๑,๓๓๘ ใบอ้อย...ไม่ด้อยค่า


สงสารสิ่งแวดล้อมและผู้คนในละแวกใกล้เคียง ที่ต้องทุกข์ทนกับมลพิษ พอคิดให้กว้างใหญ่ก็เลยตั้งคำถามเอาไว้ ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำเรื่องนี้ให้มันจริงจังเสียที

          ท้องฟ้าดูจะมืดๆมัวๆ สลัวลาง ยังไงชอบกล เป็นแบบนี้มาสองวันแล้ว เมื่อเดือนก่อนก็เป็นแบบนี้อยู่พักนึง จากนั้นฝนก็ตก แต่วันนี้น่าจะไม่เป็นแบบนั้น

          เพราะนึกขึ้นได้ว่า เป็นหน้าเทศกาลของเขา ราวเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี บรรยากาศก็มักจะเป็นแบบนี้ นำพาความร้อนอบอ้าวเข้ามาด้วย

          ไม่ทันที่จะละสายตาจากขอบฟ้าอันกว้างใหญ่ สุดลูกหูลูกตา ลมก็พัดพาหิมะสีดำ ลอยละลิ่วปลิวว่อน แล้วร่อนลงบนถนนหน้าโรงเรียน บ่งบอกการเผาไร่อ้อยในระยะไกล

          หากจุดไฟในระยะเผาขน ควันไฟและเขม่าอ้อยคงฟุ้งกระจายมากกว่านี้ อาจถึงกับแสบตาและจมูก ทุกวันนี้แม้จะรู้สึกได้ถึงการเผาแบบบางเบา ยังน่ารำคาญมิใช่น้อย

          จริงๆแล้ว การเผาไร่อ้อยซบเซาไป ๓ – ๔ ปี ปีนี้เริ่มกลับมาเยือนแม้ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนเคย แต่ควันไฟเมื่อไปกระทบชั้นบรรยากาศ เกิดการปะทะและสะสม จึงเกิดภาวะอึมครึมมองดูไม่สดใสเอาเสียเลย

          หอกระจายข่าวของเทศบาลก็ประกาศเตือน ให้ระวังเพลิงไหม้ หากมีเหตุอันตรายจะติดต่อได้ที่หน่วยงานใด แต่ไม่เห็นมีมาตรการป้องปราม ยิ่งหน่วยงานระดับอำเภอด้วยแล้ว ดูเหมือนจะนิ่งสนิท ไม่คิดติดตามแก้ไข หรือประกาศเตือนชาวไร่บ้างก็ยังดี ปล่อยให้เผากันอย่างง่ายดาย

          สงสารสิ่งแวดล้อมและผู้คนในละแวกใกล้เคียง ที่ต้องทุกข์ทนกับมลพิษ พอคิดให้กว้างใหญ่ก็เลยตั้งคำถามเอาไว้ ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำเรื่องนี้ให้มันจริงจังเสียที

          พอดีขับรถผ่านท้องทุ่ง ระหว่างทางที่กลับบ้าน ไร่อ้อยในตำนานที่ผ่านไปผ่านมาเกือบ ๒๐ ปี พื้นที่กว่า ๗๐ ไร่อย่างแน่นอน ไม่เคยเห็นควันไฟเลยแม้แต่ครั้งเดียว

          วันนี้มองเห็นก้อนใบอ้อยอัดแน่น วางเรียงรายเต็มท้องทุ่ง ผมเพิ่งเห็นภาพแบบนี้ได้ ประมาณ ๓ ปี และมีให้เห็นปีละครั้งเท่านั้น ด้วยความสงสัยใคร่รู้ ผมเดินลงไปดูใกล้ๆ แล้วสัมภาษณ์คนงานที่กำลังนั่งพัก เพื่อเตรียมหุงหาอาหาร

          ผมเดินเหยียบย่ำไปบนใบอ้อยที่แห้งกรอบ ปกคลุมไปทั่วผืนดิน ลำอ้อยที่ถูกตัดด้วยเครื่องถูกลำเลียงออกไปแล้วหลายคันรถสิบล้อ

          จากนั้น รถไถ รถบีบอัดใบอ้อยก็วิ่งเข้ามาประจำการ พร้อมกับรถบรรทุกหกล้อ ที่บรรทุกเสบียงอาหารและข้าวของเครื่องใช้ของคนงาน เหมือนมาตั้งแค้มป์กลางไร่อ้อยเป็นเวลา ๒ – ๓ วัน

          กิจการแบบนี้ มีให้เห็นแล้วในหลายพื้นที่แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกตำบล ในแต่ละปีคงจะมีขาประจำ แบบว่าเคยไปบีบอัดใบอ้อยที่ไหนก็จะเข้าไปที่เดิม เหมือนจะได้ข่าวมาจากโรงงานน้ำตาลนั่นเอง ว่าไร่อ้อยแปลงนี้ ได้ตัดอ้อยเข้าสู่โรงงานเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย

          ผู้รับเหมาจะจ่ายให้เจ้าของที่ดิน ไร่ละ ๑๐๐ บาท ซึ่งดีกว่าเผาทิ้งอย่างแน่นอน ผมก็เลยถามว่าทำไมยังเผากันอยู่ คำตอบก็คือเขาเผาก่อนตัด เพื่อให้ตัดได้ง่าย แต่การตัดด้วยเครื่องก็ไม่จำเป็นต้องเผาก็ได้ ยังเหลือใบไว้ใช้ประโยชน์ แต่เจ้าของไร่อ้อยไม่อยากรอ ต้องการให้งานเสร็จโดยเร็ว

          ปกติแล้ว ใบอ้อยนำไปทำกระดาษก็ได้ แต่ต้องผ่านวิธีการที่ซับซ้อน จึงยังไม่เป็นนิยมเท่าไรนัก และใบอ้อยก็ยังใช้เป็นอาหารของวัวและควาย แต่ที่ผมเห็นอยู่นี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย

          เขาบอกว่า นำไปจำหน่ายที่โรงงานน้ำตาล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิงมากมายมหาศาล แล้วเจ้าก้อนที่อัดแน่นด้วยใบอ้อยนี้ คือเชื้อเพลิงอย่างดี

          น้ำหนักรวมกัน ๕ ก้อนก็ประมาณ ๑ ตันหรือ ๑,๐๐๐ กก. โรงงานจะให้ราคาตันละ ๘๐๐ – ๑,๐๐๐ บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนแล้ว แต่ละปีเถ้าแก่จะมีกำไรมิใช่น้อย 

          เมื่อช่วงเช้า ที่ผมขับรถไปโรงเรียน ยังเห็นก้อนใบอ้อยที่ถูกอัดแล้วไม่มากนัก พอตกเย็นสังเกตเห็นว่าเกลื่อนกลาดเต็มท้องทุ่ง มากมายจนนับไม่ถ้วนกันเลยทีเดียว

          ผมคิดว่าก้อนใบอ้อยอัดแห้งตกก้อนละ ไม่ถึง ๒๐๐ บาท ถ้าวัวชอบกินมันก็น่าจะดีกว่าฟางข้าว ยังคงต้องหาข้อมูลตรงนี้ต่อไป ประโยชน์ของใบอ้อยมากมีจริงๆ จึงไม่รู้ว่าจะเผากันไปทำไม?

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖

    

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 711501เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2023 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท