ทดลอง เขียน ภาษาไทย แบบ แยก คำ


เขียน ภาษาไทย แบบ แยก คำ

ผม ทดลอง เขียน ภาษาไทย แบบ แยก คำ พร้อม ใส่ เครื่องหมาย อย่าง ภาษา ตะวันตก.
การเขียน แบบ นี้ จะ ทำ ให้ เรา และ ชาว ต่างชาติ เรียน ภาษาไทย ง่าย ขึ้น ไหม ครับ?

ถ้าผมเขียนภาษาอังกฤษโดยไม่เว้นวรรคระหว่างคำแบบภาษาไทยบ้าง
ลองอ่านดูนะครับว่าจะอ่านยากหรือง่ายขึ้นแค่ไหน

Itrytowritethissentencewithoutanybreakbetweenwords. Isiteasytoread?

หมายเลขบันทึก: 7224เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2005 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สำหรับผม ผมว่าภาษาไทยกับอังกฤษต่างกัน ภาษาไทยเรามีสระและอักษรที่แยกต่างจากกัน แล้วภาษาอังกฤษใช้ร่วมกัน

เวลาผมอ่านภาษาไทยแยกกัน มันทำให้ผมอ่านช้าลงและอาจทำให้ผมสังเกตคำได้ง่ายกว่าติดๆกัน

เวลาเขียนติดกันแล้วมันทำให้อ่านเร็วและอาจพลาดข้อมูลเล็กน้อยที่อาจไม่ได้สังเกต

เพราะเวลาผมอ่านภาษาไทย ผมมักจะดูทั้งประโยคแล้วเอาแต่คำหลักๆมาเอาใจความอย่างเร็วๆ ซึ่งได้ผล แต่ผมว่านี่เป็นเหตุที่คนไทยบอกให้ตัดคำบางคำที่ไม่จำเป็นต้องเขียนหรือพูดลงประโยคให้พร่ำเพรื่อ เพราะวิธีที่คนไทยเขียนภาษาติดกัน 

 ข้อคิดเห็นของการอ่านภาษาไทยนี้เป็นของผมคนเดียว ซึ่งผมไม่รู้ว่าคนอื่นอ่านต่างจากผมหรือเปล่า คงเป็นเพราะผมอ่านอย่างที่ผมบอก ผมถึงสอบหรือเรียนวิชาต่างๆที่เป็นภาษาไทยแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าเรียนเป็นภาษาอังกฤษในบางวิชา

ความเป็นภาษาของแต่ละภาษามีการเขียนที่ต่างกันค่ะ อาจารย์ อิ อิ คิดได้ไงค่ะ เนี่ย

 คุณ  ไม่มีรูป Gavin กับอาจารย์ Ranee  P  ครับ

ขอบคุณครับที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น ผมเกือบลืมเรื่องนี้ไปแล้ว เพราะเขียนบันทึกนี้ตั้งแต่ G2K ตั้งขึ้นมาใหม่ๆ ตั้งแต่ปี ๔๘ ซึ่งก็ทำให้ผมได้รื้อฟื้นความทรงจำของเช้าวันหนึ่ง และต้องตอบทั้งสองคนพร้อมกันทีเดียวด้วย เพราะสองคำถาม(ความคิดเห็น)ของทั้งสองท่านสัมพันธ์กัน

การเขียนภาษาไทยแบบแยกคำ ผมเอามาจากหนังสือเรียนภาษาไทยของเด็กชายหยกไช้ กับเด็กหญิงเสี่ยวเอี้ยน หลานตัวเล็กสองคนของผม ที่พ่อแม่เขามาฝากให้ช่วยเลี้ยงไว้ครึ่งวันในเช้าวันหยุดวันหนึ่งที่เขามีธุระจำเป็นจริงๆ กันทั้งสองคน 

วันนั้นผมได้เรียนรู้มหาศาลเลยครับ โดยเฉพาะได้ระลึก(ชาติ)ได้ว่าผมเรียนรู้จักการอ่านการเขียนภาษาไทยมาได้อย่างไร

ผมขอให้พวกเขาสอนผมครับ โดยใช้หนังสือเล่มนั้น โอ๊ย สนุกสนานกันมาก ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพราะผู้เรียนก็เต็มใจเรียน อย่างกระหายใคร่รู้ ยอมน้อมกายก้มหัวคำนับอาจารย์น้อยทั้งสองด้วยการ "คว่ำถ้วยชา" ก่อนเรียนเลย (เพื่อจะได้ไม่เป็นชาล้นถ้วย รินเท่าไรก็ไม่ลง - จากภาพปริศนาธรรมของพระเซนในโรงมหรสพทางวิญญาณ สวนโมกข์ครับ) ผู้สอนก็เต็มใจและสนุกที่จะสอน ไม่ทราบว่าเพราะเคยแต่ "ถูกสอน" ที่โรงเรียนหรือเปล่า พอได้เปลี่ยนบทบาทบ้างก็เลยได้ที "เอาคืน" จาก "ลุงศิษย์" (ถ้าโรงเรียนไหนเป็นแบบนั้นจริง ควรเรียก "โรงสอน" มากกว่า)

ครูน้อยทั้งสองทำให้ผมเข้าใจว่า อ้อ เป็นอย่างนี้เองผมถึงอ่านเป็น อาจารย์ Ranee กับผมก็คงไม่ต่างกันหรอกครับ เราล้วนผ่านการฝึกอ่านเป็นคำๆ แบบที่ผมเขียนมาก่อน เขาเขียนแยกเป็นคำๆ ให้เราฝึกอ่าน และ "อาเตี๋ยต้องอ่านออกเสียงด้วย" ผมเห็นตาดุๆ ก็เลยต้องทำตาม เออ ก็สนุกดีเหมือนกัน "ออกเสียงดังๆ ด้วยนะคะ" ครูกำชับ อ่านไปอดจินตนาการว่าได้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูงๆ อ่านหนังสือด้วยเสียงดังๆ ให้นก ต้นไม้ และก้อนเมฆฟัง (ขอใช้ภาษาแบบลูกคนกลางของผมที่เรียนอักษรศาสตร์ เธอชอบปีนทุกอย่างที่ขวางหน้าตั้งแต่เด็กๆ เริ่มจากเก้าอี้ ไปโต๊ะ โตขึ้นหน่อยก็ปีนประตูรั้ว ปีนแม้กระทั่งฝาบ้าน - ผมมีเรื่องอยากเล่าให้ฟังอีกเรื่อง แต่เอาไว้ทีหลัง เป็นเรื่องความสำเร็จเล็กๆ (แต่ยิ่งใหญ่สำหรับผม) ในการต่อสู้กับโรงเรียนเพื่อปกป้องลูกสาวคนนี้จากความพยายามของโรงเรียนที่จะทำลายจินตนาการ ทำลายความร่าเริงสดใสของเด็ก โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์)

กลับมาเรื่องการอ่านคำต่อ พอผมอ่านคล่องขึ้น เริ่มคุ้นกับคำแล้ว เขา(คนออกแบบการเรียนการสอน - คนแต่งตำรา)ก็ค่อยๆ เอาคำมาวางติดกันให้อ่าน จากสั้นๆ ไปเป็นประโยคยาวขึ้น ยาวขึ้น ถึงตอนนั้นเราก็เริ่มแยกแยะคำเองได้แล้ว คือ ถ้าอ่านคำเป็นคำคำมาก่อนไม่ได้ เริ่มต้นก็เขียนติดกันให้อ่านเลยเราก็อาจเรียนอ่านภาษาไทยกันไม่สำเร็จ บรรพบุรุษเราออกแบบภาษาไทยมาแบบนี้เพราะรู้ว่าพวกเรามีสมองไวพอจะ "เห็น" คำในประโยคได้ แม้จะเขียนติดกัน 

และถ้าไม่ได้อ่านออกมาดังๆ เราก็ไม่ได้ฝึกฟังเสียงพยัญชนะเสียงสระ(ที่ช่างไพเราะ)ในภาษาของเรา

นักเรียนอย่างผมยังเรียนไม่จุใจเลย ครูหิวเสียแล้ว (กระเพาะเล็กกระมัง จึงต้องกินบ่อยกว่านักเรียนโข่ง) ผมก็เลยต้องจัดการกับสำรับที่พ่อแม่เขาใส่ตะกร้าเตรียมมาไว้ให้ พอถึงคราวจะกิน อ้าว ยังร้อนมากเลย เลยบอกครูว่ายังร้อนอยู่ รอสักครู่ไหม ครูน้อยสวนกลับทันทีว่า "อาเตี๋ย เป่าสิเป่า" ผมก็เลยได้ระลึกชาติได้อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อชาติเด็กของผม แม่ผมก็เป่าก่อนป้อนผมแบบนี้เหมือนกัน พอเคี้ยวเสร็จแล้ว ครูน้อยก็ยังอดสอนผมต่อไม่ได้ว่า "อาเตี๋ยนี่ ไม่รู้อะไรเลย" คำพูดนี้ทำผมแทบตกเก้าอี้ ผมช่างไร้เดียงสาจริงๆ ทำให้ได้คิดว่าคำนี้ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เรื่องไหนที่เราไม่รู้เลย โง่สนิท ก็คือเรื่องที่เราไม่เดียงสานั่นเอง ต้องให้คนอื่นบอก แต่ผู้ใหญ่มักไม่กล้าบอกเรา อยากรู้ต้องให้เด็กบอก เพราะเด็กเขายังไม่สูญเสียความ "กล้าหาญ" ประกอบกับศํพท์แสง(vacabulary)ที่สะสมในสมองก็ยังไม่มาก ผู้ใหญ่ไม่กล้าใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมาแบบเด็ก โดยเฉพาะคำที่ทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าตัวเขาโง่เขลาเบาปัญญา เช่นผมไม่กล้าพูดว่า "คุณครับ คุณโง่จังเลยนะครับ"    

หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเรื่องหลายราว หลายเหตุการณ์ที่เราได้เรียนรู้จากการ "เล่น" ด้วยกัน เสี่ยวเอี้ยนสนุกกับการจัด "บ้านแสนรัก" ที่เก่าเก็บของลูกสาวผม ซึ่งไม่ได้เล่นแล้วเพราะโตเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว (แต่ไม่ยอมให้ทิ้ง) ส่วนหยกไช้สนุกกับการรื้อหนังสือการ์ตูนจากตู้หนังสือการ์ตูนของลูกชายผมซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วออกมาเลือกอ่าน

มาถึงความเห็นของคุณ Gavin บ้าง คุณ Gavin พูดถึงภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาแยกคำอยู่แล้ว การสอนอ่านเขาจึงไม่ต้องมีขั้นตอนเอาคำมาตั้งติดกันให้ผู้เรียนหัดอ่านเหมือนภาษาไทย ถ้าเขียนติดกันอย่างที่ผมลองเขียนดูก็ยังอ่านได้ แต่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น ทำให้อ่านช้าลงเหมือนกัน (ไม่ว่าภาษาไทยหรืออังกฤษ) และถ้าไม่เคยไม่รู้จักอ่านคำมาก่อนก็เลิกได้เลย

เอ๊ะ แสดงว่าเราต้องใช้พลังสมองในการอ่านภาษาไทยมากกว่าภาษาตะวันตกหรือเปล่า? เพราะสมองเราต้องแยกคำทีวางติดกันออกมาเป็นคำๆ ไปด้วยขณะอ่าน ในขณะที่ภาษาตะวันตกเขาเขียนแยกคำมาให้เลย

แสดงว่าคนที่อ่านภาษาไทยได้นี่ ไม่ใช่ย่อยนะ

หรืออาจารย์ Ranee ว่าไง?

ส่วนเรื่องการอ่าน ผมว่าคนอื่นก็อ่านไม่ต่างจากคุณ Gavin หรอกครับ คือไม่ได้อ่าน "ทั้งหมด" แต่ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่อ่านนะ (ผมว่า) อย่างอ่านตำราผมอ่านช้าลงเพราะต้องทำความเข้าใจทุกคำ ทุกวลี ทุกประโยค แม้กระทั่งช่องว่างระหว่างบรรทัดก็ยังต้องทำความเข้าใจ แต่อ่านนิยายอ่านได้เร็ว บางทีไม่ได้อ่านทุกบรรทัด บางทีก็ไม่ได้อ่านทุกหน้าด้วยซ้ำ ช่วงไหนสนุกก็อาจอ่านทุกหน้า ต่างกับหนังสือพิมพ์ที่ไม่เคยอ่านหมดทั้งฉบับอยู่แล้ว ส่วนใหญ่อ่านแต่พาดหัว(Headline) สนใจมากหน่อยก็อ่านส่วนสรุปนำด้วย (ในวิชาการหนังสือพิมพ์เขาเรียก Lead) ส่วนตัวเนื้อข่าวที่มีรายละเอียดจริงๆ จะอ่านเฉพาะเรื่องที่สนใจ ผมคิดว่าคนทั่วไปก็มีพฤติกรรมการอ่านแบบเดียวกับผม คือ คนเรา "เลือก" รับสาร

หรือคุณ Gavin ว่าไง?

สวัสดีค่ะอาจารย์สุรเชษฐ์

      อาจารย์เล่าได้น่าติดตามมาก ๆ ค่ะ สนุกจังค่ะ เป็นเรื่องราวที่ดูแล้วน่าคิด อบอุ่นค่ะ  เด็ก ๆ คิดอะไรไม่มีเสแสร้งหรอกค่ะ อาจเป็นเพราะการเรียนรู้ในต่างวัยที่ต่างกัน ค่ะ ไม่มีใครถูกหรือผิด ไม่มีใครโง่หรือฉลาดหรอก เพราะเรารู้ต่างกัน ถ้าเอามาแชร์กันได้ย่อมเกิดความลงตัวได้อย่างอาจารย์นั่นแหละค่ะ เพราะอาจารย์ย่อมเลือกรับสารนั้นอย่างเต็มใจค่ะ ขอบคุณมากนะค่ะอาจารย์ที่นึกถึง

สวัสดีครับอาจารย์

           ผมพยายามทำความเข้าใจวิธีการของอาจารย์และพบว่า ถ้าใช้ในการฝึกอ่านคำ คงใช้ได้ครับ  แต่ต้องระมัดระวังว่า ระเบียบของภาษาไทยนั้นมีอยู่ หากผู้เรียนเคยชินกับการแยกคำก็เป็นเรื่องอันตรายอย่างที่คุณGavin ว่าไว้  ที่สำคัญคำต่างๆ ที่เรียงติดกันช่วยให้ผูเรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของคำต่างๆ ได้เร็วและง่ายขึ้น 

        ผมสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างชาติมา ๑๐ ปีแล้ว ไม่อยากสนับสนุนวิธีการเขียนแยกคำของอาจารย์ เพราะในทางปฏิบัติมันแตกต่างจากวิธีการทีเราใช้ เมื่อเขาเห็นประโยคในความเรียงที่เราใช้กันทั่วไป อุปสรรคจะเกิดขึ้นทันที  แต่ถ้าใช้ฝึกอ่านออกเสียงของคำน่าจะดีครับ

        ด้วยความเคารพในความคิดของอาจารย์ครับ

สวัสดีครับ เคยเห็นหนังสือไทยที่ฝรั่งพิมพ์สมัยแรกๆ ก็พิมพ์แยกเป็นคำๆ แต่อ่านยากชะมัด ผมเคยเรียนภาษามอญ เขมร เขาเขียนติดเป็นพืดเหมือนภาษาไทย ถ้าไม่รู้เสียคำหนึ่งก็อ่านคำต่อไปลำบาก จนกว่าจะจบวรรค ภาษาแถบเอเชียหลายภาษาเขียนต่อเป็นพืดแบบภาษาไทยเรา

ภาษาอินเดียหลายภาษาก็เขียนแยก บาลีอักษรไทย ท่านก็เขียนแยก นโม ตสฺส ภควโต อรหโต ฯ สันสกฤต ฮินดี ก็เหมือนกัน ภาษายุโรปก็ด้วย

เคยเห็นบางคนเขียนภาษาไทยแบบแยกคำเหมือนกันครับ ในอินเทอร์เน็ต ไม่ทราบว่าเป็นเพราะมีความขัดข้อง  เป็นรสนิยมเฉพาะตัว หรืออย่างไร

เคยเห็นหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่ง เขียนติดกันแบบที่อาจารย์ยกมา ก็อ่านยากอีกแหละ หนังสือเล่มบางๆ บางทีต้องเอาดินสอคอยขีดคั่น

ถ้าเราเขียนไทยแบบแยกคำ ก็คงต้องมีเครื่องหมายวรรคตอนช่วย ช่วงแรกคงสับสน ว่าจะเว้นหรือจะแยก เช่นที่อาจารย์เขียน "ภาษาไทย"  ติดกัน แต่ "ภาษา ตะวันตก" เขียนแยก ยิ่งคำประสมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ คงต้องวางเกณฑ์กัน

 ถ้า จะ ใช้ จริงๆ คง ใช้ ได้ แหละ ครับ, แต่ ตอน นี้ น่า จะ ยัง ไม่ มี ใคร เห็น ชอบ เพราะ ไม่ คุ้น นะ ครับ. ;)

 

สวัสดีปีใหม่ครับ

อาจารย์  P  นายกรเพชร

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น

ผมก็คิดว่าภาษาเรามีประวัติความเป็นมาของมัน มีหลักภาษาเป็นแบบของเราเอง คนไทยคงไม่ต้องการให้เปลี่ยนไปเขียนแบบภาษาอังกฤษ แต่ฝรั่งอาจชอบอย่างที่ฝรั่งเศสเมื่อยึดเวียดนามเป็นอาณานิคม เขาก็เขียนภาษาเวียดนามด้วยอักษรโรมัน จนเวียดนามเลิกใช้ภาษาเวียดนามเดิมที่เป็นตัวอักษรภาพแบบจีน

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ คุณ ธ.วั ช ชั ย

ขอบคุณครับที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็น และทำให้ผมได้ความรู้ว่าหนังสือไทยที่ฝรั่งพิมพ์สมัยแรกๆ ก็พิมพ์แยกคำ อันนี้เป็นความรู้ใหม่จริงๆ ไม่ทราบว่าในหอสมุดแห่งชาติหรือห้องสมุดไหนยังมีอยู่ไหมครับ อยากเห็นจังเลย

เรื่องเครื่องหมายวรรคตอนนี้ ผมสังเกตเห็นในรวมพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ ท่านก็ใช้เครื่องหมายวรรคตอนแบบภาษาอังกฤษเช่นกัน มีทั้งจุดจบประโยค เครื่องหมายคอมม่า และอื่นๆ

เรื่องการใช้วรรคตอนนี้ ความจริงผมก็ชอบเหมือนกัน แต่ไม่ได้ใช้ทุกเครื่องหมาย ส่วนเรื่องจะให้เขียนแบบแยกคำนี่ผมก็เห็นว่าไม่จำเป็นครับ เพราะผมเข้าใจว่าเราต้องเรียนจนรู้จักคำอยู่แล้วจึงจะอ่านได้

ผมไม่เห็นด้วยกับคุณสุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ ที่จะให้คนไทยซึ่งเรียนเขียนและอ่านภาษาไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ให้มาเปลี่ยนแปลงการเขียนเพื่อเอาใจฝรั่ง หรือบางท่านบอกว่าในแง่ของโปรแกรมมิ่งแล้วสามารถจะตัดคำได้ดีกว่า แต่ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละชนชาติมีความหลากหลายไม่เหมือนกัน ในอตีดเราจำเป็นที่ต้องปรับตัวให้ทันกับชาติตะวันตกเพื่อการคงอยู่ของประเทศชาติ เขาว่าเราไม่ทันสมัยล้าหลังเพราะเขามองจากมุมมองของเขา เขาเอาตัวเขาเป็นบรรทัดฐานก็เหมือนกับหลายๆ เรื่องที่เราต้องปรับตัวเพื่อให้ฝรั่งชาติตะวันตกยอมรับ เรื่องง่ายๆ เช่นการแต่งกายเมืองนอกหนาวแสนหนาว เขาก็ต้องใส่สูทเพื่อลดความหนาว คนไทยบอกว่าจะดูดีได้จะต้องสวมใส่สูทเหมือนชาติตะวันตก ทั้งๆที่เราก็มีชุดที่ดูดี และเหมาะกับสภาพอากาศอยู่แล้ว ซึ่งผมจะบอกก็คือไม่อยากให้ปรับเปลี่ยนอะไรที่เป็นอัตลักษณ์ของคนไทยไปเพื่อให้ฝรั่งยอมรับเราอีกแล้วละครับ ซึ่งมันก็เหมือนกับที่ในโลกนี้เขามองเห็นชุดกิมโมโน เขารู้เลยว่าคือ คนญี่ปุ่น หรือว่าเห็นคนสวมใส่ชุดฮันบก เขารู้เลยว่าคือ คนเกาหลี แล้วมีคนสวมชุดไทยจักรี มีใครจะรู้ไหมครับว่าเป็นคนไทย ในสายตาของชาวต่างชาติ สรุปว่าผมอยากให้รักษาอัตลักษณ์ของคนไทยไว้ เลยไม่เห็นด้วยกับคุณครับ (ผมขอบอกก่อนว่าผมไม่ใช่คนที่เก่งกาจด้านภาษานะครับ ผมจบวิทยาศาสตร์ครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท