พาเด็กเดินป่า เดินหน้าวิจัยชุมชน


กระบวนการสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็ดี วัฒนธรรมประเพณีต่างๆในชุมชนก็ดี เรา (ผู้ใหญ่) สามารถนำเอา “ของดี” ในชุมชนมาเป็นเครื่องกระตุ้นต่อมการเรียนรู้ของเด็กๆได้เป็นอย่างดี

เด็กกับห้องเรียนธรรมชาติ???” ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กกับธรรมชาติสักเท่าไร คือยังติดยึดอยู่กับการจัดการเรียนการสอน และการจัดประชุมไปเสียมาก แต่การได้พาทีมยุววิจัยลงแนะนำโครงการที่หมู่บ้านห้วยน้ำโป่ง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้ผมเห็นว่า กระบวนการสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็ดี วัฒนธรรมประเพณีต่างๆในชุมชนก็ดี เรา (ผู้ใหญ่) สามารถนำเอา ของดีในชุมชนมาเป็นเครื่องกระตุ้นต่อมการเรียนรู้ของเด็กๆได้เป็นอย่างดี  

  การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่าด้วยสิทธิเด็กในโครงสร้างและระบบครอบครัว-เครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆภายใต้บริบทการจัดการทรัพยากรบริเวณลุ่มน้ำลาง-น้ำของ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโครงการนี้ก็เป็นโครงการวิจัยโครงการแรกของจังหวัดแม่ฮ่องสอนกระมัง ที่นำเด็กเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมอย่างค่อนข้างเต็มรูป แต่ถ้าจะว่าไปผมก็เป็น มือใหม่ในการทำวิจัยร่วมกับเด็กๆกลุ่มชาติพันธุ์ ยังเป็น ละอ่อนในเวทีนี้อยู่มาก

แต่ด้วยฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ก็จะพยายามรายงานความก้าวหน้าโครงการนี้มาแลกเปลี่ยนเรื่อยๆ ใครสนใจก็ขอให้หมั่นติดตามนะครับ  

 

หมู่บ้านห้วยน้ำโป่งเป็นหนึ่งในหกหมู่บ้านเป้าหมายของโครงการวิจัยครั้งนี้   เป็นหมู่บ้านเล็กๆของชาวลัวะ เดิมถือผี ปัจจุบันเปลี่ยนมาถือคริสต์ ในด้านการอยู่ร่วมกันกับป่าเขาลำเนาไพร ถ้าจะเทียบกับหมู่บ้านชาวเขาทั่วไปแล้ว หมู่บ้านนี้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างดี   

 

หลังจากที่ ทีมยุววิจัยได้ฝึกอบรมความร็เรื่องหลักและเครื่องมือในการวิจัยท้องถิ่นมาพอสมควรแล้ว ก็ได้ฤกษ์ลงภาคสนามซะที ครั้งที่ผ่านมาพวกเราโหวตกันไปลงพื้นที่หมู่บ้านแม่ละนา ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทใหญ่ แต่กระบวนการในวันนั้น เน้นการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนซะเป็นส่วนมาก

มาวันนี้ เรามาลงพื้นที่หมู่บ้านลัวะ ก็เลยปรับยุทธวิธีใหม่ ใช้การเดินป่าเข้ามาผสมผสาน  ช่วงเช้า ผมให้ทีมยุววิจัยล่วงหน้าไปก่อน เพราะผมต้องพาเด็กอีกกลุ่มแวะไปร่วมงานและบันทึกภาพยนตร์งานแต่งงานของชาวลาหู่นา (มูเซอดำ) ที่หมู่บ้านจ่าโบ่ แต่น่าเสียดาย ที่ไปถึงแล้ว กล้องวิดีโอไม่ทำงาน (เซ็งชะมัด)

 ผมก็เลยได้แต่ถ่ายภาพนิ่งโดยใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือแทน ก็พอเห็นเลาๆ ถ้าอัดภาพเสร็จ ก็น่าจะได้นำมาลงเป็นบันทึกความรู้เอาไว้อีกฉบับ ถ้าไม่ยุ่งจนลืมนะครับ 

ย้อนกลับมาเรื่องการลงพื้นที่ บ้านห้วยน้ำโป่งเป็นหมู่บ้านที่เส้นทางทุรกันดารที่สุดเส้นหนึ่งของอำเภอปางมะผ้า เพราะเป็นทางลูกรังและมีโค้งพับไปพับมาและสูงชัน เหมาะกับบรรดานักขับรถผจญภัย หน้าแล้งล่ะก็พอไหว แต่หน้าฝนมาทีไร ผมขอจอดรถลงเดินไปจะมั่นใจกว่า ฝีมือไม่จ๊าบ รถไม่เจ๋ง  ผมไม่แนะนำครับ 

วันนี้ เมื่อมาถึงหมู่บ้าน ทีมวิจัยก็ได้รับการต้อนรับจากชุมชนดีครับ ทั้งผู้นำชุมชน และผู้รู้ก็มาร่วมงาน ที่เรายินดีมากๆ คือ มีเด็กในหมู่บ้าน 4 คนสนใจร่วมงานกับเราด้วย และนอกจากนี้ ยังมีเยาวชนลาหู่ยี (มูเซอแดง) จากหมู่บ้านใกล้เคียง คือหมู่บ้านไม้ซางหนาม อีกสี่คนขอมาสังเกตการณ์กิจกรรมด้วย 

ช่วงเช้าเราให้ทีมยุววิจัย แนะนำโครงการต่อผู้นำชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจกันก่อน จากนั้นก็วางแผนร่วมกับชุมชนว่าจะเก็บข้อมูลเรื่องต่างๆจากใครได้บ้าง ซึ่งชาวบ้านก็ได้ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี ผมเสนอว่า ไหนๆส่วนใหญ่เด็กๆก็มาหมู่บ้านนี้เป็นครั้งแรก ก็น่าจะให้ผู้ใหญ่พาเที่ยวชมชุมชน โดยเฉพาะโป่งนก โป่งน้ำร้อน และฝายภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชน แล้วเด็กๆก็เดินกันไปคุยกับผู้ใหญ่ไป น่าจะสนุกกว่านะ ที่ประชุมก็เห็นด้วย ก็ตกลงเอาตามนี้

 

       ยุววิจัยแนะนำโครงการและวางแผนการทำงานร่วมกับผู้นำหมู่บ้าน 

ช่วงกลางวันเราก็รับประทานอาหารร่วมกับชาวบ้าน อาหารพื้นๆล่ะครับ อร่อยแบบเรียบง่าย ที่สำคัญผักที่นี่ปลอดสารพิษ และข้าวที่หุงก็เป็นพันธุ์ข้าวไร่ปลูกเอง เคี้ยวมันดี พอบ่ายโมงกว่าก็พากันออกเดินทางครับ เดินทางไป-กลับ จากหมู่บ้านไปเที่ยวชมสถานที่ธรรมชาติเหล่านี้ ใช้เวลาสองชั่วโมงกำลังดีครับ แม้จะเดินป่ากันช่วงบ่าย แต่ไม่เหนื่อยอะไรเลย เพราะเดินไปคุยกันไปและได้หยุดแวะดูสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โป่งนก โป่งน้ำร้อน และฝายภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นช่วงๆ ก็มีเสียงพูดคุยเจี้ยวจ๊าว และใบหน้าเปื้อนยิ้มให้เห็นตลอดทั้งเด็กๆในทีม เด็กๆในหมู่บ้าน และผู้นำชุมชน …….อย่าว่าแต่เด็กเลย  ผู้ใหญ่ที่เป็น คนนอกอย่างผมก็พลอยเบิกบานสำราญใจไปกับพวกเขาด้วย นี่ก็เลยนำภาพมาฝากกัน 

 

 ยุววิจัยปางมะผ้า กำลังข้ามสะพานไม้ไผ่สู่อ้อมอกป่าใหญ่

  ลงลุยข้ามลำน้ำ 

                                   สัมผัสธรรมชาติริมโป่งนก  

 

เด็กๆเจ้าของพื้นที่ เดินรี่ไปบนดินโป่ง   

                      ยุววิจัยจดจ่อกับการบันทึกภาพโป่งน้ำร้อน  

 

              

สุดท้าย แวะเยี่ยมชมฝายภูมิปัญญาชาวบ้าน 

 

แต่การลงพื้นที่ครั้งนี้ย่อมต้องมีข้อปรับปรุงนะครับ ซึ่งก็จะระดมความเห็นเพื่อการประเมินกิจกรรมกันในหมู่ทีมยุววิจัย วันที่ 14 มกราคมที่จะถึงนี้ ซึ่งก็น่าที่จะช่วยทำให้โครงการวิจัยครั้งนี้ได้เติมเต็มเนื้อหาสาระและมีกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ร่วมกันในหมู่ทีมยุววิจัยและชุมชนมากขึ้น 



ความเห็น (2)

ทุกอย่างคือการเรียนรู้ เด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เรียนรู้กับเด็ก เด็กกับผู้เฒ่า เด็กกับธรรมชาติ โอ๊ย..สารพัดจะเรียนรู้กันได้ เพียงแต่ว่า..กระบวนการ หรือ กลุ่มคน ที่จะช่วยผลักดันให้เค้าได้เรียนรู้ซึ่งสิ่งต่างๆ นั้น ยังหาได้น้อยนัก !!!

เป็นกำลังใจให้คนทำงานครับ

  • สวัสดีน้องยอดดอยครับ
  • งานนี้แหละสำคัญมาก และมีคุณค่ามากที่สุด พี่ชื่นชมคนทำงานกับเด็กและเยาวชน เพราะเขาคือเสาหลักของสังคมต่อไป ปลูกเขาให้มีสิ่งดี ดีงอกงามในจิตใจ ปลุกเขาจากการเดินทางที่ไม่ถูกต้องด้วยเรียนรู้กันเองและจากแบบอย่าง จากธรรมชาติ จากผู้เฒ่า และอื่นๆ
  • งดงามมาก  พี่ถือว่างานสร้างเด็กคือการสร้างทุนทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ครับ
  • พี่บางทรายเองครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท