เก็บตกวิทยากร (76) : ก่อนไปค่าย (เครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม)


ทำความเข้าใจเรื่องบริบทชุมชนและภาพรวมของกิจกรรมที่จะจัดขึ้น การนิยามความหมายของค่ายอาสาพัฒนาในมิติของการเรียนรู้คู่บริการ หรือ การบริการสังคม การถอดรหัสความรู้จากปรากฏการณ์รอบตัว การจัดกิจกรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้

วันนี้  (วันที่ 26  กุมภาพันธ์ 2566)  เป็นอีกครั้งที่ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากร  -


กิจกรรมดังกล่าวนี้ มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือแกนนำที่จะร่วมขับเคลื่อนโครงการ "เครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม" และโครงการ "ต้นกล้าคุณธรรม" โดยศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม  ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3-4 มีนาคม 2566 ณ โรงเรียนบ้านวังแคน ตำบลสวนหม่อน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น  ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ซ่อมแซมลาน BBL ปรับปรุงห้องสมุด ฐานการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน การเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน 

 

 

กระบวนการเรียนรู้ในวันนี้  เป็นเสมือนการปฐมนิเทศ หรือเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำค่าย ซึ่งผมเปิดเวทีด้วยการวิเคราะห์ตัวตนและเพื่อนร่วมงาน  ผ่านกิจกรรม “สัตว์ 4 ทิศ” 

 

ผมเปิดโอกาสให้นิสิตแต่ละคนได้ทำการวิเคราะห์ตัวเองตามความเข้าใจของตัวเองว่ามีคุณลักษณะที่สัมพันธ์กับ “อินทรี  กระทิง  หนู หมี”  อย่างไร  โดยที่ผมยังไม่ได้อธิบาย หรือเฉลยว่า สัตว์ทั้ง 4 ตัวมีคุณลักษณะเช่นใด

 

 

พอนิสิตวาดภาพเสร็จ ก็ให้จับกลุ่มในแต่ละชนิด แล้วเล่าสู่กันฟัง –

เสร็จจากนั้น ผมค่อยๆ เฉลย  หรืออธิบายตามกรอบของ “สัตว์ 4 ทิศ”  พร้อมๆ กับการให้นิสิตตัดสินใจอีกครั้งว่า ตัวเอง คือ “สัตว์ชนิดใด-สัตว์ทิศอะไร” โดยไม่ลืมที่จะขมวดประเด็นว่า สามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปบริหารงาน บริหารคนในค่ายอาสาพัฒนาได้

 

 

นอกจากนั้นยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ผมนำมาชวนคิดชวนคุยเพิ่มเติม เช่น  

  • การทำความเข้าใจเรื่องบริบทชุมชนและภาพรวมของกิจกรรมที่จะจัดขึ้น 
  •  การนิยามความหมายของค่ายอาสาพัฒนาในมิติของการเรียนรู้คู่บริการ หรือ  การบริการสังคม  
  • การถอดรหัสความรู้จากปรากฏการณ์รอบตัว  
  • การจัดกิจกรรมโดยใช้ชุมชนและผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง / ฐานการเรียนรู้

 

 

เช่นเดียวกับการพยายามสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  โดยระดมความคิดว่าด้วยเรื่อง "ภาวะผู้นำ" ที่สัมพันธ์กับค่าย หรือแม้แต่เรื่องการนำทักษะความรู้ (Hard skills) ในวิชาชีพมาประยุกต์ใช้กับค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งในเวทีครั้งนี้มีหลายสาขาที่เข้ามาเป็นฟันเฟืองของค่ายฯ  เป็นต้นว่า  วิทยาลัยการเมืองการปกครอง นิติศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ การบัญชีและการจัดการ  ศึกษาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์  สาธารณสุขศาสตร์  เทคโนโลยี

 



 

เช่นเดียวกับการระดมแนวคิดเรื่องทักษะส่วนบุคคล (Soft skills) ที่ยึดโยงกับการใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันในค่ายฯ ซึ่งนิสิตได้สะท้อนในหลายประเด็น เช่น 

  • การเรียนรู้ตลอดชีวิต 
  • การเรียนรู้เชิงรุก 
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 
  • การกล้าคิด กล้าทำ
  • การทำงานเป็นทีม
  • การบริหารโครงการ บริหารคน บริหารองค์กร
  • การอดทน อดกลั้น
  • การตรงต่อเวลา

 

 

ในช่วงท้ายของการจัดการเรียนรู้  ผมคืนเวทีให้กับนิสิต  เพื่อให้นิสิตลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงลึกร่วมกันในประเด็นที่พวกเขาตระเตรียมไว้  เช่น  บทบาทหน้าที่และการมีส่วนร่วมของแกนนำและสมาชิกค่ายฯ  

หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรม และมอบหมายภาระงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการที่จะขับเคลื่อนงาน

 




จริงๆ แล้ว  อาจกล่าวได้ว่า เวทีดังกล่าวนี้  ไม่ใช่แค่การที่ผมพยายามผ่องถ่ายความรู้ไปยังนิสิตเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการส่งเสริมให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะจัดกิจกรรมบนฐานคิดของการมีส่วนร่วม  

และที่สำคัญ คือ ผมต้องการฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะเป็นกระบวนกร หรือผู้จัดการเรียนรู้ไปในตัว

 

 

หมายเลขบันทึก: 711790เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2023 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2023 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท