ชีวิตที่พอเพียง 4451. เตรียมจัด PMAC 2024 Geopolitics and Health Equity in an Era of Polycrises – 7. ประชุมเตรียมการที่โตเกียว ๒. การประชุมวันแรก ๓ เมษายน ๒๕๖๖


การประชุมเตรียมการที่โตเกียว จัดระหว่างวันที่ ๓ - ๕ เมษายน ๒๕๖๖ ที่สำนักงาน JICA ที่เราคุ้นเคยดี    เดินไปจากโรงแรม Grand Hill Ichigaya เพียง ๑๐ นาทีก็ถึง    แต่ถึงตอนนี้ที่ผมชราลงเรื่อยๆ การเดินขึ้นเนินระหว่างทางก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง    โดยไม่เดินเร็วตามคนอื่น   

การประชุมช่วงเช้า  ท่านคณบดี YY  จาก NUS เป็นประธาน    เป็นกระบวนการ “กวนน้ำให้ขุ่นจนใส”    เพราะผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็ให้ความเห็นจากมุมของตน    ภาพใหญ่จึงค่อยๆ ประกฏขึ้น   เมื่อคุณหมอสุวิทย์อภิปรายให้เห็นภาพใหญ่ที่คิดกันมาเมื่อ ๕ ปีก่อน   ว่า 5 megatrends ที่คาดว่ามีผลรุนแรงต่อสุขภาพโลก ได้แก่ Demography, Urbanization, Technology Disruption, Climate Change, Inequity (๑)    

ปี ๒๕๖๖ เราจับเรื่อง Climate Change    ปี ๒๕๖๗ เรื่อง Geopolitics    ซึ่งเป็นการเดินตามแผน หลังจากปี  ๒๕๖๔ เป็นเรื่อง COVID-19 : Advancing Towards an Equitable and Healthy World   และปี ๒๕๖๕ โดนสถานการณ์โควิดชักจูงให้ไปจับเรื่อง PMAC 2022 :  The World We Want: Actions Towards a Sustainable, Fairer and Healthier Society    เป็นการชั่วคราว

 

ตอนบ่าย เป็นการประชุมกลุ่ม   ผมเลือกเข้ากลุ่ม ๓   De-Colonization & Neo-Colonization    ได้เรียนรู้มากจนผมปิ๊ง แว้บว่า    เป็นเรื่องการครอบงำ หรือใช้อำนาจเหนือต่อกัน   ทั้งใช้อำนาจโดยตรง (hard power)  หรือทางอ้อม (soft power)     อำนาจทางอ้อมเช่น การศึกษา  ความรู้  วัฒนธรรม เทคโนโลยี    เช่น ประเทศไทยตกอยู่ใต้อำนาจเทคโนโลยีสุขภาพของตะวันตก เราใช้แต่ยาแผนตะวันตก  แทบไม่ใช้ยาแผนไทยเลย    เพิ่งมา decolonize ตัวเองเมื่อไม่นานมานี้    เรามีกรมการแพทย์แผนไทย   

ในประเทศหรือสังคมเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้มีอำนาจเหนือ และผู้เป็นเบี้ยล่าง    มีมานานนม ดังนั้นคำว่า neo จึงไม่ได้หมายถึงเวลา  แต่หมายถึงการตีความใหม่    และผมตีความว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับความไม่เสมอภาค (inequality) ในสังคม และระหว่างสังคม                       

โลกและสังคมจะบรรลุสุขภาวะได้อย่างยั่งยืน   มนุษย์ต้องไม่ครอบงำซึ่งกันและกัน    ความคิดเช่นนี้ เป็นฝันลมๆ แล้งๆ หรือเปล่า   

เช้าตรู่วันที่ ๕ เมษายน ผมกลับไปอ่าน concept note ที่เขียนโดย Jesse Bump แห่งมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ใหม่    พบว่าเขาขึ้นต้นว่า “Widening inequality, enduring patterns of extraction, persistent power imbalances, and ongoing marginalization of key groups stand in stark opposition to the goals of global health and the standard narratives of its triumphs.”     และลงท้ายด้วย “These and similar observations about the inequalities of influence and decision making have informed calls from many quarters to “decolonize” global health. These calls are part of contemporary geopolitics and seek to ensure that any new world order is built on fairness and recognition of equality.”     สะท้อนมุมมองเชิงอุดมการณ์ของนักรัฐศาสตร์การสาธารณสุข   ที่มองว่าโลกกำลังเดินสวนทางกับอุดมการณ์ของสุขภาพโลก     ตรงกับที่ผมสะท้อนคิดข้างต้น   

วิจารณ์ พานิช

๔ เม.ย. ๖๖  ปรับปรุง ๕ เม.ย. ๖๖   

ห้อง ๗๐๔  โรงแรม Grand Hill Ichigaya  นครโตเกียว 

1 บรรยากาศในห้องประชุม

2 ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 712549เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2023 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2023 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท