องค์การสหประชาชาติ เสนอแนวโน้มใหญ่ ๕ ประการที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติ (๑) (๒) โดยเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ๓ ประการ (โครงสร้างประชากร (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรสูงอายุ), การเป็นเมือง, และพัฒนาการด้านเทคโนโลยี) และแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงได้ ๒ ประการ (การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, และความเหลื่อมล้ำ)
ทุกแนวโน้ม เกิดจากฝีมือมนุษย์ และการเปลี่ยนความเคยชินของมนุษย์ไม่ใช่ของง่าย จึงต้องแก้โดยการจัดระบบ ร่วมมือกันเปลี่ยนระบบโลก ที่ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน แต่ต้องทำ หากจะให้มนุษย์รุ่นหลังมีชีวิตที่ดี
ยูเอ็นบอกว่าต้องทำให้ระบบการเมืองของประเทศตระหนัก แต่ผมเถียงว่า ระบบการเมืองของประเทศส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยประเทศมหาอำนาจ และผู้นำประเทศมหาอำนาจที่เดินผิดทางก่อความเสียหายแก่โลก ดังกรณี Covid-19 pandemic ที่เห็นๆ อยู่ และเตือนสติว่า แนวโน้มที่ ๖ คือ ความเสี่ยงต่อโรคระบาดใหญ่ ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้
ในสายตาของผม ทั้ง ๖ ประเด็นมีที่มาที่ไปซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน แนวโน้มที่ยากที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง inequalities ผมเพิ่งอ่านข้อเขียนของหมอไทยที่ไปอยู่อเมริกา ๒๐ ปีและเพิ่งกลับมา บรรยายให้เห็นสภาพความไม่เท่าเทียมในสังคมอเมริกัน และผลกระทบสู่การระบาดใหญ่ของ โควิด ๑๙ เป็นสภาพที่เลวร้าย และบอกว่า สังคมไทยเราดีกว่ามาก
สำหรับผม แนวโน้มทั้ง ๕ หรือ ๖ เตือนเราว่า แม้จะเตรียมพร้อมดีอย่างไร สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้ การฝึกความเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย อดทน ปรับตัวง่าย เป็นเรื่องสำคัญมาก ต่อการมีชีวิตที่ดี
วิจารณ์ พานิช
๒๗ ก.พ. ๖๔
ไม่มีความเห็น