ชาวบ้านรึ! จะมายุ่งงานวิจัย


งานวิจัยเชื้อชาติไทยมีตัวอย่างเชิงประจักษ์มากมาย ชาวบ้านไปคล้องช้างป่ามาใช้งานได้ ประเพณี อาหาร ต้มยำกุ้ง แกงส้ม ต้มยำไก่ คืองานวิจัยระดับที่เป็นสินทรัพย์ทางปัญญาไทยล้วนๆทั้งนั้น ขอยืนยันว่าไทยแลนด์มีระบบวิจัยที่เข้มแข็งไม่แพ้ฝรั่ง แต่มันซ่อนอยู่ในวิถีไทย

ชาวบ้านรึ! จะมายุ่งงานวิจัย


  สืบจากโจทย์ที่ท่านเล่าฮูแสวง รวยสูงเนิน แคะกระปุกงานวิจัยในประเทศ เทออกมานับดูมูลค่าและคุณค่า แล้วยังเสนอประเด็นสำคัญๆที่รู้สึกและเข้าใจเป็นการส่วนตัวออกมาชวนใครต่อใครลงขันความคิด เพื่อขอมีส่วนร่วม เดี๋ยวจะเสียชื่อนักเลงบล็อก ผมในฐานะพลเมืองไทยระดับชาวบ้าน ขอถามว่า “ชาวบ้านมีสิทธิ์ไหมครับ”

  ที่จะสะท้อนความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับงานวิจัยบ้าง ข้อดีก็คือผมไม่กังวลว่าสิ่งที่เล่าไว้ที่นี่จะถูกหรือผิด เพราะผมไม่เคยเรียนทฤษฎีและระเบียบวิธีวิจัยจากสำนักไหนเลย “แต่ผิดเป็นครู” ไม่ใช่หรือครับ การที่ผมจะมาขอเรียนด้วยผมไม่น่าจะผิดใช่ไหมท่านเล่าฮู


    ผมขอมาต่อโจทย์ที่ท่านเล่าฮูโปรยหัวข้อดีไหมครับ สถานการณ์งานวิจัยในเมืองไทย:บางประการที่น่าเป็นห่วง โอ้โฮ้มีหลายห่วงจังเลย  ที่ท่านทะลุกลางปล้องขึ้นมานี้  กระแทกต่อมปึกของผมจังเบ้อเร่อ ที่ผมเคยสงสัยเรื่องงานวิจัยมาหลายสิบปี  อ่านหนังสือบางเล่มที่เขาจั่วหัวว่าเป็นงานวิจัย งานวิทยานิพนธ์ เอ๊ะ! มันต่างกับเนื้อหาสาระตำรับตำราอย่างอื่นอย่างไร ขอสารภาพว่าอึ้งกิมกี่ ตอบข้อสงสัยไม่ได้ปล่อยให้ค้างคาใจมานาน จนกระทั่งเมื่อประมาณสิบปีที่แล้วไปอ่านเจอเอกสารเกี่ยวกับ(สกว.) เป็นรายงาน หรือข่าวสารอะไรสักอย่าง ทำให้ทึกทักเอาว่า อ้อ! หัวเรือใหญ่ของสถาบันวิจัยอยู่ตรงนี้เอง 

  ผมไม่ปล่อยให้ความเขลากินดอกเบี้ยอีกต่อไป จึงเขียนจดหมายถึง ศ.ดร.สิปนนท์ เกตุทัต ถามไปตามประสาคนบ้านนอกไปว่า “พระอาจารย์ครับ งานวิจัยนี่เห็นแต่ให้ทุนนักวิชาการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เก่งๆ ทำการวิจัย ทำไมท่านไม่ทดลองให้ชาวบ้านทำการวิจัยบ้างละครับ”
   หลังจากนั้น1 เดือน โอ้! พระเจ้า ผมได้รับจดหมายจาก(สวก.) จริงๆด้วย ท่านประธานบอร์ดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)สมัยนั้น ได้เมตตาเขียนจดหมายมีใจความพอสังเขปเท่าที่จำคลับคล้ายคลับคลาประมาณว่า “สกว.รู้สึกซาบซึ้งที่มีชาวบ้านสนใจเรื่องนี้ แต่นโยบายของสถาบันยังไม่ได้กำหนดไปถึงที่จะให้ชาวบ้านได้ทำการวิจัย โอกาสข้างหน้าเมื่อมีความพร้อมอาจจะให้ชาวบ้านทดลองทำวิจัยก็ได้”
  เมื่อท่านตอบมาให้บรรเทาข้อข้องใจ ก็ไม่ว่ากัน ถัดมาอีกหลายปีสภาการศึกษาจัดรายการท่องอีสานท่านศ.ประเวศ วะสี ท่านศ.เสน่ห์ จามริก ท่านศ.ระพี สาคริก รวมทั้งท่านศ.สิปนนท์ เกตุทัต ได้ยกขันหมาก เอ๊ย! ยกคณะผู้อาวุโสขบวนใหญ่มาเยี่ยมมหาชีวาลัยอีสาน ในครั้งนั้นผมไม่ได้อธิบายตรงๆว่าชาวบ้านวิจัยได้หรือไม่ แต่แสดงให้เห็นกระบวนการแสวงหาความรู้อย่างยากเย็นแสนเข็ญของชาวบ้าน ต่อมาได้เกิดโครงการวิจัยท้องถิ่นหรือวิจัยชุมชนขึ้น แสดงว่าท่านไม่ลืมการบ้านที่ผมฝากไว้ ผมยังสนใจติดตามอ่านข่าวสารงานวิจัยสาขาทางด้านการเกษตรของ(สกว.)เสมอมา ได้ความรู้ที่หนักแน่นบางเรื่องเลือกมาใช้ประโยชน์หลายครั้ง


    ย้อนกลับมายังโจทย์ของเล่าฮู สะท้อนคิด เรื่องงานวิจัย ผมขอโยงไปถึงวัฒนธรรมการเรียนรู้ ฝรั่งอยากรู้ อยากเห็น อยากแก้ไขปัญหาจนเป็นปกติวิสัยของเขา ในวิถีชีวิตของเขาๆต้องสู้กับปัญหาให้ได้ เช่นหิมะตกหนาวเย็น จะต้องสร้างบ้านที่แข็งแรงแน่นหนา เสื้อผ้า อาหาร เรียกว่าระบบชีวิตต้องต้านความหนาวเย็นได้ จะมาอ้อยอิ่งมีหวังหนาวชักตาย สภาพทางธรรมชาติในเขตหนาวทำเกิดเป็นนิสัยเรียนรู้ที่จะสู้ชีวิตอย่างเข้มข้น

  ผมคิดว่าตรงจุดนี้ที่เอื้อการทำงานวิจัย พอเข้ามาสู่กระบวนการวิจัย ซึ่งจำเป็นต้องมีฐานความกระหายรู้ สู้สิ่งยาก ปลื้มกับงานที่ท้าย และพร้อมที่จะสู้กับความจริง เขาจึงพบความเป็นจริงในทุกเรื่อง แล้วเอาต้นทุนแห่งความจริงมาสร้างนวัตกรรมต่อยอด เกิดการพัฒนาความรู้ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เขา สามารถผลิตสินค้าสารพัดชนิดมาขายให้เรา  ชี้ให้เห็นว่าเราขายหงาดเหงื่อแต่ฝรั่งเขาขายความรู้ ในราคาที่สัดส่วนไม่สัมพันธ์กันแม้แต่น้อย 
  

   ถ้าย้อนมาดูงานวิจัยของบ้านเรา ที่นำผลงานไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆก็คงมีบ้าง แต่ยังอยู่ในปริมาณที่น้อย ถ้าไปโทษการจัดสรรงบประมาณ แหล่งทุนที่ไปขอ ผมคิดว่าเราไม่มีสินค้าความรู้ตัวอย่างที่เกิดจากฐานงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมไปแสดง ถ้าผลลัพธ์งานวิจัยต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้ มีงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ ความก้าวหน้า มีจุดคุ้มค่า ทำไมเขาจะเพิ่มงบประมาณให้ไม่ได้ 

  ผมเห็นด้วยกับท่านเล่าฮูที่ว่าไม่มีเหตุผลที่จะไปตักน้ำใส่โอ่งรั่ว ในประเด็นที่ไม่ตั้งโจทย์ร่วมกันเป็นจุดด้อยหนึ่งของเรา สิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาไทย จารีต วัฒนธรรม ตำรับตำราพื้นบ้าน ทักษะชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม บ้านเรือนไทย ศิลปะ  ทั้งหมดนี้คืองานวิจัยสายพันธุ์ไทย แต่นักวิชาการสมัยใหม่มองไม่เห็น เข้าไม่ถึง เข้าใจว่ามันล้าหลัง ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่ควรพูดภาษาไทย กินอาหารไทย เขียนภาษาไทย สิครับ ทั้งหมดนี้คือแก่นแท้ของงานวิจัยไทยใช่ไหมเล่า

    งานวิจัยเชื้อชาติไทยมีตัวอย่างเชิงประจักษ์มากมาย ชาวบ้านไปคล้องช้างป่ามาใช้งานได้ ประเพณี อาหาร ต้มยำกุ้ง แกงส้ม ต้มยำไก่ คืองานวิจัยที่เป็นสินทรัพย์ทางปัญญาไทยล้วนๆทั้งนั้น ขอยืนยันว่าไทยแลนด์มีระบบวิจัยที่เข้มแข็งไม่แพ้ฝรั่ง แต่มันซ่อนอยู่ในวิถีไทย

หมายเลขบันทึก: 71948เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • เสียดายที่ที่กล่าวถึงเสียแล้ว(ท่านศ.สิปนนท์ เกตุทัต )
  • ชาวบ้านอยู่ในบริบทที่ใกล้ชุมชนน่าจะวิจัยได้ดีกว่านักวิจัยภายนอกครับ
  • ขอบคุณครับ
 ลูกศิษย์ลูกหา รวมทั้งประชาชนระดับรากหญ้า ที่รู้จักท่าน ต่างอาลัยอย่างสุดซึ้ง จงไปสู่สุขคติเถิดพระอาจารย์ใหญ่ของผม
แล้วจะมีกี่คน กี่หน่วยงาน กี่สังกัดที่เข้าใจอย่างที่พ่อครูเล่ามาแล้วนำไปใช้ได้จริงเพราะหลายคนก็วิจัยอยู่บนหัวชาวบ้านแล้วครอบงำความคิดที่ดี ๆ ไว้ มากกว่าครอบใจ
โอ้! โฮ ดุเดือดเหมือนอาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปทุกทีแล้ว สงสัยจะติดเชื้อ ขอให้รออ่านตอนต่อไปในอีก20นาที แล้วจะรู้ว่าควรจะทำฉันใด.

ครูบาครับ

ตอนนี้อย่างมากที่สุด "นักวิชาการ" ก็ใช้ชาวบ้านเป็น "วัสดุ" วิจัย ไม่ใช่แม้จะเป็นผู้ช่วยวิจัย

กระแสชุมชนวิจัยจึงยังอ่อนมาก คงต้องอีกสักพัก ให้คนเริ่มตระหนักว่าชาวบ้านก็ทำวิจัยเป็น และดีกว่า "นักวิชาการ" เสียด้วยซ้ำ

ก็เริ่มมีกระบวนกองหน้าของ "นักวิชาการ" เดินออกมาบ้างในนาม "วิจัยเชิงปฏิบัติการ"

แต่ก็ยังไม่ชัด ว่าจะทำอย่างไร คนที่สนใจทำก็ยังมีน้อย

คงยังต้องร้องเพลงรอต่อไปอีกสักชาติสองชาติ

เราอาจต้อง "ปฏิวัติ" การทำงานวิจัย จึงจะเกิดขึ้นได้เร็ว ไม่งั้นก็ขวางกันไป ขวางกันมาอยู่นี่แหละครับ ในทุกระดับของประเทศ

ไม่มีใครกล้านำ มีแต่คนคอยตาม

และคนที่พอจะกล้านำก็ถูกทุบถูกกวนจนแทบอยู่ไม่ได้

นี่แหละวิบากกรรมของงานวิจัยในประเทศไทย

  • เสียดายงานวิจัยหลักของ สกว.มุ่งให้ทุนแก่ ดร.และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
  • กลุ่มคนเหล่านี้งานสอนก็หนักเพียงตายแล้ว ยังต้องวิ่งลงพื้นที่ทำวิจัยอีก
  • ทำไมคนจนโท ตรี ม.6 ป.6 ป.4และไม่จบอะไรเลย ทำวิจัยไม่ได้หรือ
  • เป็นคำถามเดียวกันกับครูบา
  • หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านวิจัยของชาติ น่าจะกลับมามองให้มากและแสวงหาช่องทางการวิจัยในกลุ่มไทบ้านให้จงหนัก  ให้จงหนัก ให้จงหนัก

ขอบคุณทุกความเห็น..เคาะครับ รายการนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท