ผมกับเพื่อนๆ เล็งเห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษาในสังคมไทย มองว่าหลายคนมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งเรายอมรับว่าจริงตามนั้น แต่เราก็มีความฝันที่อยากจะทำประโยชน์ต่อส่วนรวม บนพื้นฐานที่เราพอจะทำได้ตามวิถีจิตอาสา เช่น บริจาคของเพื่อเด็กที่ด้อยโอกาส ภายใต้แนวคิด “เก่าสำหรับคุณ แต่ใหม่สำหรับเรา” หรือทำค่ายเล็กๆ ที่มีคุณค่าทางจิตใจ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งชมรม
เดิมนิสิตเลือกเป็นอย่างไม่เป็นทางการให้โรงเรียนบ้านดอนก่อดิไล่ออน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นสถานที่จัดโครงการเด็กเอ๋ยเด็กดี แต่ด้วยระยะทางที่ไกลจากมหาวิทยาลัย ใช้เวลาเดินทางร่วมๆ 2 ชั่วโมง จึงจำต้องหาโรงเรียนอื่น โดยมีเกณฑ์สำคัญๆ คืออยู่ไม่ไกล ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมง อยู่ใกล้ชุมชน มีร้านค้า มีสถานีอานามัย หรือสถานพยาบาลในรัศมี 1 กิโลเมตร
ขณะนั้นได้ปรึกษากับคุณครูเก่าของตัวเอง จึงได้รู้ว่าท่านมาบรรจุที่โรงเรียนบ้านซองแมว ตำบลหนองจิก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จากนั้นจึงเริ่มศึกษาข้อมูลโรงเรียนทั้งในระบบออนไลน์และสอบถามคุณครูท่านอื่นๆ พบว่าโรงเรียนอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 49 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร ห่างจากสถานีอนามัยประมาณ 800 เมตร ห่างจากชุมชนประมาณ 500 เมตรจึงพากันตัดสินใจเลือกโรงเรียนบ้านซองแมว เป็นสถานที่จัดโครงการเด็กเอ๋ยเด็กดีในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567
เน้นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียน เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการ เน้นการเรียนรู้เชิงรุก หรือการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ผ่านกิจกรรมแบบบันเทิงเริงปัญญา เช่น บรรยายหัวข้อ “โลกยุคใหม่อันตรายกว่าที่คิด” กิจกรรม “นี่คืออนาคตของฉัน” กิจกรรม “ชุดสวยด้วยมือฉัน” กิจกรรม “มาๆ พี่พาเล่น” กิจกรรมเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการจินตนาการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ฝึกการกล้าแสดงออก ฝึกการคิด ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกการทบทวนชีวิต ฝึกการสื่อสาร
ทำงานกับนิสิตหลายคณะ เช่นศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การบัญชีและการจัดการ นิติศาสตร์ วิทยาการสารสนเทศ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง รวมถึงผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน
หลักๆ เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ความรู้จากการเรียนในคณะศึกษาศาสตร์ อาทิ การจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ส่วนวิชาชีพจากคณะการบัญชีและการจัดการ ก็เน้นการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและการบริการงบประมาณในชมรม
ส่วนข้อแนะนำจากเจ้าหน้าที่กิจการนิสิต มีหลายอย่าง เช่น การจัดกิจกรรมแบบเรียนรู้คู่บริการ และข้อคิดในทำนอง การจัดโครงการไม่ควรเน้นแค่ความถูกต้องของเอกสาร แต่ต้องมองหลักการความเป็นจริงและคิดถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการว่าเราต้องการจัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อใคร เขาจะได้ประโยชน์อะไรจากกิจกรรม เราจะได้เรียนรู้อะไรจากการจัดกิจกรรม สิ่งที่ให้ไปเป็นความต้องการจริงๆ ของเขาหรือไม่
ได้เรียนรู้ว่า ทุกวันนี้ถึงแม้โลกและประเทศของเราจะพัฒนาไปมาก แต่สำหรับการศึกษาและโอกาสของการที่จะได้เรียนรู้นั้นถือว่ายังไม่เท่าเทียมสำหรับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาทิเช่น กิจกรรมที่เรานำมาสันทนาการ สำหรับนิสิตอาจจะมองว่ามันน่าเบื่อมีแต่เพลงเดิมๆ แต่สำหรับเด็กๆ แล้วสิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับพวกเขา แม้กระทั่งกิจกรรมจะจัดในตอนเช้าและสิ้นสุดในตอนเย็น ทุกๆ กิจกรรมที่เด็กได้เล่นได้เรียนรู้ กลับไม่เกิดความเบื่อหน่าย จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่เรามองว่าอาจจะธรรมดาแต่สำหรับใครบ้างกลุ่ม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น
โดยส่วนตัวผมขออนุญาตยกตัวอย่างบทสนทนาที่ผมได้พูดคุยกับน้องคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมค่าย “ครั้งหนึ่งผมเคยปิดกั้นทุกๆ คน เพราะผมไม่ชอบการที่ผมต้องไปอยู่กับคนอื่นๆ ผมชอบอยู่คนเดียวมากกว่า จนเพื่อนที่ผมรักมากๆ และเขาเป็นเพื่อนคนเดียวที่ผมเล่นด้วย เขาชวนผมมาค่ายเด็กเอ๋ยเด็กดีเนี่ยแหละ ผมก็เลยมาด้วย ตอนแรกผมก็อึดอัดนะที่ต้องนั่งรถชิดๆ กันกับทุกคน แต่ตอนนั่งรถมานั้นทุกๆ คนชวนผมคุยอ่ะ ถึงแม้ผมจะไม่ได้สนิทกับใครเลย แต่ทุกคนเป็นมิตรกับผมมาก เหมือนเรารู้จักกันมานานแต่จริงๆ ผมเพิ่งรู้จักพวกเขาบนรถเองครับ”
จากบทสนทนาดังกล่าว ทำให้ผมรู้ว่าทักษะการเข้าสังคมของคนเรานั้นสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้โดยการเข้าสังคมเหล่านั้น
ส่วนประเด็นอื่นๆ มองเห็นว่ามีทักษะที่ได้เรียนรู้ร่วมกันหลากหลาย เช่น
จากการที่ผมได้มาติดต่องานที่กองกิจการนิสิตบ่อยๆ มันกลับทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยมีทรัพยากรให้นิสิตได้ใช้สอยมากมาย อาทิ เวที ที่ไม่ต้องเสียค่าติดตั้ง ปลั๊กไฟ โต๊ะหน้าขาว ร่วมทั้งห้องประชุมที่มีแอร์เย็นฉ่ำ โดยที่ได้ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นรายชั่วโมงและสิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากกองกิจการนิสิต คือระบบราชการมันทำให้ผมเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากยิ่งขึ้น
ได้เรียนรู้ว่าการจะทำหนังสือราชการ ถ้าต้องออกไปยังหน่วยงานภายนอก ต้องให้มหาวิทยาลัยออกให้นะ แต่ถ้าจะออกหาเพื่อนในชมรมอื่นๆ เราก็ต้องทำบันทึกข้อความเอง การจัดทำบันทึกข้อความก็ต้องประกอบไปด้วย ส่วนเกริ่น ส่วนเนื้อหาและส่วนสรุป การจัดทำเอกสารทางราชการและได้เรียนรู้ระบบการทำงานของมหาวิทยาลัย จำเป็นต่อผมมากๆ ด้วยความที่ผมเรียนสายวิชาชีพครูด้วย ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะวันข้างหน้าเมื่อไปทำงานที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งก็ถือได้ว่าเรามีทักษะการทำงานเป็น
พื้นฐานอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องไปจับมือเขียนและเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดเหมือนคนอื่นๆ
ทักษะการประสานงาน เหตุผลที่คิดว่าได้เรียนรู้ทักษะการประสานมากที่สุด ก็เพราะว่าด้วยความที่ตัวเองมีตำแหน่งเป็นประธานชมรม ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราต้องทำคือการประสานงานที่เป็นระบบและสามารถแจกแจงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากประสานงานเกิดข้อติดขัด หรือไม่ชัดเจนก็อาจจะทำให้งานชิ้นนั้นออกมาในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เราคาดหวังเอาไว้
ต้นเรื่อง………….
พานเงิน ประการแก้ว*
ประธานชมรมสานฝันหนูน้อย ปีการศึกษา 2566
ชั้นปีที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์
ไม่มีความเห็น