ดุลแห่งอำนาจ ของ สังคมไทยภายใต้รัฐบาล ( ขิงแก่ )


ดุลแห่งอำนาจ พีรามิดทางการเมือง
คุยกันพาเพลินก่อนเข้าเรื่อง

                สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน อาทิตย์สุดสัปดาห์ ครั้งนี้ก็พบกันเป็นครั้งที่ 8 แล้ว พบกันครั้งนี้ อาทิตย์สุดสัปดาห์ คงเป็นการช่วยตอบปัญหาทางสังคมอีกด้านหนึ่ง การตอบปัญหาทางสังคมครั้งนี้ อาทิตย์สุดสัปดาห์พยายามชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวของดุลแห่งอำนาจ


 

ดุลแห่งอำนาจ ของ สังคมไทยภายใต้รัฐบาล ( ขิงแก่ )              

                 หาก ณ เวลานี้เราและท่านทั้งหลายลองมองย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลา 3 เดือนภายหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เราจะพบเห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมาย และปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นได้สะท้อนถึงเรื่องราวที่ในอนาคตอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องดุลแห่งฐานอำนาจ หรือ จะเป็นปัญหาเรื่องระเบิดเวลาทางความคิดด้านการเมือง

     

 

                  จะเห็นได้ว่าเริ่มมีการปรากฏขึ้นของปัญหาต่าง ๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ภายหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบทุจริตของรับบาลชุดที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องของความยากจนของเกษตรกรผู้ทุกข์ยากที่ยังมิได้รับการช่วยเหลือและเยียวยา หรือจะเป็นปัญหาเรื่องของความมั่นคงและฐานอำนาจเก่า ซึ่งปัญหาประการสุดท้ายนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาที่ทำให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ( คมช.)  หรือ รัฐบาล (ขิงแก่) ต้องปวดหัวอย่างแน่แท้

                ถึงอย่างไรก็ตามเรื่องราวที่ชวนน่าคิดและติดตามมีอยู่ 1- 2 ประการจากปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น และอาจกล่าวได้ว่าปมเงื่อนไขที่น่าคิด 1 – 2 ประการข้างต้นจะเป็นการคลี่คลายประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียดลออและลึกซึ้งอยู่พอสมควร เนื่องเพราะเหตุว่าเรื่องน่าคิดที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ลึกซึ้งในแง่ที่ว่าหากเราเข้าใจในปรากฏการณ์หนึ่งเราก็คงพอที่จะเห็นแผนที่หรือลายแทงลาง ๆ  ของเรื่องราวต่าง ๆ อย่างแน่แท้

             เรื่องราวที่ชวนน่าคิดก็คือปมเงื่อนของฐานอำนาจเก่า ที่ดูเหมือว่าจะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ปมเงื่อนไขที่กล่าวนี้จะมองแบบลอยมิได้ เพราะถ้าหากเรามองแบบหยาบ ๆ หรือ ลอย ๆก็คงมิอาจที่จะเข้าใจอะไรในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ปมเงื่อนของอำนาจอยู่ตรงที่ว่าภายหลังการรัฐประหารเมือ 19 กันยายน 2549 ได้ทำให้ดุลแห่งอำนาจ หรือ จะเรียกว่า พีรามิดทางการเมือง เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงจากดุลหนึ่งไปอยู่กับอีกดุลหนึ่ง และประการที่สำคัญการรัฐประหารที่เกิดขึ้นได้ผลักดันให้ดุลอำนาจบางดุลต้องเคลื่อนถอยออกไปจาก พีรามิดทางการเมือง หรือ ฐานแห่งอำนาจเสียแล้ว ที่สำคัญจะพบว่าดุลแห่งอำนาจที่ถูกผลักออกไปอยู่ให้เป็นชายขอบ กำลังจะเคลื่อนไหวหรือผลักดันให้ตนเองไปอยู่ในฐานแห่งอำนาจให้ได้ หรือ อยู่ในพีรามิดทางการเมืองให้ได้

              ณ ที่นี้ขออธิบายดุลแห่งอำนาจหรือพีรามิดทางการเมืองให้ผู้อ่านได้เข้าใจในดุลแห่งอำนาจอย่างลึกซึ้งและละเอียดลออ สิ่งหนึ่งที่เราจะพบคือว่าดุลแห่งอำนาจภายใต้รัฐบาลทักษิณ เป็นดุลอำนาจที่ประกอบด้วยดุล ต่าง ๆ ดังนี้ 1.ดุลของกลุ่มธุรกิจ จะพบได้ว่ากลุ่มธุรกิจคือกลุ่มที่มีบทบาทค่อนข้างมากในการกำหนดการก้าวเดินของประเทศ ที่สำคัญกลุ่มธุรกิจในรัฐบาลทักษิณ ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเป็นดุลที่มีอำนาจมากที่สุดมากว่าดุลอื่น ๆ ในพีรามิดแห่งการเมือง สิ่งหนึ่งที่เราจะสังเกตเห็นได้ว่าดุลแห่งกลุ่มธุรกิจนี้ ในสมัยก่อนในช่วงของประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือ ประชาธิปไตยแบบเผด็จการทหาร ดุลแห่งกลุ่มธุรกิจมิค่อยมีบทบาทมากนัก 2.ดุลของกลุ่มการเมือง  ดุลนี้มักเป็นดุลที่อยู่ยอดสุดของพีรามิดแห่งการเมือง เป็นกลุ่มที่คอยกัดกินเอาเปรียบประชาชนเมื่อมีโอกาสเสมอ ดุลกลุ่มการเมืองในช่วงรัฐบาลทักษิณ มีบทบาทอยู่ภายใต้กลุ่มทุน  3.ดุลกลุ่มข้ารัฐการ เสียดุลอย่างมาก เพราะถูกดุลกลุ่มการเมืองเข้าแทรกแซงจนพื้นที่ในพีรามิดแห่งดุลข้ารัฐการถูกผลักให้มีอำนาจน้อยมาก ซึ่งเมื่อก่อนกลุ่มข้ารัฐการหรือเทคโนแครต เคยมีบทบาทเป็นอย่างมาก 4. ดุลภาคประชาชน ดุลนี้เป็นดุลที่มีอำนาจภายใต้กลไกลหนึ่งแห่งแนวนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น และบทบาท ที่สำคัญบทบาทในการควบคุมรัฐบาลก็มิมี เป็นเพียงดุลที่รอคอยแต่สิ่งที่รัฐบาลจะมอบให้ ( กองทุนหมู่บ้าน SML )

                   ดุลแห่งอำนาจที่ปรากฏขึ้นอาจดูเหมือว่าเป็นดุลที่สมดุลกันอยู่พอสมควร และดุลกลุ่มนี้ดูเหมือนว่าจะถูกผลักให้มีบทบาทแต่ก็เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น เพราะดุลภาคประชาชนมิได้มีอำนาจ แต่ด้วยเงื่อนไขของการรุกคืบของดุลแห่งกลุ่มธุรกิจที่มากเกินไปได้ผลักดันหรือกระตุ้นให้โลกทัศน์อันหนึ่งได้ถูกผลักดันหรือกระตุ้นให้มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนเป็นอย่างมาก โลกทัศน์ที่ว่านี้ก็คือ โลกทัศน์ของการพัฒนาที่มีอยู่ทิศทางเดียว อย่างไรก็ตามหลายคนอาจมิเข้าใจในความหมายของโลกทัศน์อันนี้ แต่หากถ้าท่านทั้งหลายได้เข้าใจในโลกทัศน์นี้จะทำให้พบคำตอบว่า อะไรคือสิ่งที่น่ากลัวภายใต้ดุลของกลุ่มธุรกิจ

  
                  โลกทัศน์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะแต่ละสังคมจะโลกทัศน์แต่ละอย่างที่แตกต่างกันไป ซึ่งโลกทัศน์ก็เปรียบเปรยได้ว่า เป็นดั่งความคิดในมุมกว้างที่ฝังรากลึกอยู่ในหัวของกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำในสังคม ซึ่งเผอิญคนกลุ่มนี้ ( ชนชั้นนำ ) ได้กลายมาเป็นคนที่มีบทบาทอย่างมากในประเทศ คนกลุ่มนี้เลยทำให้โลกทัศน์ประการหนึ่งที่มีอยู่ในหัวสมองแพร่ขยายไปสู่กลุ่มคนในระดับกลางจนไปถึงระดับล่างให้รับรู้ในโลกทัศน์เดียวกันกับสิ่งที่กลุ่มคนชนชั้นนำมี ฉันใดก็ฉันนั้นเราจะพบได้ว่าครั้งหนึ่งสังคมเคยเผชิญกับโลกทัศน์อันหนึ่งก็คือ โลกทัศน์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ความคิดเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เกิดในหัวสมองของชนชั้นนำในประเทศรัสเซีย แต่ได้แพร่ขยายต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโลกทัศน์ทางความคิดของโลกในอีกแง่มุมหนึ่ง หรือจะเห็นอีกประการหนึ่งในโลกทัศน์ที่มีความสัมพันธ์และใกล้ชิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทยก็คือ คนเราที่เกิดมามักกลัวเรื่องผีสาง เทวดา ทั้งที่บางครั้งเรามิเคยพบเคยเจอเลยแต่เราก็กลัว กลัวเพราะมีโลกทัศน์อันหนึ่งที่ฝั่งอยู่ในหัวเราว่า ผีสางเทวดานั้นมีอิทธิฤทธิ์ถึงขั้นให้คุณให้โทษกับผู้นับถือเราจึงกลัวกัน  นั่นก็เป็นโลกทัศน์แห่งความกลัวที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทย ประการที่สำคัญโลกทัศน์ที่ว่าด้วยการพัฒนาต้องมีทิศทางเดียว เป็นอีกโลกทัศน์ที่ครอบอยู่ในสังคมอยู่พอสมควร จะครอบอยู่ได้ด้วยสาเหตุประการใดนั้นคงมิขอกล่าวถึงเพราะยืดยาวพอสมควร แต่ถึงกระนั้นอยากจะชี้ให้เห็นประการหนึ่งคือ ภายใต้รัฐบาลทักษิณ ได้ผลักดันให้โลกทัศน์ของการพัฒนาที่มีทิศทางเดียวคือ เป็นการพัฒนาในทิศทางของทุนนิยม ให้มีอำนาจมากขึ้นและฝั่งรากลึกลงไปในหัวสมองของประชาชนทุกระดับชั้น โดยใช้ดุลอำนาจของกลุ่มธุรกิจเป็นตัวผลักดัน

                กลุ่มธุรกิจได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับวาทะกรรมอันหนึ่งคือ คำว่าเสรี ความเป็นเสรีเป็นสิ่งที่มักถูกกล่าวอ้างอยู่เสมอในโลกธุรกิจ แล้วจะผิดตรงไหนหรือที่มีการรุกคืบของดุลกลุ่มธุรกิจ ผิดก็ตรงที่โลกธุรกิจได้ผลักดันโลกทัศน์ของการพัฒนาที่มีทิศทางเดียว เป็นการพัฒนาประเทศที่ต้องมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง (GDP) หรือ มุ่งเน้นพัฒนาด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เท่านั้น ประการนี้จึงน่ากลัวตรงที่โลกอุตสาหกรรมนั้นได้ทำให้ความสัมพันธ์ของชีวิตกับสังคมมิได้สัมพันธ์กันอย่างแต่เก่าก่อน กระนั้นท่านทั้งหลายก็ยังคงสรรเสริญอยู่กับการเป็นประเทศอุตสาหกรรมเป็นประเทศที่ต้องพัฒนาด้านทุนนิยม การเป็นโลกทัศน์เฉกเช่นนี้ได้ทำลายโลกทัศน์ที่มนุษย์ควรมีความสัมพันธ์กับสังคมไปแล้วสิ้น

             โลกทัศน์ของการพัฒนามีทิศทางเดียว คือการเป็นทุนนิยม ถูกขับเคลื่อนหรือถูกกระตุ้นอย่างมากภายใต้ดุลทางธุรกิจ ซึ่งในประการข้างต้นได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ดุลแห่งธุรกิจนั้นมีบทบาทและความสำคัญต่อการก้าวเดินของประเทศอย่างไร โลกทัศน์นี้ได้ถูกขับเคลื่อนมาเรื่อยในยุคสมัยของรัฐบาลทักษิณ จนทำให้ดุลแห่งอำนาจทั้งธุรกิจ กลุ่มการเมือง ข้ารัฐการ และ ประชาชน ไม่สมดุลกันแล้ว ความไม่สมดุลของฐานอำนาจทางการเมืองทั้ง 4 ได้ก่อให้เกิดความต้องการในการจัดความสมดุลทางอำนาจหรือจัดการพีรามิดทางการเมืองใหม่ โดยยืมอำนาจจากชนชั้นนำ (กลุ่มทหาร) เข้ามาช่วยจัดการ แต่ถึงกระนั้นแล้วการจัดการด้วยกลุ่มชนชั้นนำ ( ทหาร ) ได้บ่งชี้ถึง.เรื่องราวบางประการ คือสังคมเป็นสังคมที่ไม่มีทางเลือกหรือมีทางเลือกน้อย   

ทหารได้ทำการรัฐประหาร รัฐบาลที่มีดุลทางธุรกิจมากเกินไป โดยทหารได้พยายามจะจัดแบ่งดุลแห่งอำนาจหรือ พีรามิดแห่งการเมืองใหม่ การจัดสมดุลใหม่สมารถแบ่งออกเป็นดังนี้ 1. ดุลกลุ่มข้ารัฐการ กลับเป็นกลุ่มที่มีฐานอำนาจมากที่สุด หลักจากตกเป็นฐานของดุลแห่งกลุ่มธุรกิจมานานเกือบ 5 ปี มีสิ่งบ่งชี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มข้ารัฐการได้เข้ามามีอำนาจในพีรามิดแห่งการเมืองเป็นอย่างมากคือ จำนวนรัฐมนตรี ใน คณะรัฐมนตรีขิงแก่ ล้วนแล้วแต่อดีตข้าราชการ ซี 10-11 กันทั้งนั้น แต่ก็คงยังมีปัญหาบางประการที่ทหารหรือ คณะมนตรีความมั่นคงเจอคือความสัมพันธ์ของข้ารัฐการบางกลุ่มที่ยังจะอิงแอบอยู่กับดุลแห่งธุรกิจอยู่ จนเกิดเป็นศัพท์ใหม่คือ ข้ารัฐการบางคนใส่เกียร์ว่างในการทำงาน 2.ดุลกลุ่มนักการเมือง คงเป็นเรื่องปกติที่ภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารคนที่โชคร้ายที่สุดและถูกดูหมิ่นดูแคลนมากที่สุดก็คงจะเป็นนักการเมืองฐานดุลอำนาจทางการเมืองหรือพีรามิดแห่งอำนาจการเมือง กลุ่มนักการเมืองจึงกลายเป็นคนชายขอบ เป็นฝ่ายค้านนอกสภาไปเสีย  3. ดุลกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่เคยมีอำนาจและมีฐานกลางในพีรามิดกลับตกขอบไปเหมือนกันเพราะแนวทางและโลกทัศน์ที่เกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลกระทบอันเลวร้าย 4.ดุลภาคประชาชน ดุลนี้ก็ยังคงเป็นกลุ่มดุลที่น่าสงสารอยู่เหมือนเคย คือไม่มีบทบาทอะไรเลย

                   การเข้ามาจัดสรรดุลแห่งอำนาจใหม่นี้ได้สร้างเงื่อนไขที่น่ากลัวมากที่สุดคือ ประการหนึ่งกลุ่มธุรกิจถูกผลักออกไปแล้วแต่นั้นคงมิใช่เรื่องที่จะมีผลกระทบอะไรมากนัก ประการต่อมาที่น่าคิดคือ การผลักให้กลุ่มภาคประชาสังคมหรือ ภาคประชาชนตกขอบไปจากพีรามิดแห่งอำนาจทางเมืองกำลังที่จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่น่ากลัวที่สุดที่ไม่อาจรู้ได้ว่าจะพุ่งมาใส่รัฐบาล(ขิงแก่ ) เมื่อไหร่การผลักให้ดุลภาคประชาชนไปอยู่ชายขอบทำให้เกิดผลเสียอย่างมากคือ ประการหนึ่งหนึ่งรัฐบาล( ขิงแก่ ) มิอาจทราบถึงปัญหาความทุกข์อยากที่แท้จริง ไม่อาจทราบความต้องการที่แท้จริง การไม่ทราบไม่รู้นั้นย่อมเป็นแรงผลักดันให้เกิดการประท้วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในห้วงระยะเวลา 2-3 เดือนต่อจากนี้ การประท้วงจะมีเงื่อนไขแฝงเร้นหรือไม่นั้นมิอาจทราบได้หากแต่ว่าหากเป็นการประท้วงจากภาคประชาชนที่เป็นเกษตรที่แท้จริง นั้นคงเป็นระเบิดที่มีอานุภาพมากที่สุด เวลาที่เหลือน้อยกับการผลักให้ดุลของประชาชนออกห่างจะทำให้เวลาของระเบิดเดินเร็วขึ้นมาเรื่อย ๆ 

เรื่องราน่าคิด 1-2 ประการที่หยิบยกมามองในอีกมุมคงสะท้อนให้เห็นภาพในมุมลึกอีกมุมหนึ่งก็คือ หากความสมดุลแห่งอำนาจ หรือ พีรามิดแห่งอำนาจทางการเมือง ไม่สมดุลแล้วย่อมเป็นระเบิดเวลาที่บีบรัฐบาลให้มีเวลาสั้นลงอีก และ การวิเคราะห์ประเด็นน่าคิด 1-2ประเด็นข้างต้นคงพอคลี่คลายประเด็นข่าวที่มีการเริ่มเตรียมตัวออกมาประท้วงรัฐบาลจากกลุ่มเกษตรกรในภาคอีสานอยู่พอสมควรกระนั้นแล้ว


อ้างอิงเพิ่มเติม  1. อ่านเพิ่มเติมได้ที่     ทางเลือกทางรอดของสังคมไทย  อาทิตย์สุดสัปดาห์     ครั้งที่4

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การเมือง#รัฐบาล
หมายเลขบันทึก: 73094เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2007 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพิ่งทราบว่ามีคอลัมน์ประจำอยู่ด้วย ขอชื่นชมครับ

เรื่องที่ดุลแห่งอำนาจนี้ อาจมองในทฤษฎีแบบมาร์กซิสก็ได้ เพราะการที่สังคมจะขยับขับเคลื่อนได้นั้นอาศัยการต่อสู้กันระหว่างชนชั้น

(ซึ่งอาจหมายถึงคนที่อยู่ในปิรามิดที่ว่านี้?)

สังคมจึง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจกันแล้ว กลุ่ม หรือคน ๆนั้น จะสามารถรักษาสถานะของตนเองต่อไปได้แค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลทหารทุกชุดที่ผ่านมา บอกว่า ไม่ยึดติด รวมทั้งชุดนี้ด้วย แต่ทุกชุดที่ผ่านมาเช่นกัน ก็ยึดติด ทำให้เกิดกระแสกดดันจากอำนาจอื่น ๆอีก

วุ่นวายจริง ๆ

ปล. ลองใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ดูนะครับ

การทำงานท่านคงต้องใช้เวลาพิสูจน์นะคะ เราควรให้กำลังใจพวกท่านดีกว่าที่จะมาว่าดีกว่านะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท