เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2567 ชมรมรักษ์ปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดกิจกรรม "ดูหนัง ถกมุมอง" ขึ้น ณ ห้อง D202 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง โดยมีวัตถุประสงค์ให้นิสิตได้เกิดทักษะในการบริโภคสื่ออย่างสร้างสรรค์ มีทักษะในการวิเคราะห์ วิพากษ์สื่อ กล้าคิด การกล้าแสดงวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ กล้าที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และสามารถนำแนวคิดที่ได้จากสื่อมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตและสังคม
ก่อนการจัดกิจกรรม ผมมีโอกาสพูดคุยกับแกนนำของชมรมรักษ์ปรัชญาในหลายๆ ประเด็น เป็นต้นว่า ผมชื่นชอบกิจกรรม “ง่าย-งาม” เช่นนี้มาก เพราะเป็นกิจกรรม “บันเทิงเริงปัญญา” จัดขึ้นได้โดยง่าย ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับความบันเทิงเริงใจ ผ่อนคลายความเครียดและได้สาระทางความคิดไปพร้อมๆ กัน
เช่นเดียวกับการเสนอแนะว่า อยากให้จัดเดือนละครั้ง ไม่จำเป็นต้องดูภาพยนตร์เสมอไปก็ได้ แต่เดือนละครั้งอาจหมายถึงเวทีเสวนาในประเด็นต่างๆ ในชีวิตและสังคม เป็นการ “ติดอาวุธทางปัญญา” ร่วมกัน ทำต่อเนื่องให้สังคมในมหาวิทยาลัยรับรู้ว่ายังคงมี “ทางเลือก” ที่ว่าด้วย “เวทีทางปัญญา” หรือ “สภากาแฟ” หลงเหลืออยู่
ในทำนองเดียวกัน ผมก็สะท้อนถึงเครื่องมือสำคัญๆ หรือกรอบแนวคิดสำคัญๆ ของการเรียนรู้ โดยหลักๆ ผมก็นำมาจากเครื่องมือการจัดการความรู้ (KM TOOLS) นั่นแหละครับ
ใช่ครับ ผมนำเครื่องมือเหล่านั้นมาติดตั้งแบบรวบรัดให้แกนนำนิสิตได้ทำความเข้าใจและเลือกที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับงานของตนเอง –
สำหรับภาพยนตร์ที่นิสิตนำมาใช้เป็นกรณีศึกษา “ถกมุมมอง” ก็คือเรื่อง "Lincoln 2012" ซึ่งพบว่า เมื่อนิสิตชม/ดูภาพยนตร์เสร็จสิ้นลง ก็ "ถกมุมมอง" หรือการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ร่วมกัน โดยประเด็นที่ถูกนำมาถกคิดกันมากที่สุดก็จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับ การเมืองการปกตรอง ภาวะผู้นำ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือเกียรติภูมิของความเป็นมนุษย์
เป็นที่ทราบกันดีว่าภาพยนตร์เรื่อง "Lincoln 2012" สะท้อนภาพทางสังคมในลักษณะที่นิสิตได้ “ถกมุมมอง” กันจริงๆ มีทั้งเหลี่ยมมุมทางการเมือง การต่อรอง ผลประโยชน์ทางการเมือง หรือแม้แต่ความเท่าเทียมที่หมายถึง ทาส ก็ด้วย
ผมยืนยันว่า ผมชอบกิจกรรมอัน “ง่าย-งาม” ในทำนองนี้ ไม่ต้องใช้งบประมาณก้อนโต ไม่จำเป็นต้องชี้วัดด้วยจำนวนคนที่เข้าร่วม เพราะเนื้อแท้ผมชอบตรงที่เป็นเวทีของการบ่มเพาะความคิด หรือปัญญาให้กับนิสิต ฝึกการวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิพากษ์ ฝึกการสะท้อนแนวคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ฝึกการรับฟังความคิดเห็นกันและกัน และอื่นๆ อีกจิปาถะ
ในทางเครื่องมือ หรือกรอบแนวคิดการเรียนรู้ครั้งนี้ ผมเกริ่นไว้ตอนต้นนั้น มีหลายประเด็นที่ผมสะท้อนคิดให้นิสิตลองเลือกไปใช้ ก็มีหลายประเด็น แต่ในทางหลักการผมจะพูดคุยในทำนองว่า คืออะไร หมายถึงอะไร ควรใช้อย่างไร พร้อมๆ กับการชี้ให้แกนนำนิสิตเห็นคุณค่ากิจกรรมที่กำลังจะจัดขึ้นว่าเกี่ยวโยงกับเรื่องเหล่านี้เช่นใดบ้าง ไว้ว่าจะเป็น
ส่วนประเด็น Soft skills ที่นิสิตจะได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ หรือแม้แต่แนวคิดที่ได้จากภาพยนตร์ที่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตและสังคมกี่มากน้อย คงต้องรอให้นิสิตมาเฉลยเองละกัน นะครับ
เรื่อง : พนัส ปรีวาสนา
ภาพ : ชมรมรักษ์ปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ไม่มีความเห็น