ชีวิตที่พอเพียง  4599. ความหมายของ Comfort zone


 

ผมเคยเขียนไว้ที่ (๑) เรียก comfort zone ว่าพื้นที่สุขใจ  และบอกว่าเราต้องสร้างพื้นที่สุขใจของเราเอง   ให้เป็นทั้งพื้นที่สุขใจและพื้นที่สร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กัน       

แต่คนโดยทั่วไปให้ความหมาย comfort zoneว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย    และวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖ ผมได้ฟังคำบอกเล่าจาก ดร. ดร. พิชัย สนแจ้ง ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน (TSAST – Thai – Sino Association of Science and Technology)    เล่าพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔   ว่า comfort zone เป็นหนึ่งในสามความท้าทายหลักของประเทศไทย    ในการพัฒนาประเทศให้ก้าวพ้นกับดัก    โดยนิยาม comfort zone ว่าหมายถึงกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ที่ปิดกั้นโอกาสทำงานอย่างสร้างสรรค์    ปิดกั้นการคิดนอกกรอบ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ  

 comfort zone กลายเป็นพื้นที่ปิดกั้น   ปิดกั้นโอกาสทดลองดำเนินการเพื่อเป้าหมายใหม่  วิธีการใหม่   สมัยนี้จึงมีการคิด “กระบะทราย” (sandbox) ขึ้นมาเปิดโอกาสการทดลองการทำงานแบบนอกกรอบ   

จากการเสวนาในการประชุม ทำให้อีกความหมายหนึ่งของ comfort zone โผล่ออกมา    คือ พื้นที่ครอบงำ   ดังจะเห็นว่าหน่วยงานในโลกตะวันตกได้คิดเครื่องมือกำหนดมาตรฐานต่างๆ ขึ้นมา    พัฒนาขึ้นเป็น standard platform ให้ทั้งโลกต้องดำเนินตาม    ซึ่งบางเรื่องก็เหมาะสมที่เราจะใช้    แต่หลายเรื่องเป็นมายา    ดังเช่นเรื่อง ranking ทั้งหลาย    ที่หากเราหลับหูหลับตาทำตาม    ก็จะถูกครอบงำ    เพราะมันช่วยเป็นข้ออ้าง ว่าเราทำตามมาตรฐานสากล    เป็น comfort zone ที่ทำลายโอกาสใช้สติปัญญาของตนเอง  คิดเอง ทดลองเอง เรียนรู้และพัฒนาจากการทดลองของเราเอง   ที่หลายส่วนน่าจะดีกว่ามาตรฐานครอบงำนั้น   ในลักษณะที่ดีกว่าตามบริบทของเรา    เพราะมาตรฐานของเขายึดบริบทของเขาเป็นตัวตั้ง ไม่เหมาะกับเรา      

ผมจึงสะท้อนคิดว่า comfort zone เป็นพื้นที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม    ไม่คิดจะสร้างสรรค์ด้วยแนวทางใหม่ๆ ที่แตกต่างจากกติกาใน comfort zone นั้น    รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับผู้มีอำนาจเหนือ ได้ใช้กฎกติกาเพื่อครอบงำ ให้คนที่อยู่ในระบบต้องศิโรราบ  

 ที่แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่อยู่เหนือ comfort zone บางชนิด   

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ตุลาคม ๖๖   วันนวมินทรมหาราช

 

หมายเลขบันทึก: 716352เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมคิดเอาว่าคนทั่วไปคงนึกถึง comfort zone คือที่สบาย มากกว่าอย่างอื่น และ sandbox น่าจะนำไปใช้กับเด็กๆ อย่างในรูปแบบดั้งเดิมที่ต้องการให้เด็กได้ทดลองหรือสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่ในชีวิตปัจจุบันไม่ได้พบง่ายๆ และพอเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็ย่อมประจักษ์ชัดแจ้งของความคิดแบบ sandbox ดังนั้นการกระตุ้นให้ผมเองก้าวออกมาจาก comfort zone จึงอาจเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ หรือกระตุ้นความอาจหาญหรือกล้าหาญที่จะยอมสละพื้นที่เป็นบ้านแสนสุขสบาย มาทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่สบาย แน่นอนว่าต้องไม่สบาย และบางทียังมีความเสี่ยงที่จะสำเร็จหรือล้มเหลว ตั้งแต่เด็ก พร้อมไปกับการเหนี่ยวนำให้ผู้ใหญ่ เน้น ผู้ใหญ่ในทุกรูปแบบ ในขณะที่ comfort zone ซึ่งทั้งคุ้นเคย และแทบไม่มีความเสียงกับอะไรเลย สบายจริงๆ ก็ต้องนำพวกเขาออกมาด้วยใจสมัคร …วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท