อภิปรายผลการวิจัยอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์ (How to write research discussion)


การอภิปรายผลการวิจัยเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พบว่าเป็นปัญหาทั้งในบทความวิจัย และรายงานการวิจัยฉบับเต็ม ประเด็นที่พบว่าเป็นปัญหาส่วนใหญ่คือ 1) เราควรนำผลการวิจัยมาอภิปรายผลทุกผลไหม 2) การอภิปรายผลการวิจัยที่ดีควรเป็นอย่างไร และ 3) ทุกประเด็นที่นำมาอภิปรายจำเป็นต้องอ้างความสอดคล้อง หรือไม่สอดคล้องกับงานคนอื่นหรืองานที่เราเคยทำมาก่อนหรือไม่ 

อภิปรายทุกผลการวิจัยไหม คำตอบก็คือ ‘ไม่จำเป็น’ แต่ก็มักจะพบบ่อยว่าผู้วิจัยจะนำผลการวิจัยทุกเรื่องมาอภิปราย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าข้อค้นพบในการวิจัยมีประเด็นที่ควรนำมาอภิปรายทุกประเด็น แต่ถ้านำอภิปรายเพียงแค่ว่าเป็นผลการวิจัยเฉยๆ แล้วผมเห็นว่าไม่ควรทำ 

และจริงๆ แล้วผู้วิจัยควรจะเลือกและนำเฉพาะผลการวิจัยที่สำคัญมาอภิปราย เพราะผลการวิจัยที่สำคัญดังกล่าวจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยครั้งนั้น ซึ่งผู้วิจัยจะชี้ให้เห็นว่าข้อค้นพบดังกล่าวเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร เคยมีผลการวิจัยที่พบลักษณะเดี่ยวกันหรือไม่ หรือว่าแตกต่างจากที่พบในงานวิจัยของเรา 

ถ้างานวิจัยครั้งนั้นมีสมมติฐานการวิจัย ผู้วิจัยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำข้อค้นพบมานำเสนอว่าข้อค้นพบของเราเป็น หรือไม่เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย และอภิปรานผลว่าทำไมเป็นเช่นนั้น มีผลการวิจัยอื่นที่พบในลักษณะเดียวกันหรือไม่ ข้อค้นพบเป็นหรือไม่เป็นไปตามทฤษฎีที่ใช้เป็นฐานในการวิจัย และการตั้งสมมติฐาน 

กรณีที่ผู้วิจัยจะเลือกเฉพาะประเด็นสำคัญที่พบในการวิจัยครั้งนั้นมาอภิปรายผล ผู้วิจัยควรเขียนนำก่อนว่าผู้วิจัยจะนำผลการวิจัยอะไรบ้างมาอภิปรายผล

การอภิปรายผลการวิจัยที่ดี เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจและนำใช้ขณะเขียนอภิปรายผล ไม่ใช่อภิปรายผลแบบไหนก็ได้ขอให้ครบองค์ประกอบของการรายงานผลการวิจัย จากประสบการณ์ในทำและการอ่านผลงานวิจัย ผมเห็นว่าการอภิปรายผลที่ดีควรจะชี้ให้เห็นว่าทำไมข้อค้นพบในการวิจัยครั้งนี้จึงเป็นเช่นนั้น เป็นไปตามสมมติฐาน หรือไม่เป็นไปตามสมมติฐาน เพราะอะไร (ดังกล่าวมาแล้ว) สอดคล้อง หรือไม่สอดคล้องกับทฤษฎี หรืองานวิจัยอื่น ผู้วิจัยควรอภิปรายตามความเป็นจริง แม้ว่าผลจะไม่เป็นไปตามทฤษฎี หรือความคาดหวังของเรา 

การอ้างความสอดคล้อง/ไม่สอดคล้องในการอภิปรายผล เป็นปัญหาที่พบไม่น้อยในการอ่านผลการวิจัย เช่น ผู้วิจัยบางคนเข้าใจว่าการอภิปรายผลควานเสนอเฉพาะผลที่สอดคล้องเท่านั้น ซึ่งจริงๆ ต้องอภิปรายทั้งผลที่สอดคล้องและไม่สอดคล้อง อีกปัญหาหนึ่งคือการอ้างความสอดคล้องเพียงแค่เป็นการวิจัยเรื่องเดียวกัน หรือค่าสถิติเหมือนกัน เช่น งานวิจัยที่นำมาอ้างว่าสอดคล้องกับงานวิจัยของเราเป็นการวิจัยเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ดูว่าผลค้นผลของเขาว่าเหมือนข้อค้นพบของเราหรือไม่ อาทิ ข้อค้นพบของเราพบว่ามีสภาพการดำเนินงานอยู่ระดับมากที่สุด แต่งานที่นำมาอ้างความสอดคล้องพบว่ามีสภาพการดำเนินงานอยู่ระดับปากลาง เป็นต้น ที่แย่กว่านี้คือเพียงแค่ผลการเปรียบเทียบพบว่ามีความแตกต่างในระดับนัยสำคัญเดียวกัน (เช่น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05)  ก็จะนำมาอ้างว่าข้อค้นพบสอดคล้องกัน ท้ังๆ ที่งานวิจัยของเราเป็นการศึกษาสภาพการดำเนินงานวิชาการ ขณะที่งานที่นำมาอ้างว่าสอดคล้องนั้นเป็นการศีกษาภาวะผู้นำของผู้บริหารการศึกษา เป็นต้น จริงๆ แล้วถ้าหางานวิจัยที่จะนำมาอ้างว่าสอดคล้องกับงานเราหรือไม่ได้ ก็ไม่ต้องอ้างความสอดคล้อง หรือไม่สอดคล้องก็ได้ เพียงแต่อภิปรายว่าผู้วิจัยเห็นว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร หรือไม่ก็อภิปรายว่าที่เป็นเช่นนั้นสอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎี หรือความเห็นของนักวิชาการท่านใด (ที่อยู่ในวรรณกรรม คือ บทที่ 2) ก็ได้

ถ้าผู้วิจัยเข้าใจและระม้ดระวังในการเขียนอภิปรายผลการวิจัย ดังข้อสังเกตและข้อเสนอข้างต้น ผมเชื่อว่าการอภิปรายผลการวิจัยจะมีคุณค่า และเป็นประโยชน์กับผู้อ่านผลงานวิจัยมากขึ้นแน่นอน อย่าลืมว่าการอภิปรายผลการวิจัยเป็นตัวชี้วัดความเข้าใจงานวิจัยที่ผู้วิจัยทำได้เป็นอย่างดี และเป็นตัวชี้วัดความสามารถ หรือกึ๋นของผู้วิจัยด้วยครับ 

สมาน อัศวภูมิ

19 มีนาคม 2566

หมายเลขบันทึก: 712001เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2023 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2023 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท