เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (๔)
โปรดอ่าน เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (1), เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (2), เรียนรู้จากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัล (3) ก่อนนะครับ
วันที่ ๑๑ พย. ๔๘ เป็นวันสุดท้ายของการประชุมคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เราใช้เวลาช่วงเช้าประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ กับคณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมด แต่กรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ๑๕ คนนี้เป็นคนที่มีธุระยุ่งมาก จึงมีคนมาร่วมประชุมได้เพียง ๔ คน หรือจริงๆ ก็คือ ๕ คน รวมทั้งผมด้วย เพราะผมเป็นทั้งประธานกรรมการรางวัลนานาชาติ และประธานกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ผู้มาร่วมประชุมได้แก่ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กับ อ. นพ. ปรีดา มาลาสิทธิ์ กับกรรมการที่มาช่วยงานของการประชุมคณะกรรมการรางวัลนานาชาติอยู่แล้ว ๒ คน คือ ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา กับ ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล และตอนรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน มี ศ. ดร. ประพนธ์ วิไลรัตน์ กับ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ มาร่วมอีก ๒ คน รวมเป็น ๗ คน
ประเด็นของการหารือที่สำคัญที่สุดคือการทำให้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เป็นที่รู้จักกว้างขวางในวงการสาธารณสุข และวงการแพทย์นานาชาติ ซึ่งหมายความว่าเวลานี้รางวัลนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ซึ่งก็มีผลทำให้จำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อยังมีไม่มากนัก คือขณะนี้เราได้รับการเสนอชื่อปีละประมาณ ๔๐ – ๕๐ คน ซึ่งนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลนานาชาติอื่นๆ
ศ. นพ.
สคริมชอว์ ผู้อาวุโสที่สุดในคณะกรรมการ
และเป็นกรรมการเรื่อยมาตั้งแต่ปีแรก บอกว่าจำนวนเงินรางวัล
๕๐,๐๐๐ ดอลล่าร์ ไม่นับว่าน้อย (แม้จะมีรางวัลขนาด ๑
ล้านดอลล่าร์หลายรางวัล และรางวัลโนเบลเป็นเงิน ๑.๖
ล้านดอลล่าร์)
จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้รางวัลนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง
ที่ประชุมได้แนะนำวิธีสร้างชื่อเสียงให้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง
ดังนี้
• ส่งประกาศเชิญชวนให้เสนอชื่อ
ไปยังเป้าหมายที่ชัดเจน
ได้แก่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ใหญ่ๆ
และมีชื่อเสียง
โรงเรียนแพทย์
คณะสาธารณสุขศาสตร์
สถาบันด้านการแพทย์เขตร้อน เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือ
ต้อง (๑) พุ่งเป้าประกาศไปที่แหล่ง หรือสถาบันที่มี potential
candidates อยู่ (๒)
สื่อให้เขาเห็นโอกาสที่จะได้รับการยกย่อง
• เขียนข้อความที่ชัดเจนและกระชับเกี่ยวกับรางวัล
หนึ่งย่อหน้า
ส่งไปให้กรรมการรางวัลนานาชาติแต่ละคน
ท่านเหล่านี้จะช่วยเอาไปหาทางให้วารสารวิชาการที่ท่านเกี่ยวข้องอยู่ด้วยลงประชาสัมพันธ์ให้
ผมมาคิดต่อว่า มูลนิธิฯ คงต้องประมวลรายชื่อนักวิชาการไทยเป็น
editorial board วารสารวิชาการด้านการแพทย์
และด้านสาธารณสุขในต่างประเทศ
และขอความร่วมมือให้ช่วยเอาไปให้วารสารช่วยประชาสัมพันธ์ให้
รวมทั้งขอร้องให้วารสารด้านนี้ในประเทศไทยช่วยกันลงประชาสัมพันธ์ด้วย
การประชาสัมพันธ์ในวารสารนี้ทำได้ทั้ง “ต้นน้ำ”
(ประกาศให้เสนอชื่อ) และ “ปลายน้ำ”
(ประกาศชื่อและผลงานผู้ได้รับรางวัล)
• ติดต่อกองบรรณาธิการหรือนักข่าวของวารสาร Science, Nature
ให้รู้จักรางวัลนี้ ให้เขาใช้เป็นข้อมูลเขียนบทความ
review เรื่องราวของการวิจัย และวิทยาศาสตร์ ในเอเซีย
ซึ่งวารสารเหล่านี้ทำอยู่เป็นระยะๆ
หรือให้เขาได้รับรู้ว่าจะมาหาข้อมูลเกี่ยวกับรางวัลนี้ได้ที่ไหน
ซึ่งหมายความว่าเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ
จะต้องมีการปรับให้ทันเวลามากกว่าที่เป็นอยู่
• เลขาธิการมูลนิธิเขียนจดหมายที่มีลักษณะที่กึ่งส่วนตัว ทุกปี
ไปยังผู้เคยได้รับรางวัล
ขอให้ช่วยเสนอชื่อผู้สมควรได้รับรางวัล
• ทุกปี
เขียนจดหมายถึงกรรมการรางวัลนานาชาติทุกคน
เตือนความจำให้ช่วยแนะว่าควรส่งจดหมายเชิญชวนไปที่สถาบันหรือบุคคลใดบ้าง
เพื่อเชิญชวนให้เสนอชื่อ ขอคนละ ๕ ชื่อ
• ปรับปรุงให้แบบฟอร์มเสนอชื่อไม่ยาวเกินไป
เช่นเพียงหนึ่งหน้า
ให้ง่ายต่อการเสนอชื่อ ศ. ซักมานน์
ต้องการให้กำหนดให้ผู้เสนอชื่อระบุ publication ที่สำคัญที่สุด เพียง
๕ เรื่อง ของผู้ได้รับการเสนอชื่อ
สำหรับให้ผู้ประเมินอ่าน
• หาทางให้ นสพ. ที่มีผู้อ่านแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา และยุโรป
ลงข่าวการให้รางวัล ไม่ใช่เพียงลงใน นสพ.
ภายในประเทศไทย
• ตรวจสอบรายละเอียดของผู้ได้รับรางวัล
เช่นเกิดที่ไหน เรียนจบมหาวิทยาลัยที่ไหน
ทำงานที่ไหน แล้วส่งข่าวการได้รับรางวัลฯ
ไปลงในสื่อมวลชนท้องถิ่นของบ้านเกิด
ของมหาวิทยาลัยที่จบ
ของหน่วยงานที่ทำงาน ฯลฯ
เพื่อสร้างความภาคภูมิใจของผู้เกี่ยวข้อง
ให้มีการกล่าวขวัญถึงรางวัลฯ จากระดับย่อย สู่ระดับวงกว้าง
• ผมคิดเองว่าควรประสานงานกับสถานทูตของประเทศของผู้ได้รับรางวัลเพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยสื่อข่าวการได้รับรางวัลไปยังแหล่งต่างๆตามข้างบน
อีกทางหนึ่งด้วย
รวมทั้งขอให้ช่วยตรวจสอบว่าได้เกิดปฏิกิริยาของชุมชน/สถาบัน/สถานที่
เหล่านั้นอย่างไรบ้าง
• ผมมาคิดต่อว่าจะหาทางเสนอเลขาธิการมูลนิธิ (ศ. นพ. สุพัฒน์
วานิชย์การ) ทำงานของมูลนิธิฯ
ร่วมกับบรรณาธิการวารสารวิชาการด้านสาธารณสุข
และด้านการแพทย์ในประเทศไทย ทั้งที่เป็นงาน
“ต้นน้ำ” และงาน “ปลายน้ำ”
• การใช้การประชุมวิชาการ (Symposium) เป็นเครื่องมือสร้าง
visibility ของรางวัล เราจัดทุกๆ ๕ ปี
อาจต้องทำถี่กว่านั้น เช่นทุก ๒
ปี เรื่องนี้หมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
เคยเสนอทำเป็น series ของ symposium ที่มีคุณภาพสูง เชิญคนจำนวนน้อย
มาแลกเปลี่ยน “ข้อมูลใหม่” กัน
อันจะเป็นกลไกกระตุ้นการวิจัยสร้างผลงาน
แต่เรามาตายตรงไม่มีคนทำ
ไม่มีกำลัง นี่ก็ตรงกับที่ ศ. ซักมานน์
บอกว่าต้องจัดการแบบมืออาชีพ มีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา แบบมืออาชีพ
(Professional Foundation Manager)
คือเคยเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จสูงมาก่อน
แต่ก็มาติดนโยบายของมูลนิธิฯ ที่ต้องการให้ทำงานแบบอาสาสมัคร
(volunteer) ซึ่งกรรมการจากต่างประเทศบอกว่าจะทำงานให้รางวัลฯ
มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้ยาก
ผมได้เรียนรู้จาก ศ. ซักมานน์ จากเยอรมัน ว่าหลายสถาบัน หรือมหาวิทยาลัย มีหน่วยงานจัดการเรื่องการเสนอชื่อหรือผลงานของบุคลากรของตนเข้ารับรางวัล ผมพิมพ์เน้นหนักด้วยและตัวเอนด้วยเพื่อเสนอว่ามหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั้งหลายควรเอาใจใส่ระบบการจัดการแบบนี้ ผมเองร่วมกับ ศ. ดร. วิชัย บุญแสง แห่ง สกว. ได้พยายามทำหน้าที่นี้อย่างไม่เป็นระบบมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี อีกหน่วยงานหนึ่งที่น่าจะได้เอาใจใส่กัน คือ หน่วยจัดการสร้างชื่อเสียง (visibility) ด้านวิชาการ ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ การมีหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบ มีการจัดการ (management) อย่างเป็น “มืออาชีพ” และประการที่สอง การมี (และพัฒนา) ทักษะในการทำงานสร้างชื่อเสียงบนฐานของความรู้ความเข้าใจ คือมีความเข้าใจที่ลุ่มลึก (มี depth) ไม่ใช่ทำงานแบบประชาสัมพันธ์ตื้นๆ แบบที่มีกันอยู่ เราจะเห็นว่าการทำงาน award – making หรือ prize – making เป็นเรื่องเชื่อมโยงเกี่ยวพันออกไปกว้างขวางมาก มีเรื่องให้ทำงานสร้างตัวจากการทำงาน/สร้างผลงาน ได้มากมาย ขึ้นอยู่กับใจรัก (ฉันทะ) ทำจริง (วิริยะ) และทำอย่างเป็นระบบ (อิทัปปัจยตา)
วิจารณ์ พานิช
๑๕ พย. ๔๘