ชีวิตที่พอเพียง 4422. PMAC 2023 – Global Health in the Nexus of Climate Change, Biodiversity Loss and Pollution 6. Day 1


 

การประชุมวันแรก ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖   เริ่มจากพิธีเปิด ที่หลังการกล่าวรายงาน และพระราชดำรัสเปิดโดยพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ จบ    เป็นวิดีทัศน์การ์ตูนสะท้อนความเลวร้ายของมลพิษ  ที่ มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ สนับสนุนการจัดทำ   ให้ความสะเทือนใจมาก    

ต่อมาเป็นวิดีทัศน์ Armchair Dialogue กับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลปี ๒๕๖๕ ทั้งเรื่องเบาหวาน   และเรื่องวัคซีนป้องกันไวรัส HPV   ความรู้ใหม่เรื่องโรคเบาหวานคือ DM Type 1 เป็นโรคภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายตับอ่อน  คือเกิดจากการขาดอินสุลิน    ส่วน DM Type 2 เป็นโรคที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินสุลิน ตับอ่อนหลั่งอินสุลิน แต่ร่างกายดื้อต่อ อินสุลิน     

ส่วนเรื่อง HPV vaccine  มีคุณค่าที่การป้องกันโรคมะเร็งที่เกิดจากโรคติดเชื้อ    ซึ่งในที่นี้คือ Human Papilloma Virus   ที่ก่อมะเร็งปากมดลูก   แต่ก็ยังก่อมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ที่มีบทบาททางการร่วมเพศ ได้ด้วย    ที่จริงเราได้ให้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล แก่ ศ. Harald Zur Hausen ในปี ๒๕๔๘ จากการค้นพบว่า HPV เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก   และต่อมาท่านได้รับรางวัลโนเบล ในปี ๒๕๕๑ จากผลงานเดียวกัน    เมื่อเป็นมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อ ก็ย่อมป้องกันได้โดยวัคซีน               

ตามด้วยการบรรยายนำโดย ๒ท่านคือ Vandana Shiva  พูดออนไลน์มาจากอินเดีย    กับคุณบัณฑูร ล่ำซำ พูดในห้องประชุม    ทั้งสองท่านวางพื้นฐานบรรยากาศของการประชุม ๓ วัน ได้อย่างดีเยี่ยม    โดย Shiva พูดออกไปทางวิชาการ   ส่วนคุณบัณฑูร เน้นภาคปฏิบัติ  

Plenary Session 0  ดำเนินรายการทางออนไลน์โดย Richard Horton บรรณาธิการวารสาร The Lancet    ที่จับประเด็นได้เยี่ยมมาก กระชับและชัดเจน    บรรยายนำโดย Andri Snaer Magnason นักเขียนจาก ไอซแลนด์     ผู้เขียนหนังสือ On Time and Water ในภาษาไอซแลนด์    แล้วมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ    ฟัง Ted Talk เรื่องนี้ได้ที่ (๑)    ทั้งหนังสือและ Ted Talk ชวนให้เราคิดในมิติข้าม generation   ทั้งคิดไปในอดีต และไปในอนาคต   ทำให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในเวลา ๑ ศตวรรษ    และเกิดความตระหนักว่า หากจะให้คนรุ่นหลานของตนมีชีวิตที่ดี   ตนเองและคนรุ่นตนต้องเปลี่ยนพฤติกรรม   คุณ Andri บอกว่า คนเราสามารถทำความเข้าใจอนาคตได้ ผ่านการคิดเชื่อมโยงสู่อดีต    ผมคิดต่อว่า ต้องมีคนมาตั้งคำถามที่เหมาะสม   การคิดในมิติเวลาเป็นศตวรรษจึงจะเกิดขึ้นได้    และคิดในความรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว 

ตามด้วย panelist สามคน (จากอัฟริกา อเมริกาใต้  และไทย)    ที่ผมรู้สึกว่า ต่างก็พูดตามที่ตนเตรียมมา    ไม่สามารถจับประเด็นของคุณ Andri เอามาสานสร้างพลังความคิดต่อได้    แต่การเสนอของแต่ละท่านก็มีพลังมาก    ว่าโลกและมนุษยชาติจะรอดได้ มนุษย์ต้องเปลี่ยนวิธีคิด  มุมมองเชิงบวกคือ มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงได้    โดยเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือคำพูด    Richard Horton ปล่อยคำคมว่า Words create reality.    คำที่ทรงพลังที่คุณหมอนักเคลื่อนไหวสังคม Vivian Camacho จากโบลิเวียกล่าว คือ Mother Nature  

Plenary Session 1 : Living Within Limits  มีผู้ดำเนินรายการ ๑ คน  keynote speaker สามคน   และ panelist สี่คน    จึงทำให้เวลาชั่วโมงครึ่งไม่พอ   แต่ก็เป็นการวางพื้นฐานความคิดว่ามนุษย์ต้องเจียมตัว   จะหวังดำรงชีวิตที่ดีผ่านการเอาธรรมชาติมาเป็นทาสอย่างในอดีตไม่ได้    ต้องเปลี่ยนไป    ต้องเคารพรักธรรมชาติ 

Parallel Session 1.1 : Climate Justice    ดำเนินการโดยองค์การภาคประชาชน People Health Movement   นำเรื่องราวของประเทศยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแล้ว   และจะได้รับผลกระทบรุนแรงขนาดไม่มีแผ่นดินอยู่ หากสภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น       

Plenary Session 2 : Challenges and Opportunities    เป็นการเสนอให้เห็นว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ และมลภาวะ    เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส    ที่มนุษย์จะหาสมดุลใหม่ของ One Health    ที่วงการภาคสุขภาพมีส่วนช่วยโลกได้    ผ่านการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ    เพื่อร่วมกันสร้าง “ชาลาปฏิบัติการ” (operation platform) ด้านสุขภาวะ ใหม่    ที่มีมิติของความยั่งยืน    และส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ให้เปลี่ยน (transform) ไปด้วยกัน   

ผมตีความว่า Health Sector สามารถทำหน้าที่ change agent เพื่อการสร้างความยั่งยืนแก่โลกได้    โดยทำงานเชื่อมโยงในวงกว้าง   

โต้วาทีระหว่างรุ่น (Inter-generational Debate)   ช่วงเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม    แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย  คือฝ่ายมองบวก กับฝ่ายมองลบ    ตอบสองคำถาม (๑) ในปี 2050 เราจะสร้างสมดุลของ Planetary Health ได้หรือไม่   (๒) ในปี 2050 ภาคสุขภาพจะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นผู้ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง   สร้างบรรยากาศความสนุกสนาน และประเทืองปัญญาไปพร้อมๆ กัน    ให้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย   

ข้อสรุปของผมเมื่อจบวันแรกคือ ธรรมชาติปรับตัวเองได้ หากมนุษย์หยุดพฤติกรรมที่ทำลายธรรมชาติ   เป็นมุมมองเชิงบวก เชิงมีความหวัง   ที่ผมอดเถียงไม่ได้ว่า ทุกสิ่งมีขีดจำกัด    หากทำลายธรรมชาติไปเลยจุดหนึ่ง ก็จะฟื้นคืนกลับไม่ได้   และการฟื้นตัวของธรรมชาติ อาจไม่ใช่ฟื้นสู่สภาพเดิม    แต่เป็นการฟื้นสู่สมดุลใหม่    ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยชุดใหม่   

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ม.ค. ๖๖

ห้อง ๔๕๐๒ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 711998เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2023 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2023 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท