โสมทัตตชาดก
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๕. โสมทัตตชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๔๑๐)
ว่าด้วยลูกช้างชื่อโสมทัต
(ดาบสคร่ำครวญหาช้างน้อยว่า)
[๑๐๕] เมื่อก่อน โสมทัตพ่อช้างน้อยมีอัธยาศัยกว้างขวาง มาต้อนรับเราแต่ไกลในป่า วันนี้หายไปไหน จึงไม่เห็น
[๑๐๖] ช้างเชือกที่นอนตายเหมือนยอดเถาย่านทรายที่ถูกเด็ดทิ้งคือเจ้าโสมทัตนี้เอง เจ้ากุญชรล้มลงนอนที่พื้นดินตายเสียแล้วหนอ
(ท้าวสักกะตรัสกับดาบสว่า)
[๑๐๗] การที่ท่านบวชเป็นสมณะพ้นจากการครองเรือนไปแล้ว ยังมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่เป็นการดีเลย
(ดาบสกล่าวกับท้าวสักกะว่า)
[๑๐๘] ท้าวสักกะ เพราะการอยู่ร่วมกันแล ความรักจึงเกิดในหทัยของมนุษย์หรือของเนื้อ อาตมาจึงไม่สามารถที่จะไม่เศร้าโศกถึงลูกเนื้อนั้นได้
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๐๙] ชนเหล่าใดร้องไห้ บ่นเพ้อ รำพัน ถึงคนที่ตายแล้วและคนที่จะตาย สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวการร้องไห้ว่าเปล่าประโยชน์ ท่านฤๅษี เพราะฉะนั้น ท่านอย่าร้องไห้ไปเลย
[๑๑๐] พราหมณ์ สัตว์ที่ตายละโลกนี้ไปแล้ว จะพึงลุกขึ้นได้เพราะการร้องไห้ เราทุกคนก็คงมาประชุมกันร้องไห้ถึงหมู่ญาติของกันและกัน
(ดาบสกล่าวสดุดีท้าวสักกะว่า)
[๑๑๑] พระองค์ช่วยระงับอาตมาผู้เร่าร้อนให้สงบ ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้ เหมือนคนเอาน้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๑๒] พระองค์ได้บรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของอาตมา ผู้กำลังเศร้าโศก ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก ซึ่งเสียบหัวใจของอาตมาขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๑๓] ท้าววาสวะ อาตมาซึ่งพระองค์ช่วยถอนลูกศร คือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้วเป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก ไม่มีความขุ่นมัว จึงไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของพระองค์
โสมทัตตชาดกที่ ๕ จบ
-----------------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา
โสมทัตตชาดก
ว่าด้วย ความเศร้าโศกถึงผู้เป็นที่รัก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภหลวงตารูปหนึ่ง แล้วจึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.
ได้ยินว่า หลวงตานั้นบวชสามเณรรูปหนึ่ง สามเณรนั้นเป็นผู้อุปัฏฐากท่าน ได้มรณภาพ ด้วยโรคชนิดนั้น. เมื่อสามเณรนั้นมรณภาพ หลวงตาเดินร้องไห้คร่ำครวญไปพลาง.
ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านแล้วตั้งเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโส หลวงตารูปโน้นเดินร้องไห้คร่ำครวญไปพลาง เพราะการมรณภาพของสามเณร ท่านเห็นจะเว้นจากรรมฐานข้อมรณานุสสติ.
พระศาสดาเสด็จมาถึงตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหรือ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้แล้ว ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เมื่อสามเณรมรณภาพแล้ว หลวงตานั้นก็ร้องไห้เหมือนกัน. เป็นผู้ที่ภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว จึงได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นท้าวสักกะ. ครั้งนั้น พราหมณ์มหาศาลชาวกาสีนิคมคนหนึ่ง ละทิ้งกามทั้งหลายออกไปป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษี มีหัวมันและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อยู่โดยการประพฤติด้วยการแสวงหา.
วันหนึ่ง ท่านไปเพื่อต้องการผลไม้น้อยใหญ่ เห็นลูกช้างเชือกหนึ่ง จึงนำมาอาศรมของตน ให้ดำรงอยู่ในฐานเป็นบุตร ตั้งชื่อมันว่าโสมทัตตะ เลี้ยงดูไว้ให้กินหญ้าและใบไม้. มันเติบโตขึ้นมีร่างกายใหญ่
วันหนึ่ง กินเหยื่อมากไปได้อ่อนกำลังลง เพราะไม่ย่อย. ดาบสให้มันอยู่ใกล้อาศรม แล้วไปเพื่อต้องการผลไม้น้อยใหญ่. เมื่อท่านยังไม่มานั่นเอง ลูกช้างได้ล้ม. ดาบสถือเอาผลไม้น้อยใหญ่มา สงสัยว่า ในวันอื่นๆ ลูกของเราทำการต้อนรับ วันนี้ไม่เห็นไปไหนหนอ?
เมื่อคร่ำครวญได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
โสมทัตตมาตังคะ ซึ่งในวันก่อนมาต้อนรับเราไกลถึงในป่า เป็นเวลานาน เราไม่เห็นไปที่ไหนเสียแล้ว.
ดาบสเดินมาพลางคร่ำครวญไปพลางอย่างนี้ เห็นลูกช้างนั้นล้มอยู่ที่จงกรมแล้ว เมื่อจักคอคร่ำครวญอยู่ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
นี้เองคือช้างโสมทัตตเชือกนั้น นอนตายแล้ว มันนอนตายอยู่ที่พื้นดิน เหมือนยอดเถาย่านทรายที่ถูกเด็ดทิ้งแล้ว โสมทัตตกุญชรได้ตายไปแล้วหนอ.
ในขณะนั้น ท้าวสักกะกำลังตรวจดูสัตว์โลกทรงเห็นเหตุการณ์นั้น ทรงดำริว่า ดาบสนี้ละทิ้งลูกเมียไปบวชแล้ว บัดนี้ยังมาสร้างความสำคัญในลูกช้างว่าเป็นลูกคร่ำครวญอยู่ เราจักให้ท่านสลดใจ แล้วได้สติ ดังนี้แล้ว จึงมายังอาศรมบทของท่านสถิตอยู่ที่อากาศนั่นเอง กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
เมื่อท่านเป็นอนาคาริก หลุดพ้นไปแล้ว การที่ท่านโศกเศร้าถึงสัตว์ที่ตายไปแล้ว ไม่เป็นการดีสำหรับท่านผู้เป็นสมณะ.
ดาบส ครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
ข้าแต่ท้าวสักกะ ความรักใคร่ย่อมเกิดขึ้นในดวงใจของมนุษย์หรือมฤค เพราะการอยู่ร่วมกันโดยแท้ อาตมภาพจึงไม่อาจจะไม่เศร้าโศกถึงสัตว์ที่เป็นที่รักได้.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะเมื่อจะโอวาท ท่านได้ภาษิตคาถา ๒ คาถาว่า :-
เหล่าสัตว์ผู้ร้องไห้คร่ำครวญ ก็ร้องไห้ถึงสัตว์ผู้ตายไปแล้วและจักตาย เพราะฉะนั้น ท่านฤษี ท่านอย่าได้ร้องไห้เลย เพราะสัตบุรุษทั้งหลายเรียกการร้องไห้ว่าเป็นโมฆะ
ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ ถ้าคนที่ตายแล้ว ล่วงลับไปแล้ว พึงกลับฟื้นขึ้นมาไซร้ พวกเราทุกคนก็จงมาชุมนุมกันร้องไห้ถึงญาติของกันและกันเถิด.
ดาบสได้ฟังคำนั้นแล้ว กลับได้สติ ปราศจากความเศร้าโศกเช็ดน้ำตาแล้ว ได้กล่าวคาถาที่เหลือ ด้วยการสดุดีท้าวสักกะว่า :-
อาตมภาพถูกไฟ คือความโศกแผดเผาแล้วหนอ มหาบพิตรทรงช่วยดับความร้อนรนทุกอย่างให้หายไป เหมือนเอาน้ำดับไฟที่ไหม้เปรียงก็ปานกัน มหาบพิตรได้ทรงถอนลูกศรคือความโศก อันปักอยู่ที่หัวอกของอาตมภาพออกไปแล้ว เมื่ออาตมภาพถูกความโศกครอบงำ มหาบพิตรได้ทรงบรรเทาความโศกถึงบุตรนั้นเสียได้
ข้าแต่ท้าวสักกะ อาตมภาพนั้นเป็นผู้มีลูกศรคือความโศก อันมหาบพิตรทรงถอนออกแล้ว หายโศกแล้ว ใจก็ไม่ขุ่นมัว ทั้งจะไม่เศร้าโศกไม่ร้องไห้ต่อไป เพราะได้ฟังเทพดำรัสของมหาบพิตรแล้ว.
ท้าวสักกะ ครั้นทรงโอวาทดาบสอย่างนี้แล้ว ได้เสด็จไปสู่ที่ประทับของพระองค์นั่นเอง.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ประกาศสัจธรรมทั้ง ๔ แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า
ลูกช้างในครั้งนั้น ได้แก่ สามเณรในบัดนี้
ดาบส ได้แก่ หลวงตา
ส่วนท้าวสักกะ ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาโสมทัตตชาดกที่ ๕
------------------------------
ไม่มีความเห็น