บันทึกเรื่อง Peer Assist ระหว่างทีม รพ.พุทธชินราชและทีม รพ.เทพธารินทร์ ครั้งนี้เป็นตอนสุดท้าย เริ่มใจหายนิดๆ เพราะขณะที่เขียนเล่าเรื่องมีความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในเหตุการณ์และมีทุกๆ คนอยู่ด้วย
ตอนที่เราลงไปคลินิกสุขภาพเท้า คุณกิ่งเพชรกำลังตัดเล็บขบให้ผู้ใช้บริการ (หญิง) รายหนึ่งอยู่พอดี เราจึงขออนุญาตท่านผู้นี้ ขอพาทีมผู้ขอเรียนรู้มาดูการทำงานด้วย ผู้ใช้บริการรายนี้มีความรู้เรื่องการใช้รองเท้าเป็นอย่างดี เหลือบมาเห็นรองเท้าของดิฉันซึ่งเป็นส้นสูง (ประมาณ ๒ นิ้ว) จึงบอกว่าถ้าทำงานที่ต้องยืน เดินเยอะๆ ไม่ควรใส่รองเท้าแบบนี้ (แบบที่ดิฉันใส่) เพราะเท้าจะถูกกด ต้องแบบของเธอยืนทั้งวันก็ไม่ปวดเมื่อย ต้องชมผู้ใช้บริการรายนี้ที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ
วันนี้น้องส้ม (ภก.สมจิตร) คุยเก่งขึ้น รับอาสาเป็นผู้ใช้บริการ (หลังจากไปนอนคิดมาแล้ว ๑ คืน)ให้คุณยุวดี มหาชัยราชัน เจ้าของบล็อก DM Theptarin ใช้สาธิตวิธีตรวจดูและคลำเท้า พร้อมทั้ง trim callus ออก ให้เพื่อนๆ ได้ดูเป็นตัวอย่าง และได้เลือดไปเล็กน้อย เพื่อนๆ หายข้องใจเพราะเลือดน้องส้มสีแดงเชียว คุณยุวดีและคุณกิ่งเพชรช่วยกันอธิบายเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีอยู่ ให้ดูอุปกรณ์ในการทำ felted foam dressing
คุณอุทุมพรทดลองใช้เครื่อง Podoscope ให้ทุกคนเห็นว่า เครื่องนี้ใช้วัด pressure ที่เท้าได้อย่างไร ทีแรกคุณหมอเดือนไม่กล้าวัด pressure ด้วย Podoscope เพราะกลัวเครื่องจะรับน้ำหนัก (ตัว) ไม่ไหว จึงไปใช้เครื่อง i Step แทน แต่ตอนหลังคงแอบใช้วิชาตัวเบา มาลองเครื่อง Podoscope ดูด้วย เมื่ออาจารย์นิโรบลเห็นภาพรอยเท้าก็เกิดความคิดว่าน่าจะใช้น้ำสีบอกความหนักเบาของ pressure ได้
หลายคนสนใจรองเท้า อาจารย์นิโรบลอยากได้รองเท้าเปิดแต่รัดส้น (sandal) ไว้ใช้เองและจะเอาไปเป็นตัวอย่างให้ผู้ป่วยที่ รพ.รามาธิบดีดูด้วย แต่รองเท้าที่มีอยู่คุณหมอนิพัธซื้อไปเสียแล้ว จึงสั่งตัดใหม่ คุณภูษิตทำหน้าที่วัดเท้าให้ จึงได้รู้วิธีการวัดเท้าเพื่อตัดรองเท้าด้วย น้องอาร์ม (คุณฐาปกรณ์) ดูตื่นตัวมากขึ้น คอยเก็บภาพทุกแง่ทุกมุม ไม่เว้นแม้แต่ป้ายชื่อคลินิก
ระหว่างกำลังดูงานกันอยู่นั้น ก็มีโทรศัพท์จากคุณหมอทวีศักดิ์มาบอกว่าผู้ป่วยที่ใช้ vacuum dressing อยู่นั้น กำลังจะกลับบ้านแล้ว ใครอยากดูของจริงให้ไปที่หอผู้ป่วย เราจึงแบ่งทีมผู้ขอเรียนรู้ส่วนหนึ่งไปดูเรื่อง vacuum dressing
ทั้งซักถาม ทั้งลองเป็นผู้ใช้บริการเอง จนได้เวลารับประทานอาหารกลางวัน เรากลับไปที่ห้องประชุม เมื่อวานนี้ดิฉันลืมไปว่ามีคุณผู้ชายอยู่ด้วย ปริมาณอาหารที่จัดให้น้อยไปหน่อยสำหรับผู้ชาย (นึกได้ตอนเย็น ขณะกำลังขับรถกลับบ้าน) วันนี้จึงเพิ่มปริมาณอาหารให้ รายการอาหารวันนี้คือข้าวผัดกะเพรา ปลาสลิดทอด ต้มยำเห็ด และผลไม้ ของผู้หญิงจัดให้ ๕๒๐ แคลอรี่ ผู้ชาย ๖๓๕ แคลอรี่ ทุกคนรับประทานอาหารกันเร็ว พอได้เวลา ๑๒.๕๐ น. คุณธัญญา หิมะทองคำ ก็เล่าเรื่องค่ายเบาหวานของเทพธารินทร์ ว่าสมาชิกค่ายเป็นใครบ้าง ไปจัดค่ายที่ไหนมาบ้างแล้ว กิจกรรมในค่ายมีอะไรบ้าง เน้น "ความรู้ ความสนุกสนาน Do-able และได้เพื่อน" ดูเผินๆ การจัดค่ายเหมือนไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่เบื้องหลังระหว่างเตรียมการ ทีมทำงานค่ายทำงานกันหนักจริงๆ
๑๓.๐๐ น. อาจารย์สมเกียรติและคุณภูษิตขอตัวกลับไปก่อน คุณหมอนิพัธเป็นตัวแทนมอบของที่ระลึกให้กับอาจารย์และทีมงาน
หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลา "เก็บตก" ทีมผู้แบ่งปันมารวมตัวกันอีกครั้ง ให้ทีมผู้ขอเรียนรู้ซักถามเพิ่มเติมในประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน มีการถามเรื่อง vacuum dressing ในรายที่มี fistula อาจารย์นิโรบลช่วยอธิบายหลักการว่าต้องมีการ collect output การป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณโดยรอบเป็นแผล การวางฟองน้ำ ตำแหน่งการวางสาย suction คุณหมอทวีศักดิ์บอกว่าฟังแล้วได้ idea คราวหน้าจะลองใช้แบบนี้ดูบ้าง มีโอกาสจึงได้คุยกันเรื่องชมรม wound healing ที่เพิ่งตั้งขึ้นว่าเป็นชมรมที่จะพัฒนาวิธีการทำแผล กิจกรรมของชมรมจะมีหลายอย่าง ทั้งการจัดอบรม ทำวารสาร ทำงานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ งานประชาสัมพันธ์ งานบริการ และงานด้านต่างประเทศ
มีคำถามเรื่องการทำ distal bypass เกี่ยวกับการทำ angiogram การ jump เส้นเลือดจากที่มีแรงดี แต่ถ้าต้อง jump จากที่ไกลมากจะไม่ค่อยดี เราได้ความรู้ว่า การใช้ synthetic graft นั้น patency สู้หลอดเลือดจริงๆ ไม่ได้ ถ้าทำแล้ว work ดี สัปดาห์เดียวก็เห็นผล
AAR วันสุดท้ายเริ่มในเวลา ๑๔.๒๐ น. คุณรัชดาบอกว่าตั้งตารอวันนี้ ได้เกินความคาดหวัง ได้รูปแบบ มองเห็นภาพงานที่ต่อเนื่อง เชื่อมต่อได้ ต่อไปอาจจะจัดให้ทีมนำของชมรม (ผู้ป่วย) ได้มาเห็นบ้าง
คุณหมอนิพัธบอกว่าคาดหวังจะได้เห็นกระบวนการดูแลเท้า ก็ได้ และที่ได้เพิ่มเติมคือรองเท้า ยังอยากได้เรื่องอาหาร บรรยากาศแบบนี้ดี ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์เต็มที่ น้องส้ม (ภก.สมจิตร) ก็บอกว่าตนเองก็ได้เกินความคาดหวัง
คุณอนงค์สารภาพว่าปกติตนเองไม่ชอบการมานั่งสัมมนา วันเดียวก็เบื่อแทบจะทนไม่ได้แล้ว แต่คราวนี้ได้หลายรสชาด ได้สัมผัสของจริง ไม่เบื่อ ๒ วันยังรู้สึกว่าน้อยไป ทีมงาน (ของเทพธารินทร์) น่ารัก มนุษยสัมพันธ์ดีมาก อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก
คุณอุทุมพรพูดว่าตั้งใจอยากดูคลินิกเท้า อย่างน้อยก็เอาไปดูแลคนที่บ้านได้ ตอนนี้คิดว่าตนเองทำอะไรได้มากกว่าการทาโลชั่น ได้เห็น vacuum dressing ของจริง ประทับใจที่จัดให้ คราวนี้มาดูเฉพาะ foot care แต่ก็อยากได้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้งระบบ
คุณสินินาฎบอกว่ามาดูแล้ว เรื่องการดูแลเท้า คิดว่าคงทำได้ ได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่น เรื่องการ rest ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน ได้ความรู้เยอะ คำถามของอาจารย์นิโรบลช่วยทำให้เกิดความกระจ่างขึ้นมาก
น้องอาร์มกล่าวว่าอยากมาสัมผัสการปฏิบัติงานในคลินิก สนใจเรื่องบล็อก ที่ได้มากเกินคาดคือการดูแลเท้าที่นักกายภาพบำบัดมีส่วนร่วม ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้อีกในโอกาสหน้า อยากได้ปฏิบัติจริง เช่น ให้ฝึกทำกับเท้าเทียม (เป็น idea ที่ดีนะ)
คุณมณีวรรณบอกว่าตนเองอยากได้เรื่อง camp ก็ได้แล้ว ได้เห็น setting ของคลินิกสุขภาพเท้ามีบรรยากาศของการเรียนรู้ เป็นเหมือนมุมการเรียนรู้ ชอบกระบวนการแบบเพื่อนช่วยเพื่อน สำหรับเรื่องการดูแลเท้า ตนเองคิดว่าสามารถทำได้เลย ง่ายๆ เช่น ดูรองเท้า ยังอยากได้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้งระบบ และอยากให้โรงพยาบาลอื่นๆ ได้รับแบบนี้บ้าง
คุณหมอเดือนบอกเสียดายที่เมื่อวานไม่ได้มา สิ่งที่ได้ในวันนี้ไม่ใช่เพียงการทำให้ผู้ป่วย แต่ต้องสอนให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้ด้วย ยังอยากได้เรื่องของอาหาร
คุณยอดขวัญในฐานะเจ้าบ้านคนหนึ่ง บอกว่าอยากให้ทุกคนได้เห็นภาพความเป็นจริง ตนเองก็ได้ความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์สมเกียรติ โอกาสหน้าก็อยากไปดูที่พุทธชินราชบ้าง
คุณชนิกา บอกว่าจริงๆ วันนี้จะคอยอยู่ที่คลินิกและเตรียมให้ข้อมูล แต่ "คุณอำนวย" รักษาเวลาไม่ได้เลยได้ไปช่วยจัดอาหารแทน (เพราะเก่งหลายด้าน) แต่ตนเองก็ได้ตามที่คาดหวังนะ
คุณหมอสิริเนตรรู้สึกประทับใจ เห็นแววตาของคนที่มาอยากเรียนรู้ มองแล้วรู้ว่าใช่เลย ได้สัมผัสใกล้ชิดว่าแต่ละคนมีศักยภาพ มั่นใจว่าจะสามารถเอาไปปฏิบัติได้ เสียดายที่ทีมผู้ขอเรียนรู้ยังไม่ได้เห็นการทำ TCC และ felted foam dressing จริงๆ สำหรับตนเองได้ idea ว่าคราวหน้าอาจจะจัดเป็นแบบ case
อาจารย์นิโรบล บอกว่าตนเองเป็นผู้รับเสียมากกว่า "เห็นความจริงใจของผู้ให้ ความตั้งใจของผู้รับ" ชื่นชมวิธีการ คิดว่าจะเอาวิธีการนี้ไปใช้ในแผนกที่ทำงานอยู่ อาจจะได้ solution ดีๆ ออกมา ได้ความรู้เรื่อง prevention เห็นว่า รพ.เทพธารินทร์ไม่ได้ต้องการให้ผู้ป่วยมารับ service อย่างเดียว ไม่ได้ทำเพื่อ make money สิ่งที่ยังไม่เห็นคือการทำ TCC จริงๆ
ส่วนตัวดิฉัน ในภาพรวมก็บรรลุเป้าหมายการทำงานครั้งนี้ ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้จากกันและกัน แต่ไม่มีกิจกรรมครั้งใดที่สมบูรณ์ที่สุด ยังมีจุดที่ควรปรับปรุงอยู่เสมอ เรื่องคุมเวลาตามกำหนดการไม่ได้ คุณหมอนิพัธบอกว่า "เพราะใจไม่แข็งพอ" ต้องทำไปเรียนรู้ไปและพัฒนาไปเรื่อยๆ ค่ะ ความคิดของหลายๆ คนที่ให้ตอน AAR สามารถนำมาปรับปรุงกิจกรรมให้ดีขึ้นได้ ที่ภูมิใจคือทุกคนชอบการเรียนรู้แบบนี้ และทุกคนได้ "มากกว่า" สิ่งที่ตั้งใจไว้ น้องๆ ที่ฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัยของ รพ.เทพธารินทร์ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องประชุม มากระซิบบอกว่า "อาจารย์คะคราวหน้าจัดให้คนอื่นได้เข้าร่วมบ้างนะคะ"
หลัง AAR ดิฉันไม่ลืมที่จะแนะนำเรื่องการสร้างและการบันทึกลงบล็อก ต้องคอยติดตามดูว่าทีม รพ.พุทธชินราชจะเปิดตัวบล็อกวันไหน ทีมผู้ขอเรียนรู้ขอไปดูเครื่อง Hyperbaric oxygen therapy เป็นการปิดท้ายกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" ครั้งนี้ ทีมเดินทางออกจาก รพ.เทพธารินทร์กลับพิษณุโลก เมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น.
วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
|
ลองใช้ Podoscope |
|
วัดเท้าเพื่อตัดรองเท้า |
|
อาจารย์นิโรบลลองใช้ i Step |
|
ดูเครื่อง Hyperbaric oxygen therapy |