ในการบรรยายพิเศษ ครูแถแพ้ไม่เป็น ของครูมะนาว ศุภวัจน์ พรมตัน เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๖ เล่าวาทกรรมและพฤติกรรมในชีวิตการทำงานของครู ที่ครูมะนาวสะอึกและตั้งคำถามต่อตัวเองเรื่อยมาจนปัจจุบัน ตอนหนึ่งครูมะนาวตั้งคำถามว่า ทำไมสิ่งที่เราทำ แม้มันจะโดดเด่นในสายตาคนทั่วไป แต่ทำไม่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานทางวิชาการได้ นำสู่การสะท้อนคิดของผม ลงในบันทึกนี้
เพราะวงการวิชาการ ต้องการ “หลักฐานทางวิชาการ” (academic evidence) ที่ต้องนำเสนอตามจารีตวิชาการ หลักฐานตามสายตาคนทั่วไป เรียกว่า “หลักฐานในโลกแห่งความเป็นจริง” (real-world evidence) เพิ่งจะเริ่มได้รับการยอมรับในโลกวิชาการด้านการแพทย์เมื่อเร็วๆ นี้เองในโลกตะวันตก (๑)
วงการเศรษฐศาสตร์มีการพัฒนา Credibility Revolution ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2021 จากผลงาน natural experiment เป็นผลงานวิชาการจากโลกแห่งความเป็นจริงของวงการเศรษฐศาสตร์
หากยึดตามแนวของวงการ และจากวงการเศรษฐศาสตร์ ดังกล่าว ผลงานของครูมะนาวก็น่าจะได้รับการยอมรับ โดยต้องมีการนำหลักฐานไปเสนอ มีตัวอย่างที่ มช. (gotoknow.org/posts/714099) ที่ฝ่ายบริหารช่วยอาจารย์ให้นำผลงานในโลกแห่งความเป็นจริง สู่การได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ปฏิบัติ
หากวงการศึกษา มีกระบวนทัศน์อย่างที่ผู้บริหาร มช. มี ครูมะนาวก็จะใช้ผลงานที่คนทั่วไปเห็นและชื่นชมสู่การเลื่อนวิทยะฐานะครูได้
จะให้ง่ายขึ้น ครูที่มีผลงานแบบครูมะนาว ควรสร้างหลักฐาน ที่ใกล้เคียงกับผลงานวิชาการที่หน่วยงานต้นสังกัดกำหนด ออกเผยแพร่ ซึ่งเมื่อเข้าไปค้นด้วย Google ก็พบว่ามีมากมายอยู่แล้ว ข้อสะท้อนคิดของผมจึงอยู่ที่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้บริหารระบบวิทยะฐานะครู ให้ยอมรับหลักฐานในโลกแห่งความเป็นจริง โดยมีวิธีการตรวจสอบแยกผลงานที่เป็นเพียง “ราคาคุย” ออกไป
ผมไม่มีความรู้ว่า แนวทางนี้เชื่อมกับ ว. PA ของ กสศ. ได้หรือไม่
ผมสะท้อนคิดต่อว่า กระบวนทัศน์ที่ต้องเปลี่ยนคือ การสร้างผลงานที่ตัวนักเรียนสู่การเลื่อนวิทยะฐานะไม่ใช่กิจส่วนตนเท่านั้น ต้องเป็นกิจส่วนรวม ที่ผู้บริหารต้องเอาใจใส่ เพราะมันเป็นพลังขับดันการทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ทำงานแบบผักชี อย่างที่ครูมะนาวเขียนไว้ในการบรรยายพิเศษ ครูแถแพ้ไม่เป็น
ข้อสะท้อนคิดเชิงคำถามคือ ระบบให้คุณให้โทษด้านความก้าวหน้าทางวิชาชีพที่แยกส่วนจากระบบการทำงาน แยก กคศ. ออกมาจากต้นสังกัด มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร น่าจะเป็นโจทย์วิจัยเชิงระบบที่สำคัญอีกโจทย์หนึ่ง ที่จริงคำบรรยายของครูมะนาว เต็มไปด้วยคำถาม หลายคำถามเป็นโจทย์วิจัยเชิงระบบ ... วิจัยระบบการศึกษา
วิจารณ์ พานิช
๕ ส.ค. ๖๖
ไม่มีความเห็น