ชีวิตที่พอเพียง 4365. อย่าหลงอยู่ในดงปัญหา  ให้ชิ่งสู่แหล่งปัญญา (จักรวาล)


 

เช้าวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ผมโชคดีได้รับเชิญไปรับฟัง “เวทีร่วมออกแบบอนาคตการศึกษา เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ”     ที่ภาคีของ กสศ. เขาทำงานร่วมกันมาก่อนแล้ว ในวันที่ ๒๒    เช้าวันนี้เขารายงานผลการระดมความคิดของกลุ่มภาคี ๔ กลุ่ม  ร่วมระดมความคิดแก้ปัญหา ๔ กลุ่มคือ  (๑) กลุ่มเด็กอายุ ๓ - ๑๔ ปี (ปฐมวัย - ภาคบังคับ)  (๒) เยาวชนในระบบการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ  (๓) เยาวชนนอกระบบการศึกษา และประชากรวัยแรงงานนอกระบบ   (๔) ครูในระบบและนอกระบบการศึกษา   

 วิทยากรนำการประชุมกลุ่มโดยแนะให้ประชุมระดมความคิดใน ๔ หัวข้อตามลำดับคือ  Goal, Scenario Crisis, Intervention, Ecosystem & Stakeholders    ทำให้รายงานในเช้าวันนี้เห็นปัญหามหึมาที่แสนจะซับซ้อนยุ่งเหยิงของการศึกษาไทย    และเห็นความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของภาคีของ กสศ. ที่มาร่วมประชุม     

ทีมงานของ กสศ. เชิญกรรมการบริหารและที่ปรึกษามาร่วม ๔ ท่าน   หลังจากการรายงานผลการประชุมกลุ่มเขาก็จัดให้มีการอภิปรายจากผู้เข้าร่วม    โดยเริ่มจากผู้ใหญ่ทั้ง ๔ ท่าน   

ผมเสนอต่อผู้จัดประชุมไว้ล่วงหน้าว่า    หากจะให้เกิดบรรยากาศแนวราบ ต้องเชิญกรรมการเรียงจากอาวุโสน้อยไปหามาก   ผมจึงได้พูดเป็นคนสุดท้าย    ช่วยให้ไม่ต้องพูดหลายประเด็นที่มีผู้ใหญ่ท่านอื่นพูดไปแล้ว     ผมจึงพูดประเด็นเดียว คือหัวข้อของบันทึกนี้   

ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า ที่ประชุมนี้มีพลังมาก   เพราะประกอบด้วยสมาชิกที่เอาจริงเอาจัง (commit) และทำงานอยู่ที่หน้างาน    จึงมีข้อมูลมากมาย    ช่วยให้เห็นปัญหามากมายหลากหลายมิติและซับซ้อนมาก    สภาพเช่นนี้เรียกว่า สภาพที่มีปัญหาที่ “สุดโหด” (wicked)    จึงต้องไม่ใช้วิธีจัดการแบบตรงไปตรงมา    ต้องใช้วิธีจัดการ “ปัญหาโหด” (wicked problems)    คือไม่มุ่งแก้ปัญหา     หันไปใช้ “ปัญญาจักรวาล” แทน

 ปัญญาจักรวาลมีอยู่ทั่วไป    แต่คนเรามักไม่ให้ความสำคัญ หรือมองข้าม   

พลังจักรวาล เป็นพลังที่เราไม่มี   แต่มีอยู่แล้วในสังคม ชุมชน   และที่สำคัญ อยู่ใน “ดงปัญหา” นั้นเอง     หลักการของ wicked systems คือ    “ในดงปัญหามีปัญญาซ่อนอยู่”      

ผมจึงเสนอต่อที่ประชุมว่า เมื่อทำความรู้จักปัญหาแล้ว จงอย่าหมกมุ่นกับมัน    จงละสู่แหล่งปัญญา  ที่เป็น “ปัญญาจักรวาล”    เพราะปัญหาเป็นตัวลดทอนพลัง    เราต้องรู้เท่าทันและมุ่งสู่จุดที่มีปัญญาแทน     โดยปัญญาแท้จริงเกิดจากการปฏิบัติ    ในกรณีของการศึกษา ปัญญาอยู่ที่หน่วยปฏิบัติที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์สู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ (ของผู้เรียน) ที่น่าพอใจ   ปัญญาอยู่ที่กลุ่มผู้ปฏิบัติเหล่านั้น   

กสศ. และภาคี ควรหากลุ่มบุคคลผู้มีปัญญาเหล่านั้นให้พบ   แล้วชวนกันทำกระบวนการ “เรียนรู้จากการปฏิบัติ” (experiential learning)    เพื่อร่วมกันทำ reflective observation    เพื่อสะท้อนคิดจากการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ สู่การตกผลึกเป็นหลักการ (abstract conceptualization)    ตามแนวทางของ Kolb’s Experiential Learning Cycle    

เป้าหมายสำคัญคือ การค้นหาหลักการหรือทฤษฎี ที่นำสู่ความสำเร็จของการริเริ่มเล็กๆ (ที่ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้สูง) นั้น   สำหรับนำไปชักชวนโรงเรียนอื่นๆ หรือภาคีปฏิบัติอื่นๆ   ให้ทดลองนำหลักการหรือทฤษฎีที่ตกผลึกได้ไปทดลองประยุกต์ใช้ เพื่อหมุนวงจรการพัฒนาและเรียนรู้ต่อไป   ตามแนวทางของ  Kolb’s Experiential Learning Cycle   

โปรดสังเกตว่า    ตามแนวทางนี้ การขยายผลตัวอย่างความสำเร็จ หรือโครงการนำร่อง ทำต่างจากที่เราคุ้นเคย   เราไม่เอาวิธีการ ของกลุ่มที่ทำและประสบความสำเร็จไปใช้    สิ่งที่เราเอาไปใช้ในการขยายผลคือหลักการ   ผู้เอาไปใช้ต้องรู้จักปรับหลักการสู่วิธีการที่เหมาะสมต่อบริบทของตนเอง     นี่คือเคล็ดลับของการขยายผลจากตัวอย่างความสำเร็จ    

โดยที่ผู้นำเอาหลักการไปใช้ก็ต้องทดลอง เรียนรู้ และปรับด้วยตนเอง    โดยใช้ Kolb’s Experiential Learning Cycle    ไม่ใช่ลอกเอาวิธีการไปใช้แบบตรงไปตรงมา

ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะการศึกษาเป็น “กิจกรรมที่สุดโหด” wicked activity   ไม่ตรงไปตรงมา   ขึ้นกับเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน หลายส่วนเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ   

เมื่อเราเข้าใจ “ความโหด” (wickedness) ของการศึกษา    เราจะเข้าถึง “ปัญญาจักรวาล” ได้โดยง่าย    

นี่คือกลยุทธ transform การศึกษา จากระดับ micro (โรงเรียนหรือหน่วยปฏิบัติ)    ที่หลักการที่ค้นพบ สามารถส่งต่อเอามาเลือกใช้ หรือปรับใช้ในระดับ meso (พื้นที่)    และส่งต่อสู่ระดับ macro (ประเทศ)  ได้       

ผมเสนอให้ กสศ. ทำหน้าที่ “ตัวเร่ง” (catalyst) ให้ “พลังจักรวาล” ออกมาสำแดงฤทธิ์ เปลี่ยนโฉมการศึกษาไทย    ในลักษณะ bottom-up transformation  ดังกล่าว   

ข้อสะท้อนคิดนี้ ทำแบบ creative mode   จึงไม่รับรองความถูกต้อง       

วิจารณ์ พานิช          

๒๓ พ.ย. ๖๕ 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 711003เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2022 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2022 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

It is uplifting to see that the views and experiences of ‘workers at the coal face’ get attention and considerations. The policy makers often see only in their mind (worse is preferential, blinkered and theoretical views). The workers see more gaps and misfits (the details or ‘the last mile’) between models and realities.

Progress must be tracked and maintained in real time. Information system (memory/data and reasoning mechanisms) often get neglected and classified –making inequality in the the process of solving inequality.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท