แท้จริงความลำบากไม่มี มีแต่ความไม่เคยชิน


ในชีวิตของคนเราเมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่แปลกไปจากปกติเราจะรู้สึกลำบาก แต่หากเราพยายามปรับตัวปรับใจสักระยะหนึ่ง ความลำบากจะหายไป

                ในชีวิตคนเราต่างก็ต้องพบเจอกับความลำบากในชีวิตไม่มากก็น้อย แต่จะมากน้อยเท่าไหร่ของใครมากกว่ากันคงบอกได้ยากเพราะไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเนื่องจากความลำบากเป็นความรู้สึกที่คนตีความสิ่งที่ได้สัมผัส

                ในสมัยที่ผมยังเด็กกว่าจะมีไฟฟ้าใช้ก็ตอนชั้น ม. 1 แล้ว ชีวิตคนบ้านนอกตอนนั้น ผมอยู่ที่บ้านป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก สุโขทัย ที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีน้ำประปา ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด ไม่มีทีวีตู้เย็น โทรศัพท์ พัดลม เราก็อยู่กันได้สบายดีกินอิ่มนอนอุ่น ไม่มีห้องน้ำไว้อาบ ไม่มีห้องส้วมอยู่ที่บ้าน เวลาจะอาบน้ำก็ไปอาบน้ำที่ท่าน้ำแม่น้ำยม เวลาจะเข้าส้วมก็ต้องเข้าไปในสวน เดินเท้าเปล่า ไม่มีรองเท้าใส่ ส่วนน้ำดื่มก็ต้องตักน้ำใส่ครุน้ำหาบไปใส่ในโอ่งน้ำไว้ใช้ไว้ดื่ม ตักน้ำจากบ่อทราย ต้องขุดบ่อทรายกันเอง น้ำไม่ต้องต้ม ไม่ต้องกรองเพราะชั้นทรายของหาดทรายริมน้ำกรองให้แล้ว แต่ถ้าเป็นหน้าฝนก็ต้องตักน้ำแม่น้ำมาแกว่งสารส้มก่อนเพราะน้ำจะขุ่นมากและน้ำท่วมตลิ่งขุดบ่อทรายไม่ได้ การหาบน้ำจากบ่อทรายกว่าจะถึงบ้านระยะทางเกือบ 500 เมตร ผมหาบน้ำจนบ่าด้านเลย อ่านหนังสือก็ใช้แสงตะเกียง ถ้ายุงเยอะก็เอาตัวอยู่ในมุ้งแล้วโผล่หัวออกมาอ่านนอกมุ้ง แต่ตอนนั้นก็ไม่เห็นลำบากอะไร  แต่พอมาตอนนี้ถ้าวันไหนไฟดับ น้ำไม่ไหลต้องใช้เทียนไขหรือตะเกียงหรือต้องไปหิ้วน้ำมาใช้เองจะรู้สึกลำบากมาก เพราะความเคยชินมันหายไป

                อาจารย์หมอผจญ  วงษ์ตระหง่าน อาจารย์ศัลยแพทย์ จากคณะแพทย์ มอชอ ซึ่งผมเคารพนับถือท่านเหมือนเป็นพ่อคนที่สองของผม ท่านสอนวิชาศัลยกรรมผมแค่ครั้งเดียว แต่ท่านสอนวิชาชีวิตผมมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ อาจารย์เป็นที่ปรึกษาค่ายอาสาพัฒนาชนบท ท่านจะสอนพวกเราที่ไปออกค่ายเสมอๆว่า แท้จริงความลำบากไม่มี มีแต่ความไม่เคยชิน ผมก็ได้ประจักษ์กับตัวเองว่าเป็นจริงดั่งคำสอนของอาจารย์   ตอนเด็กผมชินกับชีวิตแบบนั้นผมก็อยู่ได้สบายไม่รู้สึกลำบากอะไร   พอโตมามีชีวิตแบบปัจจุบัน พอเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็รู้สึกลำบากขึ้น

                เมื่อตอนผมจบได้ 1 ปี ผมได้ย้ายจากโรงพยาบาลงาว ไปอยู่โรงพยาบาลแม่พริก จ.ลำปาง เมื่อปี 2537 ก่อนผมไปอยู่มีหมอ 2 คน แต่ปีต่อมาไม่มีใครยอมไปอยู่เพราะไกลที่สุด เล็กที่สุด ของลำปาง ถนนก็ยังไม่เป็นสี่เลน เดินทางก็ช้า ส่งต่อผู้ป่วยก็ลำบาก ที่สำคัญต้องไปอยู่คนเดียวเป็นทั้งผู้อำนวยการและแพทย์ประจำ เรียกว่าต้องเป็นแพทย์คนเดียวทั้งอำเภอ  พี่ภูวนนท์ เอี่ยมจันท์  ตอนนั้นเป็นรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 พิษณุโลก) ก็รู้จักกันตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์  ท่านได้โทรศัพท์มาชวนผมไปอยู่ ตอนนั้นผมกำลังอบรมอยู่ที่ศูนย์ชาวเขา อ.ห้างฉัตร  ผมก็บอกว่าถ้าพี่ไว้ใจผม ผมก็ยินดีไปอยู่ และจะไม่ทำให้พี่ผิดหวังและเป็นภาระทีหลัง

                โรงพยาบาลแม่พริกตอนนั้น เป็นโรงพยาบาล 10 เตียง มีรถยนต์ 2 คัน เป็นรถกะบะมีหลังคาแบบรถสองแถว 1 คัน และรถตู้ส่งผู้ป่วย 1 คัน มีอาคารอยู่ 2 หลัง เป็นอาคารหลักสำหรับดูแลผู้ป่วย 1 หลังและอาคารสนับสนุน 1 หลัง ทำให้เวลาทำงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะเจอกันแทบทุกวัน ไม่มีทันตแพทย์ ไม่มีเภสัชกร มีแพทย์คนเดียวคือผม มีพยาบาล 13 คน รวมแล้วประมาณ 53 คน โทรทัศน์รับภาพได้ไม่ชัด โทรศัพท์ไม่มีต้องใช้วิทยุโทรศัพท์ที่ถ้าใครโทรมาก็จะได้ยินเสียงคุยกันทั้งห้องบัตร ผมต้องไปขอสำนักงานสาขาที่เถินขอช่วยติดตตั้งโทรศัพท์แบบหยอดเหรียญให้ โดยเขายอมทำผิดกติกาเขาคือลากสายมายาวเกินกว่า 2 กิโลเมตรเพื่อเห็นแก่ทางโรงพยาบาล แต่โทรศัพท์หยอดเหรียญเครื่องแรกก็โทรได้ 1 วัน เสียไป 3 วัน ตอนหลังเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ดีขึ้นและขอเปิดใช้เป็นเบอร์ของโรงพยาบาลทำให้การติดต่อพอสะดวกขึ้น เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็เพิ่งจบใหม่ๆเพราะใครจบแล้ว 2-3 ปีก็ขอย้ายเข้าใกล้เมืองหมด  พอผมอยู่ได้ปีที่ 2 ก็ขอกระทรวงยกฐานะเป็น 30 เตียง ได้งบมากำลังก่อสร้างผมก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านตากก่อน

                ตอนอยู่แม่พริก ผมต้องตรวจคนไข้คนเดียว อยู่เวรคนเดียวตลอด 2 ปี อยู่เวร 30 วัน แต่เบิกค่าตอบแทนนอกเวลาได้แค่ 15 วันเพราะระเบียบห้ามเบิกค่าเวรติดกัน แต่ผมจำเป็นต้องอยู่เวรติดกันเพราะไม่มีใครช่วย  ตอนกลางคืนจะมีตามทุกคืนเพราะนอกเวลาราชการหากเจ็บป่วยชาวบ้านก็ต้องมาโรงพยาบาลเพราะไม่รู้จะไปไหน ผมถูกตามด้วยเสียงโทรศัพท์จนผมเกิดอาการกลัวเสียงโทรศัพท์(Telephone phobia) พอเสียงกริ๊งดังก็จะต้องรีบลุกพรวดพราด ใจสั่นเลย ตอนหลังๆก็ดีขึ้นเพราะเริ่มชิน การเป็นแพทย์คนเดียวไม่ใช่แค่ตรวจคนไข้ อยู่เวรนอกเวลา ต้องทำงานบริหารด้วย ผมต้องทำงานแต่เขเช้าเพื่อตรวจคนไข้นอนในตึกแล้วตรวจผู้ป่วยในให้ได้ประมาณ 8.30 น. หากมีประชุมอำเภอก็ต้องขอเวลาไปร่วมประมาณ 1 ชั่วโมง หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินก็ตาม หากไม่ฉุกเฉินผู้ป่วยก็รอได้ (ยังไงก็ต้องรอเพราะหมอคนเดียว) แต่ผมไปประชุมไม่นาน ก็รีบกลับมาตรวจจนหมด ถ้าเป็นการประชุมของโรงพยาบาลก็ประชุมประมาณ บ่าย 3 หากมีคนไข้ก็ลุกออกมาตรวจเป็นระยะๆ ตอนเย็นเลิกงานก็เล่นกีฬากันถ้ามีคนไข้ฉุกเฉินก็ขึ้นไปตรวจในชุดกีฬาได้เลย  พอค่ำก็ออกหมู่บ้านกับฝ่ายส่งเสริมและสุขาภิบาลที่ผมให้ออกหมู่บ้านพร้อมกัน นัดพร้อมกันเพื่อจะไม่รบกวนเวลาชาวบ้านมากนัก  พอประมาณ 4 ทุ่มถ้ามีคนไข้ผ่าตัดส่วนใหญ่ก็เป็นไส้ติ่งอักเสบ ก็จะผ่าตัดเสร็จประมาณ 5 ทุ่มก็อ่านหนังสือราชการแล้วก็นอน มีครั้งหนึ่งมีโรคพยาธิกล้ามเนื้อหมู (Trichinosis) ระบาดที่หมู่บ้านห้วยขี้นก(เรียกกันเล่นๆแบบสุภาพว่าหมู่บ้านมูลสกุณาธาราวสันต์) ซึ่งอยู่ไกลที่สุดของอำเภอ มีคนป่วยประมาณ 70 คน ผมต้องจัดทีมออกไปตรวจรักษาและตัดชิ้นเนื้อมาตรวจกลับมาเกือบ 5 ทุ่ม มาเจอคนไข้ไส้ติ่งอักเสบรอผ่าตัด ต้องผ่าตัดจนเสร็จ เกือบตี 1 กว่าจะได้นอน พอตีสามถูกตามมาดูคนไข้อุบัติเหตุอีก พอเช้า 7 โมงต้องตรวจคนไข้ในตึก แต่ตอนนั้นก็อยู่อย่างมีความสุขดีไม่เหน็ดเหนื่อยอะไรมากนัก แต่พอมาตอนนี้ถ้าถูกตามหลังเที่ยงคืนแค่ครั้งเดียวตอนเช้าตื่นมาทำงานก็มึนๆงงๆแล้ว

                การทำงานตอนนั้น จะใช้การวินิจฉัยจากอาการและตรวจร่างกายมากเพราะการตรวจแล็บทำได้น้อย นอกเวลาราชการไม่มีคนทำ เวลาผ่าตัดคนไข้ไส้ติ่งอักเสบหรือไส้เลื่อนหรือผ่าท้องคลอด ต้องเป็นทั้งแพทย์ผ่าตัดและวิสัญญีแพทย์ โดยที่โรงพยาบาลไม่มีวิสัญญีพยาบาลด้วย ก็โชคดีที่ไม่เคยมีภาวะแทรกซ้อนอะไรที่รุนแรง แต่ตอนทำก็เน้นตามหลักวิชาการให้มากที่สุด ถ้าเราไม่ผ่าให้ คนไข้ก็ไม่ยอมไปรักษาในเมืองเพราะไกลมากและมีปัญหาหลายเรื่อง พอเราผ่าได้ เมื่อมีคนไข้เขาก็ต้องการให้เราผ่า ผมผ่าตัดคนไข้ไส้ติ่งอักเสบเกือบร้อยราย อำเภอข้างๆก็มาหาด้วย นอกจากไม่มีบุคลากรเฉพาะด้านแล้ว ยังไม่มีเครื่องมือด้วย ไม่มีเครื่องตรวจติดตามการทำงานของหัวใจ ต้องใช้หูฟังแปะติดกับหน้าอกของคนไข้แล้วฟังเป็นระยะๆ ใช้เครื่องวัดความดันแบบมือบีบคอยวัดเป็นระยะ ไม่มีระบบออกซิเจนไปป์ไลน์  ปัญหาที่เจอบ่อยก็คือความดันต่ำลงแต่ก็ไม่รุนแรงเพราะผมจะให้สารน้ำก่อนบล็อกหลังทุกราย แต่มาตอนนี้ก็ไม่ค่อยผ่าตัดแล้วเพราะแพทย์หลายท่านก็บอกว่าถ้าทำดีเสมอตัว ถ้าพลาดก็แย่เลย กลายเป็นไม่พร้อมแล้วไปทำ มีสิทธิโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายจนล้มละลายได้  แพทย์โรงพยาบาลชุมชนตอนนี้จึงกลายเป็นบุรุษไปรษณีย์เขียนไปส่งตัวให้คนไข้ไปแออัดยัดเยียดที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ

                ดังนั้น ในชีวิตของคนเราเมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่แปลกไปจากปกติเราจะรู้สึกลำบาก แต่หากเราพยายามปรับตัวปรับใจสักระยะหนึ่ง ความลำบากจะหายไป เราจะเกิดความเคยชินหรือคุ้นเคยและจะอยู่ในภาพการณ์ใหม่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่หรือที่เปลี่ยนแปลงได้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Inteligence
หมายเลขบันทึก: 7274เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2005 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท