เตรียมทีมฝึกวิทยายุทธกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน


หากเราจะพัฒนาพวกเรากันเอง ก็ต้องหาเวทีฝึกซ้อมฝีมือ และเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงก่อนเช่นกัน
           หลังจากการประชุมประจำเดือนของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ประจำเดือน มกราคม 2550 ที่เราได้มีเวทีให้เจ้าหน้าที่ทุกคนได้ ลปรร.กันในการปฏิบัติงาน (ลิงค์อ่าน) ซึ่งก็ใช้เวลาในการประชุมปกติในครึ่งวันแรก และภาคบ่ายเป็นเวที ลปรร. และกว่าจะจบเวทีก็เกือบ 4 โมงเย็นไปแล้ว

 


หลังเลิกประชุมก็มาวางแผนการฝึกปฏิบัติกันต่อ

          พวกเราส่วนหนึ่งก็ยังคุยกันต่อถึงประเด็นที่จะนำไปสู่การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ นักส่งเสริมการเกษตรในระดับอำเภอในเดือนกุมภาพันธ์นี้   โดยกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรที่ผมก็ปฏิบัติงานอยู่ในกลุ่มนี้   ได้รับประเด็นที่จะนำไปสู่การสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจและฝึกปฏิบัติให้แก่เจ้าหน้าที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในระดับอำเภอ คือ การประเมินศักยภาพวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนตาม พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 

           ในเบื้องต้นตกลงกันว่าจะจัดการสัมมนาโดย

  • การเรียนรู้หลักการและวิธีการวิเคราะห์ศักยภาพตามแบบการประเมิน (เชิงปริมาณ) 
  • หลังจากนั้นก็จะลงฝึกปฏิบัติจริงกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (เชิงคุณภาพ) จำนวนหนึ่งกลุ่มเป็นการประเมินแบบมีส่วนร่วมอีกครั้งหนึ่ง

          ซึ่งจะนำผลการประเมินที่ได้ไปสู่การทำงานของหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อไป

          ในวันสัมมนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของระดับอำเภอ กำหนดจะดำเนินการกันในวันที่ 22-23 กุมภาพันธุ์ 2550 ซึ่งยังพอมีเวลา  ดังนั้นพวกเราจึงมาคุยกันต่อโดยมีตัวแทนของทุกกลุ่มบางส่วน ร่วมสรุปและวางกระบวนการในวันสัมมนา  สุดท้ายก็ติดอยู่ที่ "แล้วเราจะฝึกปฏิบัติการในการประเมินแบบมีส่วนร่วมฯ กันอย่างไรดี" เพราะทุกคนก็ยังไม่เคยปฏิบัติกันมาก่อน

            ดังนั้นจึงตกลงกันว่าอย่ากระนั้นเลย พวกเราก็จะต้องลงสนามไปปฏิบัติและฝึกวิทยายุทธกับของจริงคือกลุ่มต่างๆ กันก่อน เพื่อทดลองและเรียนรู้เอาจากการปฏิบัติจริง  แล้วค่อยนำกระบวนการที่ได้เรียนรู้นี้ไปบอกต่อและกำหนดเป็นเนื้อหาในวันสัมมนาเพื่อฝึกนักส่งเสริมในระดับอำเภอกันต่อไป

          เราจึงตกลงกันว่าเราจะลงปฏิบัติงานนำร่องจริงในทุกอำเภอ ๆ ละ 1 กลุ่ม โดยจะร่วมกันไปเรียนรู้ด้วยกัน และขณะเดียวกันก็จะเชิญนักส่งเสริมฯ ในระดับอำเภอมาเรียนรู้กับเราด้วย เพื่อให้ได้เรียนรู้จริง  หลังจากเรียนรู้พอจะรู้กระบวนการและมีทักษะแล้ว การจัดสัมนาเชิงปฏิบัติการก็จะสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นมา ลปรร.กันได้ จึงออกมาเป็นแผนการฝึกปฏิบัติการประเมินและจัดทำแผนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำร่อง ดังตารางด้านล่างนี้ครับ

 วันที่

 สถานที่อำเภอ

 กลุ่มกิจกรรม

 ทีมงาน

 23

 ลานกระบือ

 ศูนย์ข้าวชุมชน 

   ทั้ง 3 กลุ่มงาน

 24

 พราะนกระต่าย

 กลุ่มแปรรูป

 

 25

 เมืองกำแพงเพชร

 การเพาะเห็ด

 

 26

 ไทรงาม

 หัตกรรม

 

 29

 คลองขลุง

 หัตกรรม

 

 30

 ขาณุวรลักษบุรี

 แปรรูปปลา

 

 1

 ปางศิลาทอง

 ศูนย์ข้าวชุมชน 

 

 2

 คลองลาน

 มันสำปะหลัง

 

 3

 ทรายทองวัฒนา

 ศูนย์ข้าวชุมชน 

 

 4

 บึงสามัคคี

 ศูนย์ข้าวชุมชน 

 

 8

 โกสัมพีนคร

 เลี้ยงปลาในกระชัง

 

          เป็นการวางแผนร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายของงาน ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นำKMเข้ามาสอดแทรกและทำให้กลืนกันไปกับงานประจำ ปัจจัยที่ทำให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้ได้น่าจะเกิดจาก

  • การเอื้อให้โอกาสให้คนที่ทำงานได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันในการทำงานปกติ อันนี้ CKO มีส่วนเป็นอย่างยิ่งนะครับ
  • การที่ทุกคนมีใจที่จะทำงานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจจะมากบ้างน้อยบ้าง
  • มองเห็นความเชื่อมโยงและความยากในงาน ที่ลำพังใครคนใดคนหนึ่งทำสำเร็จได้ยาก แต่หากร่วมกันทำงานจะทำให้ หนักจะเป็นเบา และ ยากจะเป็นง่ายขึ้น
  • เริ่มเห็นแล้วว่า นักส่งเสริมการเกษตรไม่ใช่นักวิชาการเพียงเนื้อหามิติเดียวกีกต่อไป เราคือนักจัดกระบวนการให้คนได้เกิดการ ลปรร.กัน ดังนั้นหากเราจะพัฒนาพวกเรากันเอง ก็ต้องหาเวทีฝึกซ้อมฝีมือ และเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงก่อนเช่นกัน

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ ผลเป็นประการใดจะนำมาบอกต่อนะครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 73387เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น้องสิงห์ป่าสัก ครับ

                 หากได้ชุดความรู้จากการลงไปฝึกปฏิบัติจริงในการประเมินแบบมีส่วนร่วมฯ คงจะเป็นความรู้หน้างานแบบสดๆ ผลการประเมินแบบมีส่วนร่วม ก็จะเป็นไปตามสภาพจริงของกลุ่มวิสาหกิจนั้นๆ นักวิชาการส่งเสริมฯ นักส่งเสริมฯก็จะได้เรียนรู้จาการปฏิบัติจริงเรื่องการประเมินแบบมีส่วนร่วม สุดยอดจริงๆเลยครับ เมื่อได้ผลอย่างไรแล้วจะต่อยอดกิจกรรมหรือเชื่อมต่อการพัฒนากับหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อไปนั้น พี่คิดว่าคงจะเป็นหนทางใหม่ เป็นแบบอย่างที่ดี ใช้เรียนรู้ได้กับทุกหน่วยงาน เอาใจช่วยครับ แล้วจะคอยอ่านชุดความรู้ ทั้งรายทาง และปลายทางครับ

              ขอบคุณที่เขียนมาให้ได้อ่านและแลกเปลี่ยนกัน

 

เยี่ยมมากเลยค่ะ ... จะคอยฟังข่าวต่อไปนะคะ

คุณสิงห์คะ

... แอบบอกไว้ก่อนมีหน่วยงานในกรมฯ สนใจตัวคุณสิงห์ป่าสัก อาจแอบเข้าไปประสานคุณสิงห์ เพื่อขอความร่วมมือในการทำกิจกรรมที่กำแพงเพชร ... แบบบอกให้เนื้อเต้นไว้ก่อนนะคะ (อ๊ะ อ๊ะ เต้นหลบ หรือเต้นเข้าหา ก็ไม่รู้) ... แน่นอนเมื่อไร ก็จะประสานไปอีกทีนะคะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

เรียน ครูนงเมืองคอน

  • หากได้ลงมือ และสรุปเป็นองค์ความรู้เพื่อนำมาพัฒนาการทำงานอย่างจริงจังก็คงจะเกิดประโยชน์เหมือนที่ครูนงว่าไว้แน่นอนครับ
  • กำลังเริ่มก้าวเดินอยู่เหมือนกันนะครับ หากมีความก้าวหน้าประการใดจะบันทึกมา ลปรร.กันต่อไปนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาให้กำลังใจ

เรียน คุณหมอนนทลี

  • ยินดีที่จะได้ ลปรร.และร่วมมือกับชาวกรมอนามัยในพื้นที่ต่อไปในอนาคตครับ
  • แต่มีข้อแม้ว่าต้องหลายคนแบบเป็นทีมนะครับ จะได้เรียนรู้เป็นทีม (คนเดียวตื่นเต้น...เพราะกลัวสาวน้อย..สาวใหญ่ของกรมอนามัย..อิอิ)
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท