ผักปลอดสาร...ขาย "คุณภาพ" ไม่ใช่ "ความงาม" ตอนที่ 1


"...ผมคิดว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือทำอยู่ทำกิน ไม่กู้หนี้ ไม่เพิ่มหนี้ เท่านี้ก็น่าจะพอเพียง แต่ที่ยากกว่าก็คือการสร้างคน ทำใจปรับเปลี่ยนแนวคิด จากโลภมาเป็นความพอ..."

 วันเสาร์ ที่  6 มกราคม 2550   กลุ่มเครือข่ายผักสารพิษจังหวัดพิจิตร ได้สัญจรไปเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แปลงผัก "ลุงอิน สงคราม"  ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร   ลูกทัวร์ครั้งนี้มี หมอสุรเดช, พี่ตั้ว, พี่หล้า, อาจารย์วรรณิภา, ลุงเฮง, น้องมุก, น้องหมี, ลุงสุนทร, คุณเจ็น(พร้อมลูกชาย), คุณวิสันต์, ลุงเส็ง, ลุงบุญมา, คุณกฤษณะ, ป้ามุ้ย, ป้าวรรณา, ลุงจวน, คุณประวัติ(พร้อมภรรยา), และลุงๆอีก 2 - 3 คน จำชื่อไม่ได้ครับ  รวมๆแล้วก็ 22 คน  อ้าว!!!!! ลืมผมอีกคนนึง     นัดหมายพร้อมเพรียงกัน ที่มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร อ.เมือง  09.00 น. รวมพลก่อนออกเดินทางไป  ในขณะที่แต่ละคนกำลังเดินทางมา ผมเองก็กำลังโชว์ฝีมือแม่ช้อยนางรำ ทำข้าวต้มอยู่หลังบ้าน(มูลนิธิฯ) ก็ไม่มีอะไรมากครับ แค่ผัดตำลึงอย่างเดียวเท่านั้นเอง ไม่ทันได้ลงมือผัด พี่ตั้วก็ขับรถตู้ขาว พร้อมกับสมาชิก 3 คน คือ พี่หล้า น้องมุก น้องหมี จากตำบลป่ามะคาบ มาถึงมูลนิธิฯ ตามมาติดๆคือ ลุงเฮง จากอำเภอวังทรายพูน บึ่งมอ'ไซด์ คู่ใจ กับถุงมะขามหวานมาด้วย ระหว่างที่แต่ละคนกำลังสนทนากันอยู่นั้น ผมก็เร่งรีบทำกับข้าวให้เสร็จ คือ พี่ตั้วให้เวลาอีกแค่ 10 นาทีเท่านั้น!!!  ผมดำเนินการ จัดการกินเรียบ จนลืมดื่มน้ำดื่มท่า กุลีกุจลเตรียมออกเดินทาง   เช่นเคยครับสำหรับสุภาพบุรุษวันนี้ผมอาสาขับรถเอง (ทั้งๆที่ยังไม่มีใบขับขี่เลย แฮ่ะๆๆๆ!!!!) ผมสตาร์ทรถเหยียบครัช เหยียบคันเร่ง ออกตัวกระตุกๆนิดหน่อย ทำเอาลูกทัวร์ใจไม่ดีเล็กน้อย บอกใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ  ผมขับรถตระเวนรับ อาจารย์วรรณิภา  และคุณหมอสุรเดช  เข้าปั๊มเติมน้ำมันเสร็จสรรพพร้อมเดินทางมุ่งสู่ ต.หนองโสน อ.สามง่าม ระยะทาง ประมาณ 60 กิโลเมตร  เออลืมไป!!! แวะรับลุงสุนทร ที่บ้านสระยายชี ต.เนินปอ  พอถึงทางแยกเลี้ยวเข้า ต.หนองโสน ลืมสนิทเลยว่าลุงจวน ที่มาจาก ต.โพธิ์ไทรงาม อ.บึงนาราง มานั่งรออยู่ที่ศาลาข้างทาง ก็ต้องขับรถย้อนกลับมารับลุงจวน ที่แบกทั้งกับข้าว ถุงปุ๋ยมาด้วย เดินโตงเตงข้ามถนนมา  ในรถตู้แน่นเอียดพอสมควร แต่ก็พอขยับขยายนั่งร่วมกันมา ระหว่างทางผมขับรถเหยียบงูตายไป 1 ตัว (เศร้า!) หมอสุรเดชแซวผมว่า ...นั่นแหล่ะเค้าว่าจะเจอเนื้อคู่... ผมคิดในใจไม่เชื่อหรอก เพราะมาอยู่พิจิตร 3 ปี ขับรถระหว่างลงพื้นที่มาเจองูทุกสายพันธุ์แล้ว งูเหลือม 2 ตัวติดๆกันก็เห็นเต็มๆตามาแล้ว เลื้อยข้ามถนนแบบนี้แหล่ะไม่เห็นจะเจอเนื้อคู่สักกะที    

        10.30 น. คณะลูกทัวร์เดินทางมาถึงแปลงผักลุงอิน แรกพบสบตา  เช่นเคยครับ ความสวยงามคือ "การไหว้" ทักทายกันพอสมควร  คุณหมอสุรเดชเห็นว่าอากาศยังไม่ค่อยร้อนนัก (แต่ผมคิดว่าร้อนนะ) ได้ให้ลุงอิน พาคณะลูกทัวร์เดินชมแปลงผัก ที่แลเห็นเขียวขจีเต็มพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ มีผักกะหล่ำปลี หัวใหญ่ห่อตัวเยอะแยะมากมาย รวมไปถึง ผักชีลาว ผักคะน้า ผักกาดเขียว ผักกาดขาว ผักหอม กำลังชูช่อผลิดอกออกผล ส่วนหนึ่งที่ทำอย่างนี้ได้

   

 

ลุงอินบอกว่า ...มีน้ำเพียงพอ เพราะทาง ผู้ใหญ่บ้านได้ของบขุดลอกคลองเป็นแหล่งน้ำสาธารณะซึ่งติดอยู่กับแปลงผักลุงอินพอดี แรกๆก็เจอปัญหาเช่นกันเพราะผู้ใหญ่บ้านหวง ไม่ยอมให้ใช้ประโยชน์ ด้วยความคิดสุดแปลกที่ว่า ฉันของบประมาณได้ ฉันมีกรรมสิทธิ์ใครมาใช้ประโยชน์ต้องได้รับการอนุญาต จากฉันเท่านั้น!!! (เอ้ออย่างนี้ก็มี)  ลุงอินโต้เถียงด้วยเหตุผลที่ว่า งบที่ขอมาเป็นเงินของใคร? ทำแล้วจะให้ใครใช้ประโยชน์ถ้าไม่ใช่ชาวบ้านที่หมู่บ้านนี้  เล่นคำถามอย่างนี้ ผู้ใหญ่บ้านอึกอักพูดไม่ออก พาลโกรษกันไม่มีเหตุผล จนบัดนี้ลุงอินก็ยังมองหน้าผู้ใหญ่บ้านไม่ติดเช่นเดิมแม้จะให้ใช้ประโยชน์แล้วก็ตาม....  

 

 

....ในส่วนเครื่องปั้มน้ำมาที่แปลงผักนั้น ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรจังหวัดพิจิตร นำมามอบให้ใช้ประโยชน์ ซึ่งทำให้เบาแรงมาก ในการรถน้ำผัก ด้วยระบบสปริงเกอร์ แค่เปิดคลิ๊ก 2 - 3 จุดเท่านั้นเครื่องก็ทำงานทั่วทั้งแปลง  ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ทำให้สามารถผลิตผักได้ผลดี....

หลังจากเดินดูพร้อมพูดคุยกันได้สักพักลุงอินก็เชิญชวนคณะลูกทัวร์ไปนั่งล้อมวงคุยกันที่ใต้ต้นมะม่วงใหญ่ พร้อมกันนั้นลูกทัวร์คนอื่นๆก็ทยอยเดินทางมาร่วมด้วย ทั้ง คุณเจ็น(พร้อมลูกชายตัวน้อย)     และ คุณวิสันต์ คุณกฤษณะ ลุงเส็ง (มาช้านิดหน่อยเพราะติดภาระประชุมในหมู่บ้าน)

 

 คุณหมอสุรเดช ชวนพูดคุยอย่างเป็นกันเองโดยให้เจ้าภาพแปลงผักวันนี้ คือลุงอิน เป็นคนเริ่มเล่าความสำเร็จ หรือสถานการณ์คืบหน้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ฟังว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

ลุงอิน   "....ตอนนี้ทาง ธกส. ได้เข้ามาในพื้นที่เพื่อสร้างฐาน จัดกลุ่ม 14 กลุ่มในหมู่บ้าน เพื่อดึงคนมาศึกษาดูงาน ผมฟังๆดูก็ตั้งคำถามว่า ที่มาทำกันอยู่นี้กลุ่มต่างๆจะได้อะไร? เค้าก็บอกว่าในแนวอิงเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง ผมถามต่อว่า ทำมาจะทำไปให้ใคร? สรุปแล้วก็คือทำเพื่อกลุ่มเรานี่แหล่ะ แล้วเค้าก็ถามผมต่อว่า ถ้าทำแล้วจะมีปัญหาอะไรตามมามั้ย? ผมบอกว่าพร้อมไม่พร้อมอยู่ที่ "คน" เป็นเรื่องยากที่สุด แต่ทาง ธกส.เค้าบอกเรื่องคนไม่มีปัญหาแก้ได้ ทำเอาผมอึ้งไปเลยไม่รู้จะพูดอะไรต่อ...."

ลุงจวน  "....ผมพูดภาษาชาวบ้านนะ ผมมองว่าเค้ามาเด็ดยอดเอาผลงานไป ผมทำกลุ่มออมทรัพย์อยู่ในหมู่บ้าน มีเงินหมุนเวียนเป็นแสน ทาง ธกส. เห็นว่ากลุ่มเข้มแข็งก็มาเสนอให้ทางกลุ่มกู้เงินมาบริหารจัดการ แถมยื่น คอมพิวเตอร์ ให้ใช้ด้วย แต่ทางกลุ่มผมไม่เอา มันมีเงื่อนไขนู้นนี้เยอะแยะปวดหัว ครั้งหนึ่งทาง ธกส. ได้ให้ลูกน้องมานำผักผมไปตรวจว่ามีสารเคมีตกค้างหรือเปล่า ผมเขียนชื่อติดไปด้วย ผมบอกถ้าตรวจเสร็จให้ตีกลับมาด้วย    ผลปรากฏว่ามีถั่วฝักยาวที่มีสารเคมีตกค้างแต่อยู่ในขั้นปลอดภัย สาเหตุที่มีก็เพราะถั่วฝักยาวนั้นปลูกในพื้นที่ลูกเขย นำน้ำคลองมารดจึงตรวจพบเจอ       ....ผมได้ไปดูงานที่วังน้ำเขียว โดยทาง สปก.จัดพาไป ไปก็เจอพ่อบุญเต็ม ชัยลา ปราชญ์อิสาน เจอกันก็คุยกันจ้อเลย หลังจากดูงานกลับมาถึงโพทะเลตอนตี 2 เจอตำรวจจับ โดนข้อหาว่าเป็นแรงงานพม่าหนีเข้ามา อธิบายยังไง ตำรวจเค้าก็ไม่เชื่อ ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนให้ดูเค้าก็หาว่าเป็นของปลอมอีก ในที่สุดก็โทรไปหาสารวัตร จึงถูกปล่อยตัว ยกมือไหว้ขอโทษกันใหญ่เลย...."

 

 

หมอสุรเดช   "...ตอนนี้ทางรัฐบาลส่งสัญญาณลงมา ผ่านกระทรวงเกษตรฯ ในการทำเศรษฐกิจพอเพียง พวกเราคิดเห็นกันอย่างไร?..."

ลุงอิน  "...ผมจะลองไปถามทางหน่วยงานที่ลงมาพื้นที่อยู่ว่า ....พอเพียงคืออะไร? อยู่ตรงไหน? และการแก้ไขปัญหาคน ที่ว่าง่ายนั้นจะทำอย่างไร? ผมมองว่าเค้าลงมากลัวจะทำนองเดิมคือนำเงินมายัดให้เกษตรกรกู้ เป็นลูกหนี้.... เป็นไปได้ไหมเราจะรวมกลุ่มกันปลดหนี้?..."

ลุงเฮง  "...ผมได้ยินนักวิชาการเค้าบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำจากเล็กไปหาใหญ่ ไม่ใช่จากใหญ่ไปหาเล็ก...."

ลุงอิน  "...ผมคิดว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือทำอยู่ทำกิน ไม่กู้หนี้ ไม่เพิ่มหนี้ เท่านี้ก็น่าจะพอเพียง แต่ที่ยากกว่าก็คือการสร้างคน ทำใจปรับเปลี่ยนแนวคิด จากโลภมาเป็นความพอ...." ลุงจวน "...คือทุกหน่วยงานเริ่มวิ่งเข้ามาหาเรา ผมฝากว่าให้เรารู้เท่าทัน ถ้าเค้าให้ฟรีเอา ถ้าให้เป็นหนี้ไม่เอา ผมเคยเจอมาแล้วพวกเซลล์แมนมาให้ผมช่วยโฆษณาสารซุเปอร์แมน โดยให้ค่าแรง 500 บาทต่อวันต่อชั่วโมง ผมก็ฉุกคิดว่าผมเกือบจะกลายเป็นไส้เดือน เหยื่อติดเบ็ดนี่หว่า  ...เมื่อปีกลาย ผมขึ้นไปจังหวัดเพื่อประกวดผู้สูงอายุ ผมเป็นคนสุดท้ายเดินลงเวทีพอเดินลงมาก็ถูกดึงให้เข้าไปในตู้กระจก ให้ผมช่วยพูดโฆษณาขายสารเคมี ผมหุนหันพยายามบอกว่าผมเป็นสมาชิกคุณบำรุง วรรณชาติ นะ ถ้าไม่เปิดตู้กระจกผมจะต่อย ทุบกระจก  สุดท้ายเค้าก็ปล่อยผมออกมา...."

ลุงสุนทร  "...ผมก็เกือบเป็นไส้เดือนเหมือนกัน... ผมขออนุญาตพูดถึงที่ ธกส. จะมาสร้างฐาน (จากต.เนินปอ มายัง ต.หนองโสน) จัดตั้งกลุ่มที่หมู่บ้าน ลุงอิน เพราะพวกผมรู้ทันเค้ามาก ตอนแรกเค้าก็จะมาสอนถ่ายทอดความรู้ทุกอย่าง (หลักสูตรสัจธรรมชีวิต) ทั้ง การทำสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ทำเตาอิวาเตะ  สุดท้ายถ้ามาว่ากันจริงๆคือเค้าจะให้เรากู้เงิน เป็นลูกหนี้เค้า พร้อมกับยัด ปุ๋ย ยาเคมีให้ พอพวกผมไม่เอา เค้าจึงไม่มาลงในพื้นที่บ้านสระยายชี ต.เนินปอ อีกแล้ว... ...ส่วนเรื่องเตาอิวาเตะ กลุ่มผมทำเสร็จแล้ว ถ่านมีคุณภาพจริง สามารถบดมาเป็นไส้ถ่านไฟฉายได้ เรื่องนี้เคยถูกคณะดูงานจากลำปาง ท้วงติงว่า เค้ามาเห็นไม้ที่ตัดมาพร้อมที่จะเผาก็นึกเสียดายจังเลย ถ้าที่ลำปางจะนำไม้ไปแกะสลักให้ราคาดีกว่าหลายเท่า ผมไม่รู้จะพูดยังไงดี ก็เงียบไป ใช่อย่างที่เค้าพูดกันจริงๆ..."

ลุงจวน  "....ครั้งหนึ่งผมกับคุณแมว ได้รับการติดต่อจากบริษัทน้ำทิพย์ พาไปดูงาน ผมไม่ดูอะไรหรอก เพียงแค่แอบไปเปิดดูกากน้ำตาลดมดู อันนี้เราก็เคยใช้ เรารู้ ระวัง!!!อย่าไปเป็นไส้เดือนตกเบ็ดให้เค้า พวกเค้าทำธุรกิจการค้า ไม่เหมือนเรา..."

ลุงอิน   "....ถ้าทำแล้วช่วยติดตามหน่อย อย่าทำแบบไปไหม้ฟาง ต่อไปผมจะถามท่านรอง (หมายถึง ธกส.) ที่เข้ามา ...ทางกลุ่มผมกู้เงินมาแล้ว 3 หมื่น พอเห็นท่าไม่ดีก็เลยเอาไปคืนแล้ว กลุ่มเรามีกันอยู่แล้วแต่เค้าต้องการจะเด็ดยอดผลงานไป กลุ่มผมมีสมาชิก 12 คน ตรงนี้เราได้คุยกันว่า ผัก มันมีปัญหาตลอด มากก็เหลือ น้อยก็ไม่พอ เพื่อนผมที่แม่สอด เค้าจ้างดันผัก เก็บผักไปทิ้งถ้ามันเหลือมาก ยอมขาดทุน ว่ากันด้วยหลักแสน หลักล้าน แต่พอถึงช่วงเค้าได้ก็ได้จริงๆ    ...แนวทางคือทำยังไงให้ผักของเราถึงกระจายไปได้ทั่วถึงทั้งจังหวัด และคิดต่อว่า ผักชนิดไหนที่เรานิยมกินกัน เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักชี ราคาดี กระแสคนกินผักปลอดสารก็มีมากขึ้นทุกวัน...

คุณเจ็น  "...ตอนนี้มีกระแสให้เราไปขายถึงที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ผมก็แปลกใจที่นู้นเค้าก็ปลูกผักกันเยอะแยะทำไมไม่กินของที่ตัวเองปลูก (สงสัยกลัวสารเคมีที่ฉีดไปนั่นแหล่ะ) ไปขายที่ตลาดเค้าก็บอกว่าทำไมมาขายแค่วันเดียว เค้าสนใจมาก คือผมสังเกตว่าคนบริโภคผักปลอดสารพิษมี 8 คน ถ้าคิดในจำนวน 10 คน  ตอนนี้เราก็กำลังติดต่อกับ รพ.ตะพานหิน ทำป้ายรับรองคุณภาพการผลิต พอลูกค้าเห็นป้ายเค้าก็เชื่อมั่น บางคนเห็นผักแล้วไม่แน่ใจว่าปลอดสารจริงหรือเปล่า ป้ายก็ไม่มี..."

ขณะที่ผู้ร่วมพูดคุยสนทนากำลังแลกเปลี่ยนกันอย่างถึงพริกถึงขิงถึงตะไคร้ สาระเเหน่ แมงลัก ผักชี คุณหมอสุรเดช ก็ได้ชี้แจงจากการที่ได้เข้าพบกับผู้ว่าฯ บอกว่า ...ผู้ว่าฯมีเงินมากอง 300 ล้าน ให้เราปลูกผักส่งไปขายห้าง ร้านใหญ่ในกรุงเทพฯ เราจะมีกำลังผลิตให้เค้าได้ไหม? และผู้ว่าฯคนนี้เอาจริงด้วย ได้สั่งการไปเกษตรจังหวัด ทำการสำรวจพื้นที่ กำลังการผลิต ว่าตกลงมีอยู่เท่าไร? ซึ่งผมไปเช็คข้อมูลดูแล้ว มีแค่ 1% ของพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดเท่านั้น และไม่รู้ว่าปลอดสารพิษหรือเปล่า????.... และอย่างที่เราพูดๆกันนี่แหล่ะการจะทำแล้วอยู่รอดได้ จะต้องมีภูมิคุ้มกัน ภูมิปัญญาในการทำ รู้เท่าทัน ไม่โดนหลอกเป็นไส้เดือนติดเบ็ดให้เค้าตกปลา รวมกลุ่มช่วยคิดช่วยทำ ถามว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรที่เหลือได้ปรับเปลี่ยนแนวคิด เน้นการทำเพื่อพึ่งตนเอง ทำอยู่ทำกิน ไม่ใช่มุ่งแต่ให้ได้เงินมาอย่างเดียว เงินเป็นผลพลอยได้มากกว่า เราก็ไม่ปฏิเสธทั้งหมด ที่เราพูดกันนี่ไม่ใช่แค่การปลูกผักแล้ว มันเป็นเรื่องภายในใจแล้ว...  

ทำอย่างไร????จะทำให้เรารวมกลุ่มเข้มแข็งได้ มีภูมิคุ้มัน ไม่โดนหลอกได้ รู้เท่าทัน กว่าจะทำได้ต้องได้รับความร่วมมือกันอย่างมาก ทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน อบต. อนามัย

คุณเจ็น "...ตอนนี้ทางกลุ่มได้ร่วมกับหมออนามัย ทำศูนย์เรียนรู้ฯในตำบล มีแปลงผัก เลี้ยงปลา หมูหลุม มาร่วมกันทำเป็นเครือข่าย การขายผักถ้าไปในนาม โรงพยาบาลสนับสนุนจะไปได้ดีกว่าเราไปขายตามตลาดนัด..."

ลุงอิน  "...ผักเราขายคุณภาพไม่ใช่ขายความงาม..."

หมอสุรเดช  "...ถ้ามามองกันอย่างนี้เราก็ยังพอมีช่องทางอยู่ จากเพื่อนๆกัลายาณมิตรที่หลากหลาย หมอ เกษตรกร เครือข่ายเรา รวมไปถึง อบต. มองส่วนดีๆของเค้า สิ่งไหนร่วมกันได้ก็ทำไป..."

ลุงอิน  "...ที่เราทำอยู่อย่างเนี้ยะ จะเอาตามตัวเลขไม่ได้ ควบคุมการผลิตไม่ได้ โรคพืชบางทีเราก็สู้ไม่ได้ บางทีผักผลิตไม่ทัน อย่างผักบุ้งจีน ราคาถึงกิโลกรัมละ 50 บาท ยังไม่สามารถผลิตให้เค้าได้เลย..."

อาจารย์วรรณิภา   "....ฟังดูแล้วรู้สึกว่า คนพิจิตรที่ทำอยู่น่าจะได้กินก่อน ทุกวันนี้ยังรู้สึกประทับใจหลักสูตร วปอ.ภาคประชาชน ของเราอยู่เป็นการสร้างคนได้มีการเรียนรู้ อยู่ได้ พึ่งตนเองได้ ทำอย่างไรจะทำให้คนคิดได้อย่างนี้ แล้วจะทำยังไงให้เค้าได้แนวคิดมากกว่าเงิน..."

ลุงอิน  "...กิจกรรมที่มาทำเป็นกลุ่ม ร่วมกันทำกองทุนลงขันคนละ 100 บาท ซื้อวัสดุมาหมักยาสมุนไพร แบ่งกันไปใช้ นอกจากนั้นก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มาพบกันเดือนละครั้ง การพัฒนากลุ่มต้องทำอย่างเต็มที่ การปรับเปลี่ยนแนวคิดยากมาก ใครบอกว่าง่ายผมขอท้า และถามว่าทำอย่างไร?..."

หมอสุรเดช  "...ทำอย่างไรเราจะแสดงตัวเลขให้เค้าเห็นว่าในเนื้อที่ปลูกผัก ลงทุนไปเท่าไร มีรายได้เท่าไร ช่วยครอบครัว  มีเพื่อนสมาชิกเท่าไร คือมากกว่ารายได้ที่เป็นตัวเงิน..."

ลุงอิน  "...คือทำอย่างนี้ได้เพื่อนมาเห็นมาคุยกันที่แปลงผักแล้ว รู้สึกไว้วางใจทุกเรื่อง ผูกพันกันเป็นมากกว่าญาติพี่น้องเสียอีก..."

ลุงจวน  "....ถ้าเค้ามาดีเราก็ดีด้วย ถ้ามาไม่ดีเราก็ดีด้วย เป็นคนโง่เพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่เค้าบอกอะไรเราก็รู้หมด อันนี้ไม่เกิดการเรียนรู้..."

ขณะที่ลุงๆ และผู้เข้าร่วมพูดคุยกำลังแลกเปลี่ยนกันอย่างมันส์หยด คุณหมอสุรเดช เห็นว่าล่วงเลยเวลาอาหารเที่ยงมามากแล้ว ก็เลยตัดบทให้เติมพลังกันก่อน โดยเฉพาะเห็นว่าลุงจวนไม่ได้ทานข้าวเช้ามาด้วยเดี๋ยวหิวไปมากกว่านี้  ...ลุงอิน ส่งสัญญาณบอกแม่บ้านเตรียมพร้อมยกอาหารกับข้าว มาเพียบ โดยเฉพาะเมนูชูโรงวันนี้เป็นผัก อวบๆขาวๆ ใหญ่ๆ สดๆ ซิงๆ จากแปลงผักลุงอิน มาวางบนโต๊ะถาดใหญ่ ทำเอายั่วน้ำลายผู้ร่วมสนทนาแทบจะอดใจไม่ไหว (โดยเฉพาะผมหน่ะ) ทุกอย่างพร้อมลงมือกันได้ ผม พี่ตั้ว พี่หล้า ไม่นั่งเก้าอี้กินครับ ยืนซัดตรงนั้นให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย  ที่เห็นถูกปากผมเป็นพิเศษก็คือ เมี่ยงสมุนไพร ที่นำผัก สมุนไพร หลายๆอย่างมาห่อรวมกัน หยอดน้ำจิ้มหน่อยนึง แล้วเข้าปากเคี้ยวอย่างเมามัน รับรสได้ถึงความสด ของผักกาด ความเผ็ดของหอม ข่าอ่อน ความนุ่มของขนมจีน และความหวาน มัน อมเปรี้ยวอมเผ็ด ของน้ำจิ้ม  ลักษณะการกินก็คล้ายๆกับ แหนมเนืองนั่นแหล่ะครับ  เมนูนี้ทำเอาคุณหมอสุรเดช ที่เห็นเวลาผมกินรู้สึกอยากไปด้วย เลยทดลองดู แล้วก็ไม่ทำให้ผิดหวัง คุณหมอบอกไม่ค่อยได้มีโอกาสได้กินอาหารอย่างนี้ (รวมไปถึงเมนูอื่นด้วย) นับว่าเราโชคดีกว่าคนเมืองเยอะมาก....   อาหารมื้อนี้ทำเอาหลายคนจุกไปตามๆกัน เพราะนอกจากจะมีอาหารที่กลุ่มแม่บ้านลุงอิน จัดหาให้แล้ว ก็ยังมี แม่ค้าไอติม ขับรถมอ'ไซด์ มาจอดบริเวณใกล้ๆยั่วน้ำลายอีก อดใจไม่ไหวจน อาจารย์วรรณิภา บอกให้แต่ละคนมาหยิบได้เลย อาจารย์จะจ่ายให้เอง (ผมแค่ชิมไปสองไม้เองครับ) ไม่ค่อยได้กินไอติมตัดเป็นแท่งอย่างนี้มานานแล้ว ก็เลยจัดการให้สมใจอยาก  ...พอเห็นว่าอิ่มหนำสำราญกันเรียนร้อยคุณหมอสุรเดช เป็นคนเริ่มเก็บถาดผัก ถ้วยชามเอง เสมือนจะบอกเป็นนัยๆว่าให้หยุดกินกันได้แล้ว มาคุยกันต่อเถอะ อีกอย่างลุงเฮง มีธุระต่อจะไปเผาญาติที่ อ.ตะพานหิน ได้ยินอย่างนี้ทำเอาลุงสุนทรตกใจเฮือกใหญ่!!!! เลยแซวลุงเฮงว่าเป็นคนคบไม่ได้นะเนี้ยะ ก็อยู่ดีดีจะไปเผาญาติกันเองซะอย่างนั้น คือจริงๆแล้วความหมายก็คือจะไปร่วมพิธีฌาปณกิจศพญาติหน่ะ   ...ได้สัญญาณกันอย่างนั้นแต่ละคนจึงช่วยกันคนละไม้คนละมือเก็บสัมภาระอาหารการกินเรียบร้อยจึงมาคุยกันต่อ...

ติดตามบันทึกต่อเนื่อง ตอนที่ 2 นะครับ

หมายเลขบันทึก: 71291เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บันทึกนี้ยาวมากครับ...อ่านได้จุใจดี

ลองแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นตอนๆ สั้นกว่านี้ และการเว้นวรรคตัวอักษรให้อ่านง่ายๆ

ลองดูนะครับ เพราะเนื้อเรื่อง การเล่าเรื่องเยี่ยมยุทธ์อยู่แล้วครับผม

ดหดหกดหกดหกดหกดหก ดหกด หกด กหด หกด หก ดกห ด หกด หกด หก ดกหด

 

กหด

กหด

กหด

กห

ดหก

ดกหด

หกด

หกด

หก

ดกห

หกด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท