ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ
ทพญ. ฉลอง ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ เอื้องสุวรรณ

การสื่อสารที่กรุณา


ได้ปิติสุขเกินคาด

              การเรียนรู้จากภายในสู่ภายนอก


4 พฤศจิกายน 2549   เวลา 16.00 น.

 วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับจาก workshop เรื่อง  การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม จัดโดยอาจารย์วิธานและอาจารย์ฌานเดช ที่จังหวัดเชียงราย    วันนั้นได้คุยกับพี่สุ่ย เรื่อง การสื่อสารที่กรุณาที่อาจารย์ณัฐฬสจัดที่กรุงเทพฯ   แล้วนำไปใข้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี  ทำให้ฉันสนใจ และได้พูดคุยกับอาจารย์เต็มศักดิ์ว่า เราน่าจะนำมาจัดที่คณะแพทย์บ้างนะ     เผื่อว่าจะมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นบ้าง   อาจารย์เต็มศักดิ์ก็เห็นด้วย  ก็เลยนำมาเสนอในทีมของ palliative care ซึ่งทั้งทีมนำโดยอาจารย์หมอสกลเป็นที่น่ายินดีที่อาจารย์ตอบรับด้วยคำถามนานัปการ ฉันเลยบอกไปว่า  ขอให้ไว้วางใจดูสักครั้งว่า  ถ้าไม่ตอบคำถามทั้งหมดแล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
 กว่าจะได้รับอนุมัติจากคณบดีก็ต้องอธิบายกันยกใหญ่ ด้วยคำถามที่เต็มไปด้วยความคาดหวังว่า ลงทุนตั้งมากมายจะได้อะไรกลับมาบ้าง  ก็คาดหวังให้ผู้ที่เข้าอบรมกลับมาอบรมผู้อื่นต่อด้วย   ฉันรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ท้าทายยิ่งนัก
          ได้พูดคุยถึง workshop นี้ กับอาจารย์หมอวิธานว่า workshop นี้ท้าทายความสามารถมาก  ถ้าผ่านได้ก็เรียกว่าสุดยอดจริง ๆ
 การจัด workshop แต่ละครั้ง  เราต้องรู้ว่าผู้เข้าร่วมเป็นใครบ้าง  ความประสงค์สิ่งใดเป็นสำคัญ  เพื่อเหล่ากระบวนกรจะได้นำพาให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะพยายามทำจนสุดความสามารถ      ผลที่ได้จะเป็นเช่นใดนั้นอาจารย์ณัฐบอกว่า ให้ฝากความหวังไว้ที่ฟ้า เพื่อป้องกันความสุขที่น้อยลงของกระบวนกรภายหลังการจัด workshop
          วันที่ได้รอคอยก็มาถึง 20 ตุลาคม 2549  เป็นวันที่รู้สึกตื่นเต้นพอสมควรค่ะ   การเดินทางของฑูตสวรรค์ทั้งสองท่านก็เริ่มขึ้น เมื่อฉันได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์วิธานว่า ผมกำลังจะขึ้นเครื่องแล้วนะ คงถึงประมาณบ่ายกว่า ๆ  และมีเวลา 35 นาที ในการต่อเครื่องไปหาดใหญ่   อาจจะไม่ได้โทรศัพท์ติดต่ออีก  ฉันก็ฝากอวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ  แล้วเจอกันนะคะ
        ฉันเตรียมตัวกำลังจะออกไปรับประมาณบ่ายสองครึ่ง  ได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ว่าเครื่องบิน delay ไป 15.20 น.  ก็เลยรอต่อไป  ประมาณบ่ายสามโมงอาจารย์โทรศัพท์มาบอกว่า เครื่องบินออกไปแล้วตั้งแต่บ่ายสามโมง   เอ้า ! ทำไมไม่รอจนถึง 15.20 น.  ล่ะคะ   ฉันกับนุชได้ช่วยกันภาวนาว่า ยังไงก็ขอให้มาได้ทั้งสองท่านเถอะ !
 สุดท้ายการภาวนาของเราสำเร็จ   ทั้งสองท่านบินมากับนกแอร์   กว่าจะถึงหาดใหญ่ก็ 21.22 น.  คิดดูสิว่ารอที่สนามบินกี่ชั่วโมง …. นี่แหละสนามบินสุวรรณภูมิ …ที่... ยิ่งใหญ่ …. แต่ให้ความอบอุ่นและมั่นใจกับผู้โดยสารไม่ได้ …. เศร้าใจจริง ๆ …..
อาหารดึกวันนั้น …. ที่ร้านเปียนโน …. เราได้เลี้ยงต้อนรับอาจารย์ทั้งสองท่านอย่างอบอุ่น เพื่อช่วยเรียกขวัญที่บินอยู่กลางอากาศกลับเข้าสู่ตัวตน เพื่อจะได้นำพาผู้คนในวันรุ่งขึ้นได้อย่างมีพลัง
วันแรกของการอบรม …
พูดถึงเรื่องสถานที่ … ทำเอากระบวนกรลำบากใจ เพราะเสาสี่เสานี้ขัดขวางการขับเคลื่อนของพลังพอสมควร  ก็ภาวนาให้เสานี้ช่วยเป็นเสาหลักในการนำพาผู้คนให้พวกเราด้วยก็แล้วกันนะ


 เริ่มต้นเปิดวงด้วยการนำพาของอาจารย์ณัฐฬส    วังวิญญู

 หากเปรียบวงสนทนาว่าเป็นแปลงเพาะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาและความรัก   การเปิดวงก็เป็นเหมือนพิธีแรกนาขวัญ  โดยเริ่มพิธีด้วยการเชื้อเชิญให้ทุกคนได้ผ่อนคลายร่างกาย และทำใจให้สงบ โดยมีการเปิดเพลงเบา ๆ และพูดช้า ๆ  โดยให้ทุกคนได้รับรู้และสัมผัสสิ่งที่มีอยู่ในตัวตน และเพื่อการเรียนรู้สู่ปัญญา  อาจารย์ได้นำพาให้พวกเรานอบน้อมต่อปัญญาของทิศ 6  และนอบน้อมต่อขวัญและปัญญาของทุกคน  ให้พวกเรา ผ่อนคลาย ตื่นรู้ และเปิดกว้าง  รับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง  และเคารพความคิดทุกความคิดของผู้คน หรือเคารพแม้กระทั่งความเงียบ  และให้ทุกความรู้สึกนึกคิดหลอมรวมเป็นมณฑลแห่งพลัง   และเท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเราเองและวงอย่างเป็นปัจจุบันขณะ   มีการเรียนรู้และรับฟังเรื่องราวที่ได้จากการบอกเล่าอย่างไม่ด่วนสรุป  ไม่ด่วนตัดสิน  มีการรอคอย  ทำให้เกิดปัญญาร่วมและมีความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน การเปิดวงนี้สำคัญมาก      การเริ่มต้นที่ดีก็เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

             จากนั้นอาจารย์หมอวิธานได้พูดถึง จิตตปัญญาศึกษา  ซึ่งเน้นการศึกษาด้วยใจที่ใคร่ครวญ เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ โดยการสังเกตการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างละเอียดอ่อนทุกขณะจิต   มีลักษณะเป็นคลื่นจากภายในสู่ภายนอกและจากภายนอกสู่ภายใน ผ่านการเฝ้ามองตนอย่างใคร่ครวญและลึกซึ้ง    การศึกษาเช่นนี้กระทำชนิดที่เอาตัวเข้าแลก และใช้ความเป็นกัลยาณมิตรที่สูงมาก
 การ check in  เป็นกิจกรรมหนึ่งของวง  ทั้งนี้ เพื่อทราบความคาดหวังของแต่ละคน หรือกลุ่ม เพื่อใช้ในการวางเค้าโครงเรื่อง  ซึ่งกิจกรรมนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้  อาจจะต้องดูเวลาหรือความต้องการของกระบวนกร  หรือกลุ่มผู้เข้าอบรมที่ต้องการสื่อสารกับเรา   จากการ check in วันนี้ ทำให้ทุกคนทราบถึงความต้องการของผู้เข้าร่วม  ดังนี้
- ต้องการรู้จัก contemplative education
- ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนานักศึกษาด้านจริยธรรม
- ต้องการรู้จักคนและเข้าใจคนรอบข้าง
- ต้องการรู้จักสุนทรียสนทนาว่าเป็นอย่างไร
- อยากรู้จักการสื่อสารที่กรุณา ทำได้อย่างไร
- จะนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างไร

กิจกรรมวัยเด็ก  :  เพื่อการฟังอย่างลึกซึ้ง


 ให้จับคู่กันเล่าเรื่องราวในวัยเด็ก   โดยคนที่หนึ่ง …. เล่าให้คนที่สองฟัง โดยผู้ฟังจะต้อง  อย่างตั้งใจ ไม่แทรกแซง  จากนั้น  ให้คนฟังเล่าเรื่องที่คนที่หนึ่งพูด  เพื่อดูว่าได้ฟังมามากน้อยแค่ไหน 
           จากนั้น คนที่สองก็เล่าเรื่องวัยเด็กของตนเองให้คนที่หนึ่งฟัง  แล้วคนที่สองก็เล่าสิ่งที่ตนฟังให้ผู้พูดฟังอีกครั้งหนึ่ง
           ต่อมาให้จับกลุ่มเพิ่มเป็นสี่คนแล้วร่วมกันเล่าเรื่องวัยเด็กที่ฟังผ่านมาโดยใช้ก้อนหินในการให้สิทธืผู้พูด   และผลัดกันเป็นดอกไม้และผีเสื้อ  บินไปวงต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน
        จากการพูดคุยในวง  สังเกตได้ถึงความสดชื่น เบิกบาน  มีการพรั่งพรูของคำพูดออกมา  พบว่าการฟังอย่างตั้งใจ  ไม่แทรกแซง และผ่อนคลาย รวมทั้งจินตนาการไปด้วย  ช่วยให้เราจำเรื่องราวได้ดีพอสมควร และไม่เครียด  สนุกสนาน


กิจกรรม Body Scan : เพื่อการพักผ่อนอย่างสมบูรณ์


เริ่มต้นด้วยการเปิดเพลงเบา ๆ  กระบวนกรจะเชื้อเชิญให้ทุกคนได้นอนพักอย่างผ่อนคลายสบาย ๆ และจินตนาการไปตามคำกล่าวของกระบวนกรและสามารถนอนหลับได้  เพื่อให้อวัยวะและเซลล์ทุกเซลล์ได้พักผ่อน และนำพาให้สมองเข้าสู่คลื่นอัลฟ่า เพื่อกลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อย่างผ่อนคลายและมีพลัง
กิจกรรมร้องเพลง  :  เพื่อผ่อนคลาย สบาย ๆ และสนุกสนานร่วมกัน
กิจกรรมทิศ 4  (โปรดดูรายละเอียดในสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น)
สำหรับบรรยากาศของกิจกรรมนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าอบรมที่นี่มาก  เพราะทำให้เรารู้จักและเข้าใจตัวเองหรือผู้อื่นมากขึ้น


วันที่สอง เริ่มต้นด้วย โหมดแห่งชีวิต และสมองสามชั้น  ปัญญาสามฐาน


เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงโหมดแห่งชีวิต  และเข้าใจการทำงานของสมองแต่ละชั้น ในแต่ละสภาวะของชีวิต  ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป   ในชีวิตประจำวันพบว่า เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราควรตระหนักไว้เพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ในการดำรงชีวิตแห่งปัจจุบันขณะ   และทำอย่างไรจึงสามารถก้าวข้ามโหมดปกป้อง หรือทำอย่างไรจึงจะดำรงไว้ซึ่งโหมดปกติ

ตอนบ่าย มีเรื่อง Body Scan และพร้อมทั้ง XEROXจิตใต้สำนึก สู่กระดาษด้วยค่ะ
 กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการนำกระดาษวางไว้ใต้ศีรษะของเราขณะนอนทำ Body Scan วันที่กระบวนกรนำพาเราเข้าสู่ห้องเทต้า โดยให้เราได้วาดภาพตัวเองในกระดาษและจดจำภาพ  เมื่อออกจากห้องเทต้าแล้วก็ให้เราค่อย ๆ หลับตาวาดภาพใบหน้าของเรา โดยวาดเริ่มต้นจากจุดหนึ่งจุดใดก็ได้  และวาดไปเรื่อย ๆ โดยไม่ยกปากกา   เสร็จแล้วก็นำมาพูดคุยกันในวง

วันที่สาม    เริ่มด้วยคลื่นสมอง

 เพื่อให้เข้าใจเรื่องของคลื่นสมอง และความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องไปกับจิตสำนึก  จิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึก  รวมทั้งการเรียนรู้สมอง  และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นแบบอัตโนมัติ หรือแบบใคร่ครวญ
 เริ่มต้นด้วย ให้ทุกคนได้รู้จักกับคลื่นสมองทั้ง 4 ชนิด คือ
• คลื่นเบต้า ซึ่งมีรอบความถี่  14-20 รอบ / วินาที
• คลื่นอัลฟ่า           “     7-14 รอบ / วินาที
• คลื่นเทต้า           “     1-7 รอบ / วินาที
• คลื่นเดลต้า           “     0-5 รอบ / วินาที
     รวมทั้งวาดภาพให้เห็นลักษณะของคลื่นทั้ง 4 ชนิด ในภาวะต่าง ๆ เช่น เร่งรีบ  หลับตา  นั่งสมาธิ  awakening mind  ผ่อนคลาย   เชื่อมโยงคลื่นสมองกับจิตสำนึก  จิตใต้สำนึก  และจิตไร้สำนึก  โดยใช้ภาพของภูเขา  น้ำแข็ง ในการอธิบาย
- น้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ คือ จิตสำนึกซึ่งอยู่ในภาวะที่สมองเป็นคลื่นเบต้านั่นเอง
- น้ำแข็งที่อยู่ติดกับบริเวณระดับผิวน้ำ  เป็นสภาวะที่คลื่นสมองเป็นคลื่นอัลฟ่า
- น้ำแข็งที่อยู่ถัดลงมาจากระดับผิวน้ำ มีขนาดกว้างใหญ่ คือ เป็นสภาวะของจิตที่มีคลื่นสมองเป็นคลื่นเทต้า หรือเป็นบริเวณของจิตใต้สำนึก
- ถัดลงมาจากนั้น เป็นบริเวณที่ก้อนน้ำแข็งใต้สุดที่เชื่อมต่อซึ่งกันและกันของแต่ละก้อน หรือเป็นสภาวะที่คลื่นสมองเป็นคลื่นเดลต้า หรือเรียกบริเวณนี้ว่าเป็นบริเวณที่อยู่ของจิตไร้สำนึก ซึ่งเชื่อมต่อถึงกันในแต่ละชาติพันธุ์ได้ ที่เรียกว่าเป็น Morphic Resonance เป็นมหาสมุทรแห่งปัญญา หรือ collective knowledge
สิ่งที่สำคัญของคลื่นสมองก็คือ การบ่มเพาะคลื่นอัลฟ่าให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำได้อย่างไร และมีคุณค่าอย่างไร
จริง ๆ แล้ว ตลอดเวลาของการดำเนิน workshop ได้บ่มเพาะคลื่นอัลฟ่ามาโดยตลอด เช่น
- วันแรกนั่งสมาธิตอนเริ่มต้น , การตามลมหายใจ
- การเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็ก ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกคนเล่ากันอย่างอิ่มเอม  มีความสุข  มีเสียงหัวเราะ
- การหลับตา  การผ่อนคลายลิ้น  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ใน Body Scan ก็ใช่เลย
- การสร้างจินตนาการต่าง ๆ ให้เราได้สัมผัสกับรูป รส กลิ่น เสียง ในขณะทำ Body Scan
- การใช้ชีวิตอย่างมีสติกับปัจจุบันขณะ  ไม่เร่งรีบ
- การฟังอย่างตั้งใจ     ในกระบวนการของสุนทรียสนทนานั้นจะพบว่า เมื่อเราฟังอย่างตั้งใจและใคร่ครวญ จะทำให้ความคิดของเราช้าลง  มีความละเอียดอ่อน และสุขุมรอบคอบมากขึ้น  เป็นความคิดอย่างตื่นรู้และจะพบกับปัญญาได้ในที่สุด
คุณค่าของการมีคลื่นอัลฟ่าคืออะไร
จากการสังเกตพบว่าการบ่มเพาะคลื่นอัลฟ่าให้เกิดขึ้นจะสามารถทำให้เกิดการเชื่อมโยงของจิตสำนึก และสามารถเข้าไปมองเห็นจิตใต้สำนึก  โดยผ่านการคิดใคร่ครวญ และเกิดการช้าลงบริเวณส่วนต่ำสุดของตัว U  ทำให้สามารถมองเห็นตัวตนหรือโลกภายในของเรา  หรือถ้าพูดถึงในแง่ของการแก้ไขปัญหาก็จะสามารถมองเห็นความเป็นไปได้ของค่ำตอบมากขึ้น  หรือสามารถเห็นผงที่เข้าตา  แล้วเขี่ยมันออกมาได้  หรือสามารถเกิดปัญญาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้
 ทฤษฎีตัวยู  (U)  การช้าลงหรือการหยุดเฝ้าสังเกต หรือห้อยแขวนการตัดสิน  เป็นการฝึกให้เกิดการตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ จะต่างกับการเป็นไปอย่างอัตโนมัติหรือหลับไหลของความเคยชินเดิม ๆ หรือความคิดเดิม ๆ หรือเทปม้วนเก่า   สภาวะที่การตอบสนองสิ่งเร้าของเราก็จะเป็นรูปตัว V แทน


 ขอเชื่อมโยงไปถึงวันที่ 24 (เช้า) ซึ่งป็นเรื่องของไข่ไดโนเสาร์ 

 ฟังแล้วเข้าใจยาก เพราะเพิ่งฟังครั้งแรก   ตอนแรกไม่ค่อยเข้าใจ  แต่พออ่านบทความของ “พี่ใหญ่” จึงเข้าใจมากยิ่งขึ้น   ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย
 อาจารย์หมอวิธานอธิบายโดยเชื่อมโยงกับคลื่นสมองและโหมดแห่งชีวิตทั้งสองด้วย  พบว่าการเรียนรู้ทางความคิดที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นก็คือ การเรียนรู้ทางความคิดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับตัวตน โดยอาจารย์ได้แบ่งระดับการเรียนรู้ในไข่ไดโนเสาร์เป็น 3 ระดับ   ระดับที่หนึ่ง คือ ระดับทฤษฎี    ระดับที่สอง คือ ปัญญาเชิงปฏิบัติ   และระดับที่สาม คือ ตัวตน
 ในโหมดปกตินั้น ในทางปฏิบัติถ้าเรานำทฤษฎีมาพูดคุยเพื่อการเรียนรู้ จะทำได้ค่อนข้างยากต่อการเรียนรู้      ดังนั้น จึงใช้การเรียนรู้โดยผ่านเรื่องเล่าปัญญาเชิงปฏิบัติจาก tacit knowledge ของแต่ละคน ผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนา ก็จะทำให้เกิด collective knowledge ซึ่งการเล่าปัญญาเชิงปฏิบัติก็ก่อให้เกิดคลื่นอัลฟ่า และเชื่อมโยงเข้าสู่คลื่นเทต้า โดยเข้าไปในส่วนที่สาม คือ โลกภายในหรือตัวตน  ซึ่งประกอบด้วย สามส่วน คือ ความเชื่อ คุณค่า และวิธีคิด   อาจารย์วิธานใช้คำว่ากระบวนทัศน์ แทนวิธีคิด
 ในทัศนะของฉันแล้วคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมากในการที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน   เพื่อการพัฒนางานที่ยั่งยืน    นั่นคือ เมื่อทุกคนทำงานเราก็จะมี tacit knowledge เกิดขึ้น  ถามว่าเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ร่วมกันได้อย่างไร   การพูดคุยแบบสุนทรียสนทนาจะสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นกัลยาณมิตรที่มีความเท่าเทียมกัน  เคารพซึ่งกันและกัน  ช่วยเหลือกัน  เกิดบรรยากาศผ่อนคลายในการทำงาน  มีการบ่มเพาะคลื่นอัลฟ่ากันมากขึ้น ก่อให้เกิดปิ๊งแว๊บ หรือ ความคิดริเร่มสร้างสรรค์ในการพัฒนางานมากขึ้น  สามารถขับเคลื่อนความรู้จากคนหนึ่งไปสู่ความรู้ที่เป็นสมุหได้  เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในของแต่ละคน  ทั้งคลื่น วิธีคิด ความเชื่อ คุณค่าของงาน และแผ่เป็นคลื่นขยายให้กลุ่ม มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเกิดการขับเคลื่อนหรือพัฒนาแบบจิตวิวัฒน์ขึ้นได้
 ในทางกลับกันถ้าหากแต่ละคนอยู่ในโหมดปกป้อง  ทำให้ไข่ไดโนเสาร์กลายเป็นไข่เน่า กล่าวคือ ในความรู้ระดับทฤษฎีจะเป็นแนวคิดที่เก่า ๆ เดิม ๆ  หรือแบบตายซาก  ไม่มีนวตกรรมใหม่ ๆ   เนื่องจากบรรยากาศในการทำงานค่อนข้างจะตึงเครียดอยู่ในคลื่นเบต้าเป็นส่วนใหญ่  ไม่สามารถบ่มเพาะอัลฟ่าได้  ดังนั้น การพูดคุยจึงอยู่ในลักษณะของการนินทา ใส่ร้ายต่อกันมากกว่าการหันหน้ามาพูดคุยกันแบบสุนทรียสนทนา  ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จึงไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของปัญญาเชิงปฏิบัติให้กับผู้ร่วมงาน  ไม่ก่อให้เกิด collective knowledge ขึ้นมาได้   ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปมองให้เห็นความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของตัวเองตามวิธีคิด ความเชื่อ หรือคุณค่าอย่างไร  จึงไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงตัวตนเพื่อการพัฒนาหรือสร้างสรรค์แนวคิด หรือนวตกรรมใหม่ได้  หน่วยงานจึงเป็นหน่วยงานที่ด้อยพัฒนาอยู่ร่ำไป

คำถามที่ว่า       แล้วไข่ไดโนเสาร์เกี่ยวข้องอะไรกับเส้นผมบังภูเขา
ต้องขอขอบคุณพี่ใหญ่อีกครั้งที่ช่วยอธิบายให้กระจ่างมากขึ้น


            ปกติเวลาเราเจอปัญหา  เรามักจะแก้ไม่ตก และเมื่อเราเกิดปิ๊งแว๊บ หรือนึกออกมาได้  เรามักจะพูดว่า โธ่เอ๊ย ! เส้นผมบังภูเขานี่เอง   แล้วไงต่อหละ …
- ทำอย่างไรจึงจะสามารถเห็นเส้นผมบังภูเขาได้ง่ายขึ้น หรือทำอย่างจะเห็นผงที่เข้าตา และเขี่ยออกได้เร็วขึ้น
          อาจารย์ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า อันแรกก็คือเราต้องออกจากโหมดปกป้อง  โดยเฉพาะท่าทีที่ว่า รู้แล้ว หรือ ไม่เห็นจะต้องเรียนรู้อะไร  ซึ่งคืออาการของความคิดที่ไม่ยืดหยุ่น หรือ ความคิดที่ไม่สร้างสรรค์ คือ ความคิดที่หยุดการเรียนรู้ หรือเทปม้วนเก่า  เมื่อเป็นเช่นนั้นความคิดก็ตายซาก  ไม่มีชีวิต ความคิดก็แข็งตัว
แต่ในโหมดปกติ  ความคิดจะมีชีวิต ยืดหยุ่น ไม่แข็งตัว เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ในโหมดปกป้องความคิด คือ สัจจะแปรเปลี่ยนไม่ได้  ในโหมดปกติความคิด คือ เครื่องมือ หรือแผนผัง หรือแผนที่ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา  ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์
                 ส่วนวิธีที่สอง อาจารย์แนะนำให้เรียนรู้เรื่องคลื่นสมอง เพื่อช่วยเขี่ยผงออกจากตา โดยคลื่นสมองจะทำไปทำอะไรหรือ เราจึง 
หนึ่ง  เห็นว่าผงเป็นผง ไม่ใช่เป็นความจริงหรือสัจจะอันไม่สามารถแปรเปลี่ยนได้   สอง  เมื่อเห็นเช่นนั้นก็เขี่ยผงออก  และสามารถเห็นโลกได้  โดยไม่มีผงเข้าตาขวางอยู่ หรือสามารถหยิบเส้นผมออก ก็จะเห็นภูเขาได้ชัดเจน
          การบ่มเพาะความรู้ครั้งนี้นำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง
            จัดกิจกรรมโดยแบ่งเป็นสองกลุ่มตามความสนใจ
1. การเรียนการสอน (จากกลุ่ม 1)
1.1 พัฒนาคุณธรรมจิรยธรรมนักศึกษา โดยใช้จิตตปัญญาศึกษา โดยเรียนรู้ ใคร่ครวญ ผ่านวิธีปฏิบัติ หรือเอาตัวเข้าแรกซึ่งสามารถทำได้แบบปัจเจกชน ให้นักศึกษาสัมผัสเหตุการณ์จริง โดยสมมุติว่าตัวเองป่วยและคงจะเสียชึวิตในวันพรุ่งนี้  ให้บอกมาว่าอยากให้ผู้อื่นดูแลตัวเราก่อนตายอย่างไรบ้าง     โดยผ่านกิจกรรมมรณสติก็ได้
สุดท้ายให้นักศึกษาบอกว่า แต่ละคนอยากให้คนอื่นดูแลเราอย่างไรบ้าง และเมื่อมาพูดคุยกันเป็นกลุ่มจะเกิดเป็น collective knowledge นักศึกษาจะทราบว่าการดูแลผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต ควรดูแลอย่างไร  องค์ความรู้เกิดจากการใคร่ครวญด้วยใจของเขาเองจะเข้าใจลึกซึ้งกว่าการบอกกล่าวของอาจารย์ที่เป็น lecture มาก  และเป็นการสร้างคุณธรรมแบบหยั่งลึกและยั่งยืน
1.2 กลุ่มของอาจาย์มยุรีบอกว่าน่าจะมีหลักสูตรพัฒนานักศึกษาโดยกระบวนการของจิตตปัญญาศึกษา  เริ่มจากปี 1 – ปี 6  โดยมีหัวข้อ หรือ outline การพัฒนาชัดเจน
1.3 ในการเรียน    แผนการสอนควรจะเขียนไปให้ลึกว่า  หลังจากจบบทเรียนเรื่องนี้แล้ว นักศึกษาได้รับคุณค่าการพัฒนาด้านจิตใจอย่างไรบ้าง          และส่งผลให้เกิดพัฒนาพฤติกรรมอย่างไรบ้าง
1.4 พัฒนาสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนให้ผ่อนคลาย      เพื่อให้นักศึกษาเกิดคลื่นอัลฟ่าก่อนเข้าสู่บทเรียน  เช่น  นั่งเป็นวงกลม  เปิดเพลงเบา ๆ  เปลี่ยน white board  เป็นกระดาษโดยให้ดินสอสีเขียน  เป็นต้น

2. การใช้ในการดูแลผู้ป่วย
2.1 ฟังผู้ป่วยอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจวาระของเขามกากว่าการยัดเยียดวาระของเราให้กับผู้ป่วย
2.2 สื่อสารด้วยความกรุณา เข้าใจเขา และอยากให้เขาพ้นทุกข์ หายป่วย และมีความสุขที่จะยืนอยู่บนโลกนี้ต่อไปอย่างเข้มแข็ง  สื่อสารผ่านใจ  รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  เกื้อกูลเขา ช่วยเหลือเขาอย่างจริงใจ โดยรับรู้และเข้าใจเขา  ดูแลจุดติดขัดเขา ให้เขาแอบเกาะติดนัวเนีย โดยผู้สังเกตและผู้ถูกสังเกตเป็นหนึ่งเดียวกัน
2.3 บ่มเพาะความรู้โดยฝึกฝนตัวเอง  สังเกต ใคร่ครวญ เกิด mental model จากนั้นเมื่อเห็น  หรือเกิดปัญญาก็ถ่ายทอด แบ่งปัน การเรียนรู้ ปัญญาเชิงปฏิบัติต่อกลุ่มโดยกระบวนการสุนทรียสนทนา ให้เป็น collective knowledge หลังจากความรู้ผ่านการบ่มเพาะเรียบร้อยแล้ว ก็งอกงาม เติบโต มีการเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์จากโลกภายในสู่โลกภายนอกของปัจเจกชนสู่กลุ่มคน สังคม เกิดเป็นสังคมวิวัฒน์ เกิดการพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาสังคม ประเทศชาติ

บทส่งท้าย   จะพูดถึง ….. ผลพวงในระยะเวลาฮันนีมูน


     หลังจากกลับมาที่คณะแพทย์  ทุกคนที่เข้า workshop มีอาการแปลก ๆ แต่เหมือน ๆ กัน อาจารย์หมอพรรณทิพย์บอกว่า  euphoria หรือเปล่า  อาจารย์พรรณทิพย์เล่าให้ฟังว่า สามารถลงไปตรวจผู้ป่วยอีกครั้งโดยไม่รู้สึกรำคาญ หรือหงุดหงิด แต่ไปด้วยใจกรุณา   อาจารย์มยุรีเล่าให้ฟังว่านั่งรถไปกรุงเทพฯ ได้อย่างผ่อนคลาย สบาย ๆ ไม่หงุดหงิด  นั่งรอคอยได้ และช้าลงได้อย่างมีความสุข  ไม่เครียด  ไม่กังวล  ส่วนกลุ่มแม่ยก นำโดย พี่ติ๊ก พี่แอ๊ะ พี่สวย และทีมพยาบาลทั้งหมดก็รู้สึกคึกคัก  จัดทำสุนทรียสนทนาด้วยกัน ครั้งที่ 1  ครั้งที่ 2  และมีแผนการจะนำสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นไปสู่ผู้ป่วย  น้อง ๆ ที่ ward ล่าสุด บอกว่าจะจัดอบรมผู้บริหารฝ่ายบริการพยาบาล   แถมพี่แอะยังไปคุยกับรองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากรว่า น่าจะนำมาอบรม หัวหน้างานบ้าง  ฯลฯ
เกิดชุมชนจิตไร้สำนึก  ทั้งชาว มอ. และชาวเชียงราย ในระบบอีเมล์  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อย่างสนุกสนาน ตื่นรู้ มีชีวิต ชีวา
 ส่วนภาควิชาพยาธิวิทยา   พี่มาริสาก็มาสรุปให้หัวหน้าภาควิชาฟัง  อาจารย์ปารมีและอาจารย์เสาวรัตน์ ได้เชิญฉันไปพูดคุยเพื่อจัดกิจกรรมนี้แก่บุคลากรในภาควิชา …. น่าชื่นชมจริง ๆ


             ฉันรู้สึกมีความสุขและดีใจมากที่เกิดการตอบรับการอบรมครั้งนี้อย่างท่วมท้น   โดยไม่เคยพบการ
อบรมครั้งไหนจะติดตา ตรึงใจ ผู้เข้าอบรมได้มากขนาดนี้   คืนก่อนจะกลับจาก workshop มีการจัดกิจกรรม ล้อมกลุ่มเดิมที่พูดคุยเรื่องการนำไปใช้  และให้ชื่นชมกันในกลุ่ม  บรรยากาศดีมาก  มีความจริงใจต่อกัน ทำให้ ฉันนึกถึงคำกล่าวของพระราชบิดาที่กล่าวว่า ขอให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษยเป็นกิจที่หนึ่ง  ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง   มีอยู่ช่วงหนึ่งอาจารย์หมอภุชงค์ที่เป็นจิตแพทย์ได้มาพูดคุยกับฉัน  อาจารย์หมอภุชงค์บอกฉันว่า รู้สึกประทับใจ workshop ครั้งนี้  และคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี  ซึ่งอาจารย์รู้สึกว่าปกติอาจารย์ได้ใช้อยู่แล้ว แต่ไม่ชัด    พอได้เข้า workshop ครั้งนี้ก็ชัดเจนมากขึ้นในการนำไปใช้กับผู้ป่วยจิตเวช   ซึ่งคิดตรงกับฉันที่คิดว่า จิตแพทย์น่าจะใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยบางประเภทได้เป็นอย่างดีหรืออาจจะใช้เป็นการกระบวนการในการดูแลผุ้ป่วยที่ใช้กระบวนการกลุ่มได้อีกวิธีหนึ่ง
                ขอจบการถอดบทเรียนหรือการบ่มเพาะความรู้จากการจัด workshop ครั้งนี้ เพียงเท่านี้ หาก ท่านใด มีอะไรเพิ่มเติม  ขอความกรุณาช่วยเพิ่มเติมให้ด้วยค่ะ   ขอบคุณค่ะ


                                         ขอชุมชนจิตไร้สำนึกได้สืบสานต่อไป
 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ไข่ไดโนเสาว์
หมายเลขบันทึก: 75099เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2007 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • อาจารย์บันทึกได้รายละเอียดมาก
  •  ชอบและประทับใจเนื้อหาท่อนนี้มากค่ะ   "หากเปรียบวงสนทนาว่าเป็นแปลงเพาะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาและความรัก   การเปิดวงก็เป็นเหมือนพิธีแรกนาขวัญ  โดยเริ่มพิธีด้วยการเชื้อเชิญให้ทุกคนได้ผ่อนคลายร่างกาย และทำใจให้สงบ โดยมีการเปิดเพลงเบา ๆ และพูดช้า ๆ  โดยให้ทุกคนได้รับรู้และสัมผัสสิ่งที่มีอยู่ในตัวตน และเพื่อการเรียนรู้สู่ปัญญา" 

น่าต้องใช้ความอุตสาหะมากในการเขียนเล่าได้ละเอียดขนาดนี้   ขอบคุณหมอฉลองค่ะ

อ่านทุกตัวอักษร และรับรู้ได้ถึงความละเอียดอ่อนทางความคิดและการสื่อสารของหมอหลองค่ะ ใครที่คิดว่าเป็นบันทึกที่ยาวมาก ไม่กล้าอ่านละก็ ขอแนะนำให้อ่านตอนมีเวลา มีคุณค่ามากนะคะ ถ่ายทอดทั้งเรื่องราว และความรู้สึกของตัวเองออกมาได้ดี จนเราคนอ่านก็ได้รับพลังไปด้วยค่ะ ขอบคุณมาก

แวะมาทักทายครับ

อ่านแล้ว หมือนได้เข้าร่วม workshop เองเลย 

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยแวะมาอ่านให้กำลังใจผู้เขียนฉบับยาว  และขอโทษมากๆค่ะที่ไม่สามารถตัดต่อให้ท่านที่ชอบอ่านฉบับสั้นๆได้

แล้วจะพยายามเอาใจแฟนๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท