ชีวิตที่พอเพียง : 204. โดนปลาดุกยัก


         ตอนเป็นเด็ก ผมและน้องๆ ชอบไปจับปลาในคูน้ำ     คือพอเข้าหน้าแล้งน้ำในคูจะงวดลงๆ     จะมีเด็กๆ มาทำเขื่อนแบ่งข้างคูน้ำ      แล้ววิดน้ำออกจากคูข้างหนึ่ง     พอน้ำแห้งเหลือแค่โคลนก็ลงไปสุ่มปลา     หรืองมโคลนจับปลาเอาดื้อๆ     พวกผมก็แก้ผ้าลงไปผสมโรงเป็นที่สนุกสนาน

         ปลาที่จับได้มีปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลาสลิด และปลากระดี่     ปลาที่อันตรายที่สุดคือปลาดุก    เพราะมีเงี่ยงอยู่สองข้างแก้ม     พอเราไปจับตัวมันมันก็จะดิ้นและสะบัดหัวอย่างแรงให้เงี่ยงตำมือหรือเท่าที่เราไปโดนมัน     โดนเต็มที่ก็เจ็บไม่เบา และเลือดออกแดงฉาน     โดนหลายๆ ครั้งเข้าเราก็หัดจับปลาดุกจน "จับเป็น" ไม่โดนมันยักอีกต่อไป    คำว่า "ปลาดุกยัก" นี่เป็นภาษากลางนะครับ     ภาษาปักษ์ใต้ว่า "ปลาดุกแทง" 

        ปลาที่อันตรายเหมือนกัน แต่น้อยกว่าปลาดุก คือปลาหมอ     ที่เงือกคม บาดมือได้เหมือนกัน     เรื่องโดนปลาดุกยักนี้ผู้ใหญ่เขาไม่ค่อยโดนเพราะเขาจับปลาจนชำนาญ     และนอกจากนั้นฝ่ามือของเขาด้านหนามากจากการทำงานหนัก ปลายักไม่ค่อยเข้า    พวกเราเด็กๆ มือบางโดนปลาดุกยักง่าย

         ที่จริงแม่ผมห้ามไม่ให้ลงไปจับปลาในคู     แต่เผลอไม่ได้ เราอยากลงไปเล่นตามเพื่อนๆ     บางทีเราได้ปลาตัวโตๆ หลายตัวมาให้แม่ทำกับข้าว แม่ก็ไม่ว่าอะไร    

         ผมจับปลาดุกเก่งตอนโตสัก ๑๐ - ๑๑ ขวบ     จากการไปธงปลาที่ริมคันนาตอนค่ำ     พอตกประมาณสองทุ่มเราก็ไปกู้เบ็ด    โดยถือข้องไปใส่ปลา และเอาเหยื่อ (ไส้เดือน) ไปใส่เบ็ดใหม่ ในกรณีที่ปลาติดเบ็ดแล้วและมักกินเหยื่อไปแล้ว      ตอนเดือนมืดปลาจะกินเเหยื่อดี     เราต้องจุดไต้ส่องให้แสงสว่าง      สมัยนั้นไฟฉายและถ่านไฟฉายราคาแพง      เราใช้ไต้กันเป็นพื้น    ปลาที่มากินเบ็ดมักเป็นปลาดุก อาจมีปลาช่อนบ้าง     ผมจึงได้หัดจับปลาดุกอย่างมั่นมือเพื่อปลดเบ็ดออกจากปากมัน    และจับมันยัดลงข้อง     เรามักไปกัน ๒ คน ช่วยกันส่องไฟและจับปลา     รวมทั้งเป็นเพื่อนกันด้วย     มืดๆ เรากลัวผี     การไปธงปลากลางคืนนี้ แม่ห้ามจนเลิกห้าม     เพราะได้ปลามากคืนละเป็นสิบตัว     ทุ่นค่ากับข้าวไปเยอะ

          น้องชายคนที่ ๒ เคยโดนปลาดุกยักที่มือ    มือบวมขึ้นมาถึงแขน    เจ็บปวดมาก นอนครวญครางทั้งคืน    แม่ให้กินยาแอสไพรินแก้ปวด ก็ไม่ได้ผล    ที่จริงเขาเคยโดนมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยแพ้พิษรุนแรงขนาดนี้  

วิจารณ์ พานิช
๔ มค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 74275เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2007 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท