ยำใหญ่การเมืองไทย : ควันหลงการเลือกตั้ง 2566


ยำใหญ่การเมืองไทย : ควันหลงการเลือกตั้ง 2566

26 พฤษภาคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

ควันหลงการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 

สถานการณ์การเมืองไทยน่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี ขอให้เป็นทางดีทั้งนั้นเป็นใช้ได้ อันเป็นผลมาจากกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับ คสช.ที่มีอำนาจ ส.ว.250 คน และเมื่อมีการใช้กติกาใหม่ “การเลือกตั้งบัตรสองใบ” แม้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะเป็นที่ทราบจำนวนเสียงส่วนใหญ่ตามครรลองประชาธิปไตยว่า ขั้วอำนาจการเมืองฝ่ายใด พรรคใดจะเป็นผู้ประสานฟอร์มรัฐบาลก็ตาม แต่ปรากฏการณ์ในหลายๆ ประการที่ผ่านมา และที่กำลังเป็นประเด็นถกวิพากษ์กัน ยิ่งบานปลายออกไปด้วยทิฐิของสองขั้ว(ฝ่าย) ที่อาจมีบางขั้วยังเหนียวแน่นตกขอบสุดโต่ง ไม่ยอมรับการประนีประนอม ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ความวุ่นวายในสังคมได้ เพราะฉันทามติจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายขั้วประชาธิปไตย หรือฝ่ายเสรีนิยม (Liberal) ได้รับคะแนนนิยม (popular vote) มากถึงกว่า 26 ล้านเสียง จากผู้มาลงคะแนนทั้งสิ้น 39,293,867 คน[2] ซึ่งเกินกว่าครึ่งคิดเป็นร้อยละ 66 ของผู้มาใช้สิทธิ โดยไม่ได้คิดร้อยละจากยอดประชากรบุคคลสัญชาติไทยทั้งหมด 65,106,481 คน[3] หรือ คิดจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,238,594 คน ซึ่งมียอดผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 75.22[4] ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เพราะบางคนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และบางคนไม่ได้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือมาใช้สิทธิแต่ไม่ลงคะแนน หรือเป็นบัตรเสีย ในภาพรวมพบว่า[5] มีการฉีกบัตร 24 ราย จำหน่ายสุราบริเวณเขตเลือกตั้ง 7 ราย และถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่มีการลงคะแนนแล้ว 4 ราย และคำร้องจนถึงเวลา 9.00 น. ขณะนี้ มี 168 เรื่องประกอบไปด้วย การซื้อเสียง 59 เรื่อง การหลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ 18 เรื่อง และอื่นๆ

แม้จะมีข่าวที่กล่าวหาถึงข้อผิดพลาดบกพร่องต่างๆ ในการเลือกตั้งในครั้งนี้บ้าง ก็คงถือเป็นบทเรียนเพื่อการแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป ไม่ว่า กรณีการเลือกตั้งล่วงหน้า (สำหรับคนในและนอกเขตเลือกตั้ง) และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่มีจำนวนมากถึง 2.3 ล้านคน[6] หรือ การรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ หรือ การป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียง (Vote Buying) หรือ ข่าวการทำลายป้ายหาเสียง เป็นต้น ตามกติกาเบื้องต้นของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตามกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง ที่ถอยไปใช้แบบปี 2543 ตามกติกาบัตรเลือกตั้งสองใบ ที่ต่างจากการเลือกตั้งบัตรใบเดียวคราวที่แล้ว (ปี 2562) ที่กาเลือกคนเลือกพรรคไปพร้อมกัน กล่าวคือ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ พรรคการเมืองไทย ทั้งหมด 67 พรรค ส่งเสริมพรรคใหญ่โต ส่วนพรรคเล็กตาย รวมทั้ง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรมแก่คนรุ่นใหม่ เพราะ สัดส่วนคะแนน บัญชีรายชื่อ มีจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คนจากเดิม 150 คน คิดจากสัดส่วนจำนวน ส.ส.พึงมี จำนวนคะแนนที่คาดไว้ในครั้งนี้ คือ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนต่อคะแนนเสียงประมาณ 3.5 แสน

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับขั้วฝ่ายการเมืองที่หาเสียงในพื้นที่ เช่น (1) บางเขตเป็นฐานอำนาจของพรรคฝ่ายรัฐบาลแต่มีผู้สมัครขั้วฝ่ายรัฐบาลต่างแย่งชิงคะแนนกันเอง (2) กระแสคะแนนนิยมในพื้นที่ฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายก้าวหน้าพบว่าก่อนวันเลือกตั้งมีเสียงดีขึ้น ด้วยฐานเสียงเดิมในพื้นที่หนุน เช่นจากกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เป็นตัวแปรในพื้นที่ เช่นในจังหวัดบุรีรัมย์ (3) ผู้สมัคร ส.ส.บางคนในพื้นที่แม้จะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีบ้าง แต่หากยังคงมีมาตรฐานในการดูแลช่วยเหลือประชาชน มีใจรักอำนาจตำแหน่งทางสังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอก็พอจะยังคงรักษาฐานเสียงไว้ได้ (4) ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมมีลมและฝนในบางพื้นที่ ทำให้ป้ายหาเสียงต่างๆ เสียหายล้มมาก 

 

การเมืองที่เอาชนะกันด้วยไหวพริบ ชิงดีชิงเด่น 

การเลือกตั้งคือการต่อสู้ของสองฝ่าย คือ กระแสพรรคฝ่ายประชาธิปไตย (Liberal) โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า (Progressive) ที่มาแรง เอาชนะฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายอำนาจรัฐ (ฝ่ายรัฐบาล) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์ (Conservative) และเรียกตัวเองว่าเป็น “Neoconservative” [7] (พวกฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่ หรือพวกนวอนุรักษ์นิยม) ซึ่งสมัยก่อนเป็นการต่อสู้ของ “พรรคฝ่ายเทพ กับพรรคฝ่ายมาร” เพื่อเอาชนะกันด้วยไหวพริบ ชิงดีชิงเด่น ต่างๆ นานา ทั้งในแบบ นอกแบบ และเล่ห์เหลี่ยม ค้านหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย หลักสากล และค้านสายตากองเชียร์ แต่อาจสะใจกองแช่งก็ได้ เพราะการเมืองเป็นต่อสู้กันเพื่อให้มาซึ่งอำนาจ ในทุกวิถีทาง โดยเฉพาะในฝ่าย “อธรรม” 

ประเด็นคือ เป็นพัฒนาการเมืองโดยการนำเสนอนโยบายพัฒนาบ้านเมือง เพื่อการทำประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ เสนอแก้ไขปัญหาปากท้อง หรือ ความเหลื่อมล้ำ แก้แล้วจะดีขึ้น หรือลดปัญหาความวุ่นวายได้อย่างไร ด้วยการนำเสนอนโยบายที่โดนๆ ตรงใจชาวบ้าน ซึ่งต้องแยกแยะระหว่าง “นโยบายประชานิยม[8] กับการสงเคราะห์เกื้อกูล” [9] ที่ต่างกันด้วย เช่น 

(1) พรรคการเมืองขยันดีเบต เสนอนโยบายที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก พรรคกล่าวพูดถึงส่วนตนเองน้อย คือเอาตนเองและพรรคไว้ทีหลัง ที่ตรงข้ามพรรคเก่าๆ ที่เต็มได้อัตตาเอาตนเองเป็นที่ตั้ง (2) นโยบายจะเข้าไปตรวจสอบแก้ไขปรับปรุงกระบวนงานของหน่วยบริการสาธารณะที่ชัดเจน เช่น การพลังงาน (3) ความสำเร็จของพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลผ่านมา มักได้คะแนนเสียงจากกระแสโซเชียล ที่ได้กดดันฝ่ายรัฐบาลให้เลือกดำเนินการ แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ ด้วยระยะเวลาการบริหารงานที่ยาวนานมาถึงกว่า 8 ปี (4) พบว่ามีการใช้หัวคะแนนจัดตั้ง และหัวคะแนนที่เป็นคนของรัฐเช่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้มีการ “หัวคะแนนธรรมชาติ” [10] มากขึ้น โดยเฉพาะการโน้มน้าวจูงใจพ่อแม่ญาติพี่น้องจากบรรดาลูกหลานกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือจากเครือข่ายและเส้นสายคอนเนกชั่นในทุกๆ ด้าน (5) กระแส “นกแล” [11] หรือผู้สมัคร ส.ส.เขตหน้าใหม่ที่ไม่มีชื่อเสียง หรือมีบารมีอิทธิพลน้อย ได้รับการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่หักปากกาเซียนทุกสำนักโพล ที่ฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งแบบฟ้าถล่ม (Sky Fall) [12] (6) พรรคการเมืองมีการใช้เทคนิคข้อมูลคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีมาช่วย ทั้งในแชต ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ตามมาตรา 70[13] “การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดนับตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุด วันเลือกตั้ง” ซึ่งย่อมได้เปรียบทางการเมืองกว่า เช่น พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้าใช้สื่อออนไลน์เพื่อการเข้าถึงแก่กลุ่มผู้เลือกตั้ง (Voters) [14] มากที่สุด เพราะปัจจุบันโลกโซเชี่ยลได้ disrupt เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โซเซียลทำให้คนต่างประเทศกับคนในประเทศต่างก็รู้ความเคลื่อนไหวโลกต่างๆ พอกันเท่ากัน (7) “การเมืองแบบบ้านใหญ่” (dynasty politics) [15]หรือพวกตระกูลการเมือง จากรุ่นสู่รุ่นในวงศ์ตระกูลผู้นำทางการเมือง ที่สืบทอด ผูกขาดจากรุ่นสู่รุ่น (สถาบันพระปกเกล้าแจงไว้ใน 12 จังหวัด) [16] หายไปเยอะ แต่นักวิชาการเตือนว่า การใช้คำว่า “การเมืองแบบบ้านใหญ่” ในความหมายตามนิยามที่แท้จริงนั้นมีหลายปัจจัย ที่ไทยนำมาใช้อาจไม่ตรงตามนิยามความหมายที่แท้จริง จึงขอให้ระมัดระวังในการใช้ศัพท์คำนี้ด้วย (8) เป็นสร้างปรากฏการณ์ใหม่ “วัฒนธรรมประชาชนร่วมจับตานับคะแนน” โดย เครือข่ายอาสาจับตาการเลือกตั้ง[17] ซึ่งประกอบด้วย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อให้การนับคะแนนถูกต้องโปร่งใส และเรียกร้อง กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง (รับรองผล) ก่อน 60 วันเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้เร็วขึ้น มีการพบปัญหาหน้าหน่วยเลือกตั้งหน้ารวมถึง 357 กรณี[18] เช่น ทักท้วงนับคะแนนเลือกตั้งชลบุรี (เขต 1 แสนสุข) [19] ไม่เจาะรูบัตรที่นับคะแนนแล้ว (9) มีข่าวบัตรเขย่งประชาชนขวางย้ายหีบเลือกตั้ง ปมพบบัตรเขย่งหลายพันใบที่จ.ชลบุรี[20] แต่ ผอ.กกต.จังหวัด ชี้แจงว่า เป็นการพิมพ์ผิดที่คลาดเคลื่อนไป (10) ข่าวชี้โพรงให้กระรอกของอดีต กกต.ท่านหนึ่งว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองที่อาจถูกยุบพรรคได้ถึง 4 พรรค[21] (11) บรรดาขั้วการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายขวา และสลิ่ม รวมนักวิชาการหลายราย ต่างออกมาด่า มาด้อยค่านโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะ นโยบายแจกเงินดิจิทัลของ พรรคเพื่อไทย (พท.) ทั้งๆ ที่พรรคฝ่ายอนุรักษ์ ก็มีนโยบายประชานิยมด้วยเช่นกัน ปัญหาคือ ใครจะมาตัดสินว่า นโยบายประชานิยมนั้นมันผิด มันทำไม่ได้ มันหลอกลวง เพราะ กกต. ไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ และมีผู้มองว่า สถานนะ กกต. “เป็นกลางเพียงใด”

 

ประเด็นการทำโพลการเลือกตั้ง

มีข้อวิพากษ์บ้างสักเล็กน้อย เนื่องจากมีการหักปากกาเซียนโพลตามที่กล่าวข้างต้น กฎหมายให้ทำโพลการเลือกตั้งได้เหมือนการหาเสียง แต่ห้ามฝ่าฝืนกฎหมาย การทำโพลโดยการจูงใจให้เข้าใจผิดในความนิยม หลัง 30 วันผู้เสียหายฟ้องได้ สำนักโพลก็ทำได้ แต่อย่าทำผิดกฎหมาย ทำโพลไม่เปิดเผยก็ได้ แต่หากจะเปิดเผยผลโพลผู้ทำโพลต้องมั่นใจ ห้ามใส่ความกัน โพลภายในไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ไปบอกใคร 

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 72[22] “การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นำ หรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจะกระทำมิได้” มาตรา 73(5) [23]“ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ (5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง”

 

การเมืองใต้อำนาจของคนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z 

พบว่าคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึง พลังเสียงของคน Gen Z อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 12.78 และ Gen Y อายุ 26-41 ปี ร้อยละ 28.87 ที่มีสัดส่วนในประชากรมากรวมกันถึงร้อยละ 41.67[24] แต่คน Gen Z ที่มีสิทธิเลือกตั้งจริงๆ มีเพียงจำนวนประมาณ 6.6 ล้าน เพราะที่เหลือยังเป็นเด็ก ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 

เรื่องนี้มีนัยยะว่าอะไรที่มีผลมีอิทธิพลต่อกระแสความนึกคิดของคุณรุ่น Gen Z และ Gen Y มากที่สุด[25] ลองมาดูเกร็ดข่าวดราม่าหนังสือแบบเรียนเด็กชั้นประถมศึกษา หนังสือหัดอ่านเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่รัฐได้มีการปรับปรุงตำราเรียน ไม่ให้ล้าสมัย แน่นอนว่าตำราเรียนหัดอ่านสำหรับเด็กประถมนี้ย่อมมีอิทธิพล มีวิวัฒนาการมาหลายยุค ลองย้อนหลังดู[26] คือ (1) “เด็กชายใหม่รักหมู่เป็นเด็กดี” ยุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 ตำราปี 2521-2537 (2) “มานีมานะปิติชูใจ” ยุคหลัง พฤษภาทมิฬ 2535 ตำราปี 2538-2554 และ (3) “ภาษาพาที” ในยุคสุดท้ายล่าสุดยุคหลังวิกฤตสีเสื้อ ตำราปี 2555-ปัจจุบัน ที่สะท้อนให้เห็นว่า ตำราการศึกษาเพื่อการปลูกฝังเด็กไทยมีวาทกรรมปรัชญาการเมืองแอบแฝงไว้ด้วยตามยุคสมัยนั้นๆ วาทกรรมไข่ต้มครึ่งซีกกับน้ำปลา[27] จึงมีจุดให้นำมาวิพากษ์กันสนุก เพราะโลกปัจจุบัน มันหมดสมัยการโฆษณาชวนเชื่อเหมือนในยุคสงครามเย็นไปแล้ว

ขอยกตัวอย่างความเข้าใจคลาดเคลื่อนในแนวทางการพัฒนาแบบพอเพียง เพียงบางประเด็นเช่น (1) คำว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) [28] ตามนัยยะที่แท้จริงคือ “ความมั่งมีจนอุดมสมบูรณ์ จนต้องออกปากออกมาว่า พอแล้ว ไม่เอาแล้ว มีเหลือกิน เหลือใช้ มีเหลือจนต้องเก็บออม” แต่ที่ผ่านมาการแปลความตีความคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงกลับทางว่า คือ ใช้คำว่า “พอตัว”(เจียมตัว) มาแทน เป็นความยากลำบาก ความแร้นแค้น ความเป็นอยู่อย่างทุกข์ยากขัดสน กินอดๆ อยากๆ กินน้อยพอตัว จงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง ไม่คิดต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิตไม่มีการขวนขวย ขาดการกระตือรือร้นต่อสู้ชีวิต จำนนต่อโชคชะตา ด้วยปัจจัยการผลิตและทุนที่มีน้อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมากมานานแล้ว เพราะ “ครอบครัวที่มั่นคงจะเป็นพื้นฐานการเมืองที่มั่นคง” (2) เด็กรุ่นก่อนๆ ยังไม่มีปัญหาในวาทกรรมแนวคิดต่างๆ มาแผ้วพาลนัก เพราะโลกกระแสโซเซียลยังไม่มี ที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ในรุ่นหลังๆ มักมีคำถามผู้ใหญ่มากขึ้น การปล่อยปละละเลยการพัฒนาเศรษฐกิจให้จมให้จน แต่ให้รู้จักพอเพียง แล้วปลุกจิตสำนึกว่าเป็นบุญคุณจากการที่รัฐได้ทุ่มเทเข้าไปแก้ไขให้แล้ว เช่นในรอบตั้งแต่ 50 ปีที่ผ่านมา[29] ที่จะพบเห็นได้ในตำราแบบเรียนหัดอ่านของเด็กประถมศึกษา นัยว่าเป็นแบบเดิมๆ เป็นพิมพ์เดียวกันมาตลอดเพียงแต่ต่างช่วงยุคเวลากันเท่านั้น นี่อาจเป็นประเด็นว่าการศึกษาไทยควรต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน (3) การสอนให้ประชาชนพอเพียงแต่ “ชนชั้นนำ” (elite) [30] รวมทั้งบรรดาข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ทั้งชั้นสูงและทั่วไป มีทัศนคติการดำเนินชีวิตที่พอเพียงบ้างหรือไม่ ในการเปรียบเทียบชีวิตกับชาวบ้านทั่วไป มันต้องตั้งอยู่บนหลักความจริงด้วยเป็น “ความพอเพียงที่ไม่มีอยู่จริง” ที่จริงหนังสือเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อการสอนการอ่านออกการเขียนได้ และมีภาพที่เหมือนกับชีวิตจริงทั่วไป ณ สังคมในห้วงเวลานั้นๆ เพื่อจะได้ ไปเรียนรู้ในขั้นการศึกษาต่อไป หากมองในด้านบวกคิดเพียงแค่นี้ก็จบไม่มีเดือดร้อนอะไร เพราะเขาให้เรียนรู้ อ่านออก เขียนได้ 

 

ปัญหาการฟอร์มรัฐบาลของที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด

โดยพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด กว่า 300 เสียง จาก 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร แต่มีปัญหาในการรวบรวบคะแนนเสียงข้างมากที่ตามกรอบรัฐธรรมนูญวางไว้ผิดหลักประชาธิปไตยสากล คือ กติกากำหนดให้วุฒิสมาชิก (สว.) 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย จึงทำให้คะแนนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ต้องได้คะแนนเสียงในรัฐสภา 376 เสียง จาก 750 เสียง[31] แต่นี่ “เป็นวาระแห่งชาติ” (National Agenda) [32] ไม่ใช่ประโยชน์ของคนใดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากรวมเสียง ส.ส.ได้ถึงจริง 376 เสียง ก็จะเป็นการทำการ “หลักดุลยภาพของพรรคฝ่ายค้าน” เป็นเสียงข้างมากที่เกินล้น ทำให้ระบบตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลขาดประสิทธิภาพได้ ที่นำมาซึ่งการถกเถียงและเสนอแนะกันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามเกมยื้อที่ ส.ว.จะไม่ลงคะแนนให้ผ่านก็เป็นไปได้ แม้ว่า อำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.250 คนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567[33] เพราะหมดวาระ 5 ปีก็ตาม ประเด็นการยื้อประวิงเวลาที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากลนี้ จึงไม่มีเหตุผลรองรับ

นอกจากนี้ข่าว กรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พรก.อุ้มหายที่ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปไม่มีผล[34] เป็นที่กังขาว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบในกรณีนี้อย่างไร เช่น การลาออก หรือการยุบสภา กรณีนี้ยุบสภาไม่ได้ เพราะยังไม่มีสภา ปลัดกระทรวงจะขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีในการบริหารประเทศได้อย่างไร เพราะมิใช่กรณีการเสนองบประมาณผิดและศาลพิพากษาให้ ครม. ทั้งหมดสิ้นสุดลง ตามมาตรา 142[35] แห่งรัฐธรรมนูญ

 

น่าเป็นบทพิสดารของการเมืองไทย คอยติดตาม 

 

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 2 มิถุนายน 2566, https://siamrath.co.th/n/451431 

[2]ดู “กกต.” เผยยอดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุด ร้อยละ 75.22 “ก้าวไกล-เพื่อไทย” กวาดส.ส.เขตเท่ากัน 112 ที่นั่ง สอบปม “พิธา” ถือหุ้น เป็นไปตามกระบวนการ, สยามรัฐออนไลน์, 15 พฤษภาคม 2566, 12:37 น., https://siamrath.co.th/n/447042 

[3]เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศ จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 จากเอกสารดังกล่าวพบว่าประเทศไทยมีประชากรรวมทั้งสิ้น 66,090,475 คน เป็นบุคคลสัญชาติไทย 65,106,481 คน แบ่งออกเป็นเพศชาย 31,755,032 คน เพศหญิง 33,351,449 คน และไม่ใช่สัญชาติไทย 983,994 คน แบ่งเป็นเพศชาย 515,383 คน และเพศหญิง 468,411 คน

ดู เปิดสถิติประชากรไทยสิ้นปี 2565 กทม. ครองแชมป์สูงสุดกว่า 5 ล้านคน โดย พรลภัส วุฒิรัตนรักษ์, thestandard, 6 มกราคม 2566, https://thestandard.co/thailand-demographics-2565/

[4]เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่รายงานผลการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป ปี 2566 อย่างเป็นทางการ 100 เปอร์เซ็นต์ ผ่านเว็บไซต์ www.ectreport.com สรุปมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 39,514,973 คน คิดเป็นร้อยละ 75.71 จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,195,920 คน โดยการนับคะแนนส.ส.แบบแบ่งเขต เป็นบัตรดี 37,190,071 ใบ คิดเป็นร้อยละ 94.12 บัตรเสีย 1,457,899 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.69 บัตร ไม่เลือกผู้ใด 866,885 ใบ คิดเป็นร้อยละ 2.19

ดู สยามรัฐออนไลน์, 15 พฤษภาคม 2566, อ้างแล้ว & เลือกตั้ง 2566 : กกต. รายงานผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก.ก. เหลือ 151 ส.ส. ส่วน ปชป. ได้เพิ่มเป็น 25 ส่งจุรินทร์ผ่านคุณสมบัติเป็นนายกฯ, BBC Thai, 25 พฤษภาคม 2566, 

https://www.bbc.com/thai/articles/c1d34xlzvrlo & กกต. รายงานผลเลือกตั้ง 66 อย่างเป็นทางการ ลงเว็บไซต์แล้ว รอตรวจสอบก่อนประกาศผล, มติชน, 25 พฤษภาคม 2566, 15:11 น., https://www.matichon.co.th/politics/news_3997179 

[5]ดู สยามรัฐออนไลน์, 15 พฤษภาคม 2566, อ้างแล้ว 

[6]ในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามีจำนวนกว่า 2.3 ล้านราย โดยแยกเป็น (1) การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง 2,216,950 คน (2) การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง 18,880 คน (3) การลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 115,139 คน 

ดู เลือกตั้ง 2566 : Vote62 ชวนจับตา-รายงานความผิดปกติในการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. นี้ โดย THE STANDARD, 2 พฤษภาคม 2566, https://thestandard.co/vote62-invites-you-to-report-anomalies/

[7]กลุ่มอนุรักษ์นิยมทั่วโลกกำลังมีพลังมากขึ้น โดยแนวโน้มที่เกิดขึ้นคือกลุ่มคนทั้งรุ่นเก่า และใหม่ ต่างสนับสนุนการก้าวขึ้นมามีอำนาจของผู้นำฝ่ายขวา แนวคิดอนุรักษนิยม หรือ คติอนุรักษ์ (conservatism)โดยทั่วไปหมายถึงปรัชญาทางการเมืองที่ส่งเสริมสถาบันทางสังคมที่มีมาแต่เดิมในบริบทวัฒนธรรมและอารยธรรม (วิกิพีเดีย)

Neoconservatism หรือ Neocon หรือ พวกนวอนุรักษ์นิยม (Neoconservative)คือกลุ่มปัญญาชนในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 และค่อยๆ ขยายอิทธิพลเข้ามาเป็นทีมงานหรือคณะทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ และโดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือเหตุการณ์ 9/11 

ดู กว่าจะเป็น Neocon : ประวัติศาสตร์ย่นย่อของอนุรักษนิยมใหม่ในสหรัฐอเมริกา, โดย ชุติเดช เมธีชุติกุล, the101world, 15 สิงหาคม 2565, https://www.the101.world/neocon/ & อนุรักษ์นิยม : สามัญชนทำให้โลกเอียงขวามากขึ้น, BBC, ศ. ริชาร์ด ยังส์, คาร์เนกี ยุโรป, 6 พฤศจิกายน 2561, https://www.bbc.com/thai/international-46095135

[8]“นโยบายประชานิยม” (populism) หมายความว่า การเมืองจะเป็นยังไงไม่รู้ แต่การเมืองทำให้ได้เงินใช้ และ ก็เป็นจุดอ่อนที่นักการเมืองใช้เงินครอบงำชาวบ้าน ซึ่งนักวิชาการทั่วไปเห็นว่าไม่ดี ในไม่ช้าก็ต้องยุติมาตรการประชานิยมเพราะเงินคลังหมด ส่วนนักวิชาการอีกฝ่ายเห็นว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการกระจายเงิน ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ในประเทศไทยใช้อย่างเป็นรูปธรรมในสมัยรัฐบาลทักษิณ (ปี 2544-2549) 

เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ (2546) สรุปว่า “ประชานิยม” ก็คือ การเล่นการเมืองที่ใช้คนจนเป็นฐานอำนาจด้วยวิธีหยิบยื่นสิ่งของให้คนจน โดยพยายามปิดกั้นชนชั้น 

เป็นการใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ คนยากจนเป็นฐานเสียงในการขับเคลื่อนนโยบายทางการเมือง มุ่งเน้นที่ความนิยมชมชอบของประชาชนเป็นหลัก ทั้งมีนโยบายส่งเสริมหรือ สงเคราะห์ประชาชนชั้นล่าง เพื่อเป็นนโยบายที่นำไปสู่ชัยชนะของการเลือกตั้ง นโยบายประชานิยมมีหลากหลายรูปแบบที่ปรากฏ แต่จะมีลักษณะร่วมกันตรงที่การเป็นนโยบายที่มุ่งเอาอกเอาใจและสนองความต้องการ ความพึงพอใจของชาวบ้านคนรากหญ้า และคนทั่วไป

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร (2565) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายประชานิยม และนโยบายรัฐสวัสดิการ ว่าทั้ง 2 นโยบายนี้ เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร นโยบายประชานิยม คือ นโยบายอะไรก็แล้วแต่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศได้ พรรคการเมืองก็ต้องพยายามสำรวจว่าอะไรคือความต้องการของประชาชน แล้วก็เสนอนโยบายเพื่อให้ได้คะแนนเสียง ไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่น คิดอย่างเดียวครับว่า ทำอย่างไรจะทำให้ได้คะแนนเสียงและการตอบสนองความต้องการของประชาชน ในส่วนของรัฐบาล ก็จะอาจมีปัญหาเรื่องวินัยการเงินการคลังตามมา ส่วนนโยบายรัฐสวัสดิการ ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล พอๆ หรืออาจจะมากกว่านโยบายประชานิยมด้วยซ้ำ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นได้จริง ก็จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาประเทศให้เติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการประเมินคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ว่าควรจะเป็นอย่างไร อันนี้คือจุดเริ่มต้น คือหมายความว่า ไม่ได้ให้ทุกอย่าง แต่ถ้าคุณเป็นพลเมืองในประเทศนั้นๆ คุณภาพชีวิตพื้นฐานที่คุณควรจะได้รับมีอะไรบ้าง เรื่องที่ 2 ก็คือ การให้ดังกล่าวอาจไม่ใช่การให้เปล่า แต่พลเมืองในประเทศจะต้องมีส่วนร่วม เนื่องจากการทำรัฐสวัสดิการ ต้องใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาล ดังนั้นถ้าให้รัฐรับผิดชอบฝ่ายเดียว อาจจะไม่เกิดผลสำเร็จขึ้นมาได้ ข้อสังเกตก็คือ ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีๆ ในยุโรป หรือสแกนดิเนเวีย ที่เราบอกว่ามีสวัสดิการที่ดีมาก แต่ประชาชนในประเทศเหล่านั้นก็ต้องมีส่วนร่วมในการเสียภาษี หมายถึงในวัยที่คุณทำงานได้ คุณก็ต้องช่วยรัฐให้มีรายได้พอสมควร ดังนั้นการสร้างรัฐสวัสดิการจึงต้องคิดควบคู่ไปกับโครงสร้างระบบภาษีใหม่ เพื่อให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น ที่เพียงพอจะทำรัฐสวัสดิการได้ เพราะฉะนั้นรัฐสวัสดิการจะทำยากกว่าประชานิยม

ดู ประชานิยม ใครจ่ายมากกว่าใคร, YouTube, MCOT, 13 เมษายน 2566, https://m.youtube.com/watch?v=fANMifYtlKE

& ประชานิยม VS รัฐสวัสดิการ แตกต่างกันอย่างไร?, สัมภาษณ์ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร, SpringNews, 16 พฤศจิกายน 2565, https://www.springnews.co.th/news/news/832268

& แนวทางประชานิยม: ภาพสะท้อนแนวคิดทางการเมืองเชิงโครงสร้าง โดย ยุทธศาสตร์ หน่อแก้ว, เนติมา ใคร้มุก และพิกุล สุพนาม, 2563, https://so06.tci-thaijo.org/index.php/vrurdihsjournal/article/download/250732/171510/917334 

& กลยุทธ์การตลาดทางการเมืองของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยทรายคำ เปลวจันทร์, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (นิเทศศาสตร์และนวัตกรรม) คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2563, https://repository.nida.ac.th/bitstream/handle/662723737/5663/6121821010.pdf?sequence=1 

& แนวคิดประชานิยม: นโยบายทางการเมืองสู่การแก้ปัญหาตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน Populism, โดยภูริวัจน์ ปุณยวุฒิปรีดา (P Punyawutpreeda, 2563), วิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ในวารสารบัณฑิตแสงโคมคำ ปีที่ 5(1), พฤษภาคม 2563, หน้า 155-170, https://so03.tci-thaijo.org/index.php/saketreview/issue/download/16687/4434 & https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jsbs/article/download/242656/164640/839993

[9]“การสงเคราะห์เกื้อกูล” ในที่นี้หมายถึง การจัดระบบสวัสดิการ (welfare) ที่เป็นความมั่นคงของชีวิตที่ยืนยาว (social security) การสงเคราะห์เกื้อกูล การช่วยเหลือ บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้ยากไร้ ผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง หรือผู้ด้อยกว่า หรือต่อประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อันเป็นการแบ่งเบาภาระของบุคคลชุมชนและสังคม เป็น "รัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการของรัฐ" (welfare state) 

รัฐสวัสดิการ คือ “การที่รัฐดูแลประชาชนผ่านระบบภาษี โดยรัฐจะเป็นคนดูแลจัดหาสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้ครอบคลุมประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสด้านต่างๆ โดยที่มาของเงินที่ใช้มาจากภาษีที่เก็บจากประชาชนเป็นหลัก” (ดร. เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์) 

การสังคมสงเคราะห์กับสวัสดิการสังคม มักเป็นคำที่ใช้คู่กัน การช่วยเหลือกันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคคลที่ด้อยโอกาส หรือด้อยกว่า หรือให้แก่ทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน เป็น “สวัสดิการถ้วนหน้า”

เช่น ระบบประกันสังคม (Social Security) เป็นหนึ่งในบริการด้านสวัสดิการ ด้วยกองทุนประกันสังคม Social Insurance เช่นสำหรับคนแรงงาน เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางสังคม เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างคนในสังคม โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันจ่ายเงินสมทบ ตั้งเป็นกองทุนประกัน (Social Security Fund) คือ วิธีการให้หลักประกันความมั่นคงในทางเศรษฐกิจและรายได้แก่ บุคคลผู้มีอาชีพบางประเภทและครอบครัวในยามที่มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น

การสงเคราะห์ หมายถึงการช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่บุคคลต่างๆ ที่ประสบปัญหาความขาดแคลนอดอยากยากไร้ ทุพพลภาพ ชราภาพช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรือได้ยาก เด็กกำพร้าไร้ที่พึ่ง

สวัสดิการสังคม คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าโดยส่วนราชการหรือเอกชน ชุมชน เพื่อช่วยเหลือบุคคลครอบครัว กลุ่มคน และชุมชนให้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีมีสุขภาพและอยู่ในสภาพสังคมที่น่าพึงพอใจ โดยการช่วยเหลือนั้นจะมุ่งให้บุคคลนั้นช่วยเหลือตนเองได้และสามารถช่วยผู้อื่นได้ต่อไป สวัสดิการสังคมยังอาจหมายถึงการกำหนดนโยบายสังคมโดยรัฐที่จะมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

สวัสดิการสังคมยังอาจหมายถึงการกำหนดนโยบายสังคมโดยรัฐ ที่จะมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 บริการ ได้แก่ (1) บริการประกันสังคม (Social Insurance) (2) บริการสงเคราะห์ประชาชน/การประชาสงเคราะห์/สาธารณูปการ (Public Assistance) (3) บริการสังคม (Social Service)

สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ได้ปรับนิยามความหมายของ "สวัสดิการสังคม" (Social welfare)ในแผนพัฒนางานสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2545-2549) ว่าหมายถึง ระบบการจัดบริการสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมและพัฒนาสังคม รวมทั้งการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ในระดับมาตรฐาน

พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 ได้ให้ความหมาย “สวัสดิการสังคม” หมายถึง ระบบการจัดบริการสังคม ซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ

ดู รัฐสวัสดิการ ทางเลือกสู่การสร้างคนให้เท่ากันในสังคม?, theactive Thai PBS สืบค้น 2566, https://theactive.net/dataviz/welfare/ 

& บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวทางความเป็นรัฐสวัสดิการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทศักราช 2540 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย, โดย จารุวรรณ ดวงวิชัย, วิทยากร 8 ว. กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2547, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=147

& สวัสดิการสังคม Social Welfare (2532204) โดย อาจารย์ ดร.จริยาภรณ์ ปิตาทะสังข์ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, 

http://blog.bru.ac.th/wp-content/uploads/bp-attachments/10538/ppt-สวัสดิการสังคม-1-6.pdf

[10]เลือกตั้ง’66 จับตาหัวคะแนนธรรมชาติชี้ขาดรัฐบาล “เริ่มใหม่ หรือไปต่อ” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, หนังสือพิมพ์บ้านเมือง, 13 พฤษภาคม 2566, https://www.banmuang.co.th/column/politic/7263 

& “ก้าวไกล” ขอหัวคะแนนธรรมชาติเปลี่ยนเป็น “กกต.ธรรมชาติ” จับตาเลือกตั้งอย่าให้ใครมาปล้นชัยชนะของประชาชน, ผู้จัดการออนไลน์, 9 พฤษภาคม 2566, 11:46 น., https://mgronline.com/south/detail/9660000042592 & FootNote:กัมมันต์ แห่งความคิด การเมือง คือรากฐาน หัวคะแนนธรรมชาติ, ข่าวสด, 26 เมษายน 2566, https://www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_7632089 

[11]ดู เลือกตั้ง 62 ส.ส. "งูเห่า-นกแล" คืออะไร? เลือกตั้งครั้งนี้จะมีหรือไม่ ? ดำเนินรายการโดย นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ และ อดินันท์ เหมือนยัง, Workpoint News, สำนักข่าวทูเดย์, 27 มีนาคม 2562, https://www.youtube.com/watch?v=a-Ao2Bk3xWk

[12]คำว่า Skyfall ฟ้าถล่ม, อ้างจาก ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พิธีกร voicetv ดู เลือกตั้ง2566 : ปรากฏการณ์มดส้ม ล้มช้างใหญ่ “ก้าวไกล” กวาดเรียบ 8 จังหวัด, thaipbs, 15 พฤษภาคม 2566, https://www.thaipbs.or.th/news/content/327830

[13]ดู พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 68 ก วันที่ 12 กันยายน 2561 หน้า 40-97, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20180913155522.pdf 

[14]สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) สื่อใหญ่ทางเศรษฐกิจระบุ ข้อได้เปรียบสำคัญของพรรคก้าวไกล เหนือบรรดาพรรคคู่แข่งคือการนำแอปฯ TikTok มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

ดู TikTok กับความสำเร็จของก้าวไกล ใช้สื่อถูกกลุ่มเป้าหมาย นำชัยลอยลำ, ฐานเศรษฐกิจ, 21 พฤษภาคม 2566, https://www.thansettakij.com/thailand-elections/election-monitor/565837 

[15]การเมืองบ้านใหญ่ มาจากภาษาอังกฤษว่า “dynasty politics” มีผู้แปลว่า การเมืองแบบราชวงศ์ (ราชวงศ์ในทางการเมือง), ตระกูลการเมือง, ตระกูลนักการเมือง เป็น “ระบบทายาทและราชวงศ์การเมือง” เป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่นในวงศ์ตระกูลผู้นำทางการเมือง 

อ้างอิง

ทิศทาง 'กระแส' และ 'กระสุน' ของการเมืองบ้านใหญ่ในสนามเลือกตั้ง 2566 : ณัฐกร วิทิตานนท์, โดย พิมพ์ชนก พุกสุข, the101world, 5 พฤษภาคม 2566, https://www.the101.world/nuttakorn-vititanon-interview/

& ดีเบตบ้านเล็กที่ทรงพลัง วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 เวลา 14:00-17:00 น. ณ มรภ.วไลยลงกรณ์ จ.ปทุมธานี โดย สมาคม อบต. อ้างจากเฟซบุ๊ก

& บ้านใหญ่ ผู้มากบารมี กำหนดทิศทางการเมืองไทย?, ศิลปวัฒนธรรม, 4 เมษายน 2566, https://www.silpa-mag.com/history/article_105279 

& ตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย, โดย สติธร ธนานิธิโชติ สถาบันพระปกเกล้า, 2556, (Stithorn Thananithichot, 2013), วารสารสถาบันพระปกเกล้า, Academia.edu, https://www.academia.edu/11672707/ตระกูลการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย 

& การเมืองบ้านใหญ่ การเมืองแบบราชวงศ์ dynasty politics คืออะไร : ประชาธิปไตยที่รัก โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, คมชัดลึก, 23 เมษายน 2555, https://www.komchadluek.net/news/128623

[16]สติธร ธนานิธิโชติ (2566) ผู้อำนายการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้จำแนก “กลุ่มตระกูลนักการเมืองบ้านใหญ่” ไว้จำนวน 12 จังหวัด

ดู การเกิดและการล่มสลาย : เจ้าพ่อ บ้านใหญ่ ตระกูลการเมือง, นอกBangKOK EP06, โดยสติธร ธนานิธิโชติ สถาบันพระปกเกล้า, ใน The MATTER, 11 พฤษภาคม 2566, https://m.youtube.com/watch?v=FACJoAVBEeo & บ้านใหญ่-ตระกูลดัง อยู่พรรคไหน ในการเลือกตั้งปี 2566, prachachat, 9 กุมภาพันธ์ 2566, 13:07 น., https://www.prachachat.net/politics/news-1182868 

[17]เลือกตั้ง 2566 สร้างปรากฏการณ์ใหม่ “วัฒนธรรมประชาชนร่วมจับตานับคะแนน”, ThaiPublica, ประเด็นร้อน, เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566, 20 พฤษภาคม 2566, https://thaipublica.org/2023/05/responsible-election2566-40-20-05-2566/ 

[18]อ้างแล้ว

[19]ผลการเลือกตั้ง2566 : ปชช.ทักท้วงนับคะแนนชลบุรี เขต 1 แสนสุข ไม่เจาะรูบัตร, ThaiPBS, 14 พฤษภาคม 2566, 19:27 น., https://www.thaipbs.or.th/news/content/327768

[20]เลือกตั้ง 2566: ชาวสัตหีบ ค้านย้ายหีบคะแนน เขต 10 ปมบัตรเขย่งหลายพันใบ, thaipbs, 20 พฤษภาคม 2566, 17:32, https://www.thaipbs.or.th/news/content/328002 

[21]คือพรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ, และพรรคก้าวไกล ดู เช็คลิสต์ปมร้อนยุบพรรค 4 พรรคการเมืองหลัก ในมือ กกต., voicetv.co.th, 25 พฤษภาคม 2566, https://www.voicetv.co.th/read/r-3VpTAJ0 

[22]พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561, อ้างแล้ว

[23]พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561, อ้างแล้ว

[24]“เลือกตั้ง66” Generation X, Y และ Z กุมสัดส่วนมากกว่า 70% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, insightera.co.th, 17 เมษายน 2566, https://www.insightera.co.th/2023-thai-general-election-database/ 

[25]อ้างแล้ว & คนรุ่นใหม่, ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ, สถาบันพระปกเกล้า สืบค้นเมื่อ 2566, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88

[26]ส่องแบบเรียนประถมศึกษา 3 รุ่น คุณทันเรียนรุ่นไหน, dek-d,18 มิถุนายน 2563, https://www.dek-d.com/board/education/3979907/

[27]สรุปดราม่า "ด.ญ.ใยบัว" กินข้าวคลุกน้ำปลากับไข่ต้มครึ่งซีก ในหนังสือภาษาไทย, ไทยรัฐออนไลน์, 22 เมษายน 2566, https://www.thairath.co.th/news/society/2685781 

[28]ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตรพระราชทานแก่สังคมไทยตั้งแต่พุทธศักราช 2517 หลักสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นหลักการที่มุ่ง “ความสุข” และ “ประโยชน์สุข” ของประชาชน และสังคม มีกระบวนการตัดสินใจควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 ประการและเงื่อนไข 2 ประการ ประกอบด้วย (1) ความมีเหตุผล คือ ในการดำเนินการใดๆ ต้องมองเห็นทางเลือกที่เกี่ยวข้อง เห็นเหตุและผล และผลกระทบทั้งทางบวกและลบของทางเลือกต่างๆ เห็นผลที่เป็นคุณค่าแท้ของการดำเนินการนั้นๆ (2) ความพอประมาณ คือ การดำเนินการควรต้องใช้ทรัพยากรและดำเนินการในระดับที่พอดีเหมาะสมกับเงื่อนไขที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในแบบที่ประหยัดไม่เกิดของเสียโดยไม่จำเป็น (3) มีภูมิคุ้มกัน คือ มีการพิจารณาถึงแผนสำรอง รองรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง เงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) เงื่อนไขความรู้ คือ ต้องมีทั้งองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีสติปัญญาที่จะพิจารณาว่าสิ่งที่เลือกจะนำไปสู่ความสุขและประโยชน์สุขหรือไม่ (2) เงื่อนไขคุณธรรม คือ อยู่บนฐานของหลักคุณธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคม ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม

ดู ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, โดย ชล บุนนาค และ ภูษณิศา กมลนรเทพ, ใน SDG MOVE, 27 กันยายน 2562, https://www.sdgmove.com/2019/09/27/sep-and-sdgs/

[29]แบบเรียนเด็กประถม 1 “เด็กชายใหม่รักหมู่” “ตาดำแกทำนากะเมียแก” เรียก “แบบเรียนเร็วภาษาไทย” เป็นรุ่นก่อน (พ.ศ.2499-2521) “มานะมานีปิติชูใจ” แบบเรียนชุดนี้เรียบเรียงโดย อำมาตย์โท พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียน เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 ภาพประกอบโดยบริษัท คณะช่าง

ดู รู้จักเขาไหม เด็กชายใหม่ รักหมู่, 15 มิถุนายน 2552, https://www.gotoknow.org/posts/268218 

& เด็กชายใหม่รักหมู่, 30 มีนาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/174250 

& แบบหัดอ่านหนังสือไทยเล่มต้น ชั้นประถมปีที่1, ผลงานของ อำมาตย์โท พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส), https://www.su-usedbook.com/products_detail/view/5542778 

& รวมแบบเรียนชุดที่ 3 แบบเรียนเร็วใหม่ , แบบหัดอ่านหนังสือไทย, ในร้านหนังสือเก่า สยามบุ๊คดอทเน็ต Siambook.net, https://www.su-usedbook.com/products_detail/view/497820 

[30]จากแนวคิดทฤษฎีชนชั้นนำ (Elite Approach)ทุกสังคมแบ่งคนออกเป็นสองชนชั้น คือ ชนชั้นนำ (Elite) และมวลชน (Mass) มีอยู่ทุกสังคม ทุกระบอบการปกครอง ซึ่งแบ่งเป็นสองระดับคือ ระดับบนกับระดับล่าง แบ่งกลุ่มชนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ชนชั้นนำทางการเมือง (political elite) ชนชั้นนำ ทางเศรษฐกิจ (economic elite) และชนชั้นนำทางทหาร (military elite)

ชนชั้นนำ (Elite) จะหมายถึง คนจำนวนน้อยที่มีอำนาจเกิดจากความมั่งคั่ง ร่ำรวย มีตำแหน่งทางการเมืองและ ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งคนส่วนมากเป็นผู้นำของแต่ละกลุ่มและมีอิทธิพลต่อผู้อื่น เป็นอำนาจในสังคม “กระจุกตัว (Power Concentration)” อยู่ที่คนกลุ่มเล็กๆ ที่มี “ฐานะซึ่งได้เปรียบผู้อื่น” เห็นได้ชัดในวิกฤติการเมืองเสื้อเหลือง-แดง ที่ชนชั้นนำและประชาชนแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน 

ดู ทฤษฎีชนชั้นนำ เรียบเรียงโดย อาจารย์วชิรวัชร งามละม่อม นักวิชาการและนักวิจัย สถาบัน TDRM, http://file.siam2web.com/trdm/article/2013328_38140.pdf 

& ชนชั้นนำกับประชาธิปไตยในโลก, โดยจันจิรา สมบัติพูนศิริ, the101.world, 17 ธันวาคม 2561, https://www.the101.world/elite-and-global-democracy/ 

& ชนชั้นนำ, มติชน, 11 มกราคม 2561, https://www.matichon.co.th/columnists/news_796124 

[31]มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

[32]วาระแห่งชาติ โดยนัยยะ วาระแห่งชาติ คือ สิ่งที่รัฐบาล ทุกภาคส่วน และประชาชนต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการให้จงได้ ดู วาระแห่งชาติ คืออะไร, โดย ชัด บุญญา, 17 มีนาคม 2555, https://www.gotoknow.org/posts/482264 

[33]อำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.จะสิ้นสุด 11 พฤษภาคม 2567 แต่เชื่อว่า พรรคก้าวไกล คงไม่ยื้อเวลา, NNT สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 23 พฤษภาคม 2566, https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230523141545860 

[34]เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติแปดต่อหนึ่ง ให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ขัดรัฐธรรมนูญ โดยการอ้างเหตุความไม่พร้อมด้านงบประมาณและบุคลากร ไม่เข้าเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. ทำให้กฎหมายจากฝ่ายบริหารสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์หลังการเลือกตั้ง 2562 ที่ต้องการยื้อข้อบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบันทึกภาพและวิดีโอในระหว่างการจับกุมและคุมตัวต้องตกไป

ดู ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.ก.ยื้อกฎหมายป้องกันทรมานและอุ้มหาย ตำรวจต้องบันทึกภาพวิดีโอตอนจับและคุมตัว, ilaw, 18 พฤษภาคม 2566, https://www.ilaw.or.th/node/6528 & พ.ร.บ. อุ้มหาย : มติ ครม. เลื่อนบังคับใช้ 4 มาตรา เหตุจัดซื้อกล้องตำรวจ 1.71 แสนตัวไม่ทัน, BBC News ไทย, 14 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.bbc.com/thai/articles/c1eln58l341o 

[35]มาตรา 142 "ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ต้องแสดงแหล่งที่มาและประมาณการรายได้ ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจ่ายเงิน และความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ"

ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560



ความเห็น (4)

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูล เหตุผล และ เชิงอรรถที่ดีเยี่ยม….วิโรจน์ ครับ

มาอ่านอีกครั้ง..ก็ยังคิดว่าถูกต้องที่ต้องยำใหญ่ ไม่ใส่เส้นแบบนี้ ขอบคุณครับ

มาอ่านอีกที…ก็ยังเห็นว่าต้องยำใหญ่ โดยไม่ต้องมีเส้น….วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท