ปกิณกธรรม


พระพุทธศาสนา เป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม

ปกิณกธรรม

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

พระพุทธศาสนา เป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม

          พระไตรปิฎกนั้น พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ 

๑.) พระวินัยปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า  อา ปา ม จุ ป) คือ 

๑. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต

๒. ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด

๓. มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน 

๔. จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย ๑๒ ขันธกะ 

๕. ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย

๒.) พระสุตตันตปิฎก ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) คือ

๑. ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ๓๔ สูตร 

๒. มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร 

๓. สังยุตตนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม ๕๖ สังยุตต์ มี ๗,๗๖๒ สูตร 

๔. อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร 

๕. ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้มี ๑๕ คัมภีร์

๓.) พระอภิธรรมปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ 

๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ

๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด 

๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ 

๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ

๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓

๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ 

๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย ๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร

การนำบทความต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกที่นำมาเผยแพร่นั้น เพราะอ่านแล้วได้รับความรู้เพิ่มเติมในทางพระพุทธศาสนาว่า เรื่องราวเหล่านี้มีปรากฏมานานแล้ว ตั้งแต่การทำปฐมสังคายนา โดยในสมัยแรกนั้นเป็นการท่องจำของสำนักต่าง ๆ ของพระภิกษุสงฆ์ที่รับผิดชอบเป็นหมวด ๆ ไป จนกระทั่งมีการทำสังคายนาต่อมาอีกหลายครา จนกระทั่งเริ่มมีการบันทึกเป็นอักษรขึ้นมาจารึกไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ แพร่ไปในหลากหลายประเทศที่มีการนับถือพุทธศาสนา ที่ปรากฏโดยมากเป็นภาษาบาลีสะกดตามภาษาที่ใช้ในท้องที่นั้น ๆ การศึกษาหรือการน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ด้วยความเคารพและด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแท้จริง ย่อมนำประโยชน์ให้เกิดกับผู้นั้นและผู้ที่เกี่ยวข้อง 

ในประเทศไทยจากความรู้ดั้งเดิมในพระไตรปิฎกที่เคยรู้มานั้น แต่ก่อนบันทึกในแผ่นใบลานและจารึกพระไตรปิฎกภาษาบาลีนั้นไว้เป็นอักษรขอม ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ผู้ปรารถนาจะรู้เรื่องราวที่มีอยู่ในใบลานนั้น จะต้องเรียนรู้เรื่องภาษาขอมก่อน แล้วจึงค่อยเรียนรู้ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ตายแล้ว หมายถึงไม่มีการใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในประเทศใด ๆ ในโลกนี้ มีข้อดีคือไม่มีการพัฒนาของภาษาที่จะทำให้เกิดการวิวัฒนาการทำให้ความหมายที่แท้จริงแปรเปลี่ยนไป มีหลักไวยากรณ์ที่เป็นของตนเอง มีความหมายที่ไม่แปรเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย 

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยขึ้นมา แล้วแจกจ่ายไปตามวัดวาอารามต่าง ๆ และได้ให้เป็นบรรณาการแก่ห้องสมุดในประเทศตะวันตกด้วย ทำให้ผู้ต้องการศึกษาพระไตรปิฎกไม่ต้องเรียนรู้ภาษาขอมก่อน 

ต่อมาในสมัยกึ่งพุทธกาล ในประเทศไทย ได้มีการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย โดยพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยหลายสำนัก ทั้งฉบับหลวงและฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มีจำนวน ๔๕ เล่ม ทำให้พระภิกษุสงฆ์และประชาชนชาวไทยที่สนใจในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สามารถเข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ได้มีจำนวนมากขึ้น และพุทธบริษัทที่มีความศรัทธาต้องการสืบพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน มักนิยมซื้อพระไตรปิฎกถวายให้กับวัดวาอารามต่างๆ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ บ้างก็ถวายพร้อมตู้เก็บพระไตรปิฎกพร้อมกันไปด้วยเลย

ในยุคสมัยปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าเของเทคโนโลยี จึงได้มีการจัดเก็บพระไตรปิฎกในรูปของอิเล็คโทรนิค เช่นจัดเก็บในแผ่นซีดี หรือในสื่อต่าง ๆ ของโลกสังคมออนไลน์ ทำให้การค้นคว้าคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาเป็นไปอย่างกว้างขวางและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่ง แต่ถ้าหากมีการสำเนาคำสั่งสอนในพระไตรปิฎกที่เกิดความคลาดเคลื่อนโดยไม่ได้ตั้งใจก็ดี อาจทำให้เกิดความผิดเพี้ยนไปได้ ซึ่งอาจเป็นข้อเสียได้ ดังนั้นผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อ ควรมีการอ้างอิงแหล่งที่มาให้ชัดเจน เพื่อผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมสามารถยืนยันกับแหล่งที่มาได้เสมอ

-------------------

 

บทสวดนมัสการพระพุทธเจ้า 

"นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ"

แปลโดยรวมว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง 

จากข้อสังเกตในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เมื่อกล่าวถึงชื่อพระพุทธพจน์หมวดวินัย พุทธพจน์หมวดพระสูตร หรือพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม ก่อนที่จะบรรยายพุทธพจน์หมวดนั้น ๆ ก็จะตั้งนะโมฯ ก่อนเสมอ และในเวลาที่พุทธบริษัทสวดมนต์ มักจะมีการสวดขึ้นต้นว่า นะโมตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ๓ จบ แล้วบทสวดนะโมฯ นี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร จากการค้นหาพบว่ามีการอ้างถึงต่อ ๆ กันมาดังนี้ว่า 

ผู้กล่าวบท นะโม ครั้งแรกในโลก ได้แก่
๑. นะโม …สาตาคิริยักษ์
๒. ตัสสะ …อสุรินทร์ราหู
๓. ภควโต…ท้าวจาตุมหาราช “ทรงเปล่งเสียงพร้อมกันทั้งสี่พระองค์”
๔. อรหโต …ท้าวสักกะจอมเทพ
๕. สัมมาสัมพุทธัสสะ …ท้าวสหัมบดีพรหม
ดังคำบาลีว่า 
นโม สาตาคิริยกฺโข               ตสฺส อสุรินฺโท 

ภควโต จาตุมหาราชา            อรหโต สกฺโก 

สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส                 มหาพฺรหฺมา

มีเรื่องเล่าว่า ณ แดนหิมวันต์ประเทศ มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นรมณียสถาน ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ภุมเทวา อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าหิมวันต์ทางทิศเหนือ สาตาคิรียักษ์มีโอกาสสดับพระสัทธรรมจากพระบรมศาสดาจนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า "นะโม" หมายถึง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นใหญ่กว่ามนุษย์ เทพยดา พรหม มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง

ฝ่าย อสุรินทราหู เมื่อได้สดับพระกิตติศัพท์ของพระบรมศาสดา ก็ปรารถนาที่จะฟังธรรมบ้าง แต่เนื่องจากกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงดูแคลนพระบรมศาสดาว่ามีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่ นานวันเข้าพระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยิ่งขจรขจายไป ทำให้ทนรออยู่ไม่ไหว จึงเหาะมาและตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกายไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอฟังธรรม แต่พอมาถึงที่ประทับ อสุรินทราหูกลับต้องแหงนหน้า คอตั้งบ่า เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา (พระพุทธองค์ประทับอยู่ในท่าบรรทมตะแคงขวา พระกรซ้ายทอดยาวแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาประคองพระเศียรตั้งขึ้น จึงมีการสร้างพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหูในกาลต่อมา และเป็นพระพุทธรูปประจำวันอังคาร) ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง แสดงพระสัทธรรมชำระจิตอันหยาบกระด้างของอสุรินทราหูจนมีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า "ตัสสะ" แปลว่า ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ

เมื่อครั้งที่ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรกพร้อมบริวารพากันเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วทูลถามปัญหา พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมตอบปัญหาจนทำให้มหาราชทั้งสี่และบริวารเกิดธรรมจักษุ ทั้ง ๔ ท่านจึงเปล่งคำบูชาสาธุการพร้อมกันขึ้นว่า "ภะคะวะโต" แปลว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

"อะระหะโต" เป็นคำกล่าวสรรเสริญของ ท้าวสักกเทวราช ผู้สถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกเทวราชได้ทูลถามปัญหา ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสปริยายธรรมและทรงตอบปัญหาจนทำให้ท้าวสักกเทวราชได้ดวงตาเห็นธรรม จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า "อะระหะโต" แปลว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง

"สัมมาสัมพุทธัสสะ" เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญของ ท้าวมหาพรหม หลังจากได้ฟังธรรมจนบังเกิดธรรมจักษุ จึงเปล่งคำสาธุการ "สัมมาสัมพุทธัสสะ" หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระองค์เอง ทรงรู้ดี รู้จริง รู้ยิ่งกว่าผู้รู้อื่นใด 
          "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" จึงแปลโดยรวมว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้โบราณท่านจึงว่า หากขึ้นต้นคาถาหรือบทสวดมนต์ใด ๆ ด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ คาถานั้นจะมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ด้วยเพราะเป็นคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่มีเทพพรหมชั้นหัวหน้าได้กล่าวไว้ แรงครูหรือแรงแห่งเทพพรหม และแรงพระรัตนตรัย ท่านจึงประสิทธิ์ให้สมประสงค์

อานิสงส์การสวดบทนมัสการพระพุทธเจ้า

๑. น้อมใจจนให้เกิดความกตัญญูกตเวที รู้อุปการคุณที่พระพุทธเจ้ามีต่อตน ให้รู้สึกว่าตนได้ดิบได้ดี อยู่เย็นเป็นสุข ไกลทุกข์เดือดร้อน ก็เพราะมีพระพุทธเจ้าสอนไว้ ให้มีใจปฏิบัติตาม
๒. ให้รู้สึกว่าได้คบหาสมาคมกับพระพุทธเจ้าด้วยใจ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของใจ นึกถึงพระพุทธเจ้าครั้งใด พระพุทธเจ้าก็ปรากฏที่ใจทุกครั้ง
๓. ให้การปฏิบัตินั้นสำเร็จเป็นปฏิบัติตามพระพุทธองค์ ย่อมได้เป็นผู้เบิกบาน หายงมงาย ชนเหล่าใดระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นสาวกของพระโคดมบรมศาสดา ตื่นอยู่ด้วยดีในกาลทุกเมื่อ

------------------------------------------

 

 

หมายเลขบันทึก: 712955เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2023 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2023 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท