6 ปัจจัยเสี่ยงโรคจิตเภท


ปัจจัยเสี่ยงโรคจิตเภท

  

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจบิสวีคลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคจิตที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี โรคนี้พบประมาณ 1 % ของประชากร

ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 14-16 ปีหรือปลายช่วงวัยรุ่น ความผิดปกติส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่ผู้รู้ (guru หรือกูรู้) บางท่านกล่าวถึงวิชาการ(ของข้าฯ)ว่า “บูรณาการ” ไปทั้งความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม

 

ความคิดมักจะไม่ตั้งอยู่บนรากฐานของความจริงเรียกว่า “อาการหลงผิด (delusion)” เช่น หลงคิดว่ามีคนจะมาทำร้าย มีคนส่งโทรจิตมาควบคุมตนเอง หลงผิดคิดว่าเป็นมะเร็ง ฯลฯ ความคิดกว้างไกล แต่ในส่วนสาระมักจะต่อกันไม่ติด(ตรงนี้กลับไปคล้ายกับผู้บริหารบางคน)

การรับสัมผัสทั้ง 5 ทวารอาจจะมี “อาการประสาทหลอน (hallucination)” ซึ่งพบว่า มีหูแว่วหรือภาพหลอนได้บ่อย ดูเผินๆ อาจจะคล้ายผีหลอก ธรรมดาผีมักจะหลอกกลางคืน แต่ผีของคนไข้หลอกหลอนได้ทั้งวันทั้งคืน

 

อารมณ์อาจจะไม่สอดคล้องกับความคิด เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ หรือเมินเฉยไร้อารมณ์ บางคราวก็โกรธระเบิดออกมาทันที

พฤติกรรมด้านสังคมมักจะถดถอยเร็ว โต้ตอบกับประสาทหลอน หรือจินตนาการ ทำให้ดูแปลกออกไป เช่น พูดกับใครที่คนอื่นมองไม่เห็น ทำตัวโสโครก ไม่อาบน้ำ ไม่กินอาหาร แก้ผ้า ฯลฯ

 

คนไข้บางคนจะมีการรับรู้เรื่องเวลา สถานที่ และบุคคลผิดไป เช่น ถ้าไปถามเขาว่าตอนนี้กี่โมง(สมมติเที่ยง) เขาอาจจะตอบมาว่า กำลังอาบแสงจันทร์อยู่...อะไรทำนองนั้น ฯลฯ

คนไข้จิตเภทไม่ใช่จะเพี้ยนตลอดเวลา แต่มีช่วงเวลาที่ “ของขึ้น” เป็นครั้งคราว ผู้เขียนเคยเห็นคนไข้รายหนึ่งมัดมือมา(เข้าใจว่าคงให้คนอื่นมัดให้) และขอให้รถไปส่งโรงพยาบาลโรคจิต เขาบอกว่า ตอนนี้มันกำลังจะกำเริบ เลยรีบมาเสียก่อน อยู่โรงพยาบาลดีกว่า เพราะคนที่บ้านไม่ยอมรับ

 

การไปด่าว่าอะไรคนบ้าไม่ช่วยให้อาการอะไรดีขึ้นเลย นอกจากจะทำให้คนไข้ชอกช้ำมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่อาการทุเลาลง... คนไข้จะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้คล้ายกับคนทั่วไป แต่จะอ่อนไหว (sensitive) ต่ออะไรๆ มากกว่า

คนไข้เหล่านี้จะไม่ยอมรับว่า ตัวเองเป็นบ้า และยังมีคนไข้อีกหลายคนที่ชอบว่าคนอื่นบ้า  เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล(รวมทั้งผู้เขียนด้วย)ถูกคนไข้ว่า “ไอ้บ้า” มาแล้วตอนฝึกงานจิตเวช

 
คนไข้คนหนึ่งเคยคว้ากรรไกรไล่แทงนักศึกษาแพทย์ ดีที่นักศึกษารายนั้นวิ่งเร็วกว่า หนีเข้าห้องน้ำล็อคห้องได้ทัน คนไข้พังประตูเข้าไปได้ แต่นักศึกษารายนั้นก็เก่งจริง เพราะปีนหนีได้ทันอีก ถ้าหนีไม่ทันอาจจะตายฟรี อาจจะมีคนกล่าวสรรเสริญอะไรนิดๆ หน่อยๆ พอเป็นพิธีในงานศพ
 

ผู้เขียนก็เคยเห็นคนไข้โรคจิตคว้าปากคีบ (forcep) ขู่พยาบาลและเจ้าหน้าที่ในห้องฉุกเฉินมาแล้ว ดีที่คนไข้ไม่ถึงกับทำร้ายใคร อาจารย์จิตเวชท่านสอนว่า ถ้าจะเป็นฮีโร่(คนกล้าหาญ)ก็อย่าเป็นตอนคนบ้ากำเริบ เพราะจะไม่ได้อะไรกลับไปเลย อย่าเป็นฮีโร่ในสายตาของคนบ้า

 

สาเหตุของจิตเภทยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่ชัด อย่างไรก็ตาม, ปัจจัยด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะครอบครัวดูจะชัดเจนมาก สถิติมีอย่างนี้ครับ...

  • ถ้าพ่อแม่เป็นจิตเภททั้งคู่ ลูกมีโอกาสป่วย 47 %
  • ถ้าพ่อหรือแม่เป็นจิตเภทฝ่ายเดียว ลูกมีโอกาสป่วย 13 %
  • ถ้ามีคู่แฝดเหมือนเป็นจิตเภท แฝดอีกคนมีโอกาสป่วย 50 %

 

  • ถ้ามีคู่แฝดจากไข่คนละใบเป็นจิตเภท แฝดอีกคนมีโอกาสป่วย 50 %
  • ถ้าพี่น้องเป็นจิตเภท พี่น้องที่เหลือมีโอกาสป่วย 9 %
  • ลูกพี่ลูกน้องฝ่ายพ่อเป็นจิตเภท ลูกพี่ลูกน้องที่เหลือมีโอกาสป่วย 2 %

 

ทางโลกจะกล่าวถึงจิตเภทอย่างไรก็แล้วแต่...ทางธรรมกล่าวถึงเหตุแห่งความเป็นบ้าไว้ชัดเจนครับ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมว่า สุรา(เหล้า เบียร์ ไวน์...)เป็นเหตุแห่งความเป็นบ้า

ถ้าขยายความจะรวมถึงของมึนเมา และยาเสพติดอื่นๆ เช่น ยาบ้า ยาอี ฯลฯ ด้วย (โปรดอ่านในอรรถกถาปุตตสูตรในเล่มอิติวุตตกะ พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย)

 

ขอยินดีกับทุกท่านที่ไม่มีญาติเป็นจิตเภทที่มีความเสี่ยงต่อโรคต่ำหน่อย ได้ดีแล้วก็อย่าประมาททีเดียว ไม่กินเหล้าเลยเป็นดีที่สุด

ภาพโปสเตอร์ในงานโครงการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมสังคม(เรื่องจิตเภท)เขียนไว้ว่า “การเดินทางออกจากความเป็นบ้า” ฟังเข้าท่าและน่าคิด... ขอเราๆ ท่านๆ อย่าได้เดินทางเข้าไป(สู่ความเป็นบ้า)กับเขาเลย เพราะเข้าไปแล้วมันออกยากเหลือเกิน

 

แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบคุณ > ล้อมกรอบ “งานโครงการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมสังคม. กรุงเทพธุรกิจ: BizWeek (11-17 พฤศจิกายน 48). ปี 1 ฉบับ 74. หน้า C7.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๘
หมายเลขบันทึก: 7281เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2005 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท