เยียวยาเพื่อมหาชน


รอสะนิง "ชีวิตเพื่อการเยียวยา"

“ทุกครั้งที่ทีมงานเยียวยาเชิญไปร่วมงาน ดิฉันจะรู้สึกดีใจทุกครั้ง เพราะนั่นหมายความว่าเราผู้สูญเสียจะได้เจอกัน พูดคุยถามทุกข์สุข และความรู้สึกดีๆ ที่มากเกินคำบรรยายก็เกิดขึ้นกับพวกเราอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อได้มาทำโครงการเยียวยาช่วยเหลือเรื่องอาชีพด้วยตัวพวกเราเอง เพราะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงอย่างเราต่างต้องการและไขว่คว้า” นางรอสะนิง สาและ หญิงหม้ายผู้สูญเสียสามีจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้พบปะกับเพื่อนร่วมมิตรและการช่วยเหลือด้านอาชีพให้กับครอบครัวผู้สูญเสียด้วยกัน “รอสะนิง สาและ” อายุ 23 ปี แห่งบ้านม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เธอสูญเสียสามีในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันครอบรอบ 3 ปี วันแต่งงานของเธอพอดี ทำให้เธอไม่อาจลืมภาพเหตุการณ์วันนั้นได้ ขณะนั้นเธอกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 เพียง 2 เดือน ส่งผลให้เธอต้องมีชีวิตอย่างลำบาก เพราะตลอดระยะเวลาที่เธออาศัยอยู่กับสามี เธอจะทำหน้าที่แม่บ้านดูแลลูกและสามี ไม่เคยทำงานนอกบ้าน จึงต้องอาศัยพ่อแม่และเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลพร้อมกับเงินสนับสนุนของภาคสังคมและชุมชนประคองชีวิตครอบครัวของเธอเรื่อยมา หลังจากที่เธอได้คุ้นเคยและใช้ชีวิตที่โดดเดี่ยวลำพังขาดคู่ชีวิตเป็นระยะเวลา 1 ปี เธอก็ได้เข้าร่วมโครงการเยียวยาของกลุ่มผู้หญิงเพื่อสันติภาพ โดยได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนผู้สูญเสียซึ่งประสบกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันที่มีส่วนทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไป แต่กระนั้นก็ตาม รอสะนิงก็ยังไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอัน มีเพียงแต่ใจที่เข้มแข็งและพร้อมจะเดินข้างหน้าต่อไป เช่นเดียวกับคนอื่นที่ต้องการอาชีพที่มั่นคงมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว เมื่อได้โอกาสเธอจึงเสนอโครงการเพื่อหาอาชีพให้กับกลุ่มหญิงหม้าย ในโครงการ “เยียวยาครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกรณีความไม่สงบใน 4จังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้รับอนุมัติเป็นเงิน 2 ล้านกว่าบาท รอสะนิงบอกว่า “ตอนนั้นไม่มีงานทำเลย ไม่มีรายได้เข้ามาในครอบครัว และรู้ว่าเพื่อนหลายคนก็อยากมีงานทำที่เป็นหลักเป็นแหล่ง จากการสังเกตทุกครั้งจากการประชุมของครอบครัวผู้สูญเสีย ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องอาชีพ เมื่อพี่คนหนึ่งมาเสนอให้ร่างโครงการเกี่ยวกับอาชีพ สิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นตัวผลักให้กล้าที่จะทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงปรึกษากับเพื่อนๆ กระทั่งได้ไปเสนอโครงการที่กรุงเทพฯ กับคอลีเยาะ หะหลี” โครงการเยียวยาครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกรณีความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากว่าเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาและสร้างความมั่นคงด้านอาชีพให้กับชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมุ่งให้ชุมชนมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการสร้างความเข็มแข้งให้กับชุมชน ทั้งนี้เน้นครอบครัวที่ยากจน และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเท่าที่ควร “ตอนที่เสนอโครงการรู้สึกตื่นเต้นมากๆ เพราะไม่เคยพูดต่อหน้าคนหมู่มากขนาดนั้น คณะกรรมการทุกคนนั่งฟังอย่างตั้งใจมากโดยไม่มีการซักค้านแม้แต่คำถามเดียว เพื่อนคอลีเยาะ เขาพูดและร้องไห้ในที่ประชุมด้วย กระทั่งตอนเย็นวันนั้นผลปรากฏว่าโครงการของเราผ่าน ดีใจมากๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า เราซึ่งเป็นผู้สูญเสียเป็นผู้เสนอโครงการเอง ในตอนนั้นเราคนเดียวด้วยที่เป็นชาวบ้านธรรมดา โดยไม่สังกัดองค์กรใดๆ หรือเขาอาจเห็นใจตอนที่เพื่อนร้องไห้ด้วย ทำให้ได้โครงการได้รับอนุมติโดยไม่ตัดเงินสักบาทเลย ในขณะโครงการของคนอื่นถูกตัดเสียส่วนใหญ่ ตอนนั้นดีใจและขอบคุณพระเจ้ามาก” เธอเล่าย้อนเหตุการณ์อันน่าประทับใจ ด้วยความตื่นเต้น การช่วยเหลือระหว่างเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกันนับเป็นสิ่งที่สังคมควรส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้พวกเขารู้ปัญหาของกันและกัน ที่สำคัญจะเกิดความรักและการเห็นอกเห็นใจในหมู่พวกเขา เธออธิบายว่าโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากครอบครัวผู้สูญเสียมาก ทั้งในเหตุการณ์กรือเซะวันที่ 28 เมษา 47 หญิงผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์รายวันทั่วไป โดยกำหนดผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 100 คน อนุมัติเงินเป็นงวด จึงต้องมีการประชุมและคัดเลือกผู้ที่ลำบากมาก ยากจน และยังไม่มีงานทำจริงๆ ทั้งนี้เงินงวดแรกซึ่งได้ดำเนินการแล้วในจำนวนเงิน 500,000 บาท กับ 25 ครอบครัว เฉลี่ยเงินรายละ 20,000 บาทต่อครัวเรือน แต่ทางกลุ่มเห็นและได้ตกลงกันว่าจะทยอยจ่ายคืนตามความสามารถเพื่อช่วยเหลือครอบครัวรายอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของรอสะนิงที่เสนอโครงการเพื่อให้ตัวเองมีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่เมื่อเพื่อนๆ ผู้สูญเสียซึ่งมีจำนวนมาก เธอจึงต้องให้เพื่อนคนอื่นใช้สิทธิ์ก่อน โดยรอเงินงวดที่ 2 ทั้งนี้ นอกจากที่เธอเป็นประธานโครงการนี้แล้ว เธอต้องทำหน้าที่ประสานงานและติดตามงานของเพื่อนๆ โดยการลงพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งงานนี้เป็นสิ่งที่เธอมีความสุขที่สุด “มีความสุขมากที่ได้มาทำงานช่วยเหลือเพื่อนที่ร่วมทุกข์กับเรา แค่เราได้ไปเจอกันในที่ประชุมก็รู้สึกดีใจตั้งแต่ที่เขาเชิญแล้ว และเมื่อได้มาอยู่ในตำแหน่งผู้ให้บ้างมันรู้สึกดีมากๆ มากจนบอกไม่ถูก โดยเฉพาะการได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนนตามหมู่บ้านต่างๆ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ใกล้ก็ตาม แต่ด้วยไม่เคยไปไหน เมื่อรู้ว่าจะได้ลงพื้นที่จะรู้สึกตื่นเต้นและดีใจทุกครั้ง เพราะเราได้ช่วยเหลือเพื่อนที่คล้ายกับเรา เรารู้สึกเรามีค่า” เธอกล่าวด้วยเสียงที่ตื้นตันใจ สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถแก้ไขได้นั้น เธอยังคงสงสัยและตั้งคำถามตลอดเวลาว่า ใครเป็นผู้กระทำและบงการ และมีสาเหตุมาจากอะไร และทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ เธอจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา แม้มันจะน้อยนิดก็ตาม “สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ฉันไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากไหน และทำไมมันต้องเป็นอย่างนี้ ดิฉันจึงอยากทำความดีช่วยเท่าที่ตัวเองทำได้ แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดก็ตามที” ส่วนผลสะท้อนจากเพื่อนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเยียวยาเรื่องอาชีพนั้น “นางอาแอเสาะ สะแลแม” อายุ 38 ปีหญิงหม้ายจากเหตุการณ์ วันที่ 28 เมษา 47 ซึ่งพบสามีครั้งสุดท้ายก่อนวันเกิดเหตุ 1 วัน ขณะที่ไปส่งสามีที่สถานีรถไฟโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ไปกรุงเทพฯ เพื่อไปซื้อรองเท้า และนำมาขายที่บ้าน ซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัวเธอ แต่พอรุ่งเช้ากลับได้ข่าวว่าสามีเสียชีวิตที่อำเภอแม่ลาน หลังจากนั้นเธอก็บากบั่นขายรองเท้าคนเดียวด้วยความเหน็ดเหนื่อย เมื่อมีโครงการนี้ขึ้นมา เธอก็ได้เปลี่ยนอาชีพเป็นขายก๋วยเตี๋ยวหน้าบ้านแทน แม้ว่าจะเป็นงานที่มีรายได้น้อยกว่า เธอก็มีความสุข แต่ก็ยังกังวลและหนักใจเรื่องลูกสาวซึ่งกำลังเรียนที่มหาวิทยาลัยทักษิณ เพราะต้องใช้ทุนสูงเป็นเงิน 3,000 บาทต่อเดือน ทำให้เธอต้องทยอยส่งให้ลูกครั้ง1,000บาท “เมื่อก่อนขายรองเท้ามีเงินเป็นก้อนพอจะซื้อของต่างๆ ได้ แต่ก็เป็นงานที่หนักสำหรับฉัน จึงต้องเปลี่ยนขายก๋วยเตี๋ยวแทน โดยได้งบ 20,000 บาท แม้ว่าจะมีรายได้น้อยกว่าขายรองเท้าแต่เป็นงานที่สบายๆ เหมาะกับการทำงานคนเดียว มันไม่เหนื่อยมากจนเกินไปก็พอเก็บเงินค่าขนมให้ลูก” สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนั้น เธอบอกว่ารู้สึกสงสารผู้ที่สูญเสียแทน เพราะรู้ซึ้งของการขาดเสาหลักของครอบครัว จึงอยากให้บ้านเมืองสงบเสียที หญิงอีกคนหนึ่งคือ ปารีดะ มะดิง สามีถูกจับที่ประเทศกัมพูชา กรณีคดีเจไอ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการเยียวยาครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกรณีความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เธอได้ยืมเงิน 20,000 บาท เป็นทุนขยายร้านขายของชำในโรงเรียนพัฒนาวิทยา จ.ยะลา “โครงการนี้ก็ดีที่ได้ให้ทุนแก่กลุ่มผู้หญิงได้มีงานทำขยับขยายที่ตนมีอยู่ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรมีทุนที่สูงกว่านี้ เพราะการจะลงทุนบางอย่างต้องใช้ทุนมากกว่านี้” เธอกล่าว ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในสังคมภาคใต้ทั้งเหตุความรุนแรงและปัญหาสังคมทั่วไป ที่สำคัญ จริยธรรมในสังคมที่ขาดหายไป เธอรู้สึกกังวลและยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการให้กำลังใจผู้สูญเสีย และการตักเตือนสิ่งไม่ดีให้กับเพื่อนๆ ให้พวกเขาอดทนและใช้ชีวิตอย่างถูกต้องและอยู่ในหลักศาสนา กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ แม้ว่าพวกเธอต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวลำพัง แต่พวกเธอพร้อมเป็นหน่วยเซลล์เล็กๆ ของสังคม ที่เป็นตัวช่วยแกะปมสถานการณ์ความไม่สงบบางอย่าง แม้ว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่พวกเขาต่างบอกเสียงเดียวกันว่าอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วย

หมายเลขบันทึก: 72639เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2007 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2013 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
          รุสดี   พี่สมัครเข้าห้องเรียนคุณอำนวยให้แล้ววันที่  13 ก.คนี้จะมีการเรียนกันวันแรก ที่ร.พ มหาราช นครศรี ฯ อย่าลืมทำการบ้าน เตรียมเรื่องเล่าเกี่ยวกับบทบาทตัวเองในหน้างานที่ทำอยุ่และสิ่งที่ต้องการจะพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อการตั้งเป้าในการพัฒนาตัวเองต่อไป อย่าลืมมาให้ตรงเวลา 9.00น รายละเอียดตามอ่านได้ที่ blog ครูนงเมืองคอน นะจ๊ะ

ยินดีต้อนรับเรียนรู้ฝึกฝนตนเองไปพร้อมๆกันครับ

ถึง พี่พัช พอช.P

 ครูนงเมืองคอนP

ขอบคุณมาที่เยี่ยม

และจะไปให้ตรงเวลา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท