ชีวิตที่พอเพียง  4880. เพื่อ Ideology Commons


 

ระหว่างอ่านต้นฉบับหนังสือแปล เศรษฐศาสตร์โดนัท ผมพบว่าโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางจากกระบวนทัศน์หวงแหนผูกขาดปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน   สู่โลกที่มีการแบ่งปันให้คุณค่าแก่ผลประโยชน์ส่วนรวม    มีการพูดถึง Knowledge Commons   ซึ่ง Gotoknow ก็อยู่ในขบวนการนี้   

ผมคิดต่อว่า กระบวนทัศน์แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละคน  เพื่อใส่ความรู้ความเข้าใจประสบการณ์ตรงของแต่ละคน ใน platform ของ gotoknow และ platform อื่นๆ เป็นรูปแบบหนึ่งของ Ideology Commons หรือพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม    เสนอแนวทางใหม่ ฉีกแนวจากกระบวนทัศน์หวงแหนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนกลุ่ม 

หนังสือ เศรษฐศาสตร์โดนัท เสนอโลกใหม่แห่งการแบ่งปัน  การกระจายผลประโยชน์   เคารพความแตกต่างหลากหลาย   เชื่อในระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว   ที่ปัจจัยที่นำสู่การดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของมนุษยชาติและของโลก     ลดความเหลื่อมล้ำ    ลดการสร้างความเสื่อมทรามของสภาพแวดล้อมโลก   

ที่สำคัญ  ต้องเปลี่ยนจิตสำนึกของมนุษย์    จากสำนึกเห็นแก่ตัว เป็นสำนึกเห็นแก่ส่วนรวม   

นำผมสู่การสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวดต่อตนเอง   ว่าผมเชื่อในอุดมการณ์แห่งการให้มาตั้งแต่อายุ ๒๐ เศษๆ    เป็นอุดมการณ์ที่ให้คุณยิ่งใหญ่ต่อตัวผม    ช่วยให้มีชิวิตที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ   ผมตั้งใจตั้งแต่อายุไม่ถึง ๒๐   ว่าต้องการเป็นผู้ให้ (give)  มากกว่าเอา (take)   ไม่หวังสร้าง prosperity ส่วนตัว    แต่มุ่งสร้าง Prosperity Commons   

ความคิดเช่นนี้ คนทั่วไปจะหัวเราะเยาะด้วย ๒ เหตุผล คือ (๑) เชื่อว่าเป็นการอวดอ้าง   ไม่ใช่ใจจริง (๒) ไม่เชื่อว่าเป็นไปได้   ผมจึงไม่สื่อสารอุดมการณ์นี้ออกไปนอกตัว   แต่มุ่งบอกตัวเองให้มุ่งมั่น   ด้วยความเชื่อว่าเป็นเส้นทางสู่ชีวิตที่ดี   

ความต่อเนื่องของอุดมการณ์ที่กำหนดพฤติกรรม สู่การดำเนินการต่อเนื่องกว่า ๒๐ ปี ให้ผลต่อชีวิตผมอย่างไม่น่าเชื่อ    คือผมได้รับความเชื่อถือ (trust) ให้เข้าไปร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม ในหลากหลายกิจกรรม หลากหลายมิติ   และผมก็ได้รับการตอบแทนที่ช่วยให้มีชีวิตด้านเศรษฐกิจที่มั่นคง  ภายใต้วิถีชีวิตที่พอเพียงอย่างที่ผมเชื่อและดำเนินชีวิตตลอดมา     

ผมสะท้อนคิดสื่อเรื่องนี้เพื่อบอกว่า    ในความเป็นจริงแล้ว โลกดิจิทัลที่ช่วยให้เราสื่อสารกันอย่างเปิดเผยกว้างขวาง    จะช่วยให้เราช่วยกันสร้าง Ideology Commons เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมได้   เป็นชุมชนและกิจกรรมร่วมของคนที่มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม      

อ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมมั่นใจว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นพลังอย่างยิ่งต่อชีวิตที่ดีของบุคคล    และต่อการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม    เพราะโลกเป็นระบบที่ซับซ้อนและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา    เรามีทั้งส่วนที่รู้หรือเข้าใจ  และมีส่วนที่เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจ และที่ร้าย มีส่วนที่เข้าใจผิด   จากการยึดถือหรือเชื่อต่อๆ กันมา   ความรู้ที่ถูกต้องในยุคหนึ่ง กลายเป็นความรู้ที่ผิดในอีกยุคหนึ่ง    ความอ่อนน้อมถ่อมตน ตระหนักในความไม่รู้หรือความรู้ผิดๆ ของตน จึงเป็นพลังสำคัญยิ่ง 

ผมเขียนบันทึกเรื่องเศรษฐศาสตร์โดนัทเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ที่ gotoknow.org/posts/673495

วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ย. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 720311เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2024 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2024 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย