เช้าวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๗ มีการประชุมคณะกรรมการ การประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา (Soul Connect Fest) ครั้งที่ ๒ “ความเป็นมนุษย์ การร่วมทุกข์ และความหวัง” จัดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2568 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร
เป็นการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ ๒ โดยครั้งแรกจัดวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ และผมสะท้อนคิดไว้ใน บันทึกที่ ๒ บันทึกที่ ๓ นี้ มาจากการสะท้อนคิด ๑๑ วันหลังการประชุม
การประชุมนี้ ให้ความสุขแก่ผู้เข้าร่วมมาก เพราะทีมเลขานำโดยคุณกี้ทำการบ้านมาดี เอาคำแนะนำจากการประชุมคราวที่แล้วไปตีความ แล้วนำเสนอแผนกิจกรรมในการประชุม แล้วผู้ข้าประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์ระดมความคิดแนะนำต่อ จึงเกิดความสร้างสรรค์มาก โดยผู้แนะนำเป็นผู้ใหญ่ ประสบการณ์สูง และความเห็นอกเห็นใจ (empathy) สูง จึงไม่กดดันว่าต้องทำตามคำแนะนำได้ทั้งหมด การประชุมจึงสนุกมาก ประเทืองปัญญามาก สำหรับผม เป็นการประชุมที่มีนักมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา เป็นกลุ่มหลัก แม้ ดร. โคทม อารียา จะเรียนมาทางวิศวกรรมศาสตร์ ท่านก็ทำงานในมิติของมนุษยศาสตร์มาตลอดเวลากึ่งศตวรรษ จึงเท่ากับผมได้มีโอกาสเปิดกระโหลกเรียนรู้มุมมองของนักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มานุษยวิทยายาระดับชาติ หลังจากห่างเหินไปกว่า ๒๐ ปี หลังหมดวาระ ผอ. สกว. ในปี ๒๕๔๔
รายงานการประชุมครั้งที่แล้วของคุณกี้ ชี้ให้เห็นว่า เป็นแนวโน้มโลก ที่จะให้ความสำคัญต่อสุขภาวะทางปัญญามากขึ้น ผมกลับมาค้นที่บ้าน พบว่ามีรายงานผลการวิจัยในวารสาร The Lancet Regional Health- Europe 2023;28: 100602 เรื่อง Spiritual needs in Denmark: a population-based cross-sectional survey linked to Danish national registers ตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๖ ดาวน์โหลดได้ที่ https://www.thelancet.com/journals/lanepe/article/PIIS2666-7762(23)00020-0/fulltext มีข้อความรู้เรื่อง spirituality และ spiritual needs ที่น่าสนใจมาก บอกว่าร้อยละ ๘๑.๙ ของคนในวัยผู้ใหญ่ของเดนมาร์ก มีความต้องการการสนับสนุนเชิงจิตปัญญา ในวารสารเล่มเดียวกัน มีบทบรรณาธิการ หัวข้อ Time to integrate spiritual needs in health care (https://www.thelancet.com/journals/lanepe/article/PIIS2666-7762(23)00067-4/fulltext) เสนอว่า ควรบูรณาการบริการด้านจิตปัญญาในระบบบริการสุขภาพ
มีคนเอ่ยถึง moral imagination ที่เมื่อค้นก็พบแนวคิดใหม่ๆ มากมาย ที่ผมไม่เคยรับรู้เลย เมื่อเข้าไปอ่านก็พบแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่ต่างจากการสอนศีลธรรมในทางศาสนา และทางการศึกษาของเราอย่างต่างขั้ว คือของเราเน้นที่หลักการทางศีลธรรมตามที่สอนต่อๆ กันมา แต่แนวคิดใหม่ มองจินตนาการทางศีลธรรมเป็นเครื่องมือก้าวข้ามอุปสรรคหรือข้อห้ามเชิงศีลธรรม ไปสู่การสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม เพื่อการดำรงอยู่หรือความสามารถแข่งขันทางธุรกิจของตนได้
กล่าวใหม่ว่า ศีลธรรมแบบดั้งเดิมเน้นห้าม แต่ศีลธรรมแนวจินตนาการเน้นยุ คือยุให้หาจินตนาการและการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่หนุนให้สังคมมีศีลธรรม ตามบริบทใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้น
ศีลธรรม หรือคุณธรรมดั้งเดิมเน้นกำหนดตายตัว โดยใช้ตัวอย่างในอดีต แต่จินตนาการทางศีลธรรมเน้นความเป็นพลวัต เชื่อมโยงกับพลวัตทางสังคมและเศรษฐกิจ และเน้นจินตนาการไปในอนาคต ผมตีความอย่างนี้ ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ
ศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ เอ่ยคำว่า อาทรอย่างปล่อยวาง เป็นคำที่ผมชอบมาก และน่าจะเป็นคำของท่านเอง เพราะเอาไปค้นในกูเกิ้ลไม่พบ แต่ก็ช่วยให้คิดเชื่อมโยงจิตใจเชิงเอาจริงเอาจังหลากหลายแบบเข้ากับการปล่อยวาง ที่น่าจะเป็นหลักการสำคัญของสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ไม่นำสู่ความเครียดแบบที่ไม่รู้ตัว ผมคิดย้อนหลังว่า ผมใช้อาทรอย่างปล่อยวางกับลูกๆ มานานนับสามสี่สิบปี
สร้างสันติภายใน กับคำว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสันติภาพโลก มีหลายท่านท้วงว่า เป็นถ้อยคำที่เอาตัวเราเป็นศูนย์กลางมากไปหรือเปล่า เราควรอ่อนน้อมถ่อมตนให้มาก ลดอัตตาลง และมองว่า วิธีการสู่สุขภาวะทางปัญญา และสู่สันติภาพภายใน น่าจะมีความหลากหลาย
ผมฟังแล้ว มองว่าในการประชุมวิชาการเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา น่าจะเน้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของการเดินทางพัฒนาด้านใน ผ่านเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ จนในที่สุดเกิดการพลิกโฉม (transformation) ด้านความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรม นำสู่ความสุขกายสบายใจ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และต่อชุมชนและสังคม สิ่งสำคัญที่น่าจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันคือ tipping point หรือจุดหักเห ว่ามันมาได้อย่างไร มีอะไรเป็นสื่อนำ
คนไทยเราถือพุทธแนวหินยาน ทำให้เราเน้นการพัฒนาจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล หากมองแบบมหายาน เราจะเอาใจใส่วิธีการ หรือเส้นทางที่หนุนให้คนจำนวนมากร่วมกันเข้าสู่จุดหักเห ที่นำสู่การพลิกโฉมจิตใจด้านในรวมหมู่ หากมีตัวอย่างมาแลกเปลี่ยนในที่ประชุม น่าจะเป็นประโยชน์มาก
ที่น่าจะนำมาเป็นจุดสนใจและร่วมกันแสวงหาแนวทางแก้ คือปัญหาความเครียดในการเรียน งาน และชีวิตประจำวัน จนทำให้มีคนจำนวนมากเกิดภาวะซึมเศร้า หรือเกิดโรคทางกายที่เกิดจากความเครียด และวิธีแก้ หรือวิธีสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันภาวะดังกล่าว ที่ผมเองเคยเผชิญในชีวิตของตนเอง และหาวิธีแก้ไขได้อย่างชะงัด ตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี จนถึงปัจจุบัน คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ตอนอายุ ๔๐ - ๗๕ ปี ใช้วิธีวิ่งเหยาะ ๓๐ - ๔๐ นาทีทุกวันหรือเกือบทุกวัน หลังอายุ ๗๕ ปี ใช้วิธีเดินเร็วหนึ่งชั่วโมง
ผมเข้าใจว่า การประชุมวิชาการนี้ต้อนรับ ให้คุณค่า และเคารพ ความแตกต่างหลากหลาย ของเส้นทางสู่สุขภาวะทางปัญญา ไม่ยึดติดความเชื่อ พิธีกรรม ศาสนา ใดๆ
รวมทั้งมีการนำเสนอประเด็น หรือเหตุการณ์ท้าทายสุขภาวะของผู้คนบางกลุ่ม เช่นความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการนำเสนอเครื่องมือ เช่น storytelling, การฟัง, การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย, การทำกิจกรรมอาสาสมัคร, การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นการฟ้อน
มีการเสนอให้เชิญคนรุ่นใหม่มีร่วม และเป็นผู้แสดงปาฐกถานำ
วิจารณ์ พานิช
๓๑ ธ.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น