การสัมมนาสภานิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยในเครือ “เทา-งาม” ที่สอดผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับโครงการ “เทา-งามสัมพันธ์” ครั้งที่ 25 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีเรื่องชวนกล่าวถึงหลากหลายประการ เป็นต้นว่า นี่คือ เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing)
หรือเวทีการแบ่งปันความรู้ (Show & Share) ในวิถี “กิจกรรมนอกหลักสูตร” (Extracurricular activity) ของนิสิตในนิยาม “นิสิตเพื่อนิสิต”
เวทีสัมมนาของสภานิสิต-องค์การนิสิตในครั้งนี้ จึงเรียกได้ว่า เป็นประหนึ่งวิวัฒนาการอันสำคัญอีกก้าวของโครงการเทา-งาม สัมพันธ์ก็ว่าได้ เพราะนี่คืออีกหนึ่งหมุดหมายที่เหล่าบรรดาผู้บริหาร หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของแต่ละมหาวิทยาลัยพยายามฝากหวังไว้มาหลายแรมปี ต่างวาดหวังอยากเห็นภาพผู้นำนิสิตนำโครงการ หรือกิจกรรมอันเป็นกรณีศึกษา (Case study) ของแต่ละแห่งมาแบ่งปันร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่แค่การบอกเล่า หรือสนทนาทั่วไป แต่หมายถึงมีประเด็นที่ชัดเจน มีชุดความรู้ หรือฐานข้อมูลที่แตะต้องสัมผัสได้ -
เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฉันญาติมิตร ร่วมกัน ชื่นชมในแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ หรือต่อยอดในบริบทของตนเอง รวมถึงการช่วยกันแต่งเติมในส่วนที่เป็น “จุดอ่อน” แล้วร่วมปรับแก้ให้งดงามยิ่งขึ้น
การเตรียมความพร้อมแก่นิสิตใหม่ เป็นภารกิจอันสำคัญอย่างมหาศาล เสมือนการบ่มเลี้ยงต้นกล้าในระยะแรกอ่อน เพื่อให้นิสิตใหม่มีภูมิต้านทานที่ดี ปรับตัวและเติบโตในสังคมใหม่ หรือแม้แต่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมสู่การเติบโตอย่างมีคุณค่าทั้งต่อตนเองและสังคม ปรากฏชัดในกิจกรรมปฐมนิเทศต้อนรับนิสิตใหม่และเสริมสร้างอัตลักษณ์นิสิต” (มศว) หรือแม้แต่ พิธีบายศรีสู่ขวัญนิสิตใหม่ (มมส.)
ทั้งสองกิจกรรม ฉายให้เห็นกระบวนการบ่มเพาะนิสิตใหม่บนฐานวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยคู่กับไปวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น หรือภูมิภาค เพื่อให้นิสิตใหม่เข้าใจความเป็น “ตัวเอง” เข้าใจความเป็น “มหาวิทยาลัย” มีความอบอุ่นใจในการที่จะเผชิญต่อโลกใบใหม่ที่พรั่งพร้อมด้วยเรื่องราวใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ พี่ใหม่ๆ อาจารย์ใหม่ๆ
รวมถึงการสัมผัสซึ่งพลังชีวิตที่ถูกส่งผ่านวัฒนธรรม (พิธี) บายศรีสู่ขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลและมั่นใจต่อการใช้ชีวิตในบ้านหลังใหม่และก้าวเดินไปอย่างมีพลัง
เทศกาลดนตรีและถนนคนมอ (ม.มหาสารคาม) และกิจกรรมโชว์ศักยภาพ(ม.บูรพา) เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ (ปล่อยของ) อันเป็นศักยภาพของตนเองผ่าน “ศิลปะ” หลากหลายรูปแบบ ทั้งในมิติดนตรี การแสดง การพูด การเต้น การขับร้อง
รวมถึงการฝึกทักษะสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อสร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน มิหนำซ้ำยังเป็นกิจกรรมที่รองรับวิถีชีวิตใหม่หลังจากถูกโควิด-19 กักขังและหน่วงเหนี่ยวมาอย่างยาวนาน ช่วยให้นิสิตได้ก้าวพ้นออกมาจากห้องหับเล็กๆ เพื่อมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งในฐานะของผู้ชม-นักแสดง ผู้บริโภค-ผู้ประกอบการ ส่วนแกนหลักคนทำงานก็ได้ฝึก Soft skills ที่หลากหลายไปโดยปริยาย
ประเด็น “สวัสดิการนิสิต” พบหลากหลายในกิจกรรมของทุกมหาวิทยาลัย เพราะหนึ่งในนั้นก็เป็นภารกิจของ “สภานิสิต” จึงไม่แปลกที่สภานิสิตจะขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการและสิทธิของนิสิตผ่านกระบวนการและรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นกระบอกเสียงและสะพานเชื่อมระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับมหาวิทยาลัย อาทิ สภานิสิตตรวจเยี่ยมกิจกรรมต้อนรับน้องประเพณีประชุมเชียร์ (ม.มหาสารคาม) โครงการสภานิสิตสัญจรสู่เสียงสะท้อนของนิสิต
รวมถึงการสร้างระบบเทคโนโลยี (ไอที) มาเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารและรองรับการบริหารจัดการด้านกิจกรรมนิสิตของสภานิสิต (ม.พะเยา) ภายใต้ชื่อโครงการ “นวัตกรรมการบริหารการจัดการสภานิสิต” ก็ตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ชัดเจน ซึ่งสะท้อนการเรียนรู้ว่าด้วยการปกป้องสิทธิ การบริหารงานกิจกรรม และการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์
ขณะที่โครงการ “ส่งเสริมสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์” (มศว) ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่สะท้อนถึงแนวคิด “สวัสดิการนิสิต” ที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างสูง ไม่ใช่แค่การจ่ายแจกผ้าอนามัยและถุงยางอนามัยฟรี แต่มีกระบวนการอื่นๆ หนุนเสริมทางความรู้และเสริมสร้างทัศนคติบนข้อเท็จจริงของสังคมอย่างไม่บิดเบือน โดยมีวิทยากรตบเท้าเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิตเป็นห้วงๆ
จริงอยู่กิจกรรมที่ว่านี้อาจมองได้หลายมุม แต่ก็สอดรับกับวิถีชีวิตนิสิตในสังคมเมืองใหญ่ และในอีกสถานะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมนี้ได้สื่อถึงการเรียนรู้เรื่อง “รัฐสวัสดิการ” หรือ “สวัสดิการนิสิต” ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ
โครงการสภาปันน้ำใจจากพี่สู่น้อง ครั้งที่ 13 (ม.มหาสารคาม) และโครงการบูรณาการการมีส่วนร่วมสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ปีที่ 3 (ม.นเรศวร) เป็นกิจกรรมที่ชี้ชัดว่า สภานิสิตมิได้มีหน้าที่แค่เพียงพิทักษ์สิทธิ์และบริหารกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังออกสู่สังคมบนวิถีของค่ายอาสาพัฒนา
ทั้งสองกิจกรรม มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก เป็นกิจกรรมบริการสังคม (เรียนรู้คู่บริการ) โดยมีโรงเรียน หรือชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
กรณีของสภานิสิต (ม.นเรศวร) มีความน่าสนใจในแง่การบูรณาการทีมทำงาน กล่าวคือ ขับเคลื่อนร่วมกับชมรมด้านบำเพ็ญประโยชน์ ส่วนสภานิสิต (ม.มหาสารคาม) อาจไม่เด่นชัดในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ระดมสรรพกำลังจิตอาสาจากนิสิตมาร่วมขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งสองกิจกรรมเป็น “สหกิจกรรม” หรือ “บูรณาการ” ทั้งในเรื่องคนทำงานและรูปแบบกิจกรรม ขึ้นอยู่กับว่า “โจทย์” คืออะไร
โครงการ “อบรมและพัฒนานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมืออาชีพ” (มศว) เป็นอีกกิจกรรมที่ตอบโจทย์ “การรับใช้สังคม” เช่นกัน ขับเคลื่อนโดยสโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์ฯ ซึ่งเน้นการเรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านตัวตนนิสิตและเยาวชนในท้องถิ่น มีทั้งการอบรมและการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำระหว่างนิสิตกับนิสิต นิสิตกับส่วนราชการ นิสิตกับชุมชน-นักเรียน เช่น เดินป่า ปลูกต้นไม้ ระบายสีถุงผ้าลดโลกร้อน เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในตัวตนของนิสิตและเยาวชน
มองในมิติการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม ดูเหมือนจะแจ่มชัดในกิจกรรมบริการสังคมและกิจกรรมประเพณีนิยมในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญนิสิตใหม่ “ผูกข้อฮับน้อง ปัดป้องบวงศรี พิธีสู่ขวัญ” (มมส) หรือ “ปฐมนิเทศต้อนรับนิสิตใหม่และกิจกรรมเสริมสร้างอัตลักษณ์นิสิต” (มศว) ที่เป็นชุดโครงการใหญ่ประกอบด้วยกิจกรรมอันหลากหลาย หนึ่งในนั้นมีเรื่องราวอันเป็นวิถีวัฒนธรรมที่ว่าด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญและพิธีไหว้ครูเป็นระบบและกลไกหลักในการสร้างการเรียนรู้
โครงการ “ถวายเทียนพรรษา พุทธบูชาพระนาคปรก สธ.” ที่จัดโดยองค์การนิสิต ม.พะเยา เป็นกิจกรรมที่มีกลิ่นอายแห่งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมคู่ไปกับการบริการสังคมตามกรอบเวลาอันเป็นประเพณีหลักของสังคมไทย นั่นคือ ประเพณีเข้าพรรษา (เดือน 8 : ฮีตเดือน 8) ที่นำพานิสิตออกไปเรียนรู้ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้เข้าถึงแก่นสารของประเพณีและผูกประเด็นการเรียนรู้กลับสู่นิสิตในมิติของ “พหุวัฒนธรรม” หรือ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” โดยไม่จำเพาะเจาะจงการเข้าร่วมแต่เฉพาะนิสิตที่นับถือศาสนาพุทธ เสมือนกุศโลบายของการอยู่ร่วมกันบนความเหมือนและความต่างทางวัฒนธรรม
กิจกรรมในทำนองนี้ยังมีนัยยะอันสำคัญแห่งการอยู่ร่วมบนหลักปรัชญามนุษยนิยมและบ่งชี้ถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมคือการเรียนรู้รากเหง้าของสังคมไทยและสังคมโลก
หมายเหตุ เรื่องราวนี้ เป็นข้อเขียนที่เขียนขึ้นประกอบเวทีการสัมมนาสภานิสิต-องค์การนิสิตในเครือเทา-งาม ที่จัดขึ้น เนื่องในโครงการเทา-งาม สัมพันธํ ครั้งที 25 ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นเจ้าภาพ
ไม่มีความเห็น