การให้บริการ และการอนุญาตของรัฐ


การให้บริการ และการอนุญาตของรัฐ

4 กุมภาพันธ์ 2566
: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

เป็นระบบการให้ใบอนุญาตแก่ประชาชนเอกชนและองค์กรต่างๆ
เป็นการควบคุมจัดการบริการแก่ประชาชนทั่วไปและแก่เอกชน รวมทั้งองค์กรต่างๆ ที่ต้องมาขอรับใบอนุญาต รวมถึงกิจการสัมปทานต่างๆ จากรัฐ เช่น การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ขอรับสัมปทานเหมืองแร่ ขุดเจาะก๊าซ การขุดเจาะบ่อบาดาล การขออนุญาตระเบิดและย่อยหิน การตั้งโรงงาน และในระดับท้องถิ่น เช่น การขออนุญาตก่อสร้าง การประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฯลฯ เป็นต้น ในที่นี้ก็คือระบบการให้อนุญาต Permit & Licensing ที่เป็นการควบคุมการดำเนินกิจกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ซึ่งปัจจุบันพัฒนาไปสู่ระบบอนุมัติ อนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ การออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล หรือการยื่นคำร้องขอทางไปรษณีย์

หลักเกณฑ์การพิจารณาการกำหนดระบบอนุญาตในกฎ : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2561) 
โดยเฉพาะเรื่อง "ใบอนุญาตในการประกอบกิจการ"(the license to exercise an activity) ขอยกกรณีที่เกี่ยวโยงเพื่อการค้าระหว่างประเทศ
WTO องค์การการค้าโลก จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 (ปี 1995) จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยภาษีศุลกากร และ การค้า (GATT) สมาชิกจัดตั้งเริ่มแรก 76 ประเทศ รวม 7 ประเด็น คือ
(1) กำหนดให้ใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศโดยไม่เลือกประติบัติ (Non-Discrimination) คือให้การปฏิบัติต่อสินค้าจากประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน (Most-favoured Nation Treatment : MFN) 
(2) การกำหนดและบังคับใช้มาตรการทางการค้าจะต้องมี ความโปร่งใส (transparency) โดยประเทศสมาชิกจะต้องพิมพ์เผยแพร่กฎระเบียบ เกี่ยวกับมาตรการทางการค้าต่อสาธารณชน และแจ้งให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบ
(3) คุ้มครองผู้ผลิตภายในด้วยภาษีศุลกากรเท่านั้น (tariff-only protection) ห้ามใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าและส่งออกทุกชนิด ยกเว้นกรณีที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของ WTO 
(4) ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม (fair competition) ประเทศสมาชิกสามารถเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และ การอุดหนุน จากสินค้านำเข้าได้ นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ ประเทศสมาชิกอุดหนุนการผลิตและการส่งออกจนบิดเบือนกลไกตลาด
(5) ให้มีการรวมกลุ่มทางการค้าเพื่อลดภาษีระหว่างกันได้ หากมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการค้า แต่มีเงื่อนไขว่าการรวมกลุ่มต้องไม่มีจุดประสงค์เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม (no trade blocs) และเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วต้องไม่กระทบต่อผลประโยชน์เดิมของประเทศนอกกลุ่ม
(6) มีกระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้า (trade dispute settlement mechanism) 
(7) ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณี (special and differential treatment : S&D) 
 

ระยะเวลาในการปฏิบัติราชการ การอนุญาตของทางราชการ

มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและควรคำนึงถึงอยู่ 3 ฉบับ คือ (FB เนติกรท่านหนึ่งกล่าวไว้, 18 มิถุนายน 2562)
(1) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 
ในกรณีที่ได้รับการติดต่อสอบถามเป็นหนังสือจากประชาชนหรือส่วนราชการด้วยกันเกี่ยวกับหน้าที่ ส่วนราชการมีหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามหรือแจ้งการดำเนินการด้วยตามมาตรา 38 ซึ่งมีสถานะเป็นกฎ หากละเลยไม่ปฏิบัติอาจมีโทษทางวินัยหรือหากเสียหายอาจต้องรับผิดทางละเมิดได้ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1314/2559)

(2) พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 
ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ กฎหมายบังคับให้หน่วยงานต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน และต้องปฏิบัติราชการตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือ เสร็จแล้วต้องแจ้งประชาชน หรือหากไม่เสร็จก็ต้องแจ้งทุก 7 วัน มิฉะนั้นกฎหมายให้ถือว่ากระทำการหรือละเว้นกระทำการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และในการพิจารณาพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดอีกไม่ได้ และจะปฏิเสธการพิจารณาคำขอนั้นโดยอาศัยเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของคำขอหรือความไม่ครบถ้วนของเอกสารหรือหลักฐานนั้นไม่ได้

(3) พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ความในมาตรา 27 วรรคสอง บัญญัติไว้ทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบคำขอและความครบถ้วนของเอกสาร 
สำหรับระยะเวลานั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 39/1 ใช้บังคับกับการออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นการให้สิทธิหรือประโยชน์เท่านั้น มิได้นำไปใช้กับเรื่องการร้องเรียน การกล่าวหา หรือการกล่าวโทษ อันมีลักษณะเป็นการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการในลักษณะเป็นโทษ เป็นภาระ หรือเพิกถอนสิทธิบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 
มาตรา 39/1 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 นั้น มีเจตนาเพื่อป้องกันการพิจารณาที่ล่าช้าเกินสมควรหรือการใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ และเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ยื่นคำขอที่จะได้รับการพิจารณาทางปกครองและการออกคำสั่งทางปกครองภายในระยะเวลาที่สมควร (บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 1545/2558)
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครองนั้น มีทั้งแบบ ระยะเวลาเร่งรัด และระยะเวลาบังคับ และ สำหรับระยะเวลาตามมาตรา 39/1 นั้นเป็นเพียงระยะเวลาเร่งรัด มิใช่ระยะเวลาบังคับ

นิยามความหมาย "อนุมัติอนุญาตยกเลิกเพิกถอน"
คำว่า "อนุมัติ หรืออนุญาต" เป็นการกระทำทางปกครองที่แสดงถึงการใช้อำนาจทางปกครอง ในการ "เห็นชอบ" ปกติคำนี้จะรวมถึง “การรับรอง การให้สัตยาบรรณ” ในการกระทำฯ หรือในทางกลับกันก็คือ "การยกเลิกเพิกถอน" ที่ภาษากฎหมายไทยใช้คำเดียวว่า “การเพิกถอนฯ” (ดู มาตรา 49 ถึงมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539) 
หรือในภาษาชาวบ้านใช้ว่า “การยกเลิก” เช่นการยกเลิกคำสั่ง ยกเลิกฎีกา ฯลฯ ในรากศัพท์ที่เอามาจากฝรั่ง มันจึงมีหลายคำ เช่นคำว่า approve, consent, permit, confirmation, ratification (คำที่ใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศ), resign, revoke, repeal ... เป็นต้น โดยเฉพาะคำว่า "ยกเลิกหรือเพิกถอน" นั้น คำภาษาเยอรมัน มีสองสามคำที่ใช้แตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน แต่ของไทยมีคำเดียวในภาษากฎหมายคือคำว่า "เพิกถอน" (ไม่มีคำว่ายกเลิก) ฉะนั้น ต้องดูที่มา เจตนารมณ์และความหมายประกอบด้วย
ดูใน ภาษาเยอรมัน คำว่า Aufhebung หมายถึง การทำให้คำสั่งทางปกครองสิ้นผลบังคับ ส่วนคำว่า Rücknahme หมายถึง การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำว่า Widerruf หมายถึง การยกเลิก คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย (ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์)
"เห็นชอบ" หมายถึง "การให้ความยินยอมในมาตรการต่างๆ ทางนิติบัญญัติที่เสนอต่อสภา"
คำว่า "เห็นชอบ" มาจากภาษาอังกฤษคำว่า "approve" ซึ่งแปลว่า เห็นชอบ อนุมัติ พอใจเห็นดีด้วย หรือจะใช้คำว่า "consent" ซึ่งแปลว่า เห็นชอบ ยินยอม หรืออนุญาต [สฤษดิคุณ กิติยากร, ปทานุกรมอังกฤษ-ไทย, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539]
ส่วนความหมายในทางนิติบัญญัติ คำว่า "เห็นชอบ" หมายถึง "การให้ความยินยอมในมาตรการต่างๆ ทางนิติบัญญัติที่เสนอต่อสภา" [คณิน บุญสุวรรณ , ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : โอ เอส พริ้นติ้งเฮาส์, 2533]

พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 
หรือกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ จะมีผลใช้บังคับทั้งฉบับวันที่ 10 มกราคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก แต่เดิมกฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับกำหนดให้การปฏิบัติราชการหรือการติดต่อกับประชาชนต้องใช้สำเนาหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจำกัดวิธีหรือรูปแบบในการติดต่อราชการเฉพาะการติดต่อด้วยตัวบุคคล ณ สถานที่ทำการ หรือนำส่งเอกสารต่างๆ ทางไปรษณีย์ เป็นการตรากฎหมายกลางเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมาย
พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์กำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอ จ่ายเงิน หรือติดต่อราชการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิเสธไม่รับคำขอนั้นเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ เว้นแต่เป็นเรื่องที่เป็นการดำเนินการเฉพาะตัว
มีข้อยกเว้นว่า พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ จะไม่ใช้กับการขออนุญาตที่ผู้ยื่นคำขอจะต้อง “ดำเนินการเป็นการเฉพาะตัว” เช่น การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และการขอออกหนังสือเดินทาง เป็นต้น
ระบบอิเล็กทรอนิกส์มีข้อจำกัดในตัวของมันเอง จึงมีการห้ามดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ในบางกรณีดังกล่าว 
สำหรับในเรื่องสถานะบุคคล กรณีขอลงรายการสัญชาติไทยก็เช่นกัน ไม่อาจทำได้ในทุกขั้นตอน 100% ในระบบออนไลน์ 
เพราะ มีกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบหลายขั้นตอน หลายหน่วยงาน ยุ่งยาก การทำออนไลน์จึงไม่อาจทำได้ ต้องมีการตรวจสอบเอกสารประกอบคำร้อง ของเจ้าหน้าที่ด้วยระบบมือ (manual) และต้องมีการสอบสวน (สอบปากคำต่อหน้าเจ้าพนักงาน) เป็นต้น
สำหรับการบริการออนไลน์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้องทั่วๆ ไป หรือ การแจ้งนัดเพื่อมาสอบสวน หรือให้ส่งเอกสารเพิ่ม หรือ การประสานงานอื่นๆ ย่อมสามารถทำได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริการประชาชน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ลดภาระแก่ประชาชน ทำให้ไม่เสียเวลา เสียค่าเดินทาง เสียค่าใช้จ่ายในการมาพบเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... (An Analysis of the Draft Act on Electronic Performance of Administrative Functions, B.E. ....) 

โดย นางสาวจุฑาลักษณ์ จำปาทอง นิติกรชำนาญการพิเศษ ปีที่ 11 ฉบับที่ 13 เดือนสิงหาคม 2564 สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
บทสรุปผู้บริหาร
ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการ กำหนดให้การยื่นคำขอหรือติดต่อใดๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การติดต่อราชการ ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน และระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ สามารถทำโดยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งลดต้นทุนและ เพิ่มประสิทธิภาพแก่การปฏิบัติราชการของภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 258 ข. (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป ประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับปรับปรุง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และนโยบายของคณะรัฐมนตรี


สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ให้มีกฎหมายกลางในการปฏิบัติราชการ ทางอิเล็กทรอนิกส์

เพื่อส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล และสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ รายละเอียดดังนี้ (12 กรกฎาคม 2565)
(1) กำหนดขอบเขตการใช้บังคับของร่างพระราชบัญญัติฯ ให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐ ทุกหน่วย เว้นแต่ (1) รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (2) หน่วยงานของรัฐ ในฝ่ายนิติบัญญัติ (3) หน่วยงานของรัฐในฝ่ายตุลาการ (4) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (5) องค์กร อัยการ และ (6) หน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ ในกรณีที่จะใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้แก่หน่วยงานตาม (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
(2) เมื่อพระราชบัญญัติใช้บังคับแล้ว การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ดำเนินการตาม พระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหมวด 4 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติกำหนดเป็นอย่างอื่น
(3) การบริการที่ถูกลง (Cheaper) เช่น การปรับเปลี่ยนระบบการอนุญาตเป็นการจดแจ้ง เพื่อลดระยะเวลาในการขออนุญาตในกิจการที่ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนได้ 11 ใบอนุญาต และปรับเปลี่ยนจากจดแจ้งเป็นจดแจ้งออนไลน์ได้ 72 งานบริการ จาก 336 งานบริการ ผู้รับบริการประมาณ 15.85 ล้านรายต่อปี จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายรวมของประชาชนในการติดต่อราชการประมาณ 1,585 ล้านบาทต่อปี และการกำหนดให้เมื่อใบอนุญาตชำรุด สูญหาย ไม่ต้องแจ้งความ คาดว่าจะช่วยลดจำนวนการแจ้งความลงได้ 66,000 ใบแจ้งความต่อปี ทำให้สามารถลดค่าเดินทางรวมของประชาชนประมาณ 6.6 ล้านบาทต่อปี
พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ หรือประชาชน ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกลง โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ซึ่งตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 34 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอย่างน้อยทุก 5 ปี ประกอบกับปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการพัฒนาการให้บริการของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

อ้างอิง
คู่มือ
ถาม-ตอบ : พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดย ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์, Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0, กรุงเทพธุรกิจ, 27 ตุลาคม 2565, 8:01 น., https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1034435 

บทความ
FB หลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง, 11 ธันวาคม 2558, https://www.facebook.com/DroitAdministrative/posts/1219029278112980/ 
FB เนติกรท่านหนึ่งกล่าวไว้, 18 มิถุนายน 2562
บทความ iLaw, 25 สิงหาคม 2559.
หลักเกณฑ์การพิจารณาการกำหนดระบบอนุญาตในกฎหมาย สรุปจากปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ “ทำไมประเทศไทยต้องทบทวนการอนุญาต” โดย ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม “โครงการทบทวนการอนุญาต Thailand’s Smart & Simple License” วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, https://www.krisdika.go.th/data/article77/filenew/03-2-2.pdf 

บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... (An Analysis of the Draft Act on Electronic Performance of Administrative Functions, B.E. ...) โดย นางสาวจุฑาลักษณ์ จำปาทอง นิติกรชำนาญการพิเศษ ปีที่ 11 ฉบับที่ 13 เดือนสิงหาคม 2564 สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, https://www.senate.go.th/document/Ext26399/26399703_0004.PDF 
หลักเกณฑ์การพิจารณาการกำหนดระบบอนุญาตในกฎ, โดย Phachern Th., เวบโกทูโนว์, 4 เมษายน 2565, https://www.gotoknow.org/posts/700857

ข่าว
ชัชชาติลงคำสั่งให้ทุกหน่วยงานสังกัดเปิดเผยข้อมูลภายใน 30 วัน ตามนโยบาย Open Data เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบความโปร่งใส, thestandard, 12 กรกฎาคม 2565, https://thestandard.co/chadchart-ordered-every-unit-open-data-in-30-days/?fbclid=IwAR3as1RTUbe6aVJJQq_xlus2v4vCuAD2vha3TUezo07yzUgpDQNF2wArWSM 
ครม.ไฟเขียวปรับปรุงพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ยกระดับบริการ-เพิ่มขีดความสามารถประเทศ, ข่าว infoquest, 12 กรกฎาคม 2565, 13:49 น., https://www.infoquest.co.th/2022/216080 
ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างฯออนไลน์ "กรมโยธาธิการ" ดีเดย์เริ่ม 3 ต.ค.นี้, ฐานเศรษฐกิจ, 29 กรกฎาคม 2565, 
https://www.thansettakij.com/property/534567?as= 
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ปรับโฉมภาคบริการราชการไทย เพิ่มรูปแบบ e-Service ติดต่อออนไลน์ สะดวก รวดเร็ว, Thaigov, 22 ตุลาคม 2565, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60749 

NB : บทความนี้เผยแพร่ใน FB เพจสิทธิมนุษยชนและการแรงงาน, การให้บริการและการอนุญาตของรัฐ : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), 4 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.facebook.com/100062494300418/posts/pfbid0evUf1gzCzKUvmXdpE6dc1gD2jdXNxjcCyxaF22544TroJHfymtU8NcD4dTQgHBxvl/?mibextid=cr9u03 

.
 

หมายเลขบันทึก: 711514เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2023 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2023 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทความนี้เผยแพร่ใน FB เพจสิทธิมนุษยชนและการแรงงาน, การให้บริการและการอนุญาตของรัฐ : ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), 4 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.facebook.com/100062494300418/posts/pfbid0evUf1gzCzKUvmXdpE6dc1gD2jdXNxjcCyxaF22544TroJHfymtU8NcD4dTQgHBxvl/?mibextid=cr9u03

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท