เก็บตกวิทยากร (75) : ปฐมนิเทศค่ายฯ ชมรมฮวมศิลป์ ผ่านกรณีศึกษา


ผมเชื่อว่า การเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาเช่นนี้ จะก่อเกิดเป็นรูปธรรมมากเป็นพิเศษ  เห็นถึงความสำเร็จ ความล้มเหลว ก่อเกิดเป็นแนวทางการทำงานและเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนกิจกรรม  รวมถึงก่อเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน

จากบันทึกที่แล้ว  ที่นี่  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ผมไม่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้แต่เฉพาะการทบทวนตัวเองผ่าน “ตารางคำถาม 4 ช่อง” เท่านั้น แต่ผมนำกระบวนการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา  (case study)   มาหนุนเสริมในเวทีด้วย

 

ผมอยากให้นิสิตได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันด้วยตนเอง มากกว่าจะนั่งฟังคำบอกเล่าแต่เฉพาะผมคนเดียว  ก็ด้วยแนวคิดเช่นนั้น  ผมจึงเชิญผู้แทนนิสิตมาเป็นวิทยากรคู่กับผม นั่นคือ  1) ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม และ 2) ชมรม BELIPS FOR ALL

 

 

 

กรณีศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม มากัน 3 คน  พวกเขานำเรื่องราวจากโครงการ “เครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคม” ที่กำลังจะดำเนินการในวันที่ 3-4 มีนาคม 2566 ณ โรงเรียนบ้านวังแคน อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นมาบอกเล่า  โดยสิ่งที่นำมาบอกเล่า ประกอบด้วยสาระสำคัญๆ เช่น

  • เหตุผลของการเลือกพื้นที่จัดค่าย
  • กระบวนการสำรวจค่าย – พัฒนาโจทย์
  • บริบท – สภาพทั่วไปของชุมชน
  • รูปแบบกิจกรรม  เช่น ฐานการเรียนรู้  การซ่อมแซมลาน BBL  การปรับปรุงห้องสมุด  การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีในชุมชน

 

 

 

ประเด็นที่เด่นชัดของศูนย์ประสานงานฯ มีหลายประเด็น เช่น การสำรวจพื้นที่และการพัฒนาโจทย์แบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน ซึ่งนิสิตลงพื้นที่ต่อเนื่องด้วยตนเองถึง 2 ครั้ง พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมและโควิด-19 ที่ศูนย์ประสานงานฯ เคยเข้าไปหนุนเสริมกิจกรรมมาแล้ว อย่างน้อย 2 ครั้ง  เพียงแต่ครั้งนี้ขยายผลจากวัดเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน

 

และกิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น  ล้วนเป็น “ความต้องการของชุมชน” โดยตรง และอยู่ในวิสัยที่ไม่เกินแรงของนิสิตจะสร้างสรรค์ได้

 

 

ส่วนกรณีของชมรม BELIPS FOR ALL ส่งผู้แทนมาร่วมกระบวนการ 2 คน  โดยนำเสนอเรื่องราว 2 เรื่องหลักๆ  คือ การบอกเล่าภาพรวมเรื่องกิจกรรมจิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งในระดับคณะ และระดับมหาวิทยาลัย โดยข้อมูลดังกล่าว ก่อนนี้ถูกนำเสนอในเวทีโครงการ “เทา-งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 25” มาแล้ว  

 

เพียงแต่ครั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่ฟัง ไม่ใช่นิสิตในเครือเทา-งาม 6 สถาบัน  แต่เป็นนิสิตจากชมรมฮวมศิลป์และศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาฯ 

 

 

ภาพรวมที่ชมรม BELIPS FOR ALL สะท้อนล้วนเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรในมิติ “จิตอาสา” ที่พบว่ามีทั้งที่บูรณาการกับวิชาชีพและเป็นกิจกรรมทั่วๆ ไป  รวมถึงกิจกรรมที่สัมพันธ์กับกระแสหลัก หรือสถานการณ์ทางสังคม เช่น ภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องอุทกภัย

 

นอกจากนั้นก็เป็นการบอกเล่าถึงกิจกรรมหลักของชมรมที่จัดขึ้น คือ โครงการ ค่าย Belips on Tourวันที่11 - 12 มกราคม 2566  ณ โรงเรียนการกุศลวัดบ้านยางเครือ ตำบลเมืองทุ่ง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ คือ

  • การเเนะแนวการศึกษาและสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ 
  • การเรียนรู้ในทักษะในชีวิตประจำวันและทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 
  • ฐานทักษะการเรียนรู้  เช่น  กฎหมายในชีวิตประจำวัน การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเพ้นท์ภาพจากวัสดุธรรมชาติ กีฬา 
  • กิจกรรม Take for LGBTQ+ ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด เรื่องความหลากหลายทางเพศ
  • ปรับปรุงสนาม BBL 5
  • ปรับปรุงลานจินตนาการวาดภาพการ์ตูนในจินตนาการ 
  • กิจกรรมทำวัตรเข้าเเละทำบุญตักบาตร
  • กิจกรรมแสงเทียนส่องทาง

     

 

มีช่วงหนึ่งที่ชมรม BELIPS FOR ALL สะท้อนประเด็นอันเป็นข้อจำกัดของการดำเนินงานก็คือ “งบประมาณ” กล่าวคือ การเป็นชมรมที่ตั้งใหม่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนไม่มากนัก จึงต้องบริหารงบประมาณอย่างรอบคอบ ประหยัดและรัดเข็มขัดแบบสุดๆ  ถึงขั้นสำรวจพื้นที่เพียงครั้งเดียว และไม่มีการไปเตรียมค่าย เพื่อประหยัดงบประมาณ แต่เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งก็ได้ชุมชนนั่นแหล่ะที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องข้าวปลาอาหาร

 

และนั่นยังรวมถึงการสะท้อนถึงปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาสุขภาพของสมาชิกค่ายที่ไม่ยอมผ่อนพักตัวเอง โดยท่ามเททำงานเกินศักยภาพตัวเอง จนเจ็บไข้ได้ป่วย 

 

 

เมื่อชมรม BELIPS FOR ALL สะท้อนข้อมูลเสร็จสิ้นลง ผมพยายามกระตุ้นให้นิสิตในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  รวมถึงชักชวนให้ทุกคนหันกลับมารับฟังเรื่องราวของค่าย “เยาวชนคนสร้างศิลป์ ครั้งที่ 1” ของชมรมฮวมศิลป์  (ณ โรงเรียนบ้านศาลา อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม)  อีกครั้งว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง  ซึ่งโดยรวมแล้วกิจกรรมของทั้ง 3 องค์กรก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมี “โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรม” เป็นต้นว่า

 

  • สร้างและซ่อมแซมลาน BBL
  • ติดตั้งป้ายสำนวนสุภาษิตและคำคม 2 ภาษา 
  • ทาสี / วาดภาพตกแต่งห้องสุขา
  • ฐานสาระการเรียนรู้และทักษะชีวิต
  • เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน

 

 

เหตุผลหลักๆ ที่ผมเชิญผู้แทนนิสิตจากศูนย์ประสานงานฯ และชมรม BELIPS FOR ALL มาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา  เพราะผมต้องการให้ชมรมฮวมศิลป์ เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษามากกว่าจะมาทนนั่งหลังขดหลังแข็งฟังการบรรยายทางวิชาการจากปากคำของผม

 

เพราะผมเชื่อว่า การเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาเช่นนี้ จะก่อเกิดเป็นรูปธรรมมากเป็นพิเศษ  เห็นถึงความสำเร็จ ความล้มเหลว ก่อเกิดเป็นแนวทางการทำงานและเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนกิจกรรม  รวมถึงก่อเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน

 

 

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการปฐมนิเทศ จะเน้นการบรรยายกึ่งกระบวนการในประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับค่ายอาสาพัฒนา เช่น 

  • กระบวนการค่าย กรอบแนวคิดการจัดค่าย  
  • วิธีการประเมินผลค่าย 
  • 10 มาตรฐานทักษะการเรียนรู้ของนิสิต “มมส.”
  • หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 
  • 9 ข้อคิดในการจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการ
  • ปลายทาง / ผลลัพธ์ของการเรียนรู้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 711783เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2023 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2023 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท