ชีวิตที่พอเพียง  4424. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๘๗. ฝึกพูดเพื่อเรียนรู้ (learning talk)  สู่ transformative learning


 

วันที่ ๑๗ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ ผมไปร่วมสังเกตการณ์ การอบรมปฏิบัติการ สอนเสวนา (Dialogic Teaching) ให้แก่ นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น ๑   ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี    ที่มีทีมจาก CCE   นำโดย Paul Collard เป็นวิทยากร    ฝึกให้อาจารย์ และ นศ. ครูรัก(ษ์)ถิ่นเอง เป็น facilitator ของกระบวนการ   โดยวิทยากรทำหน้าที่พี่เลี้ยง    เพื่อให้ทีมไทยเองสามารถจัดการฝึกอบรมเช่นนี้เองได้ ในภายหลัง

ได้เห็น ได้อ่าน  ได้ฟัง  และได้พูดคุย แล้ว    ผมสะท้อนคิดกับตัวเองว่า     การอบรมนี้น่าจะให้ผลกระทบที่สำคัญคือ    การเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาไทย    จากวัฒนธรรมถ่ายทอดความรู้    สู่วัฒนธรรมสร้างความรู้ใส่ตัว 

ผมสะท้อนคิดว่า จริงๆ แล้วการเรียนรู้แบบนี้ เป็นมากกว่า สอนเสวนา (dialogic teaching)    คือเป็นการเรียนผ่านการสื่อสาร หรือผ่านปฏิสัมพันธ์ (interactive learning)    เพราะการฝึกอบรมนี้ ใช้การสื่อสารผ่านการวาดภาพ หรือการสร้างชิ้นงานศิลปะ    เพื่อใช้เป็นรูปธรรมในการให้คำอธิบาย    หรือในการดึงดูดความสนใจของสมาชิกกลุ่ม     ชวนให้คิดแล้วสื่อสารออกมาเป็นถ้อยคำ (วัจนะ) และอวัจนะภาษา    หรือภาษากาย   

การเรียนรู้ที่แท้ เป็นกระบวนการสร้างความรู้ใส่ตัว   ผ่านการปฏิบัติ หรือประสบการณ์ ตามด้วยการสะท้อนคิด    การเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ (interactive learning) เป็นตัวช่วยหรือชวนให้สังเกตและสะท้อนคิดอยู่ตลอดเวลา    ซึ่งก็คือการเรียนรู้เชิงรุก (active learning)   หรือกระบวนการสร้างความรู้ใส่ตัว   

ผมจึงอยากให้การฝึกอบรมนี้ ไม่เพียงช่วยให้ นศ. และอาจารย์ ได้เรียนรู้เทคนิคหรือวิธีการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเท่านั้น    ผมอยากให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ตกผลึกหรือสะท้อนคิด ออกมาเป็นหลักการ (conceptualization) หรือทฤษฎี ว่าด้วยการเรียนรู้    ที่เป็นการเรียนรู้เชิงรุก และในระดับที่ลึกและเชื่อมโยง   

อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และวัฒนธรรม ของวงการศึกษาไทย   สู่วัฒนธรรมหนุนให้ผู้เรียนสร้างสมรรถนะ (V., A., S., K.) ใส่ต้ว    และวัฒนธรรมครูเป็นโค้ช    เวทีฝึกอบรมนี้ ควรดำเนินการให้ครูไม่เพียงได้ฝึกทักษะ (S – skills) โค้ช เท่านั้น    ควรจัดกระบวนการให้ผู้เข้ารับการอบรมได้สะท้อนคิดจนได้ครบ VASK ของการเป็นครู และการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑      

วิธีการที่ทีม CCE ใช้ น่าจะนำสู่ transformative learning ของผู้เข้ารับการอบรม   และค่อยๆ แพร่ขยายสู่ระบบการศึกษาไทย   เพื่อนำสู่ systems transformation   

ทั้ง transformation ของผู้เข้ารับการอบรม    และ transformation ของระบบการศึกษาไทย ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยง่าย   ต้องการกระบวนการที่นำสู่ critical reflection    โดยมีโค้ชช่วยตั้งคำถามกระตุ้นการสะท้อนคิด ในระดับชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างกระบวนทัศน์หรือความเชื่อเดิม    กับข้อมูลหลักฐานที่ตนเห็นอยู่     ให้ผู้เกี่ยวข้องรู้สึกจำนนต่อหลักฐานเอง     

หนังสือ รียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง บอกชัดเจนว่า    transformation เกิดขึ้นผ่านสภาพอึดอัดขัดข้อง   เพราะสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าไม่ตรงกับความเชื่อหรือสิ่งที่ยึดถือไว้เดิม    ดังนั้น แนวคิดว่า การเรียนรู้ต้องสนุกสนาน และให้ความสุข  จึงไม่น่าจะเป็นจริงเสมอไป   แต่แนวคิดว่า การเรียนรู้ต้องมีเรื่องท้าทายให้ทำแล้วคิด น่าจะใช้ได้เป็นสากล    การเรียนรู้ผ่านความยากลำบากอึดอัดขัดข้อง (ที่ท้าทาย) เป็นครั้งคราว น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

แนวคิด “ระวังนักเรียนเครียด” อยู่ตลอดเวลา จึงไม่น่าจะถูกต้อง    ความเครียดชั่วคราวไม่เป็นพิษภัย    ที่เป็นพิษคือความเครียดเรื้อรัง   และจนตรอกหาทางออกไม่ได้   ความเครียดที่เป็นประตูสู่ทางออกหรือการเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีคุณ ไม่ใช่มีโทษ                      

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ธ.ค. ๖๕

ห้อง ๒๒๒๕ โรงแรมนิภา การ์เด้นท์  สุราษฎร์ธานี    

   

 

 

                   

 

หมายเลขบันทึก: 712032เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2023 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2023 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Dukkha comes from ‘change’ (anicca) in attachment to self (atta). This is the ‘Buddhist Law’. Change cannot be stopped because the universes are in motions. Attachment to self cannot be easily released (for most people) [may be] because of DNA self-preservation over billions of years and generations. So, it seems that the way out of dukkha is to tune to change. In other words to learn what change and to dance with change.

This “.. การเรียนรู้ต้องสนุกสนาน และให้ความสุข จึงไม่น่าจะเป็นจริงเสมอไป..” is a watered down version of the truth.

Learning ที่ใส่ความเครียดชั่วคราวที่ท่านนิยามจะสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน มากน้อยตามแต่ภูมิของผู้เรียน ผมจึงไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท