เรียนรู้จากการเข้าร่วมประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ (2)


 

บันทึกนี้เป็นข้อสะท้อนคิดประเด็นสำคัญ ที่ผมเรียนรู้จากการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติจัดครั้งที่ ๑๐   จัดระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา  เชียงใหม่   ในหัวข้อ Reshaping Medical Education Towards Well-being for All   ที่ผมเข้าร่วม ๒ วันแรก    และเป็นการสะท้อนคิดในเช้าวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๗  หลังการประชุม ๑ เดือนเศษ    โดยใช้หลักฐาน ๔ ส่วน คือ  (๑) จากความจำของตนเอง  (๒) จากที่จดไว้ใน iPad  (๓) จากรูปที่ถ่ายไว้จากจอของการประชุม  (๔) จากเอกสารการประชุม   

ผมขอคัดลอกเอกสารอุดมการณ์ของ พศศ. ๑๐ ดังข้างล่าง   

สรุปความเป็นมาในการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 10

การแปลงโฉมการศึกษาแพทย์ไทยเพื่อความอยู่ดีมีสุขของทุกคนในสังคม

Reshaping Medical Education Towards Well-Being for All

ความเป็นมา

เป็นที่ตระหนักกันดีว่าในทศวรรษที่ผ่านมา ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยมีการพัฒนาไปในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง มีการขยายบริการด้านสุขภาพออกไปทุกระดับ การเข้าถึงบริการของประชาชนดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการลดลง ดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพโดยรวมก็ดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นความท้าทายที่เป็นโอกาสพัฒนา หลายประเด็นยังต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่โลกเปลี่ยนเร็วมาก จากเดิมที่เคยพูดกันเรื่อง VUCA WORLD อันมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ และตอนนี้เปลี่ยนเป็น BANI WORLD ที่มีความเปราะบาง มีความสับสนกังวลจากข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คาดเดาได้ยากเพราะไม่รู้เหตุและผลที่ชัดเจน ทั้งหลายเรื่องมีความซับซ้อน จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ยืดหยุ่น ปรับตัว และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ในหลายลักษณะ รวมถึงในกระบวนการผลิตแพทย์ ซึ่งมีความจําเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนากําลังคนด้านสุขภาพ เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะตอบสนองกับความต้องการของคนในสังคมได้อย่างเพียงพอ และส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดีต่อทั้งผู้ให้และผู้รับบริการด้านสุขภาพ

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ไว้ เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ต้องช่วยกันลงมือกระทำเพื่อบรรลุให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ทั้งหมด 17 เรื่อง โดยแนวคิด  “การสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย” (Good health and Well-being) ถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายที่ 3 ซึ่งคำว่า “Well-being” มีคำนิยามเป็นสากลที่มีความหมายเชิงบวกของการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม มิใช่เพียงการวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาโดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ แต่คือ “ความเป็นอยู่ที่ดี” สอดคล้องกับความพยายามในการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย ที่ใช้คำว่า “สุขภาวะ” แทนคำว่า “สุขภาพดี” ซึ่งมีส่วนช่วยให้สังคมเข้าใจสุขภาพในความหมายกว้างขึ้น เชื่อมโยงสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา โดยไม่จำกัดเฉพาะเรื่องสุขภาพทางกายหรือการไม่เจ็บป่วยเท่านั้น

การคำนึงถึง “สุขภาวะ” ครบทั้ง 4 มิติ เป็นแนวคิดที่จะช่วยแก้ปัญหาระบบสุขภาพได้อย่างลึกซึ้ง มีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน แต่ในความเป็นจริงแนวคิดดังกล่าวยังเป็นแนวคิดใหม่ในสังคมไทย รวมถึงสังคมการศึกษาแพทย์ (medical education) และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีความคุ้นชินกับสุขภาวะทางกาย (Physical well-being) และสุขภาวะทางใจ (Mental well-being) ตลอดมา ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทุกภาคส่วนในสังคมจำเป็นต้องทำความเข้าใจ “สุขภาวะ” ครบทั้ง 4 มิติ โดยที่ สุขภาวะทางสังคม (Social well-being) หมายถึงการมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง มีครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมมีความยุติธรรม มีความเสมอภาค เข้าถึงสวัสดิการ ระบบบริการสาธารณะที่ดี และ สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual well-being) หมายถึงการมีทักษะชีวิต มีโลกทัศน์ (ความคิดของผู้ใดผู้หนึ่งเกี่ยวกับโลกและสังคมของประชากร) ที่ถูกต้อง มีการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต  ซึ่งนักวิชาการบางท่านเสนอให้รวมความถึง “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” (Spiritual well-being) ด้วย เช่น การรู้ผิดชอบชั่วดี การไม่ยึดถือตัวตนอัตตา การเข้าใจและเท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เป็นหนทางนำสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (Consortium of Thai Medical Schools) หรือ กสพท ในฐานะตัวแทนของสถาบันผลิตแพทย์ในประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาวะของประชาชน และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพตลอดจนระบบสุขภาพของประเทศเสมอมา ที่ผ่านมา กสพท ดำเนินการจัดประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ (National Medical Education Forum) หรือ พศช. มา 9 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ซึ่งจัดทุก 7-8 ปี โดยที่แต่ละครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิตแพทย์จากสถาบันต่าง ๆ ให้ตรงตามความต้องการของประเทศ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในการประชุมทุกครั้งจะมี “ประเด็นข้อเสนอแนะ” ที่ได้มาจากการระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การพัฒนาการจัดการศึกษาแพทยศาสตร์และระบบสุขภาพโดยรวมอย่างต่อเนื่องเสมอมา

การประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 10 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่  25–27 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่  โดยมีเป้าหมายเพื่อ การแปลงโฉมการศึกษาแพทย์ไทยเพื่อความอยู่ดีมีสุขของทุกคนในสังคม (Reshaping Medical Education Towards Well-Being for All) ทั้งนี้คำนึงถึงแพทยศาสตรศึกษาหรือการศึกษาแพทย์ในทุกระดับตามวงจรชีวิต ตั้งแต่เริ่มเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์จนจบไปปฏิบัติงาน ต่อเนื่องถึงการศึกษาต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของแพทย์ ในประเด็น “สุขภาวะ” (Well-Being) ก็คำนึงครบทั้ง 4 มิติ ส่วนประเด็น “ทุกคนในสังคม” (All) นั้นก็รวมความถึงผู้ป่วยและญาติ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และสังคม ตลอดจนให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความไว้วางใจในระบบสุขภาพไทย (trust) การเขาถึงบริการสุขภาพ (health care accessibility) ความเท่าเทียม (equity) และการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนให้สามารถป้องกันและดูแลสุขภาพตนเองได้ด้วย

ขั้นตอนก่อนการประชุม พศช. ครั้งที่ 10 นั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้น 5 ชุด เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ (1) ความต่อเนื่องของการศึกษาแพทยศาสตร์  (2) แนวทางการพัฒนาหลักสูตร  (3) ความเป็นวิชาชีพแพทย์ และระบบบนิเวศทางการศึกษา  (4) การสอบเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และ (5) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร หลังจากนั้น คณะกรรมการเลขานุการกิจได้รวบรวมข้อมูลจากผลการศึกษาและความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียบเรียงขึ้นเป็น (ร่าง) ข้อเสนอแนะสำหรับการประชุม โดยนำไปทำประชาพิจารณ์ผ่านทางระบบออนไลน์ และในสถาบันผลิตแพทย์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศรวม 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน ถึง 5 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการระดมสมอง รวบรวมความคิดเห็นทั้งข้อเสนอแนะและแนวทางปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางแพทยศาสตรศึกษาอย่างรอบด้าน อาทิ นิสิตนักศึกษาแพทย์ อาจารย์ ผู้บริหาร บุคลากรสายสนับสนุน ประชาชนโดยรอบ รวมถึงการสอบถามข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 อันนำไปสู่การประมวลข้อคิดเห็น และได้นำไปปรับปรุงข้อเสนอแนะฯ ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมขึ้น

ดังนั้น ข้อเสนอแนะเพื่อ “การแปลงโฉมการศึกษาแพทย์ไทยเพื่อความอยู่ดีมีสุขของทุกคนในสังคม (Reshaping Medical Education Towards Well-Being for All)” จึงเป็นการร่วมมือร่วมใจกันของบุคลากรในวงการแพทยศาสตรศึกษาและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิด “ความเป็นอยู่ที่ดี” ของทุกฝ่ายในระบบสุขภาพไทยอย่างแท้จริงในอนาคต

“อยากให้สิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นบ้าง ... และส่วนหนึ่งขอให้เราได้กระทำ”

 

ตามด้วยข้อเสนอแนะ ๖ ข้อ ดังนี้ 

ข้อเสนอแนะสำหรับการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 10

(ร่าง - ฉบับ 5 พฤศจิกายน 2567)

การแปลงโฉมการศึกษาแพทย์ไทยเพื่อความอยู่ดีมีสุขของทุกคนในสังคม

Reshaping Medical Education Towards Well-Being for All

 

(1) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและทั่วถึง รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงกำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการให้แพทย์คงอยู่ในระบบบริการภาครัฐได้ในระยะยาว และมีสัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรอย่างเหมาะสม
(2) เพื่อให้ประชาชนในสังคมมีสุขภาวะที่ดี ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลตนเอง ทั้งมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในระบบบริการสุขภาพ รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงสื่อสารและส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างสะดวก เท่าเทียม ปลอดภัย ทันท่วงที
(3) เพื่อให้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงกำหนดมาตรการส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถกำหนดความสมดุลอย่างเหมาะสมของงานกับชีวิตส่วนตัว และมีโอกาสในการพัฒนาทางวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม
(4) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการบริบาลที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาวะ การจัดการศึกษาแพทยศาสตร์รวมถึงการประเมินผลพึงมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ เพื่อให้บัณฑิตมีสมรรถนะในการบริบาลผู้ป่วยแบบองค์รวมในทุกมิติ มีความเป็นวิชาชีพ ทั้งการพัฒนาแพทย์ควรดำเนินการให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่องในโครงการเพิ่มพูนทักษะและแพทย์ใช้ทุน
(5) เพื่อพัฒนาการบริบาลให้ตอบรับกับความก้าวหน้าทางวิทยาการ ความต้องการของสังคมและประชาคมโลก การจัดการศึกษาแพทยศาสตร์พึงมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีทักษะทางสุขภาพดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีร่วมบริบาลผู้ป่วย เข้าใจในระบบบริการสุขภาพพหุวัฒนธรรมและสุขภาพโลก สามารถปรับตัวและปฏิบัติงานร่วมกับสหวิชาชีพได้อย่างสมบูรณ์
(6) เพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะของการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตและมีสุขภาวะที่ดี  การจัดการศึกษาแพทยศาสตร์พึงส่งเสริมการจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการและเป้าหมายส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียน การสร้างแรงจูงใจ การมีส่วนร่วม ทั้งพัฒนาครูผู้สอน กิจกรรม และระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่เอื้อให้ผู้เรียนได้ซึมซับประสบการณ์การเรียนรู้และกระตุ้นการสะท้อนคิด


 

 

ข้อเสนอแนะที่ 1   เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและทั่วถึง รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงกำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการให้แพทย์คงอยู่ในระบบบริการภาครัฐได้ในระยะยาว และมีสัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรอย่างเหมาะสม

คำอธิบาย

  1. ระบบบริการสุขภาพในที่นี้ เน้นถึงสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ รวมถึงการให้บริการเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่ยังไม่ได้นับรวมถึงภาคเอกชน ในปัจจุบัน มีแพทย์ปฏิบัติงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 49% ภาคเอกชน 43% กระทรวงการอุดมศึกษาฯ 6% และภาครัฐอื่น ๆ 2%
  2. แพทย์คงอยู่ในระบบบริการภาครัฐได้ในระยะยาว หมายถึง แพทย์สามารถทำงานได้ในระบบฯ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จบการศึกษา การฝึกอบรมเพิ่มเติม จนกระทั่งเกษียณอายุ สถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) พบมีแพทย์ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน เป็นแพทย์ใช้ทุน (แพทย์ผู้ให้สัญญาฯ) ปีที่ 1-2-3 เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 1.2-9.7-4.4 ตามลำดับ และลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน ร้อยละ 8.1 
  3. ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการคงอยู่หรือลาออกจากระบบฯ ของแพทย์จบใหม่ ได้แก่ 

    (1) ค่าตอบแทน โดยมีเพียง 19% ที่พึงพอใจกับรายได้ที่ได้รับ (2) สภาพการทำงาน โดย 41% ที่ไม่พึงพอใจเน้นไปที่เรื่องการจัดสรรภาระงาน และ (3) ปัจจัยส่วนบุคคล ในการได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว และการได้ทำงานในบ้านเกิด นอกจากนั้น สถาบันผลิตแพทย์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการลาออกของแพทย์

  4. สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรอย่างเหมาะสม ตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ (6 สิงหาคม 2567) ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 : 650 (ปัจจุบันอยู่ที่ 1 : 922 คิดจากจำนวนแพทย์ 71,616 คน) หากผลิตได้ตามยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี จะมีเพิ่มขึ้น 31,074 คน

 

ข้อเสนอแนะที่ 2  เพื่อให้ประชาชนในสังคมมีสุขภาวะที่ดี ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลตนเอง ทั้งมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในระบบบริการสุขภาพ รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงสื่อสารและส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างสะดวก เท่าเทียม ปลอดภัย ทันท่วงที

คำอธิบาย

  1. แผนงานในโครงการ Healthy People 2030 เป็นการมุ่งเน้นให้มีการขับเคลื่อนชุมชนและสังคมใน 3 ด้านสำคัญ คือ ปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ (social determinants of health, SDH) ความรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) และความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ (health equity)
  2. SDH ไม่ได้จำกัดแค่พฤติกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงปัจจัยภายนอกทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และกายภาพที่ส่งผลต่อสุขภาพของบุคคลหรือชุมชนในวงกว้าง เช่น ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม การศึกษา รายได้ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ โครงสร้างพื้นฐาน และความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน (น้ำสะอาด อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การคมนาคม ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย อากาศที่ปราศจากมลพิษ เป็นต้น) การมุ่งเน้นเพื่อปรับปรุง SDH จะสามารถส่งเสริมสุขภาวะของประชาชนในสังคม ลดภาระของระบบบริการสุขภาพ และช่วยให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  3. ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) หมายถึง ทักษะทางปัญญาและสังคมของบุคคลในการสร้างแรงจูงใจให้ตนเองเพื่อเข้าถึง เข้าใจ ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพได้ด้วยตนเองเมื่อมีความต้องการ จนนำไปสู่การมีความสามารถในการประเมินและปรับใช้ข้อมูลความรู้ เพื่อ "ตัดสินใจ" จัดการสุขภาพได้ด้วยตนเองและบุคคลรอบข้างอย่างเหมาะสม ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ตลอดจนสามารถสื่อสารบอกต่อคนอื่นได้
  4. Trust in Healthcare เกิดจากความเชื่อใจว่า บุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลสามารถจะดูแลได้อย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานบริการสุขภาพ ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวจะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันสร้างผลลัพธ์การดูแลที่ดี โดยแบ่งเป็น
  5. ระดับ micro เป็นความสัมพันธ์แบบสองทางในระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการ และในระหว่างผู้ให้บริการด้วยกัน
  6. ระดับ meso เป็นความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของผู้ให้บริการทางสุขภาพ
  7. ระดับ macro เป็นความเชื่อมั่นในภาพใหญ่ของประชาชน สังคม กับองค์กรหรือระบบบริการสุขภาพโดยรวม

ข้อเสนอแนะที่ 3   เพื่อให้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงกำหนดมาตรการส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถกำหนดความสมดุลอย่างเหมาะสมของงานกับชีวิตส่วนตัว และมีโอกาสในการพัฒนาทางวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม

คำอธิบาย

  1. Work life balance หมายถึง การจัดการและรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ทั้งสองด้านได้รับความพึงพอใจอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งควรประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและการจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่ง (1) เวลาในการศึกษาหรือการทำงาน (2) เวลาสำหรับครอบครัวและเพื่อน (3) เวลาในการดูแลสุขภาพของตนเอง (4) เวลาในการจัดการความเครียด และ (5) เวลาสำหรับความสนใจส่วนบุคคล การรักษาสมดุลนี้ช่วยให้บุคคลสามารถมีชีวิตมีสุขภาวะที่ดี มีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้น และส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ป่วย
  2. Continuous professional development หมายถึง การเปิดโอกาสในการพัฒนาตนเองทางวิชาชีพได้ตามความต้องการและเป้าหมายส่วนบุคคล ไม่เพียงแต่ด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และทักษะทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาในด้านอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและความก้าวหน้าในวิชาชีพ อันจะเป็นการตอบสนองตามลำดับขั้นความต้องการตามทฤษฎีมาสโลว์  (Maslow's hierarchy of human needs) และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิต


 

 

ข้อเสนอแนะที่ 4   เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการบริบาลที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาวะ การจัดการศึกษาแพทยศาสตร์รวมถึงการประเมินผลพึงมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ เพื่อให้บัณฑิตมีสมรรถนะในการบริบาลผู้ป่วยแบบองค์รวมในทุกมิติ มีความเป็นวิชาชีพ ทั้งการพัฒนาแพทย์ควรดำเนินการให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่องในโครงการเพิ่มพูนทักษะและแพทย์ใช้ทุน

คำอธิบาย

  1. Outcome based education ตองมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เมื่อสิ้นสุดประสบการณ์หรือสำเร็จการศึกษา ผู้เรียนแต่ละคนจะบรรลุผลหรือความสำเร็จที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ บริบทของหลักสูตร สาระรายวิชา เนื้อหาในบทเรียน กิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลนั้น พึงทบทวนเพื่อสร้างสมดุลกับการเรียนรู้โดยยึดกรอบเวลา (time based) ตามเป้าหมายการผลิต ซึ่งจำเป็นในการศึกษาแพทยศาสตร์ รวมถึงการนำระบบคลังหน่วยกิต (credit bank) มาใช้ และลดปัญหาความหนาแน่นของเนื้อหาวิชาที่ผู้เรียนอาจรับได้ไม่เท่ากันในเวลาที่กำหนด
  2. Mastery learning หรือการเรียนแบบรอบรู้ เป็นกระบวนการการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน ด้วยแนวคิดที่ว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน จึงจะต้องออกแบบให้เหมาะกับผู้เรียน ด้วยกลวิธีการสอนที่หลากหลายพร้อมทั้งการใช้สื่อการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน มีการประเมินแบบ formative และการให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) แก่ผู้เรียนมากำกับ พร้อมกับการแก้ไขข้อบกพร่องหรือซ่อมเสริม เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้เท่าเทียมกันตามจุดประสงค์หรือเกณฑ์ที่ตั้งไว้จนสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ เกณฑ์ในการสำเร็จการศึกษา ควรประเมินถึงสมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยไม่อ้างอิงตามเวลาในการเรียน
  3. สมรรถนะที่เหมาะสมของบัณฑิตควรมีการปรับปรุงเป็นระยะอย่างต่อเนื่องให้เข้ากับสถานการณ์ของประเทศและโลก ทั้งในระดับปริญญาและหลังปริญญา และควรมีแนวทางเพื่อทำให้มั่นใจว่า ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะเพียงพอตามมาตรฐานคุณวุฒิฯ และเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทั้งในด้านความรู้และทักษะต่าง ๆ คุณลักษณะด้านจริยธรรม รวมถึงลักษณะส่วนบุคคล เมื่อเริ่มปฏิบัติงาน เพื่อเป็นหลักประกันในการบริบาลผู้ป่วยด้วยจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ (humanized care) และการดูแลแบบองค์รวม (holistic care) โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (patient-centered) อันจะนำไปสู่สุขภาวะของผู้ป่วยอย่างยั่งยืน
  4. เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพเวชกรรมที่แพทยสภาได้กำหนดไว้ จะให้มีการพัฒนาสมรรถนะของแพทย์หลังจบการศึกษา ในช่วง 3 ปีแรกของการปฏิบัติงานชดใช้ทุน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแพทย์จะได้รับการฝึกประสบการณ์ที่เหมาะสมและมีสมรรถนะที่เอื้อต่อการให้การบริบาลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบัน จะเน้นเฉพาะโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะสำหรับแพทย์ใช้ทุนชั้นปี 1 เท่านั้น


 

 

ข้อเสนอแนะที่ 5   เพื่อพัฒนาการบริบาลให้ตอบรับกับความก้าวหน้าทางวิทยาการ ความต้องการของสังคมและประชาคมโลก การจัดการศึกษาแพทยศาสตร์พึงมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีทักษะทางสุขภาพดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีร่วมบริบาลผู้ป่วย เข้าใจในระบบบริการสุขภาพพหุวัฒนธรรมและสุขภาพโลก สามารถปรับตัวและปฏิบัติงานร่วมกับสหวิชาชีพได้อย่างสมบูรณ์

คำอธิบาย

  1. แพทย์เป็นผู้มีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในระบบบริการสุขภาพ ตั้งแต่การพัฒนาการดูแลรักษาคนไข้รายบุคคล จนถึงการคิดและร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพในภาพใหญ่ ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน ทั้งนี้ ระบบการศึกษาของแพทย์มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ดังกล่าว
  2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ได้รับการดูแลที่รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การส่งเสริมทักษะทางสุขภาพดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีร่วมบริบาลผู้ป่วย กลายเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตวิถีใหม่เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของแพทย์ โดยตระหนักถึงสมดุลระหว่างประโยชน์ ข้อพึงระวัง และความกังวลของสังคมต่อการใช้
  3. ระบบบริการสุขภาพพหุวัฒนธรรม ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม การรักษา การฟื้นฟู ป้องกัน และการสร้างเสริมสุขภาพในระดับเบื้องต้น ระดับซับซ้อน และระดับความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษให้กับคนในทุกกลุ่มวัย ทั้งที่มีสุขภาพดี เบี่ยงเบนเล็กน้อย และเจ็บป่วย ซึ่งจำเป็นที่แพทย์จะรู้จัก เข้าใจ และยอมรับถึงหลักการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมพหุวัฒนธรรม ความแตกต่างในแนวคิด ประเพณี เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ ตามหลักการของแต่ละกลุ่มชน เพื่อตอบสนองต่อความต่างทางวัฒนธรรมอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม จนสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางวัฒนธรรม (cultural safety) แก่ประชาชนในสังคมได้
  4. ระบบบริการสุขภาพพหุวัฒนธรรม และสุขภาพโลก (global health) นั้น มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดและมีบทบาทในการสร้างโลกที่มีสุขภาพดี เช่น เมื่อมีการระบาดของโรคติดต่อ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ การอพยพย้ายถิ่นฐาน ทำให้เรื่องสุขภาพโลกกลายเป็นประเด็นสากลที่ต้องให้ความสำคัญ
  5. การศึกษาและการปฏิบัติร่วมกันระหว่างวิชาชีพ (Interprofessional Education / Practice): หมายถึง การเรียนรู้และการทำงานร่วมกันของบุคลากรทางสุขภาพจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล นักเภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพในการร่วมดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในอนาคต เพื่อช่วยดูแลปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน ลดความผิดพลาด และเพิ่มความปลอดภัยในการให้การบริบาลสุขภาพ
  6. ศาสตร์ระบบสุขภาพ (Health Systems Science, HSS) รวบรวมแนวคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงมีเป้าหมายเพื่อสุขภาวะของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่มุ่งสู่การมีสุขภาวะของประชาชนและสังคมไปพร้อมกันด้วย สอดคล้องตามกรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ โครงสร้างของระบบสุขภาพ การจัดระบบการให้บริบาลตามกลุ่มวัย การจัดระบบหลักประกันสุขภาพ เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ระบบสารสนเทศ การใช้ข้อมูลและตัวชี้วัดสุขภาพด้านต่าง ๆ ที่ใช้ในการติดตามหรือประเมินผล หลักการปฏิบัติตามเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ โดยเน้นการบูรณาการทักษะการคิดเชิงระบบ (systems thinking) และทักษะรอบด้านของบุคคล (non-technical skills) ร่วมด้วย

ข้อเสนอแนะที่ 6   เพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะของการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตและมีสุขภาวะที่ดี การจัดการศึกษาแพทยศาสตร์พึงส่งเสริมการจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการและเป้าหมายส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียน การสร้างแรงจูงใจ การมีส่วนร่วม ทั้งพัฒนาครูผู้สอน กิจกรรม และระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่เอื้อให้ผู้เรียนได้ซึมซับประสบการณ์การเรียนรู้และกระตุ้นการสะท้อนคิด

คำอธิบาย

  1. Lifelong learning เป็นแนวคิดที่นำมาใช้ในการศึกษาของแพทย์ให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่จบแค่ในสถาบันการศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้พัฒนาความสนใจ และความสามารถของตนเองให้สมบูรณ์ตามความต้องการ แนวทางนี้ควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในระดับปริญญา หลังปริญญา และตลอดสายวิชาชีพ โดยการสร้างความเชื่อและแรงจูงใจภายในที่มากระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การใส่ใจต่อโอกาสในการเรียนรู้ และทักษะในการแสวงหาข้อมูลความรู้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
  2. คุณลักษณะสำคัญที่พึงมีในการเป็นผู้มีสุขภาวะที่ดี ได้แก่ ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ความเมตตากรุณา (compassion) และการปรับตัว (resilience) ซึ่งสามารถพัฒนาให้ผู้เรียนได้หากมีแนวทางที่เหมาะสม จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันผลิตแพทย์ที่จะพิจารณาคุณลักษณะเหล่านี้ในระยะต่าง ๆ ตั้งแต่การคัดเลือกผู้เรียน การเสริมสร้างหรือพัฒนาทักษะในระหว่างเรียน ไปจนถึงเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยสร้างกลไกการประเมินเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้เรียนได้รับการสร้างเสริมหรือพัฒนาคุณลักษณะสำคัญเหล่านี้
  3. Personalized Learning เป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงความต้องการ เป้าหมายส่วนบุคคล และความสามารถของผู้เรียน เพื่อช่วยส่งเสริมการมีสวนร่วมของผู้เรียน แรงจูงใจ สมรรถนะการเรียนรู และทักษะอภิปัญญา (metacognitive skill) ซึ่งอาจดำเนินการด้วยการสร้างแผนการเรียนรู้ส่วนบุคคล (personal learning plan) โดยเน้นถึงความสามารถหรือทักษะที่พึงมีและได้ถูกกำหนดไว้ มีการรวบรวมข้อมูลเฉพาะของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อออกแบบเสนทางการเรียนรู้ รวมถึงเป้าหมายการประเมินในแต่ละช่วงเวลา
  4. Authentic learning เป็นการมุ่งเน้นให้ผู้เรียนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง เพื่อแก้ปัญหา และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง การเรียนการสอนนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนพบปัญหาต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ ได้ศึกษา อภิปราย ถกเถียง ระดมความเห็น สร้างแนวคิดและความสัมพันธ์ที่มีความหมายในบริบทที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดองค์ความรู้ ความเข้าใจ และความสัมพันธ์กับหัวข้อปัญหา ซึ่งจะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ไปใช้ได้เมื่อสำเร็จการศึกษา อันเป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  5. ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ควรพัฒนา ควรคำนึงถึงตั้งแต่การจัดประสบการณ์การศึกษา การสนับสนุนการจัดการศึกษา การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ การปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และการบริหารระบบการศึกษา รวมถึงทรัพยากรและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ ซึ่งโดยทั่วไปอาจประกอบด้วย

    (1) สถาบันการศึกษา (2) คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (3) ผู้เรียน (4) ผู้ปกครองและครอบครัว 
    (5) ชุมชนและสังคม และ (6) เทคโนโลยีและทรัพยากรที่ใช้ในการศึกษา

 

จากเอกสาร   และจากการเสนอในที่ประชุมตามเอกสาร   รวมทั้งจากการนั่งฟังการประชุมอย่างตั้งใจ    ผมได้ข้อสะท้อนคิดดังต่อไปนี้   

ภาวะผู้นำ (leadership) 

เป็นเรื่องที่อภิปรายกันมากในบ่ายวันที่ ๒๕   ที่ผมตีความว่า การประชุมนี้เปิดโอกาสให้คนในวงการแพทยศาสตรศึกษาได้ทำหน้าที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง    เริ่มตั้งแต่นักศึกษาแพทย์  อาจารย์รุ่นใหม่  อาจารย์อาวุโส และอาจารย์ที่เกษียณอายุแต่ยังมีบทบาทในวงการวิชาชีพสุขภาพ   

การประชุมนี้ เปิดโอกาสให้เกิดสภาพ “ภาวะผู้นำแบบกระจายอำนาจ”   มีบรรยากาศที่เปิดกว้างต่อความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย    จากทั้งคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่า    ไม่มีบรรยากาศของความครอบงำโดยผู้อาวุโส    ผมขอแสดงความชื่นชมทีมผู้จัดการประชุม ที่สร้างบรรยากาศนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ 

เรียนรู้จากการปฏิบัติ (experiential learning)  เชื่อมโยงกับหลักการหรือทฤษฎี

ผมตั้งข้อสังเกตจากการนั่งฟังอย่างตั้งใจว่า    ทั้งทีมงานเตรียมการประชุม และผู้มาเข้าร่วมแสดงข้อคิดเห็น  เอาความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ มา share & learn กันอย่างรับฟังซึ่งกันและกัน   

จิตสาธารณะ

ผมตีความว่า คนที่มาในที่ประชุม สวมวิญญาณ “เพื่อประชาชน” เป็นหลัก    ผมเกิดข้อสงสัยว่า แพทย์ที่มีจิตวิญญาณเช่นนี้ เป็นส่วนใหญ่ของวิชาชีพแพทย์ไทยหรือไม่    ผมขอให้เป็น   

คิดเชิงระบบ

การเตรียมการประชุม มีการคิดเชิงระบบ   การอภิปรายในที่ประชุมก็มีกลิ่นไอของการคิดเชิงระบบ  อย่างสมดุล   มองที่ well-being for all   คือมองที่ผู้ปฏิบัติงานในระบบสุขภาพด้วย   

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๖๗ 

 

             

หมายเลขบันทึก: 720416เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2025 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2025 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย