เรื่องของพราหมณ์วาเสฏฐะ และภารทวาชะ ตอนที่ ๒


พราหมณ์ทั้งสองยังมีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกันในเรื่องทางไปสู่การเป็นพระพรหม

เรื่องของพราหมณ์วาเสฏฐะ และภารทวาชะ ตอนที่ ๒

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

 ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๖

เตวิชชสูตร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

๑๓. เตวิชชสูตร

ว่าด้วยเรื่องไตรเพท

 

            [๕๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ของชาวโกศลชื่อมนสากฏะ ประทับอยู่ ณ อัมพวัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ด้านเหนือหมู่บ้านมนสากฏะ

            [๕๑๙] สมัยนั้น ในหมู่บ้านมนสากฏะ มีพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงมาพักอาศัยอยู่หลายคน คือ (จังกีพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านโอปาสาทะ ตารุกขพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านอิจฉานังคละ โปกขรสาติพราหมณ์อยู่ที่เมืองอุกกัฏฐะ ชาณุสโสณิพราหมณ์อยู่ที่กรุงสาวัตถี โตเทยยพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านตุทิ) จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และยังมีพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงคนอื่นๆ อีก

            [๕๒๐] ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพกับภารัทวาชมาณพไปเดินเล่น สนทนากันในเรื่องทางและไม่ใช่ทาง วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “ทางที่โปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้”

            ฝ่ายภารัทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้”

            วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารัทวาชมาณพยินยอมได้ ฝ่ายภารัทวาชมาณพก็ไม่อาจให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้เช่นกัน

            [๕๒๑] วาเสฏฐมาณพจึงบอกภารัทวาชมาณพว่า “ภารัทวาชะ ก็พระสมณโคดมพระองค์นี้เป็นศากยบุตร ผนวชแล้วจากศากยตระกูล ประทับอยู่ที่อัมพวัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ด้านเหนือหมู่บ้านมนสากฏะ ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นพระผู้มีพระภาค’ ภารัทวาชะ มาเถิด พวกเราจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วยกัน ทูลถามเรื่องนี้แล้วทรงจำข้อความตามที่พระสมณโคดมตรัสตอบแก่พวกเรา”

            ภารัทวาชมาณพรับคำของวาเสฏฐมาณพแล้ว

 

ว่าด้วยเรื่องทางและไม่ใช่ทาง

            [๕๒๒] วาเสฏฐมาณพและภารัทวาชมาณพ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยดีแล้ว นั่งลง ณ ที่สมควร

            วาเสฏฐมาณพได้ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาสเถิด เมื่อข้าพระองค์ทั้งสองไปเดินเล่น ได้สนทนากันในเรื่องทางและไม่ใช่ทาง ข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทางที่โปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ภารัทวาชมาณพกลับกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ท่านพระโคดม ในเรื่องนี้ยังมีการถือผิดกัน กล่าวผิดกัน กล่าวต่างกันอยู่”

            [๕๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทางที่โปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ภารัทวาชมาณพกลับกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ พวกเธอถือผิดกันในเรื่องไหน กล่าวผิดกันในเรื่องไหน กล่าวต่างกันในเรื่องไหน”

            [๕๒๔] วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ในเรื่องทางและไม่ใช่ทาง ท่านพระโคดม พวกพราหมณ์ทั้งหลาย คือ พวกอัทธริยพราหมณ์ พวกติตติริยพราหมณ์ พวกฉันโทกพราหมณ์ พวกพวหาริชฌพราหมณ์บัญญัติทางไว้ต่างกันก็จริง ถึงกระนั้นทางทั้งปวงก็ล้วนเป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้ เปรียบเหมือนในที่ใกล้หมู่บ้านหรือนิคม ถึงจะมีทางอยู่หลายเส้นทางก็จริง ถึงกระนั้นทุกเส้นทางก็มาบรรจบกันที่กลางหมู่บ้านนั่นเอง ฉันใด พวกพราหมณ์ทั้งหลาย คือ พวกอัทธริยพราหมณ์ พวกติตติริยพราหมณ์ พวกฉันโทกพราหมณ์ พวกพวหาริชฌพราหมณ์บัญญัติทางไว้ต่างกันก็จริง ถึงกระนั้น ทางทั้งปวงก็ล้วนเป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้ ฉันนั้น”

 

ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

            [๕๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้นนำออกได้หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้นนำออกได้หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้นนำออกได้หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท มีพราหมณ์แม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท แม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทแม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทสักคนหนึ่งไหมที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”

            [๕๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้ รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นมีไหมที่กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”

            [๕๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ แม้อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ แม้ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพททได้แก่ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์ บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเรารู้ พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’

            [๕๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอย (เลื่อนลอย (อปฺปาฏิหีรกตํ) หมายถึง เป็นคำที่ไม่มีปาฏิหาริย์ ขาดเหตุผลที่จะจูงใจฝ่ายตรงข้ามให้เชื่อถือหรือยินยอมได้) มิใช่หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้ ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้”

            [๕๒๙] วาเสฏฐะ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหมือนคนตาบอดเข้าแถวเกาะหลังกัน คนอยู่หัวแถว คนอยู่กลางแถว และคนอยู่ปลายแถวต่างก็มองไม่เห็น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นช่างน่าขบขัน ต่ำต้อย เหลวไหล ไร้สาระ

            [๕๓๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่”

            เขาทูลตอบว่า “เป็นเช่นนั้น ท่านพระโคดม พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่”

            [๕๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นจะสามารถแสดงทางไปอยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้ละหรือ”

            เขาทูลตอบว่า “หามิได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถแสดงทางไปอยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้ว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้

            [๕๓๒] วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเรารู้ พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใดหรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’

            [๕๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้ ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้

 

เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

            [๕๓๔] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า ‘เราปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่ามีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในบ้าน นิคม หรือเมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ไม่รู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’

            [๕๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

            [๕๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ฯลฯ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’

            [๕๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้ ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้”

 

เปรียบด้วยคนสร้างบันได

            [๕๓๘] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษทำบันไดที่หนทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อขึ้นปราสาท คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาท เธอรู้จักปราสาทนั้นหรือว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ มีขนาดสูง ต่ำ หรือปานกลาง’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาทที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’

            [๕๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

            [๕๔๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า  ‘พวกเรารู้ พวกเราเห็นพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’

            [๕๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”

            เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้ ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้

 

เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

            [๕๔๒] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมีน้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการจะข้ามฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปถึงฝั่ง ประสงค์จะข้าม เขายืนอยู่ที่ฝั่งนี้ตะโกนเรียกฝั่งโน้นว่า ‘ฝั่งโน้นจงเลื่อนมาฝั่งนี้ๆ’

            [๕๔๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เพราะเหตุที่ชายผู้นั้นร้องเรียก อ้อนวอน ปรารถนา หรือสรรเสริญ ฝั่งโน้นของแม่น้ำอจิรวดีจะเลื่อนมายังฝั่งนี้ได้ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            [๕๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ (ธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ (พฺราหฺมณการกา) ในที่นี้หมายถึง ศีล ๕ ศีล ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐) กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มาประพฤติ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราร้องเรียกพระอินทร์ ร้องเรียกพระจันทร์ ร้องเรียกพระพิรุณ ร้องเรียกพระอีสาน ร้องเรียกพระปชาบดี ร้องเรียกพระพรหม ร้องเรียกพระมหิทธิ์’ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มาประพฤติ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม เพราะการเรียกร้อง การอ้อนวอน การปรารถนา หรือการสรรเสริญ นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

            [๕๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมีน้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการข้ามไปฝั่งโน้น แต่กลับเอาเชือกเหนียวมัดแขนไพล่หลังแน่นหนาอยู่ที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ชายคนนั้นจะข้ามแม่น้ำอจิรวดีได้ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            [๕๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ กามคุณ (กาม (สิ่งที่ทำให้เกิดความใคร่) และ คุณ (เครื่องผูกพันหรือพันธนาการ) ฉะนั้นกามคุณ จึงหมายถึงสิ่งที่ผูกพันสัตว์ไว้คือกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ๕ ต่อไปนี้ ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า ขื่อคาบ้าง เครื่องจองจำบ้าง กามคุณ ๕ อะไรบ้าง คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยตา อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น อันน่าปรารถนารักใคร่ พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

            วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทผู้กำหนัด สยบ หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ อย่างนี้อยู่ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มาประพฤติ กำหนัด สยบ หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ อยู่ ติดตรวนคือกาม หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

            [๕๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมีน้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการข้ามไปฝั่งโน้น แต่กลับนอนคลุมโปงอยู่ที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ชายคนนั้นจะข้ามแม่น้ำอจิรวดีได้ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            [๕๔๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ นิวรณ์ ๕ ต่อไปนี้ ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง นิวรณ์ ๕ อะไรบ้าง คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา วาเสฏฐะ นิวรณ์ ๕ เหล่านี้แล ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตราตรึงบ้าง”

            [๕๔๙] วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถูกนิวรณ์ ๕ เหล่านี้แลหน่วงเหนี่ยว กางกั้น รัดรึง ตรึงเอาไว้แล้ว การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มาประพฤติ ถูกนิวรณ์ ๕ หน่วงเหนี่ยว กางกั้น รัดรึง ตรึงเอาไว้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

 

เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

            [๕๕๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคยได้ยินพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวว่าอย่างไร พรหมมีเครื่องเกาะเกี่ยว(ภรรยา) หรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมคิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดจองเวร ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมคิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมมีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้าหมอง”

            เขาทูลตอบว่า “มีจิตไม่เศร้าหมอง ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้”

            เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมีเครื่องเกาะเกี่ยวหรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”

            เขาทูลตอบว่า “มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์คิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”

            เขาทูลตอบว่า “คิดจองเวร ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์คิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”

            เขาทูลตอบว่า “คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์มีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้าหมอง”

            เขาทูลตอบว่า “มีจิตเศร้าหมอง ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้”

            เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            [๕๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังมีเครื่องเกาะเกี่ยว แต่พรหมไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังมีเครื่องเกาะเกี่ยวกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวได้ละหรือ”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นซึ่งยังมีเครื่องเกาะเกี่ยว หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังคิดจองเวร แต่พรหมไม่คิดจองเวร ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังคิดจองเวรกับพรหมผู้ไม่คิดจองเวรได้ละหรือ”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังคิดเบียดเบียน แต่พรหมไม่คิดเบียดเบียน ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังคิดเบียดเบียนกับพรหมผู้ไม่คิดเบียดเบียนได้ละหรือ”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังมีจิตเศร้าหมอง แต่พรหมมีจิตไม่เศร้าหมอง ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังมีจิตเศร้าหมองกับพรหมผู้มีจิตไม่เศร้าหมองได้ละหรือ”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ แต่พรหมบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้กับพรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ละหรือ”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้บังคับจิตอยู่ในอำนาจได้ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้

            [๕๕๒] วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นจมลงแล้วก็ยังจะจมอยู่ต่อไปในโลกนี้ เมื่อจมแล้ว ก็ถึงความย่อยยับ แต่ก็ยังเข้าใจว่า ตนข้ามไปได้ง่ายๆ ดังนั้น เราจึงเรียกไตรเพทของพราหณ์ผู้ได้ไตรเพทว่า ป่าใหญ่คือไตรเพทบ้าง ดงกันดารคือไตรเพทบ้าง ความพินาศคือไตรเพทบ้าง”

            [๕๕๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสย้อนถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร หมู่บ้านมนสากฏะอยู่ใกล้แค่นี้ ไม่ไกลไปจากนี้ใช่ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “เป็นเช่นนั้น ท่านพระโคดม”

            [๕๕๔] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คนที่เติบโตมาในหมู่บ้านมนสากฏะนี้ เมื่อถูกถามถึงทางไปหมู่บ้านมนสากฏะที่เขาเพิ่งจะออกมา มีหรือที่เขาจะชักช้าหรือรีรออยู่”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่ชักช้าหรือรีรอเลย ท่านพระโคดม เพราะเขาเติบโตมาในหมู่บ้านมนสากฏะ จึงรู้หนทางในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ผู้ที่เติบโตมาในหมู่บ้านมนสากฏะถูกถามถึงทางไปหมู่บ้านนั้นก็ยังอาจจะชักช้าหรือรีรออยู่บ้าง แต่(เรา)ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลกหรือข้อปฏิบัติที่พาไปพรหมโลก จะไม่ชักช้าหรือรีรอเลย เพราะเรารู้จักพรหมโลกและข้อปฏิบัติที่พาไปพรหมโลก อีกทั้งรู้ว่า พรหมปฏิบัติอย่างไรจึงได้เข้าถึงพรหมโลก”

            [๕๕๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า พระสมณโคดมทรงแสดงทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหม ข้าพระองค์ขอวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหม โปรดอนุเคราะห์ชุมชนพราหมณ์ด้วยเถิด”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจะกล่าว”

            เขาทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

 

ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

            [๕๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้วย่อมเกิดความเบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น

            ภิกษุนั้นมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

            วาเสฏฐะ กรรมที่ทำพอประมาณในเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจร เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึงให้ผู้อื่นได้ยินตลอดทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยาก วาเสฏฐะ นี้แลเป็นทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม

            ยังมีอีก วาเสฏฐะ ภิกษุมีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน เบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

            วาเสฏฐะ กรรมที่ทำพอประมาณในอุเบกขาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้ จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจร เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึงให้ผู้อื่นได้ยินตลอดทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยาก วาเสฏฐะ นี้แลเป็นทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม

            [๕๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้จะมีเครื่องเกาะเกี่ยวหรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดจองเวร ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”

            เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้าหมอง”

            เขาทูลตอบว่า “มีจิตไม่เศร้าหมอง ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้”

            เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ภิกษุไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว พรหมก็ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวได้ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่ภิกษุนั้นผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว นั่นเป็นฐานะที่เป็นไปได้

            [๕๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ภิกษุไม่คิดจองเวร พรหมก็ไม่คิดจองเวร ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่คิดจองเวรกับพรหมผู้ไม่คิดจองเวรได้ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุไม่คิดเบียดเบียน พรหมก็ไม่คิดเบียดเบียน ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่คิดเบียดเบียนกับพรหมผู้ไม่คิดเบียดเบียนได้ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุมีจิตไม่เศร้าหมอง พรหมก็มีจิตไม่เศร้าหมอง ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้มีจิตไม่เศร้าหมองกับพรหมผู้มีจิตไม่เศร้าหมองได้ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ พรหมก็บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้กับพรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ได้ไหม”

            เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่ภิกษุนั้นผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ นั่นเป็นฐานะที่เป็นไปได้”

 

มาณพทั้งสองประกาศตนเป็นอุบาสก

            [๕๕๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกับภารัทวาชมาณพได้กราบทูลว่า“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

 

เตวิชชสูตรที่ ๑๓ จบ

-------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา เตวิชชสูตร

ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

               อรรถกถาเตวิชชสูตร               

 

               เตวิชชสูตรมีความเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ ฯลฯ ในแคว้นโกศล.
              บทว่า มนสากตะ เป็นชื่อของบ้านนั้น. บทว่า โดยทางทิศเหนือของบ้านมนสากตะ คือ ข้างทิศเหนือ ไม่ไกลจากบ้านมนสากตะ.
               บทว่า ในป่ามะม่วง คือ ในหมู่ต้นมะม่วงหนุ่ม.
               ได้ยินว่า ภูมิภาคนั้นน่ารื่นรมย์ ข้างล่าง ลาดทรายเช่นเดียวกับแผ่นเงิน ข้างบนเป็นป่ามะม่วงมีกิ่งและใบหนา เหมือนเพดานดาดด้วยแก้วมณี พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อัมพวัน อันเป็นความสุขเกิดจากวิเวก สมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า พราหมณ์มหาศาล ผู้ที่เขารู้จักกันแพร่หลาย คือ เป็นผู้ที่เขารู้กันทั่วไปในตำบลนั้นๆ โดยถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติมีกุลจารีตเป็นต้น.
               บทว่า วังกี เป็นอาทิ เป็นชื่อของพราหมณ์มหาศาล เหล่านั้น.
               บรรดาพราหมณ์มหาศาลเหล่านั้น วังกีอยู่บ้านโอปสาทะ ตารุกขะอยู่บ้านอิจฉานังคละ. โปกขรสาติอยู่อุกกัฏฐนคร ชาณุโสนิอยู่สาวัตถี โตเทยยะอยู่ตุทิคาม.
               บทว่า พราหมณ์มหาศาลเหล่าอื่นอีก ความว่า ก็บรรดาชนเป็นอันมากเหล่าอื่นมาจากที่อยู่ของตนๆ แล้วอาศัยอยู่ ณ มนสากตคามนั้น. ได้ยินว่า เพราะมนสากตคามเป็นที่น่ารื่นรมย์ พราหมณ์เหล่านั้นจึงพากันสร้างเรือนใกล้ฝั่งแม่น้ำในมนสากตคามนั้น ล้อมไว้โดยรอบ ห้ามคนพวกอื่นเข้าไป พากันไปอยู่ ณ ที่นั้น ตามลำดับ.
               บทว่า วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพ ความว่า วาเสฏฐมาณพเป็นศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์ ภารทวาชมาณพเป็นศิษย์ของตารุกขพราหมณ์. ได้ยินว่า มาณพทั้งสองนั้นสมบูรณ์ด้วยชาติ ได้จบไตรเพทแล้ว.
               บทว่า  เดินเที่ยวพักผ่อน เพื่อต้องการบรรเทาความเมื่อยขบ เพราะนั่งนานเกินไปเป็นเหตุ. ได้ยินว่า มาณพทั้งสองนั้นนั่งท่องมนต์ตลอดกลางวัน ตอนเย็นจึงลุก ให้คนถือของหอมดอกไม้ น้ำมันและผ้าสะอาดอันเป็นเครื่องใช้สำหรับอาบน้ำ แวดล้อมด้วยบริวารชนของตนๆ ประสงค์จะอาบน้ำ ไปฝั่งแม่น้ำเดินไปๆ มาๆ ที่เนินทราย สีแผ่นเงิน. คนหนึ่งเดิน อีกคนหนึ่งเดินตาม อีกคนหนึ่งก็เดินตามอีกคนหนึ่ง ต่อกันไป ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เดินเที่ยวเล่นตามกันไป.
               บทว่า ในทางและมิใช่ทาง คือ ในเรื่องทางและมิใช่ทาง.
               อธิบายว่า มาณพทั้งสองสนทนากันปรารภถึงเรื่องทางและมิใช่ทางอย่างนี้ว่าเราจะบำเพ็ญ ปฏิปทาอย่างไรหนอ แล้วจึงจะสามารถไปสู่พรหมโลกอันเป็นสุขได้ โดยทางไหน.
               บทว่า เส้นทางเดิน เป็นไวพจน์ของทางตรง หรือทางตรงนั่นแหละ. คนย่อมเดินคือย่อมมาโดยทางนั้น เพราะฉะนั้น ทางนั้นจึงชื่อว่า เส้นทางเดิน.
               บทว่า เป็นทางนำออก ย่อมนำออก คือ เมื่อนำออก ย่อมนำออกไปได้. อธิบายว่า เมื่อจะไปก็ไปได้.
               ถามว่า ไปไหน.
               ตอบว่า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามนั้นอยู่ร่วมกับพรหม. อธิบายว่า ผู้ที่ไปเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม เพื่อความปรากฏในที่เดียวกัน ย่อมดำเนินตามทางนั้น.
               บทว่า ตารุกขพราหมณ์ บอกไว้ คือกล่าวไว้ ได้แก่แสดงไว้.
               บทว่า โปกขรสาติพราหมณ์ คือ วาเสฏฐมาณพอ้างถึงอาจารย์ของตน.
               วาเสฏฐมาณพเที่ยวชมเชยยกย่องวาทะของอาจารย์ของตนฝ่ายเดียว แม้ภารทวาชะก็เที่ยวชมเชย ... ฝ่ายเดียวเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารทวาชมาณพยินยอมได้เป็นต้น.
               ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพคิดว่า ถ้อยคำของเราแม้ทั้งสองไม่เป็นทางนำออกได้แน่นอน ขึ้นชื่อว่าผู้ฉลาดในทางในโลกนี้เช่นกับพระโคดมผู้เจริญ ไม่มี พระโคดมผู้เจริญประทับอยู่ไม่ไกล พระองค์จักขจัดความสงสัยของเราได้ เหมือนพ่อค้านั่งถือตราชั่งฉะนั้น แล้วจึงบอกความนั้นแก่ภารทวาชมาณพ ทั้งสองก็พากันไปกราบทูลถ้อยคำแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล วาเสฏฐมาณพ ฯลฯ ทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เป็นทางตรง ดังนี้.
               บทว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ คือ ในเรื่องทางและมิใช่ทางนี้.
               ในบทว่า การถือผิด การกล่าวผิด เป็นต้น ความว่า ถือผิดเกิดขึ้นก่อน กล่าวผิดเกิดขึ้นภายหลัง. แม้ทั้งสองก็เป็นวาทะต่างจากวาทะของบรรดาอาจารย์ต่างๆ.
               ในบทว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเธอจะถือผิด กล่าวผิดกันในข้อไหน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า แม้เธอก็ยกย่องวาทะอาจารย์ของตนเท่านั้นยืนยันอยู่ว่า นี้เท่านั้นเป็นทาง แม้ภารทวาชมาณพก็ยกย่องวาทะอาจารย์ของตนเหมือนกัน ความสงสัยของคนหนึ่งย่อมไม่มีในคนหนึ่ง เมื่อเป็นอย่างนั้น พวกเธอถือต่างกันในเรื่องอะไร.
               บทว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในทางและมิใช่ทาง ความว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในทางและมิใช่ทาง. อธิบายว่า ในทางตรง และมิใช่ทางตรง.
               ได้ยินว่า มาณพนั้นไม่กล่าวถึงทาง แม้ของพราหมณ์คนหนึ่งว่าไม่ใช่ทาง ก็ทางอาจารย์ของตนเป็นทางตรงฉันใด เขาไม่รับรู้ของผู้อื่นฉันนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อจะแสดงความนั้น เขาจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ... แม้โดยแท้ เป็นอาทิ.
               บทว่า ทางต่างๆ มาก คือ ๘ สาย หรือ ๑๐ สาย.
               บทว่า ทางต่างๆ คือ ทางที่มาจากบ้าน แม่น้ำ สระและนาเป็นต้นใกล้เคียงกันหลายสาย ทั้งใหญ่และไม่ใหญ่ โดยเป็นทางเท้าและทางเกวียนเป็นต้น แล้วเข้าบ้าน.
               บทว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้นย่อมนำออกหรือ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าให้วาเสฏฐมาณพ เปล่งวาจา ๓ ครั้ง แล้วให้ทำปฏิญญาณ.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะพวกเดียรถีย์ปฏิญญาณแล้ว ภายหลังเมื่อถูกข่มขี่จะดูหมิ่นวาเสฏฐมาณพ จักไม่อาจทำอย่างนั้นได้.
               แถวคนตาบอด. อธิบายว่า คนตาบอดหนึ่งจับปลายไม้เท้าที่คนตาดีถือ คนอื่นๆ ก็จับคนตาบอดกันต่อๆ ไป ด้วยประการฉะนี้ คนตาบอด ๕๐-๖๐ คน จับต่อกันไป โดยลำดับ เรียกว่า แถวคนตาบอด.
               บทว่า เกาะกันและกัน คือ เกาะหลังกันและกัน. อธิบายว่า ถูกคนตาดีถือไม้เท้าหนีไป.
               มีเรื่องว่า นักเลงคนหนึ่งเห็นหมู่คนตาบอด จึงให้พวกคนตาบอดเกิดความอุตสาหะ โดยพูดว่า ที่บ้านโน้น ของเคี้ยวของกินหาได้ง่าย. เมื่อหมู่คนตาบอดพูดว่า นายจ๋า ถ้ากระนั้น ขอท่านจงนำพวกเราไปที่บ้านนั้น พวกเราจะให้สิ่งนี้แก่ท่าน. นักเลงรับสินจ้างแล้วจึงเลี่ยงลงจากทางในระหว่างทาง เดินวนรอบกอไม้ใหญ่ จึงให้พวกคนตาบอดจับผ้าเคียนพุงกันไว้ ตามลำดับก่อนหลัง แล้วบอกว่า มีธุระ พวกท่านจงไปก่อน แล้วหนีไป. พวกคนตาบอดแม้ไปตลอดวัน ก็ไม่พบทาง ต่างคร่ำครวญว่า คนตาดีไปไหน หนทางอยู่ทางไหน เมื่อไม่พบหนทางต่างก็ตายกันในที่นั้นเอง.
               ท่านกล่าวว่า เกาะหลังกันและกัน หมายถึง พวกขอทานเหล่านั้น.
               บทว่า แม้คนต้น ก็ไม่เห็น คือ บรรดาพราหมณ์ ๑๐ คน แม้คนหนึ่งก็ไม่เห็น.
               บทว่า แม้คนกลาง ก็ไม่เห็น หมายความว่า บรรดาอาจารย์และปาจารย์ในท่ามกลาง แม้คนหนึ่งก็ไม่เห็น.
               บทว่า แม้คนหลัง ก็ไม่เห็น หมายความว่า บรรดาพราหมณ์ผู้จบไตรเพทในบัดนี้แม้คนหนึ่งก็ไม่เห็น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงว่า พรหมผู้ที่พราหมณ์ผู้จบไตรเพทไม่เคยเห็น ยกไว้ก่อน พราหมณ์ผู้จบไตรเพทย่อมมองเห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ใดได้ แต่ไม่สามารถจะแสดงทาง เพื่อความอยู่ร่วมกับพระจันทร์พระอาทิตย์แม้นั้นได้ จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า วาเสฏฐะ เธอจะสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน.
               บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า พระจันทร์พระอาทิตย์ขึ้นเมื่อใด คือ ขึ้นในกาลใด.
               บทว่า และตกเมื่อใด คือถึงความดับไปในกาลใด. อธิบายว่า ชนทั้งหลายย่อมเห็นในเวลาขึ้นและในเวลาตก.
               บทว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมอ้อนวอน คือ อ้อนวอนอย่างนี้ว่า ขอพระจันทร์ผู้เจริญจงขึ้น ขอพระอาทิตย์ผู้เจริญจงขึ้น.
               บทว่า ย่อมชื่นชม อธิบายว่า ชนทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญว่าพระจันทร์สุภาพ พระจันทร์เรียบร้อย พระจันทร์มีรัศมีเป็นอาทิ.
               บทว่า ประนมมือ คือ ประคองมือ.
               บทว่า นอบน้อม คือ กล่าวว่า นโม นโม ดังนี้.
               ในบทว่า ก็จะกล่าวกันทำไม พึงเห็นความอย่างนี้ว่า ในที่นี้ควรพูดเรื่องอะไรกัน ได้ยินว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท มิได้เห็นพรหมเป็นพยาน.
               บทว่า เสมอฝั่ง ได้แก่ เต็มฝั่ง
               บทว่า กาดื่มได้ อธิบายว่า กายืนอยู่บนฝั่งข้างใดข้างหนึ่ง ก็สามารถดื่มกินได้.
               บทว่า ประสงค์จะข้ามฝั่ง คือ ประสงค์จะข้ามแม่น้ำไปถึงฝั่งโน้น.
               อธิบายว่า เขาร้องเรียกว่า ดูก่อนฝั่งโน้น ท่านจงมาฝั่งนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านจักพาเราข้ามไปได้โดยไว เรามีกิจที่จะต้องทำด่วน.
               ในบทว่า ธรรมเหล่าใดที่ทำให้เป็นพราหมณ์นี้ พึงทราบว่า ธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐. ธรรมที่ผิดไปจากนั้น ไม่ใช่ธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงความที่คำร้องเรียกของพราหมณ์ไม่มีประโยชน์ ผู้ทรงรุ่งเรืองอยู่ ดุจพระอาทิตย์ในท้องมหาสมุทร ทรงแวดล้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ประทับนั่งเหนือฝั่งแม่น้ำอจิรวดี เมื่อจะทรงนำแม่น้ำอื่นๆ มาเปรียบเทียบอีก จึงตรัสว่า เปรียบเหมือนว่า เป็นอาทิ.
               บทว่า กามคุณทั้งหลาย อธิบายว่า ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าพึงใคร่. ชื่อว่าคุณ เพราะอรรถว่าผูกมัด.
                                            

 สํสนฺทนกถาวณฺณนา               

               แม้ในบทเป็นอาทิว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวกับสตรี ดังนี้ ท่านกล่าวความไม่เกาะเกี่ยวกับสตรี เพราะไม่มีกามฉันทะ. ชื่อว่าไม่มีเวรด้วยจิตคิดจองเวรกับใครๆ เพราะไม่มีพยาบาท. ชื่อว่าไม่มีพยาบาท ด้วยการพยาบาท กล่าวคือ ความเป็นไข้ทางใจ. เพราะไม่มีถีนมิทธะ ชื่อว่ามีจิตไม่เศร้าหมองด้วยเครื่องเศร้าหมองมีอุทธัจจะกุกกุจจะเป็นต้น เพราะไม่มีอุทธัจจะกุกกุจจะ ชื่อว่าผู้มีจิตบริสุทธิ์ด้วยดี. ชื่อวสวัตตี เพราะทำจิตให้อยู่ในอำนาจ เหตุไม่มีวิจิกิจฉา และไม่เป็นเช่นพราหมณ์ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งจิต คือเป็นไปในอำนาจแห่งจิต.
               บทว่า ก็ในโลกนี้แล คือ ในทางแห่งพรหมโลกนี้. บทว่า จมลงแล้ว คือ เข้าไปหาสิ่งไม่ใช่ทางเลยว่าเป็นทาง. บทว่า กำลังจมอยู่ คือ จมเข้าไป เหมือนคนเหยียบเปือกตม ด้วยสำคัญว่า เป็นพื้นราบ. บทว่า ครั้นจมแล้ว ย่อมถึงความย่อยยับ อธิบายว่า ครั้นจมเหมือนจมในเปือกตมอย่างนี้แล้ว ย่อมถึงความย่อยยับ คือความแตกหักแห่งอวัยวะน้อยใหญ่.
               บทว่า สำคัญว่า ข้ามได้ง่าย อธิบายว่า ชนทั้งหลายคิดว่า เราจักข้ามโดยสำคัญว่า แม่น้ำมีน้ำเต็มเสมอฝั่ง กาดื่มได้ จึงพยายามทั้งมือทั้งเท้าสำคัญว่าข้ามได้ง่าย เพราะลวงตาด้วยพยับแดด. เพราะฉะนั้น เขาทั้งหลายย่อมถึงความย่อยยับความแตกหักในอบาย เหมือนอย่างมือและเท้าเป็นต้นถึงความย่อยยับแตกหักฉะนั้น คือไม่ได้ความสุข หรือความสำราญในโลกนี้เลย.

พฺรหฺมโลกมคฺคเทสนาวณฺณนา               

               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงถึงการอุบัติแห่งพระพุทธเจ้า แล้วทรงแสดงทางไปพรหมโลกมีเมตตาวิหารธรรมเป็นต้น พร้อมด้วยข้อปฏิบัติเบื้องต้นแก่เขา จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ ถ้ากระนั้น เธอจงฟัง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พระตถาคตทรงอุบัติในโลกนี้ เป็นอาทิในสูตรนั้น ท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในสามัญญผลสูตร.
               ข้อที่ควรกล่าวทั้งหมด ในบทว่า มีใจประกอบด้วยเมตตา เป็นต้น ท่านกล่าวไว้แล้ว ในพรหมวิหารกัมมัฏฐานกถา ในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า กรรมที่ทำพอประมาณอันใด หมายความว่า ขึ้นชื่อว่ากรรมที่พอประมาณ ท่านกล่าวว่าเป็นกามาวจรกรรม. กรรมที่ทำไว้หาประมาณมิได้ ท่านกล่าวว่า เป็นรูปาวจรกรรมและอรูปาวจรกรรม. ท่านกล่าวว่า กรรมที่ทำหาประมาณมิได้ เพราะล่วงประมาณแล้วทำให้เจริญด้วยอำนาจการแพร่ไปในทิศที่เจาะจงและไม่เจาะจง.
               บทว่า กรรมนั้น ไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ ในรูปาวจรกรรมและอรูปาวจรกรรมนั้น. อธิบายว่า กรรมที่เป็นกามาวจรนั้นไม่หยุด ไม่ตั้งอยู่ในกรรมอันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรนั้น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               อธิบายว่า กรรมเป็นกามาวจรนั้น ไม่สามารถเพื่อจะข้อง หรือเพื่อตั้งอยู่ในระหว่างกรรมอันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรนั้นได้ หรือเพื่อจะแพร่กรรมอันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรแล้วควบคุม ถือโอกาสของตนตั้งอยู่ได้ โดยที่แท้ กรรมอันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรนั้นแหละจะแพร่ไป แล้วควบคุมไว้ซึ่งกามาวจรกรรม ถือโอกาสของตนตั้งอยู่ เหมือนห้วงน้ำใหญ่ท่วมท้นน้ำนิดหน่อยออกไปตั้งอยู่ ฉะนั้น ย่อมห้ามวิบากของกรรมอันเป็นกามาวจรนั้น นำเข้าสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมด้วยตนเอง ดังนี้.
               บทว่า ภิกษุมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ คือ มีธรรมเครื่องอยู่มีเมตตาเป็นต้นอย่างนี้.
               บทว่า ข้าพระองค์ทั้งสองขอถึงพระโคดมผู้เจริญเป็นสรณะ นี้เป็นการถึงสรณะครั้งที่สองของมาณพทั้งสองนั้น.
               ก็มาณพทั้งสองนั้นฟังวาเสฏฐสูตรในมัชฌิมปัณณาสก์แล้ว ถึงสรณะเป็นครั้งแรก ฟังเตวิชชสูตรนี้แล้ว ถึงสรณะเป็นครั้งที่สอง ล่วงไป ๒-๓ วัน ได้บรรพชาแล้วได้อุปสมบท และบรรลุพระอรหัต ในอัคคัญญสูตร.
               อรรถกถาเตวิชชสูตร แห่งอรรถกถาทีฆนิกายชื่อสุมังคลวิลาสินีจบลงด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาเตวิชชสูตรที่ ๑๓               


               -----------------------------------------------------  

 

หมายเลขบันทึก: 712074เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2023 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2023 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท