หนังสือ The Comfort Zone : Create a Life You Really Love with Less Stress and More Flow (2023) เขียนโดย Kristen Butler เป็นหนังสือสื่อสารจิตวิทยาเชิงบวกในชีวิตประจำวัน มองพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) ที่คนไม่ยอมออก ให้เป็นพื้นที่สุขใจที่ให้ทั้งผลงานและความสุข
คำแนะนำคือ คนเราต้องมีชีวิตอยู่ในพื้นที่สุขสบาย (comfort zone) และทำให้พื้นที่สุขสบายนั้น เป็นพื้นที่แห่งผลงาน พื้นที่สร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่พื้นที่สุขสบายแบบอยู่ไปวันๆ ไม่ทำอะไรที่แปลกใหม่และท้าทาย
เขาบอกว่าคนเรามีพื้นที่ดำรงชีวิจตได้ ๓ แบบ คือพื้นที่เพื่อการมีชีวิตรอด (survival zone) พื้นที่ชะล่าใจ (comfort zone) และพื้นที่สุขใจอยู่ในความลื่นไหล (flow zone)
ชีวิตในพื้นที่เพื่อชีวิตรอด อยู่กับการต่อสู้กับความกลัว ความเครียด และความไม่แน่นอน การตัดสินใจอยู่กับปัญหาระยะสั้น ซึ่งมักส่งผลเสียต่อสุขภาพ และความมั่นคงระยะยาว หลายคนมีตำแหน่งหน้าที่สูง รายได้ดี แต่ดำรงชีพอยู่ในพื้นที่เพื่อชีวิตรอด
ผู้อยู่ในพื้นที่ชะล่าใจ หมดเรี่ยวหมดแรง ซังกะตายที่จะมีชีวิตอยู่ เป็นชีวิตที่ “หมดไฟ” (burnout) ผมแปลกใจมากที่เขาเรียกคนแบบนี้ว่าอยู่ใน comfort zone
ยิ่งแปลกใจ ที่เขาแนะนำว่าอย่าพยายามออกจากพื้นที่ทั้งสองแบบนี้ แต่ให้พักผ่อน (rest) สะท้อนคิด (reflect) และฟื้นฟู (restore) ตนเอง เพื่อหลุดจากสาเหตุที่เป็นรากฐานของพื้นที่ทั้งสองแบบ คือความกังวล ความกลัว การตัดสินตนเอง และขาดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และทำความเข้าใจว่า การมีชีวิตอยู่ในพื้นที่แห่งความสุขเป็นอย่างไร
โดยนึกถึงความรู้สึกตอนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จ แล้วตนเองเกิดความรู้สึกดี ลิงโลด มีความสุข ให้นึกถึงความตื่นเต้น หรือความสุขที่เอิบอาบไปทั่วร่าง นั่นคือ เราเข้าไปอยู่ใน พื้นที่สุขใจอยู่ในความลื่นไหล (flow zone) เป็นการชั่วคราว โดยพลังขับเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่นั้นคือ เป้าหมายสูงส่ง (purpose) และพลังแห่งความหลงใหล (passion)
นี่คือพื้นที่ปลอดภัยทางใจที่นำสู่การเรียนรู้และการสร้างสรรค์ คนเราต้องรู้จักสร้างและขยายพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สุขใจ ให้ตนเองใช้บรรลุผลที่ยิ่งใหญ่ ใช้ความสำเร็จ ปิติสุขที่เกิดจากความสำเร็จ เป็นปุ๋ยขยายพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สุขใจ สำหรับทำงานรับใช้เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ที่เลยจากผลประโยชน์ของตนเอง เป็นพื้นที่ที่ทำงานอย่างเพลิดเพลิน เวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว ที่ Mihaly Csikszentmihalyi เสนอไว้ในหนังสือ Flow : The Psychology of Engagement with Everyday Life ที่ผมตีความเสนอไว้ที่ (๑)
ทั้งหมดนั้น ผมตีความว่า มนุษย์เราสร้างพื้นที่สุขใจให้แก่ตนเองได้ โดยสร้างระบบนิเวศในชีวิตที่อบอวลด้วย จิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) กระบวนทัศน์เชิงบวก (positive mindset)
วิจารณ์ พานิช
๑๙ ก.ค. ๖๖
ไม่มีความเห็น