตามเพื่อความสำเร็จในการแผ่เมตตาต้องฝึกฝนบ่อยๆจนเกิดสมาธิตั้งแต่การแผ่เมตตาขั้นต้นจนกระทั่งแผ่ออกไปโดยไม่มีขอบเขตดังที่กล่าวมาแล้วหากสมาธิเริ่มดีมากขึ้นก็สามารถกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ยกตนเข้าสู่วิปัสสนาต่อไปได้    

 

                การแผ่เมตตานี้มีค่ามากกว่าทาน ในโอกขาสูตร ได้กล่าวว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถีครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงถึงอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาภาวนาทรงยกเอาทานมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ 100 หม้อใหญ่ใน สามเวลาทั้งตอนเช้า เที่ยง  และ  เย็น กับผู้ใดเจริญเมตตาภาวนาในตอนเช้า  เที่ยง และเย็น โดยที่สุดเจริญเมตตาแม้เพียงชั่วขณะแห่งการหยดของน้ำนมโค พระพุทธองค์ตรัสว่าการเจริญเมตตามีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว 3 ครั้งในวันหนึ่งนั้น เพราะเหตุดังนี้จึงตรัสให้พระภิกษุทั้งหลายพึงศึกษาและเจริญเมตตาเจโตวิมุติโดยกระทำให้มาก เป็นประดุจยานพาหนะ เป็นที่อาศัยให้มั่นคง สั่งสมเมตตาและความปรารถนาดีต่อกัน  

                ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแผ่เมตตานั้นมีอานิสงส์มาก    แม้กระทำในชั่วขณะแห่งการหยดน้ำนมโคหรือชั่วขณะช้างพับหู งูแลบ ลิ้นไก่จิกก้มกินน้ำผลานิสงส์ย่อมมีมากกว่าทานดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลายเจริญเมตตาภาวนาเพื่อฝึกจิตใจให้เข้มแข็งมีเมตตาธรรมซึ่งนำไปสู่ภาวะสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจอันส่งผลให้การทำงานร่วมกันในการบริการสุขภาพประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป
คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 75257เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2007 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท