5 วิธีจากผลงานวิจัย เพื่อการเพิ่มความสุขในการใช้ชีวิต


ครั้งนี้ดิฉันอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขค่ะ เลยชวนมาลองคิดกันค่ะ ความสุขในการใช้ชีวิตมันเป็นเรื่องยากหรือง่ายกันแน่นะคะ ดูๆ มันน่าจะง่าย แต่ทำไมคนเราจึงมีแต่ทุกข์ มันซับซ้อนขนาดไหนกันเชียวถึงทำให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วโลกต้องเปิดหลักสูตรสอนการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกันเลยทีเดียว  เช่น คอร์สออนไลน์ระยะสั้นๆ สองเดือนทาง edX ที่สอนวิธีการมีความสุขในการใช้ชีวิต ได้รับความนิยมอย่างมากเลยค่ะ มีคนลงเรียนกว่าครึ่งล้านคน

ดิฉันเพิ่งทราบนะคะว่า ความสุขถูกกำหนดด้วยพันธุกรรมด้วยนะคะ น่าจะหมายถึงว่า คนเรามียีน (Gene) ในการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน หรือสารแห่งความสุข ไม่เท่ากัน และถ่ายทอดสู่รุ่นต่อรุ่นได้อีกด้วย ส่วนสภาพแวดล้อมในชีวิตก็ต้องมีบทบาทต่อความสุขแน่นอนอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุดคือ กิจกรรมประจำวันของเรานะคะ อยากจะขอย้ำค่ะ ความสุขจะมากหรือน้อยส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่ที่กิจกรรมในการดำเนินชีวิตของเรา

ในบทความที่ดิฉันอ่านมานี้ พูดถึงวิธีการ 5 อย่างที่งานวิจัยพบว่าทำให้คนเรามีความสุขได้มากขึ้นค่ะ

วิธีที่ 1 การเพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคม นักวิจัยฮาร์วาร์ดได้ติดตามชีวิตของผู้เข้าร่วมหลายร้อยคนและลูก ๆ ของพวกเขามานานกว่า 80 ปี และพบว่าความสัมพันธ์แบบใกล้ชิด อาทิ สามีภรรยา ครอบครัว เพื่อน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้คนมีความสุขตลอดชีวิต และคนที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นจะมีความสุขกว่าและมีสุขภาพกายและใจดีกว่าคนที่ไม่ค่อยผูกพันธ์กัน 

ดิฉันอ่านแล้วรู้สึกขอบคุณผู้เขียนมากๆ เพราะตอนนี้ครอบครัวของดิฉันมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเรื่องที่เรียนของลูกในระดับมัธยมปลายค่ะ หนทางหนึ่งยอมส่งลูกไปเรียนที่ดีๆ แต่ต้องอยู่ไกลพ่อแม่ กับอีกหนทางหนึ่งได้อยู่ใกล้พ่อใกล้แม่ พูดคุยกันได้ทุกวัน กระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวได้ง่ายๆ ผ่านการพูดคุย การสัมผัส การมองตา แต่ว่าต้องเรียนในโรงเรียนที่อาจจะด้อยกว่า ยามใดที่ลูกต้องการผู้ฟัง ต้องการคนให้คำปรึกษา พ่อกับแม่ก็อยู่แค่เอื้อมเสมอ มันคือช่วงเวลาของการสร้างความสัมพันธ์เชิงคุณภาพ ซึ่งเป็นตัวทำนายชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขได้ดีกว่าชนชั้นทางสังคม ไอคิว หรือพันธุกรรม

วิธีที่ 2 การแสดงความมีน้ำใจมีเมตตาโดยไม่เฉพาะเจาะจง สามารถทำให้เรารู้สึกมีความสุขมากขึ้น ความหดหู่และวิตกกังวลน้อยลงค่ะ เช่น บริจาคของ อาสาช่วยเหลืองานกลุ่ม เอาน้ำดื่มเย็นๆ มาให้สามีดื่มหลังจากกลับจากวิ่ง หรือให้อาหารสุนัขจรจัด ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นแรงกระตุ้นพื้นฐานของมนุษย์ในการช่วยเหลือผู้อื่น งานวิจัยพบว่า การมีน้ำใจในลักษณะที่ไม่ได้เลือกกระทำนี้ คือการที่เราเอาทรัพยากรของเราไปลงให้แก่ผู้อื่น มันจะกระตุ้นระบบการให้รางวัลของสมอง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกดีที่เราได้ทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีนั่นเองค่ะ

วิธีที่ 3 การแสดงความขอบคุณ บทความที่อ่านเขาแนะนำว่าให้เราเขียน 3 สิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณในตอนท้ายของแต่ละวันพร้อมกับสาเหตุที่มันเกิดขึ้น อาทิ 

  • วันนี้ฉันรู้สึกขอบคุณต้นส้มจี๊ดที่ทำให้ฉันได้วิตามินซีแทนน้ำมะนาว 
  • ขอบคุณลูกที่เอาเก้าอี้มาให้แม่นั่ง 
  • ขอบคุณสามีที่เป็นผู้ฟังที่ดีในวันที่ฉันเหนื่อยล้า 

การทำเช่นนี้จะเป็นการนำไปสู่ความสุขในระยะยาวที่เพิ่มขึ้นและอาการซึมเศร้าที่ลดลง มันเป็นการช่วยฝึกจิตใจของเราให้มองบวก มองส่วนที่ดีในชีวิต แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ทำให้เครียดค่ะ

วิธีที่ 4 การฝึกสติ หรือ Mindfulness หรือการทำสมาธิ เป็นวิธีการสอนให้สมองของเรามุ่งเน้นไปที่ปัจจุบันแทนที่จะเป็นอดีตหรืออนาคต ท่องจำสมการนี้ไว้เลยค่ะ 

  • อดีต = ความจำ
  • อนาคต = ความคิด  
  • ปัจจุบัน = ความจริง 

ดิฉันคิดว่า สังคมไทยปัจจุบันอาการสาหัสหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ มีแต่การ compare and compete เปรียบเทียบและแข่งขัน เฝ้าหาความทุกข์ใส่ตัวตลอดเวลา งานวิจัยพบว่าการฝึกสติจะสามารถเพิ่มความรู้สึกยอมรับตนเองได้ ลดการเปรียบเทียบแข่งขันกับผู้อื่นได้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้วค่ะ ฝึกสติทำได้ทุกที่ค่ะ ไม่ต้องไปวัดค่ะ เราทำบ้านให้เป็นวัด และฝึกทำแค่ 5 นาทีก็ได้หรือจะนานกว่านั้นถ้ามีเวลา ทำบ่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ได้ตลอดทั้งวัน

วิธีที่ 5 การฝึกเมตตาต่อตนเอง เริ่มต้นด้วย

  • ฝึกอยู่กับปัจจุบัน
    • แทนที่จะจมอยู่กับอดีตหรือกังวลถึงอนาคต รักตัวเองเมตตาต่อร่างกายนี้ที่ทำประโยชน์ให้เรามาตลอด 
  • และต้องเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่าความพ่ายแพ้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ 
    • และทุกคนประสบกับความพ่ายแพ้หรือความทุกข์แน่นอน อย่าหลงปรุงแต่งทุกข์ ฟุ้งซ่านไปเรื่อย ไม่รู้จักการหยุดนิ่งแล้วคิด ทุกครั้งที่รู้สึกฟุ้งซ่าน ดิฉันจะกลับมาที่การตามรับรู้ลมหายใจ พุทโธ สัก 5 นาที ก็ช่วยให้ความเครียดลดลงไปได้เยอะทีเดียวค่ะ 
  • และสุดท้ายหยุดพูดทำร้ายตนเอง 
    • แต่ให้ฝึกพูดให้กำลังใจกับตัวเอง ชื่นชมและยืนยันกับตัวเองบ่อยๆ ค่ะ เขาเรียกว่า Self Affirmations อาทิ ฉันมีความมั่นใจ ฉันแข็งแรงทั้งกายและใจ แล้วเราจะเป็นได้อย่างที่เราฝันไว้

อ้างอิง: https://www.cnet.com/culture/how-to-be-happy-according-to-scientists/

 

หมายเลขบันทึก: 711521เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2023 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2023 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

May I add that helping other people gives us a chance to shift our mind from our ‘self’ (atta), to evaluate ‘life’, to solve problems without ‘attachment/self-interest’ and to feel the gratification – when we ‘win’ (manage to help). These are ‘life’ feelings rather than sciences or reasons. I’d say life is richer with feelings ;-)

5 วิธีเราทำได้นะคะ

พี่แก้วมีความคิดเรื่องการเลี้ยงลูก ในช่วงแรก จนเข้าเรียนระดับ ป ตรี ถ้าเรามี รร และ มหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้ ควรจะให้ลูกอยู่กับเรา เรียนรู้การเรียนและการใช้ชีวิต เพราะจากการสังเกตในช่วงวัยรุ่น มัธยม ลูกจะมีจิตใจอ่อนไหวตามแบบวัยรุ่น การใกล้ชิดพ่อแม่ เราสามารถดูแลและอยู่ข้างเคียง ทำให้ลูกประคองชีวิตได้ดี หากลูกอยู่ไกล ลูกก็จะพึ่งพาเพื่อน เราไม่แน่ใจว่าเพื่อนจะสามารถนำพาได้หรือไม่ ดังนั้นพี่แก้วจึงบอกลูกว่า การเรียนให้อยู่ใกล้บ้านจนถึง ป ตรี จากนั้นให้อิสระได้ ปัจจุบันลูกก็เป็นคนดีของสังคม ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ดีค่ะ

ชอบค่ะ เอาไปใช้ได้ในชีวิตค่ะ

อ่านแล้วชอบมาก ทำให้อยู่กับปัจจุบัยตลอด

อ่านแล้วชอบมาก เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท