ชีวิตที่พอเพียง : 196. แปดปีวิจัยท้องถิ่น


        วันที่ ๒๑ ธค. ๔๙ ผมไปร่วมเวที "เสวนาประสาคนวิจัย" ของสำนักงาน สกว. ภาค ที่ดำเนินการสนับสนุนการวิจัยท้องถิ่น    หรือการวิจัยโดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้าน    ที่ผู้จัดเชิญนักวิจัยในโครงการเด่น ประจำปี ๒๕๔๕ - ๒๕๔๙    รวม ๓๐ โครงการ มาร่วมประชุม ลปรร. กัน     ผมโดนเชิญให้กล่าวต่อที่ประชุมโดยไม่รู้ตัว     จึงขอนำประเด็นที่ผมพูดกับที่ประชุมมาบันทึกไว้

        พวกเราที่ สกว. มีความภูมิใจมาก ที่เราได้ทำหน้าที่นำเอาหลักการวิจัยท้องถิ่น หรือการวิจัยโดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้าน    มาให้แก่สังคมไทย โดยเริ่มในปี ๒๕๔๑      ก่อนหน้านี้ประเทศไทยไม่มีหลักการ หรือแนวคิดเรื่องนี้     จุดเริ่มต้นมาจากการที่ สกว. ทำงานมาครบ ๕ ปี     จึงมีการประเมินผลงานของ สกว. ครั้งใหญ่    ผลออกมาว่า สกว. ประสบความสำเร็จสูงมาก ในการนำเอาวิธีการส่งเสริมการวิจัยแบบจริงจัง และคุณภาพสูงมาใช้ในประเทศไทย

        แต่คณะผู้บริหาร สกว. มาปรึกษากันเองว่า     แม้เราได้รับการยกย่องมาก    แต่ผลการวิจัยที่เราสนับสนุนก็แทบจะไม่ถึงชาวบ้านเลย     ชาวบ้านแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากผลการวิจัยที่ สกว. สนับสนุน     ด้วยประสบการณ์ในการจัดการงานวิจัยที่เราพัฒนามา ๕ ปี (ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑)     เรารู้ทันทีว่า ถ้าจะให้ผลการวิจัยถึงชาวบ้าน ก็ต้องมีรูปแบบของการสนับสนุนการวิจัยแบบใหม่    มีการจัดการงานวิจัยในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากที่ สกว. ดำเนินการอยู่    

        นั่นคือที่มาของการที่ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง  ผอ. สกว. ท่านปัจจุบัน  อาสาไปริเริ่มคิดรูปแบบดำเนินการสนับสนุนการวิจัยแบบใหม่     ที่เราเรียกว่าการวิจัยท้องถิ่น    และกลายเป็นรูปแบบของการวิจัยแบบใหม่ในประเทศไทย     ที่ช่วยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านธรรมดาๆ ได้มีโอกาสทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง     หรือเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

        พริบตาเดียว เวลาผ่านไป ๘ ปีเต็ม     และมีโครงการเด่นถึง ๓๐ โครงการ     เกิดนักวิจัยชาวบ้าน เกิดพี่เลี้ยงนักวิจัยในท้องถิ่น   เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ     เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย     ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีคิดโดยมีข้อมูลหลักฐาน    คิดอย่างเป็นระบบ  มีการร่วมกันคิด     มีการทดลองและเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผล     เวลานี้หน่วยงานที่เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมทำนองนี้ในพื้นที่มีหลายหน่วยงาน    เช่น สสส., สคส., ศูนย์คุณธรรม เป็นต้น    โดยอาจเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมในชื่ออื่น ไม่เรียกว่าการวิจัยท้องถิ่น    อาจเรียกว่าโครงการพัฒนา  โครงการจัดการความรู้    แต่ในความเป็นจริง มันก็เป็นกิจกรรมจำพวกเดียวกัน     ที่ช่วยให้ชาวบ้านได้รวมตัวกัน เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ   

        กระบวนการเหล่านี้ ควรมีการดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยไปไม่สิ้นสุด    นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวบ้าน และของคนไทยทุกคน     ดังนั้น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต., อบจ. ควรเข้ามาจัดงบประมาณ และจัดพี่เลี้ยง ส่งเสริมการวิจัยท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการวิจัยท้องถิ่นแพร่หลายทั่วแผ่นดินไทย

        ผมมีความสุขมาก ที่ได้เห็นกิจกรรมการวิจัยท้องถิ่นมีความก้าวหน้า     ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านสมตามเจตนารมณ์ที่เราคิดไว้     และยิ่งได้เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยในโครงการเด่นในช่วง ๕ ปี  ๓๐ โครงการ ก็ยิ่งมีความสุข     เพราะเห็นลู่ทางที่งานวิจัยท้องถิ่นจะยิ่งแพร่หลาย     สร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่ท้องถิ่นไทยได้กว้างขวางครอบคลุมยิ่งขึ้น

                          

  การประชุมกลุ่ม  โปรดสังเกตว่าผู้เข้าร่วมมีพระภิกษุ และคนมุสลิม

                         

    คุณลิขิตของการประชุมกลุ่มจับประเด็นด้วย MindMap

วิจารณ์ พานิช
๒๑ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 72859เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท