อนงค์ศิริ
รองศาสตราจารย์ อนงค์ศิริ วิชาลัย

สังคมแห่งความช่วยเหลือหรือเพื่อผลประโยชน์


สังคมแห่งความช่วยเหลือหรือสังคมแห่งผลประโยชน์ ยังไม่มั่นใจเพราะถ้าช่วยเหลือกันจริงต้องตั้งอยู่บนหลักของสัตบุรุษและคารวธรรมต่อกัน

สังคมไทยเป็นสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  จึงบ่มเพาะความคิดความเชื่อให้มีมิตรจิต มิตรใจ ช่วยเหลือคนอื่นไปก่อน ภายภาคหน้าอาจจะมีสักคราที่เราต้องอาศัยพึ่งพาคนอื่น กรรมดีที่เราเคยมีน้ำใจกับคนอื่นนั่นล่ะเขาจะระลึกถึงเราได้  ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีแต่รอยยิ้ม......และน้ำใจไมตรี

แต่ฉากชีวิตที่ผ่านมา

เริ่มเก็บมาคิดเมื่อสัมผัสสัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้คนในสังคม เริ่มนึกเอะใจ  ยิ่งให้ยิ่งเอา ยิ่งให้ยิ่งไม่รู้จักพอ  และผู้รับเริ่มรุกรานจนแทบไม่คำนึงถึงกาลใดควรกาลใดไม่ควร    เพียงเพื่อให้ฉันบรรลุวัตถุประสงค์ที่ฉันต้องการ

เช่นพฤติกรรมของคนบางคน

ร้อยวันพันปีไม่เคยส่งข่าวคราว ไม่เคยถามสารทุกข์ สารสุขแต่ดั้นด้นค้นหาจนเจอ  เมื่อเขาต้องการผลประโยชน์จากเราที่เขาเชื่อว่า...เราให้เขาได้

ร้อยวันพันปี เขาไม่สนใจเลยว่าเราจะอยู่อย่างไร  จะทุกข์ท้อเหนื่อยใจเพียงใด  เราคิดอย่างจะพึ่งพิงใครสักคน  ดูเหมือนเราจะระมัดระวังเกรงว่าจะเป็นการรบกวนเขาเกินไป  สู้อดทน ต่อสู้และแก้ปัญหาด้วยตนเอง"  ผู้หญิงตัวคนเดียว เดินเดี่ยวเหมือนญาติบ่มี"  ฮัมเพลงนี้ในใจเสมอ

แต่ก็น่าปลื้มใจที่ยังมีคน

โทรมาหาตอนดึก  (หลับไปแล้วหลายวรรค)

เพื่อตอบคำถามเขาว่าผลงานวิชาการที่เขากำลังแก้ไขนั้นถูกต้องหรือไม่  ถ้าไม่ถูกต้องจะให้เขาแก้ไขอย่างไร  ?

ตอบเขาไปว่าตอบกันทางอากาศไม่ดีหรอกเพราะไม่ได้อ่านผลงานตอบไม่ได้เพราะไม่เคยดูแลกันมาก่อน  ที่กำหนดวัตถุประสงค์อย่างไร ดำเนินการศึกษาอย่างไร  นึกไม่ออก   

เอาอย่างนี้มิดีกว่าหรือ ส่งเอกสารมาให้อ่านสักนิด หรือมาพูดคุยกันสักหน่อยจะได้แนะนำได้ตรงจุด   เขาก็บอกว่าไม่ได้ต้องเร่งส่งในวันนี้ พรุ่งนี้  ขอเพียงตอบว่าใช่หรือไม่เท่านั้นแหละที่เขาต้องการ

ในที่สุดก็คงไม่อาจหาญที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญไปเสียทุกเรื่อง ตอบได้แม้ในทางจินตนาการ  ก็จึงขอรวบรวมความกล้าหาญตอบไปว่า ไม่ทราบ

สงสัยจะเข็ดหรือเปล่าไม่อาจเดาได้

แต่ยอมรับว่ามีประเภทนี้มีมากๆๆๆๆ  ประเภทที่จะเร่งรัดเอาคำตอบโดยมีเงื่อนไขของตัวเองว่า  จะส่งผลงานวันนั้น วันนี้  หรือมีเงื่อนไขว่า ได้ซื้อตั๋วรถ ตั๋วเครื่องบินเอาไว้แล้ว

สังคมแห่งความช่วยเหลือ  หรือสังคมแห่งผลประโยชน์  ยังไม่มั่นใจเพราะถ้าเป็นสังคมแห่งความช่วยเหลือกันจริงควรตั้งอยู่บนหลักของความเป็นผู้รู้จักเหตุ  รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาลเวลา รู้จักสังคม ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร 

มีเพื่อนเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง บ่นเหมือนกันว่าคำพังเพยบางสำนวนเป็นจริง เช่น "เอากุ้งฝอยไปแลกปลากระพง" 

ตอนแรกไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร   ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า การรับไมตรีจากใครที่มีของฝาก ของกำนัล(ของผู้ใหญ่บ้านหรือของนายอำเภอ)ทั้งหลายนั้น ให้พึงระวัง เพราะบางทีอาจทำให้เราอึดอัดใจในตอนหลัง เมื่อผู้ให้นำเป็นเงื่อนไขของความมีน้ำใจ  และเราได้รับของเขาไว้แล้วหากไม่ตอบแทนก็จะเข้าข่าย ไม่รู้คุณคน

จึงมองอย่างเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต 

"คบคนจงดูคน         ผิวคนสิเลวทราม

จะหมั่นพยายาม      บ่มิร่วมสมาคม

คบคนผิคนดี            มานะมีจะสู่สม

เจรจาและปรารมณ์  ปิยะร่วมฤดีเรา"

สังคมแห่งโลกวัตถุได้เข้ามาทำลาย  สังคมแห่งจริยธรรม คุณธรรมมากมาย   คนเดี๋ยวนี้  มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ทำได้ทุกอย่างเพียงเพื่อบรรลุผล   คุณธรรมด้านกตัญญูกตเวทีนั้นอย่าหวัง  เมื่อท่านจะให้กับใคร  ก็จงตั้งใจเอาไว้ว่า คือ การให้  เพราะมิฉะนั้น ความผิดหวังจะไม่เกิด  แต่ถ้าท่านตั้งความหวังว่า เขาควรระลึกถึงบุญคุณบ้าง  ท่านจงเตรียมใจไว้เถิดว่า   ความผิดหวังยืนรอใกล้ๆอยู่นั่นเอง 

 

คำสำคัญ (Tags): #ชีวิตและสังคม
หมายเลขบันทึก: 74755เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2007 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยุคนี้ไม่มีโอ่งเล็กๆใส่น้ำดื่มวางใว้หน้าบ้านอีกแล้วครับ  แขกจะไปใครจะมาก็"โพลารีส"ครับขวดละห้าบาท(เป็นอย่างน้อย ต้องซื้อครับแม้ไม่ได้เกิดในทะเลทราย)

อ่านเรื่องของคุณอนงค์แล้ว นึกอยากย้อนกลับไปในอดีต ในยุคที่เราไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา แต่เหลือเฟือเรื่องน้ำใจ...   มันหมดไปแล้วครับ ทุกวันนี้ต้องกล้ำกลืนฝืนใจยอมรับความจริงที่ว่าความศรีวิไลจากยุค"ทุนนิยม"ได้ทำลาย ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารีย์ และความมีน้ำใจ ของเราจนหมดสิ้นแล้วครับ 

"ไอติมอ่าวนาง"เป็นบันทึกเรื่องแรกที่ผมได้มีโอกาศเขียนลงในบันทึกของ G2K และเป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนลงในสมุดบันทึกของตัวเองเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ซึ่งเจตนาจริงๆก็แค่อยากสื่อให้เห็นว่า"ความเป็นไทย"ไม่มีทางเอาชนะ"ทุนนิยม"ได้เลยครับ ไม่มีทาง.. อีกหน่อยเราจะเริ่มคุ้นเคยกับ"บ้านพักคนชรา"เมื่อเราต้องละทิ้งพ่อแม่และปู่ย่าตายาย และเราก็จะเริ่มคุ้นเคยกับคำว่า" homeless"

ขอแสดงความเสียใจและใว้อาลัยแด่"ความมีน้ำใจ"ครับ

เรียนคุณ kareem

เพราะเราอยู่ในยุคแห่งความสับสน ในระหว่างสังคมคนบ้านนอก  พริกมีบ้านเหนือ เกลือมีบ้านใต้ อาหารมื้อเย็นนี้อาจจะขอหัวปลียายเขียวมาแกง ก็พออิ่ม กับสังคมทุนนิยมที่สวมหน้ากากเข้าหากัน  คนเลยยิ้มให้กันแบบมีเลศนัย ผู้บริหารทั้งหลายระลึกได้รึยังก็ม่ายรุ เวลาเขาจะมาขอพึ่งละก้อ กระไดบ้านไม่แห้ง แต่พอหมดอำนาจ พกยาทัมใจ หลายๆ กล่อง เห็นด้วยกับความคิดของท่าน ขอขอพระคุณที่เข้ามาแจม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท