ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ความสนใจที่ศึกษาเกษตรกรรมแบบประณีต : ตอนที่ 2


เป็นข้อเสนอที่สนใจในการทำวิทยานิพนธ์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การจัดการความรู้เกษตรกรรมแบบประณีตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหัวข้อที่ผมมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับที่จะทำการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ จึงได้กำหนดเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ และได้ร่างข้อเสนอ (Proposal) เพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาได้พิจารณา อีกทั้งผู้ที่มีความสนใจในการที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าหากท่านจะกรุณาให้ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการการศึกษา และการพัฒนาชุดความรู้สู่การพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืน เป็นเนื้อหาที่ต่อจากเมื่อวานนะครับ

จากแนวทางการพัฒนาตลอดระยะเวลากว่า 45 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เดินตามเศรษฐกิจกระแสหลักในระบบทุนนิยมมาโดยตลอด จึงส่งผลให้ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ต้องพบกับความล้มละลายทางเศรษฐกิจมาหลายครั้งหลายคราต้องเป็นหนี้เป็นสินทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศจนกระทั่งเกษตรกรในสังคมชนบท ประชาชนตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว รายจ่ายสูง รายรับต่ำ เงินออมไม่มี สุดท้ายเราต้องขายสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นเงิน จนมีสภาพดินเลว น้ำแล้ง ป่าหมด ก่อให้เกิดมลภาวะมากมาย ครอบครัว ชุมชน และสังคมอยู่ในสภาพครอบครัวแตกกระจาย ชุมชนล่มสลาย สังคมอ่อนแอ ภูมิปัญญาไทยที่เคยยึดหลักพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองสามารถแก้ปัญหาความทุกข์ จนมีความสุขทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา ถูกแทนที่ด้วยภูมิปัญญาตะวันตกที่พึ่งเงิน พึ่งตลาด พึ่งวัตถุ และพึ่งพิงคนอื่น มีชีวิตอยู่กับความสุขระยะสั้น ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสุขภาพ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2543 ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกเป็นอย่างมากจึงได้เกิดการเดินขบวน (ม๊อบ) มากมาย เช่น  ม๊อบข้าว มัน อ้อย ลำไย ยางพารา เป็นต้น สถาบันการเงินกว่า 60 สถาบันโดนยุบภาคอุตสาหกรรมและบริการล้มละลาย และปิดกิจการส่งผลให้แรงงานกว่าล้านคนต้องตกงาน และกลับคืนสู่ชนบทโดยไม่มีหลักประกันใดๆ ให้กับชีวิต

ภายใต้วิกฤติดังกล่าวได้มีเกษตรกรที่เป็นระดับปัจเจกบุคคล  ที่มีความศรัทธาต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้รวมตัวกันเรียกว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้านในครั้งแรก และต่อมาเปลี่ยนเป็น ปราชญ์ชาวบ้านเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538 มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับในภาคอีสานนั้นประกอบด้วย พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย  และพ่อเชียง  ไทยดี  จากจังหวัดสุรินทร์  ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์, พ่อคำเดื่อง ภาษี, พ่อผาย   สร้อยสระกลาง, และพ่อทองหล่อ   เจนไธสง จากจังหวัดบุรีรัมย์ พ่อประคอง  มนต์กระโทก, พ่อจันทร์ที ประทุมภา จากจังหวัดนครราชสีมา พ่อชาลี มาระแสง จากจังหวัดอำนาจเจริญ พ่อเสริม  อุดมนา จากจังหวัดสกลนคร พ่อทัศน์ กระยอม, พ่อผอง เกตพิบูลย์ และพ่อบุญเต็ม ชัยลา จากจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น โดยปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดคิดจากกระแสความคิดเดิมเรื่องการพึ่งเงิน พึ่งตลาด พึ่งวัตถุและพึ่งคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองอย่างสมดุลและมีความสุข โดยอาศัยการปรับตัวกับกระแสบริโภคนิยมที่เชี่ยวกรากด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อาศัยกระบวนการเรียนรู้และการจัดการสู่การพึ่งตนเอง ทำให้ตนเองและครอบครัวมีสุขภาพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น กล่าวคือมีปัจจัย 4 ครบ มีหลักประกันในชีวิตทั้งต้นไม้ใหญ่และทรัพย์สิน มีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมดี มีอิสรภาพในการคิด พูดและทำโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น มีความภาคภูมิใจ รวมทั้งเข้าถึงธรรมะและหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นการนำความคิดของบรรพบุรุษมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่ผ่านมา  สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข อีกทั้งได้เผยแพร่วิธีคิดต่างๆ ให้กับ ญาติพี่น้อง เพื่อนเกษตรกรด้วยกันเอง ตลอดทั้งลูกหลานของเกษตรกรที่สนใจเพื่อจะได้นำแนวคิดไปปฏิบัติอันจะนำมาซึ่งการพึ่งตนเองและพึ่งพาญาติพี่น้อง และชุมชนต่อไป นอกจากนั้น ปราชญ์ชาวบ้านยังได้ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ และร่วมทำ ในเรื่องต่างๆ เช่น การตั้งกองทุนภูมิปัญญาชาวบ้านภาคอีสานกระตุ้นให้เครือข่ายของแต่ละศูนย์เรียนรู้จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง

ในปี พ.ศ. 2543 มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่น  (น.พ.อภิสิทธิ์,2549) ได้ร่วมกับเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคี ด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดความสุข พบว่างานวิจัยดังกล่าวสามารถทำให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ 200 คน สามารถแยกแยะความสุขระยะยาวที่สร้างได้ ออกจากความหฤหรรษ์หรือความสุขระยะสั้นในเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียง ที่ซื้อหาได้ด้วยเงิน ทำให้ชาวบ้านที่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดได้เหล่านี้หันมาสร้างหลักประกันในชีวิต สร้างร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สร้างครอบครัวที่อบอุ่น สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอิสรภาพ เกิดความภาคภูมิใจสามารถอยู่ร่วมกันทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยเงินทุนที่มีอยู่ในครอบครัว เงินทุนที่มีอยู่ในชุมชนและเงินทุนที่ระดมได้จากภายนอกชุมชนในรูปของโครงการต่างๆ มาสร้างให้เกิดทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อม และทุนทางความดี จนมีความสุขดังกล่าว
ในปี 2546-2547 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (น.พ.อภิสิทธิ์,2549)ได้สนับสนุนงบประมาณให้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานดำเนินการโครงการชุมชนเป็นสุขภาคอีสานในหมู่บ้านแกนกลาง 200 ชุมชน และร่วมกับองค์กรพันธมิตรขยายพื้นที่เครือข่าย โดยใช้ยุทธศาสตร์สร้างความรู้ การจัดการความรู้และการจัดการเครือข่าย ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านแกนกลางกว่า 2,000 ครอบครัวและหมู่บ้านในเครือข่ายองค์กรพันธมิตรเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวิธีคิด เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ทำให้เกิดความสุขทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา เครือข่ายตกผลึกทางความคิดในการพัฒนา รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเกษตรประณีต 1 ไร่ ซึ่งใช้ที่ดินน้อย แรงงานน้อย และลงทุนน้อย แต่สามารถพัฒนาให้เป็นครัวของครอบครัว และเป็นห้องเรียนรู้ของครอบครัว และของชุมชน ช่วยให้ลดรายจ่ายด้านอาหารการกินลงได้ รวมทั้งทำให้เกิดองค์ความรู้ขยายผลปลูกต้นไม้ยืนต้นในพื้นที่ที่เหลือ และเครือข่ายที่เหลือ ด้วยเหตุนี้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อนำองค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้จากการวิจัยกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดความสุข และงานวิจัยและพัฒนาเกษตรประณีต 1 ไร่ มาช่วยให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในหมู่บ้านของเครือข่าย รวมทั้งหมู่บ้านขององค์กรพันธมิตร สามารถพัฒนาความคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองอย่างสมดุลและมีความสุข เพื่อช่วยให้ทุนที่เป็นเงินซึ่งรัฐบาลกระจายอำนาจลงมา สามารถต่อยอดให้เป็นทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อม และทุนทางความดีเพื่อเสริมสร้างความเป็นไทและความเข้มแข็งของชุมชน สังคมและประเทศชาติได้ตลอดไป
ดังนั้น ในกระบวนการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นในระบบเกษตรกรรมแบบประณีตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ชุมชนเป็นสุขสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง และสอดคล้องกับ ศ.เสน่ห์   จามริก. (2541) กล่าวว่าในการศึกษาชุมชนชนบทนั้นประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 ต้นทุนชีวิต เอาไว้เป็นฐาน พวกธรรมชาติ พวกดิน แหล่งน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ ที่ใช้เป็นต้นทุนชีวิตเนื่องจากซื้อขายไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคนหนึ่งจะตกเป็นเหยื่อของอีกคนหนึ่ง ฟังราคาที่ดินแล้วไปซื้อขายกัน ดังนั้นประเด็นนี้เราต้องสร้างความเข้าใจ สร้างความสำนึกให้จงได้ เราจะจัดการการเรียนรู้อย่างไร
มิติที่ 2 ดุลยภาพชีวิต ต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน สุขภาพอนามัย ครอบครัว สภาพแวดล้อม ชนบทมีความสบายเรื่องอาหาร แต่ต้องมีการพัฒนาสิ่งนี้ให้ถูกสุขลักษณะสมัยใหม่ ความรู้วิทยาศาสตร์เบื้องต้นต้องรู้
มิติที่ 3 การพัฒนาชีวิต และสังคมไปกับกระแสของโลกภายนอก คือกระแสการพัฒนาชนบท ซึ่งได้แก่ เรื่องของการแปรรูป เพิ่มมูลค่าการออม กองทุนชุมชน และเศรษฐกิจท้องถิ่น ฯลฯ วัฒธรรมการเรียนรู้ มีแกนกลางคือ คน ครอบครัว และชุมชน
อย่างไรก็ตามจากการวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมแบบประณีต ตามโครงการชุมชนเป็นสุขภาคอีสานในหมู่บ้านแกนกลาง 200 ชุมชน ในช่วงที่ผ่านมาเป็นงานวิจัยที่ให้ความสำคัญในเชิงปริมาณเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์บังเกิดผลยอมรับสำหรับแหล่งทุน จึงขาดมิติการจัดการความรู้ด้านเกษตรกรรมแบบประณีตในเชิงลึก เช่น ชุดความรู้ในการจัดการดิน น้ำ แสง และรูปแบบของเกษตรกรรมแบบประณีตที่มีความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญ อันจะสามารถนำสู่การขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาเชิงลึกแห่งความสำเร็จของการจัดการความรู้ในระบบเกษตรกรรมแบบประณีต อันจะส่งผลถึงความอยู่ดี กินดีของเกษตรกร และชุมชน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ครับจากความเป็นมาดังกล่าวอันจะนำไปสู่การทำเกษตรกรรมแบบประณีต ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดตอนที่ 3 ขอความกรุณาช่วยตามไปให้กำลังใจด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

หมายเลขบันทึก: 74860เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2007 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • มาให้กำลังใจครับ
  • ถ้ามีการดำเนินการที่เป็นจริงตามธรรมชาติคาดว่าประสบความสำเร็จแน่นอนครับผม

ขอบคุณมากครับอาจารย์ ที่แวะมาให้กำลังใจ

อย่างไรก็ตามการทำเกษตรกรรมแบบประณีต คงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราคงต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จ นั่นก็หมายความว่าพี่น้องเกษตรกรมีชุดความรู้ที่สามารถปรับวิถีการผลิตให้เข้ากับบริบทของตนเองได้ จนกระทั่งสามารถพึ่งพาตนเอง และเพื่อนบ้านได้

ขอบคุณครับ

อาจารย์อุทัยค่ะ 

           การวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมแบบประณีต  ที่ผ่านมา นอกจากจะเน้นด้านปริมาณ แต่ขาดการจัดการและเชื่อมต่อของระบบการทำการเกษตรและเน้นเรื่องของการปลูกพืชผักเพียงอย่างเดียว  ซึ่งคำว่าเกษตรกรประณีตน่าจะเป็นการเกษตรที่สร้างสมดุลให้กับธรรมชาติมากกว่า

          ขอบคุณค่ะ

เกษตรปราณีตเป็นทางรอดของเกษตรกรไทยทางเดียวทั้งปัจจุบัน และอนาคต เพราะเป็น การฝึกวินัยทางเศรษฐกิจ ดีๆนี่เองครับ
อันนี้น่าจะเป็นบทนำของวิทยานิพนธ์ได้ครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์

อย่างไรก็ตามผมจะพยาสกัดให้ได้เนื้อหามากยิ่งขึ้นครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท