ชีวิตที่พอเพียง : 199. สร้างตัวจากการทำงานในหน่วยงานปิดทองหลังพระ


         วันนี้ (๑๒ ธค. ๔๙) สภามหาวิทยาลัยมหิดลไปเยี่ยมชื่นชม ๕ หน่วยงานในวิทยาเขตศาลายา      ได้แก่ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, สถาบันสัตว์ทดลองแห่งชาติ, คณะสัตวแพทยศาสตร์, และคณะศิลปศาสตร์

         ที่จริงเราตกลงกันว่าให้นำเสนอความภาคภูมิใจ หรือความสำเร็จ เพื่อชื่นชมกัน     และสนทนาหาทางขยายความสำเร็จนั้น     แต่คราวนี้ผิดคิว     ผู้นำเสนอไม่ค่อยพูดเรื่องความสำเร็จ     แต่เน้นบ่นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในมหาวิทยาลัย     และบ่นว่าคณะด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ถูกทอดทิ้ง      ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติถึงกับบอกว่าหน่วยงานของตนเหมือนตกสำรวจ  หรือเป็นพลเมืองไร้สัญชาติ    เพราะของบประมาณทีไรเป็นถูกตัดทุกที

         โชคดีที่มีคุณหมอพรเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทย์อยู่ด้วย     และท่านได้เล่ากลยุทธในการใช้โอกาสในการทำงานแบบทวนกระแสด้านโรคหวัดนก     ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นหน่วยราชการตกสำรวจเหมือนกัน     จนได้งบประมาณมาสร้างห้อง แล็บระดับ ๓ เพื่อวิจัยเช้อไวรัสหวัดนก     ผมจึงได้บทสรุปของการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ว่า ธรรมชาติของงานแต่ละประเภทมัน "เข้าตากรรมการ" ไม่เท่ากัน     ผู้บริหารหน่วยงานแบบนี้ต้องใช้ "ยุทธศาสตร์พันธมิตร"

         ผมบอกที่ประชุมว่า ผมเองก็สร้างตัวมาจากหน่วยงานประเภท back of the back office เหมือนกัน     (ผมมานึกได้ทีหลังว่า น่าจะเรียกว่าเป็นหน่วยงานปิดทองหลังพระ)     ไม่มีคนเห็นความสำคัญ     คือหน่วยพันธุศาสตร์ ที่มีหน้าที่ให้บริการตรวจโครโมโซม  ผมต้องคลำหาทางอยู่หลายปี ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดความสนใจให้ผู้บริหารและประชาคมในคณะเห็นความสำคัญ      ในที่สุดผมก็ใช้ยุทธศาสตร์พันธมิตรนี่แหละ     ผมอาศัยพันธมิตรในหน่วยงานที่ "ปิดทองที่พักตร์พระ" เป็นผู้บอกต่อผู้บริหารว่าเขาต้องการให้หน่วยงานของผมทำอะไร      แล้วผมก็เสนอว่าจะให้บริการเหล่านั้นต้องการ คน เครื่องมือ และงบประมาณอย่างไรบ้าง

       ผมมีความเชื่อว่า ไม่ว่าเราจะทำงานตรงส่วนไหนของ "พระ"     เรามีโอกาสสร้างผลงานที่เป็นที่ยอมรับได้เสมอ ถ้าเราอยู่ใน real sector (หมายความว่าทำงานจริง ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า)     เพียงแต่ว่า เราต้องเข้าใจธรรมชาติของงานและผลงาน     และรู้จักสร้างการยอมรับในผลงาน ซึ่งถ้าทำโดยตรงไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีทางอ้อม   ผ่านพันธมิตร

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 73383เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2007 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ่านแล้วมีกำลังใจในการทำงานขึ้นมาก ขอบคุณมากๆค่ะอาจารย์

ดิฉันชอบมากเลยกับคำว่า "ปิดทองหลังพระ"  เพราะการทำงานที่เรียกว่าปิดทองหลังพระนั้น เป็นการทำงานที่มีความสุขจริง ๆ ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และเป็นการกระทำที่เกิดจากความตั้งใจ และความรับผิดชอบเป็นพื้นฐาน ส่วนผลดีที่จะได้รับตอบแทนนั้นเป็นเรื่องของ "ผล" ที่ตามมา ถึงแม้จะไม่มีอะไรตอบแทนเราเองก็มีความสุขในการกระทำสิ่งนั้น และรับรองได้ว่า "ผล" ที่เกิดจากการกระทำ "ปิดทองหลังพระ" เป็นผลที่มีประสิทธิภาพ และคุณภาพอย่างแท้จริง

ป้าศินา

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

ได้ความคิดดีๆ ไปฝากหลายคน และแนะนำให้ว่าต้องเข้ามาอ่านเอง ดีๆกว่าที่เล่าให้ฟังอีกเยอะเลย

รวิวรรณ เป็น ประชาสัมพันธ์ให้ Gotoknow ประจำรพ เชียงรายค่ะ

 

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาให้แง่คิดอะไรดีดี
การทำความดีแม้จะไม่มีใครเห็น  แต่เรารู้อยู่แก่ใจ  ตราบใดที่เรายังมีแรงใจแรงกายพอที่จะทำได้  ก็ทำให้เรามีความสุข  ดิฉันทำหน้าที่ดูแลการขายน้ำเพื่อนำเงินมาเป็นสวัสดิการของโรงเรียน  เคยมีครูบางคนพูดว่า  ทำไปแล้วได้อะไร  หาเงินให้แต่คนอื่นใช้  ดิฉันตอบว่า  มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่คนเราเกิดมาช่วงชีวิตหนึ่งได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นบ้าง  ถึงแม้จะเป็นงานเล็กๆน้อยๆ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท