ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของ มน. โดย สมศ. (รอบแรก)


จากการประเมินคุณภาพด้วยกรอบมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่ สมศ. กำหนด กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรมีคุณภาพ โดยรวม อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนที่ดีมากเป็นพิเศษ คือ มาตรฐานที่ 8 ระบบการประกันคุณภาพภายใน ที่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ และครอบคลุม มาเป็นเวลาหลายปี เป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติทั่วไป จนถือได้ว่ามีวัฒนธรรมในการประเมินในองค์กรแล้ว สำหรับมาตรฐานที่ 4 ด้านการวิจัยและงานสร้างสรรค์ อยู่ในระดับที่ควรปรับปรุง ส่วนมาตรฐานอื่น ๆ ทั้งในส่วนปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลสัมฤทธิ์ มิอาจที่จะกำหนดระดับที่ประเมินได้

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

         คณะผู้ประเมินได้รวบรวมและพิจารณาข้อมูลจากเอกสารจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายงานการประเมินตนเองของมหาวิทยาลัย และของคณะ/หน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย และรายงานการตรวจสอบยืนยันการประเมินภายในโดยคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้น ประกอบกับการตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งที่จังหวัดพิษณุโลก วิทยาเขตพะเยา และศูนย์วิทยบริการ กรุงเทพฯ ตลอดจนการสัมภาษณ์บุคลากรจากทุกหน่วยงาน และทุกระดับในมหาวิทยาลัย รวมทั้งศิษย์เก่า และผู้บริหารท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่

         จากการประเมินคุณภาพด้วยกรอบมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่ สมศ. กำหนด กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรมีคุณภาพ โดยรวม อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนที่ดีมากเป็นพิเศษ คือ มาตรฐานที่ 8 ระบบการประกันคุณภาพภายใน ที่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ และครอบคลุม มาเป็นเวลาหลายปี เป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติทั่วไป จนถือได้ว่ามีวัฒนธรรมในการประเมินในองค์กรแล้ว สำหรับมาตรฐานที่ 4 ด้านการวิจัยและงานสร้างสรรค์ อยู่ในระดับที่ควรปรับปรุง ส่วนมาตรฐานอื่น ๆ ทั้งในส่วนปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลสัมฤทธิ์ มิอาจที่จะกำหนดระดับที่ประเมินได้เนื่องจากขาดเกณฑ์ระดับที่พึงประสงค์สำหรับวัดเปรียบเทียบ ประกอบกับการพิจารณาค่าเฉลี่ยกลางของทั้งมหาวิทยาลัยบนฐานความหลากหลายแตกต่างที่มีพิสัยกว้างของระดับตัวบ่งชี้จากคณะ และหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย และปัญหาความเที่ยง และความแม่นตรงของผลการประเมินตามตัวบ่งชี้ต่าง ๆ

         ผลการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยนเรศวร จากการพิจารณาข้อมูลในกรอบมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ร่วมกับข้อมูลกว้างทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ สรุปผลการประเมินได้ดังนี้

         ในด้านการอำนวยการ อธิการบดีและผู้บริหารระดับสูงมีความเป็นผู้นำ มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้อย่างมากและรวดเร็ว ทำประโยชน์ได้มากน่าประทับใจ ตลอดจนเป็นที่ยกย่อง เชื่อถือ และคาดหวังของสังคมท้องถิ่น รวมทั้งได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมท้องถิ่น นอกจากนี้คณะผู้บริหารมีการกำหนดพันธกิจ วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน

         แม้กระนั้นก็ตามคณะผู้ประเมินก็ยังมีความเห็นว่า ในด้านการอำนวยการ ควรเน้นการมีส่วนร่วมของประชาคมและบุคลากรในการพิจารณาตัดสินใจ ในด้านการบริหารจัดการ ควรให้มีขอบเขตกว้างขวางและมีบทบาทอย่างแท้จริงยิ่งขึ้น มีการทำงานเป็นทีมที่กว้างขวางยิ่งขึ้น การตัดสินใจที่สำคัญในการขยายตัว และจัดกิจกรรมเพื่อตอบสนองแรงผลักดันจากภายนอกและภายใน ควรพิจารณาโดยยึดพันธกิจหลัก และพลังทรัพยากร โดยรักษาคุณภาพไว้เป็นสำคัญ มีจุดเน้นของมหาวิทยาลัยและการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง

         ในด้านโครงสร้าง มหาวิทยาลัยได้พัฒนาจนเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์เกือบครบทุกสาขาวิชา จึงมีความพร้อมที่จะทำคุณูปการแก่สังคมได้อย่างมาก การขยายวิทยาเขตการจัดกิจกรรม รวมทั้งบริการวิชาการ ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำประโยชน์

ผลสำเร็จที่น่าชมเชย ได้แก่

         - อธิการบดีและผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้มีความเป็นผู้นำ มีความมุ่งมั่นและทุ่มเท
         - มีความเจริญก้าวหน้าที่น่าประทับใจ เป็นแหล่งวิชาการที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือ และเป็นความคาดหวังของสังคมท้องถิ่น
         - ให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในกิจกรรมท้องถิ่น
         - มีสภาพทางกายภาพที่สวยงามเรียบร้อย
         - มีบุคลากรหนุ่มสาวที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นสูง มีความสามัคคี มหาวิทยาลัยมีการบำรุงรักษาและพัฒนาบุคลากรที่ดี เช่น ใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเป็นทุนการศึกษาเพิ่มเติม
         - นิสิตมีความรัก ความภูมิใจและความมุ่งมั่นสูง
         - โปรแกรมการศึกษามีหลากหลาย สามารถสนองความจำเป็นของสังคมและท้องถิ่นได้ดี
         - การบริหารจัดการมีความคล่องตัว มีวิสัยทัศน์และใช้โอกาสได้ดี เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์
         - กระบวนการประกันคุณภาพ รวมทั้งระบบการประเมินการสอนด้วยนิสิตพัฒนาได้ดี และเป็นที่ยอมรับ

ข้อเสนอแนะ

         - โครงสร้างของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิชา ควรปรับให้มีความสมดุลและเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีลักษณะผสมรวมมาก ในทางตรงข้ามคณะด้านสุขภาพแยกเป็นหลายคณะ และถ้ายังแยกอยู่ก็ควรหากลไกการประสานงานข้ามคณะ รวมทั้งการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน
         - การมีส่วนร่วมของบุคลากรในการบริหารจัดการควรปรับปรุงให้มีบทบาทอย่างแท้จริง
         - กระบวนการตัดสินใจในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ควรมีการวิเคราะห์อย่างรอบคอบก่อนลงมือกระทำ และควรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่ประชุมคณบดีได้มีส่วนร่วมมากขึ้น
         - ควรพิจารณาปัญหาการขยายตัวของมหาวิทยาลัย ที่เป็นผลจากแรงกดดันภายนอก จนมีงานเกินกำลังของทรัพยากรที่มี จึงควรพิจารณาจุดเน้นของมหาวิทยาลัยและการจัดลำดับความสำคัญ
         - ควรพิจารณาแผนงานวิจัย และเป้าหมายให้เหมาะสมกับภาระงานของอาจารย์ที่มีงานสอนมาก รวมทั้งการจัดทำแผนกลยุทธ์ในการพัฒนางานวิจัยและสมรรถนะด้านการวิจัยที่ชัดเจน
         - พันธกิจของมหาวิทยาลัยในการสนองความต้องการของภาคเหนือตอนล่าง ควรมีการวิเคราะห์โครงการและผลสำเร็จ ให้มุ่งสู่การเป็นสมองของภูมิภาคโดยมีฐานข้อมูลและการวิจัยที่ต่อเนื่อง รวมทั้งมีการช่วยการพัฒนาคนในพื้นที่
         - โครงการลงพื้นที่เพื่อร่วมมือกับท้องถิ่น ควรอยู่ในรูปบูรณาการของการบริการสังคม การวิจัย และการศึกษา และมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยกับสังคมอย่างแท้จริง

เรื่องเร่งด่วนที่ควรได้รับการพิจารณา ได้แก่

         - โปรแกรมการศึกษาที่มีปัญหาการดำเนินการทั้งในด้านคุณภาพการศึกษา ด้านการเงิน หรือด้านการบริหารจัดการ เช่น โครงการกฎหมายนานาชาติ
         - การจัดการการใช้พื้นที่ในของมหาวิทยาลัย ในส่วนใกล้สนามบิน
         - ความร่วมมือในการแก้ปัญหาขององค์การบริหารส่วนตำบล หมู่บ้าน และชุมชนรอบมหาวิทยาลัย

         จากการวิเคราะห์ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้จากการประเมินภายนอกของมหาวิทยาลัยนเรศวร นำไปสู่ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับระบบอุดมศึกษาโดยรวม ได้แก่ ผลกระทบของการจัดการศึกษาที่ไม่มีงานในท้องถิ่นรองรับ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสมองที่ดีออกจากท้องถิ่น การจัดการศึกษาให้ได้คุณภาพทางวิชาการกับข้อจำกัดและความจำเป็นของพื้นที่ ตลอดจนการจัดการศึกษาที่สนองตรงเป้าตรงปัญหาของผู้เรียน และของพื้นที่บทบาทของค่านิยมในการวางเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ เป็นต้น

         ผลการประเมินมาตรฐานและตัวชี้วัดที่นำไปใช้  แสดงว่าควรมีการพัฒนาต่อไปเพื่อให้ได้เครื่องมือที่แม่นตรง และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

คณะผู้ประเมิน

ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลา          ประธาน

ศาสตราจารย์ปราณี  กุลละวณิชย์         ผู้ประเมิน

ศาสตราจารย์ศักดา  ศิริพันธุ์          ผู้ประเมิน

ดร.อมรวิชช์  นาครทรรพ          ผู้ประเมิน

ดร.อุทัย  ดุลยเกษม          ผู้ประเมิน

         ในการประเมิน คณะกรรมการฯ ได้ตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยนเรศวร และหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย จำนวน 7 ครั้ง ดังนี้

         1. การปรึกษาหารือร่วมกับผู้บริหาร วันที่ 23 กันยายน 2545
         2. การประเมินตรวจสอบ ระหว่างวันที่ 5 – 7 มีนาคม 2546
         3. รายงานผลด้วยวาจาครั้งแรก วันที่ 3 เมษายน 2546
         4. การประเมินตรวจสอบ ศูนย์วิทยบริการกรุงเทพฯ วันที่ 21 เมษายน 2546
         5. การประเมินตรวจสอบ วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา วันที่ 28 เมษายน 2546
         6. เก็บข้อมูลเพิ่มเติม สำนักงานอธิการบดี ระหว่างวันที่ 14 – 16 มิถุนายน 2546
         7. รายงานผลด้วยวาจาครั้งที่สอง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547

         ในการดำเนินการประเมินและตรวจเยี่ยมในบางครั้งจะมีประธานกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา รองผู้อำนวยการ สมศ. เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

         ข้อความข้างต้นทุกคำ ผมมิได้เป็นคนเขียนเองครับ เป็นข้อความที่เป็นส่วนหนึ่งของ “รายงานการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร” โดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า สมศ. ที่ได้ส่งรายงานอย่างเป็นทางการมาให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 48 (ได้รับเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 48)

         ในนามของมหาวิทยาลัยนเรศวร ผมขอกราบขอบพระคุณคณะผู้ประเมินและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน และขอรับรองว่าทุกท่านจะไม่มาเสียเวลาและเหนื่อยกับพวกเราโดยเปล่าประโยชน์ ข้อเสนอแนะทุกข้อจะได้รับการตอบสนองในการที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เป็นสมบัติของชาติสืบไป

         วิบูลย์  วัฒนาธร


 

หมายเลขบันทึก: 7420เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2005 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท