ชีวิตที่พอเพียง  4879. สะท้อนคิดเรื่องปมเขื่อง


 

หนังสือเล่มเล็ก ชุด ธรรมะใกล้มือ ชุด ผลงานของพุทธทาสวัยหนุ่ม เรื่อง ปมเขื่อง  ไม่บอกว่าเขียนปีใด    อธิบาย อัสมิมานะ  หรือความรู้สึกว่า “ฉันเป็นฉัน” 

 

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยสติว่า ผมเชื่อว่ามนุษย์เราต้องมี “ฉันเป็นฉัน” (identity) ในระดับที่เหมาะสม   สมดุลกับเคารพ “ความเป็นอื่น” คือมุมมองที่ต่าง   เคารพความแตกต่างหลากหลายในสังคม และในโลก    ไม่ยึดถือว่าความคิดเห็นและแนวทางของตน เป็นเพียงแนวทางเดียว สำหรับสังคมที่มีความสุข วัฒนาถาวร    แต่ก็มั่นใจและยืนหยัดใน “ตัวตน” (identity) ของตน 

กล่าวใหม่ว่า “ตัวตน” ในระดับที่พอดี  ช่วยให้มีชีวิตที่ดี  มีความสุข  นี่คือความเชื่อของผม

แต่หนังสือ ปมเขื่อง เล่มนี้ อธิบายอัสมิมานะอย่างละเอียดถึง ๔๒ ด้าน    และด้านที่ ๓๙ ว่าด้วย ปมเขื่องเนื่องด้วยกุศล  คือในกิจกรรมเรื่องกุศล มีศรัทธาเจือปมเขี่องเป็นตัวนำ ย่อมนำสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้     

เรื่องนี้ผมได้สติเตือนตนเองตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๒๐ ว่าต้องไม่เหลิงความเก่งของตัวเอง   ที่เรียนหนังสือเก่ง สอบได้ที่ ๑ ของประเทศตอนสอบชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๒ หรือ ม. ๘   เมื่อปี ๒๕๐๓ อายุ ๑๘ ปี    ผมบอกตัวเองว่าเราเรียนหนังสือเก่ง แต่ยังมีอย่างอื่นที่ไม่เก่ง ต้องเรียนรู้ปรับปรุงตนเองอีกมาก  เช่น พูดไม่เก่ง  ไม่เข้าใจเรื่องทางสังคม เพราะเป็นเด็กบ้านนอก  เล่นกีฬาและดนตรีไม่เก่ง เป็นต้น  แม้เรื่องเรียน ผมก็เตือนตนเองให้ไม่อวดเก่ง     

ตอนที่ ๔๑ การขัดเกลาปมเขื่องคือการศึกษาของโลก    นำผมให้คิดต่อ ว่า การศึกษา เป็นกระบวนการพัฒนา ค่านิยม  เจตคติ  ทักษะ และความรู้ ของมนุษย์ อย่างเป็นองค์รวม  หรือพัฒนาองค์รวมด้าน กาย  ใจ  อารมณ์ สังคม  และปัญญาหรือจิตวิญญาณ    การศึกษาที่ครบด้านเช่นนี้ ย่อมขัดเกลาปมเขื่องที่เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต   

ที่จริงหลังจากเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่นาน  วาทกรรม “ตัวกู ของกู” ของท่านพุทธทาสก็คุ้นหูกันทั่วไป   ปมเขื่องคือเรื่อง “ตัวกู”             

เวลานี้ผมอายุ ๘๒ ปี เป็นผู้อาวุโส   สังเกตว่าผู้คนดูจะยกย่องเชื่อถือมากเกินไป   ในการพูดในที่ประชุมวิชาการผมจึงเริ่มโดยบอกผู้ฟังว่าผมเป็นผู้ไม่รู้จริงในเรื่องนั้น   เพราะไม่ได้ปฏิบัติมานานมากแล้ว   ขอให้ฟังหูไว้หู อย่าเชื่อไปเสียทั้งหมด   โดยยึดหลักกาลามสูตรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า    เป็นวิธีลดปมเขื่องของตนเองที่ผมใช้       

ปมเขื่องชักจูงให้เราอวดตนโดยไม่รู้ตัว    วิธีหนึ่งที่ผมใช้สู้ปมเขื่องคือถ่อมตน    โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ความซับซ้อน (complexity) เป็นตัวช่วยเตือนสติตนเองว่า   ในเรื่องนั้นๆ มีความซับซ้อนและปรับตัว (complex – adaptive) สูง    สติปัญญาของผมมีจำกัด    จึงอยู่ในฐานะรู้บ้างไม่รู้บ้าง    อยู่ในสภาพ “นักเรียนรู้” มากกว่าเป็น “ผู้รู้” 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๖๗

 

 

หมายเลขบันทึก: 720302เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2024 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2024 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย